[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => นิทาน - ชาดก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 ธันวาคม 2563 17:00:17



หัวข้อ: นิทานปล่อยสัตว์ ๑๐๐ เรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 ธันวาคม 2563 17:00:17

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33736975822183_131913739_1051504118698601_565.jpg)

เรื่องที่ ๑ สละเนื้อช่วยนก

ในกาลก่อน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์อยู่บำเพ็ญโพธิสัตว์ธรรม ยังมิได้ตรัสรูเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันหนึ่ง พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเหยี่ยวตัวใหญ่ผอมโซ กำลังบินไล่ล่านกตัวเล็กๆ จะกินเป็นอาหาร  วิหคน้อยหวาดกลัวเป็นอันมาก มันพยายามบินหนีเพื่อเอาชีวิตรอดจนสุดกำลัง ครั้นได้แลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับอยู่ไม่ไกล นกน้อยตัวนั้นจึงโผบินลงสู่อ้อมอกของพระองค์ทันที

พญาเหยี่ยวไม่กล้าติดตามเข้าไปใกล้ ได้แต่เฝ้าบินวนอยู่ไม่ไปไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ พญาเหยี่ยวผู้หิวโหย จึงพูดขึ้นด้วยความโมโหว่า “ข้าแต่พระโพธิสัตว์เจ้า พระองค์อยากช่วยนกตัวเล็กๆ แล้วจะปล่อยให้ข้าบาทต้องอดตายหรืออย่างไร?”

พระมหาโพธิสัตว์เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ทรงยิ้มแล้วตรัสแก่พญานกว่า “ท่านประสงค์จะกินสิ่งใด เพื่อคลายหิวเล่า?”

พญาเหยี่ยวได้ทูลตอบทันทีว่า “ข้าฯ พระองค์อยากกินเนื้อเป็นอาหาร”

พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นเรายินดีมอบเนื้อของเราให้เป็นอาหารแก่ท่านแทนเนื้อนกน้อยตัวนี้”

ขณะที่พระมหาโพธิสัตว์กำลังจะตัดเนื้อที่แขนของพระองค์ พญาเหยี่ยวก็พูดแย้งขึ้นว่า “ช้าก่อน! หากพระองค์ประสงค์จะแลกเอาชีวิตนกน้อยด้วยเนื้อของพระองค์เองแล้วละก็ พระองค์จะต้องตัดเอาก้อนเนื้อออกมาให้ได้น้ำหนักเท่ากับเนื้อของเจ้านกตัวนั้น”

โดยมิได้รั้งรอแต่ประการใด พระโพธิสัตว์เจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาคุณจึงใช้มีดเฉือนเอาเนื้อที่ต้นแขนออกมามอบให้พญาเหยี่ยวทันที

พญาเหยี่ยวเมื่อได้รับเอาก้อนเนื้ออันองค์พระบรมโพธิสัตว์ทรงยื่นให้แล้ว กลับกล่าวบ่ายเบี่ยงว่า “เบาไป!” ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเฉือนเนื้อก้อนใหม่ให้ก็ติอีกว่า “หนักไป!” เป็นดังนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

อนิจจา...พระโพธิสัตว์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาจิต พระองค์ยิ่งเฉือนเนื้อไปเท่าไร ก้อนเนื้อก็ยิ่งเบาลงๆ เป็นเช่นนี้จนกระทั่งเนื้อถูกตัดออกไปจนหมดแขนก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อออกมาให้ได้เท่ากับน้ำหนักของนกน้อยสักที

พญาเหยี่ยวจึงเอ่ยถามพระโพธิสัตว์ว่า “จนถึงบัดนี้ พระองค์ทรงรู้สึกเสียพระทัยบ้างแล้วหรือยัง?””

พระบรมโพธิสัตว์ผู้มีพระทัยมั่นคงมิหวั่นไหว จึงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันหนักแน่นว่า “เพื่อปกป้องรักษาชีวิตของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เราไม่รู้สึกเสียใจเลยแม้แต่นิดเดียว หากแม้นว่าเรากล่าวด้วยคำสัตย์จริง ขอเนื้อที่ขาดหายไปจงงอกขึ้นมาใหม่ เพื่อเราจะได้ตัดออกเป็นกุศลทานอีก”

ครั้นสิ้นสุดการอธิษฐานวาจา ด้วยพลานุภาพแห่งสัจจะบารมีอันพระบรมโพธิสัตว์ตั้งพระทัยจักบำเพ็ญมหาเมตตาบารมีทานให้สำเร็จ แขนของพระองค์ก็ปรากฏเนื้อเพิ่มพูนครบบริบูรณ์ดีขึ้นดังเดิม

พญาเหยี่ยวได้เห็นเช่นนั้นก็รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งและแล้วพญาเหยี่ยวผู้มีกายอันซูบผอมก็พลันกลับกลายร่างปรากฏเป็นพระวิสุทธิเทพผู้มีรัศมีเรืองรองสง่างาม พร้อมกับกล่าวอนุโมทนากถาขึ้นด้วยความยินดีว่า

“สิ่งที่คนทั้งหลายไม่อาจทนได้ พระองค์สามารถทนได้ในสิ่งนั้น สิ่งที่ไม่มีผู้ใดจักกระทำได้ พระมหาโพธิสัตว์ผู้จักสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กระทำแล้ว ... ช่างหาได้ยากยิ่ง ...ยากยิ่งจริงๆ”


ขอขอบคุณ มูลนิธิรัศมีธรรม (ที่มาเรื่อง-ภาพ)
แปลจากหนังสือ : เหลียน ฉือ ต้า ซือ เจี๋ย ชา ฟัง เซิน เหวิน ถู ชัว
ผู้แปล : อาจารย์ หลิว อ้าย เหลียน
มูลนิธิรัศมีธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน


หัวข้อ: Re: นิทานปล่อยสัตว์ ๑๐๐ เรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 มีนาคม 2564 18:05:33
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23557945258087__._Copy_.jpg)
เรื่องที่ ๒ ปลดตาข่ายปล่อยกระต่าย

ท่าน เว่ย หล่าง พระสังฆปริณายกองค์ที่หกของประเทศจีน ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นเด็กหนุ่มชาวป่าชาวดอย ท่านก็ได้รับการถ่ายทอดธรรมะจากพระธรรมาจารย์ หง อิ้ง พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า

เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปทำให้ผู้คนแตกตื่นและมีศิษย์ร่วมสำนักหลายร้อยติดตามมา ต่างหวังช่วงชิงผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรของพระพุทธองค์ที่ได้รับมอบอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุด

ท่าน เว่ย หล่าง เห็นว่าตนตกอยู่ในอันตรายจึงปลอมตัวเป็นคนธรรมดาหลบซ่อนอยู่กับพวกพรานป่า ในเวลานั้นท่านมักหาโอกาสสั่งสอนพวกนายพรานอยู่เสมอๆ เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่มีใจออกไปล่าสัตว์จึงใช้ให้คอยนั่งเฝ้าตาข่ายดักสัตว์ แต่พอปลอดคนท่านก็แอบปลดตาข่ายให้สัตว์ที่ติดอยู่หนีออกไปจนหมด

ตลอดระยะเวลาถึง ๑๖ ปี ที่ท่าน เว่ย หล่าง อาศัยอยู่กับพวกพรานป่า ท่านช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดตายไปจนนับไม่ถ้วน

และเมื่อบุญวาระมาถึง ท่านจึงออกจากป่าเดินทางไปยังมณฑลกวางตง แล้วได้เข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา

หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ได้สร้างพระอารามใหญ่ และเทศนาอบรมสั่งสอนผู้คนทั้งหลาย ฉุดช่วยสาธุชนให้ได้บรรลุแจ้งในสัจธรรม จนกุศลบารมีและพระเกียรติคุณขจรขจายแผ่ไพศาล เป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชนทั่วทั้งแผ่นดิน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30324938562181__.2_Copy_.jpg)
เรื่องที่ ๓  ผู้นำที่แท้จริง

ในรัชสมัยราชวงศ์ ซ้ง ท่านอ๋อง เฉิน ทั่ง เป็นผู้ที่ทรงคุณธรรม ต่อเบื้องบนพระองค์เคารพยำเกรงยึดมั่นในหลักธรรมของฟ้า ต่อเบื้องล่างก็ทรงรักใคร่เมตตาประชาราษฎร์ ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระองค์กำลังฟื้นฟูทะนุบำรุงบ้านเมือง

วันหนึ่งท่านอ๋องได้เสด็จออกไปตรวจดูความเป็นอยู่ของราษฎร ไม่ว่าพระองค์จะทอดพระเนตรไปทางไหนก็ทรงพบเห็นแต่แห อวน ตาข่าย ซึ่งชาวบ้านตั้งขึ้นไว้เพื่อดักสัตว์ เจ้าของกับดักต่างพากันพร่ำอธิษฐานอยู่แต่ว่า
               “สัตว์ที่อยู่บนฟ้า ก็ขอให้บินลงมา
               สัตว์ที่อยู่บนดิน ก็ขอให้วิ่งเข้ามา
               สัตว์ที่อยู่ข้างล่าง ก็ขอให้โผล่ขึ้นมา
               ขอให้สัตว์ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในกับดักของข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ท่านอ๋องได้ยินคำอธิษฐานเหล่านี้แล้ว ก็ทรงรู้สึกสลดหดหู่พระทัย สงสารราษฎรของพระองค์ยิ่งนัก ที่พากันลุ่มหลงก่อแต่บาปเวรไม่รู้จักจบสิ้น

ครั้นแล้วท่านอ๋อง เฉิน ทั่ง ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาจิต จึงเสด็จตรงไปที่ตาข่ายของชาวบ้านทั้งหลาย ทรงเปิดตาข่ายออกทั้ง ๓ ด้านให้เหลือเพียงด้านเดียว แล้วแหงนพระพักตร์ขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวอธิษฐานด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า
                “สัตว์ที่มาจากท้องฟ้า ก็ขอให้บินสู่เบื้องบน
               สัตว์ที่อยู่บนพื้นดิน ก็ขอให้วิ่งออกไป
               สัตว์ที่อยู่เบื้องล่าง ก็ขอให้มุดลงดิน
               ขอให้สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายจงหนีไปให้หมด อย่าได้เข้ามาสู่กับดักของผู้ใดเลย
               ขอให้แห อวน ตาข่าย ทั้งหลายเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้นเถิด”

ชาวบ้านผู้มาตั้งกับดักสัตว์ ได้ยินเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกซาบซึ้งในความมีพระทัยเมตตาของท่านอ๋อง ต่างก็เชื่อฟังและเลิกดักจับสัตว์

แม้กระนั้นท่านอ๋อง เฉิน ทั่ง ก็ยังทรงวิตกห่วงใยว่าประชาชนมากมายในแผ่นดินที่ยังฝักใฝ่ในการล่าดักจับสัตว์นั้นยากที่จะเปลี่ยนนิสัยได้ในเวลาอันสั้น พระองค์จึงมีพระราชโองการออกคำสั่งให้ตัดแหออกทั้ง ๓ ด้าน เหลือไว้เพียง ๑ ด้านเท่านั้น

ด้วยพระปรีชาญาณอันวิริยะพากเพียรและเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ที่พระองค์ทรงอบรมสั่งสอนให้ละเว้นจากการเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นเหตุให้ประชาชนลดการสร้างบาปกรรมลงได้อย่างมากมายมหาศาล ท่านอ๋อง เฉิน ทั่ง จึงสมกับเป็นผู้นำที่ห่วงใยเมตตารักใคร่เหล่าทวยราษฎร์ของพระองค์อย่างแท้จริง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90146275982260__.3_Copy_.jpg)
เรื่องที่ ๔ ดวงใจแม่กวาง

ในรัชสมัย จิ่ง ฉาว นายทหารหนุ่มชาวมณฑล ยู้หนัน นามว่า สี่ เจิน จิง เป็นคนมีนิสัยชอบล่าสัตว์

วันหนึ่ง สี่ เจิน จิง ขึ้นไปล่าสัตว์บนภูเขา สามารถยิงลูกกวางตัวเล็กๆ ได้ตัวหนึ่ง ขณะที่เขากำลังจะเข้าไปเอา ก็มีแม่กวางตัวหนึ่งวิ่งอย่างสุดชีวิตตรงเข้ามาหาลูกกวางน้อยทันที! มันค่อยๆ ใช้ลิ้นเลียบาดแผลที่ถูกธนูปักคาอยู่ ด้วยความระทมใจ สักครู่เดียวแม่กวางก็ล้มลงขาดใจตาย!

ทหารหนุ่มนักล่าได้แบกเอากวางทั้งแม่และลูกกลับไปด้วยความฉงนสงสัย ไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย

ครั้นถึงบ้าน สี่ เจิน จิง จึงจัดแจงเตรียมชำแหละเนื้อกวางไปทำอาหาร ทันทีที่ผ่าหน้าอกแม่กวาง หนุ่มนักล่ามือฉมังก็ต้องตกตะลึงเมื่อได้เห็นลำไส้ของมันขาดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ส่วนตับก็แตกสลายเละไปหมด ภาพที่ปรากฏต่อหน้ามันช่างน่าเวทนา จนไม่อาจหาคำพรรณนาได้ นายทหารหนุ่มร้องไห้ฟูมฟายพร่ำรำพันแต่ว่า “ไม่น่าทำเลย!...ไม่น่าทำเลยจริงๆ !”  ด้วยความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เขาหักคันธนูกระชากสายขาดสะบั้น แล้วตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า “นับตั้งแต่บัดนี้ เราจะไม่ล่าสัตว์อีกไปจนตลอดชีวิต”

ไม่ว่าสัตว์อะไรก็ตามต่างก็เกิดมาบนโลกด้วยความรักความผูกพันกันระว่างแม่และลูก ถึงคราวที่ชีวิตใดชีวิตหนึ่งต้องถูกพรากให้ตายจากกันไป มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดเพียงใด...

ดูเอาเถิด...ดวงใจของแม่กวางที่รักลูกจนไม่ยอมหนีเอาตัวรอด ต้องเห็นภาพลูกน้อยถูกฆ่าตายไปต่อหน้า ความเจ็บปวดทุกข์ระทมใจสุดอาลัยอาวรณ์ มันช่างมากมายท่วมท้นขนาดไหนกัน ถึงกับทำให้ภายในร่างกายของแม่กวางต้องแหลกสลายจนสิ้นใจตายตามลูกไป สำหรับคนที่มีหัวใจแล้วในโลกนี้ยังจะมีเรื่องน่าเศร้าสลดไปกว่านี้อีกไหม?

ทหารหนุ่ม สี่ เจิน จิง อยู่รับราชการต่อมาจนกระทั่งได้เป็นนายอำเภอ กระทั่งถึงปลายรัชสมัย จิ่ง ฉาว บ้านเมืองวุ่นวายยุ่งเหยิง นายอำเภอ สี่ เจิน จิง จึงลาออกราชการแล้วเดินทางติดตามท่านนักพรตอู่เมิ่ง เพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรม

ท่าน สี่ เจิน จิง บำเพ็ญธรรมอยู่บนภูเขาด้วยความมุ่งมั่นจนกระทั่งอีก ๒ ปีต่อมา บนเทือกเขาซีซาน มณฑล หง โจว ท่านก็ได้สำเร็จธรรมรู้แจ้งในสรรพสิ่ง แล้วจึงออกจาริกเผยแพร่หลักธรรมฉุดช่วยสาธุชน และสั่งสอนอบรมคนชั่วให้กลับตัวกลับใจ

แม้ว่าท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณและบุญญาภินิหารที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่เวไนยสัตว์ผู้ทุกข์ยากกลับยิ่งเลื่องลือระบือไกล จวบจนถึงรัชสมัยราชวงศ์ซัง ท่านสี่ เจิน จิง จึงได้รับการยกย่องสถาปนาขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพระนามว่า “เมี่ยว จี้ เจิน จิง


ขอขอบคุณ มูลนิธิรัศมีธรรม (ที่มาเรื่อง-ภาพ)
แปลจากหนังสือ : เหลียน ฉือ ต้า ซือ เจี๋ย ชา ฟัง เซิน เหวิน ถู ชัว
ผู้แปล : อาจารย์ หลิว อ้าย เหลียน
มูลนิธิรัศมีธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทาน
650