[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 มกราคม 2564 20:43:29



หัวข้อ: แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มกราคม 2564 20:43:29
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/62502151189578_139581602_971387493268955_3684.jpg)

แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวไว้แปลความว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” คือไม่มีแม่น้ำใดที่จะกว้างใหญ่ไพศาลปราศจากขอบเขตเสมอด้วยตัณหา

ตัณหา คือ ความดิ้นรนทะยานอยาก แบ่งออกเป็นสาม คือ

กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากมี อยากเป็น

วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไม่มี ไม่เป็น
 
แม้พิจารณาตัณหาทั้งสามประการแล้วย่อมจะเห็นว่าครอบคลุมไปกว้างใหญ่ไพศาลหาขอบเขตไม่ได้จริงๆ ไม่มีเพียงความอยากในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจเท่านั้น ยังมีความอยากมีอยากเป็น และความอยากไม่มี ไม่เป็นอีกด้วย
 
อันสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจนั้นมีอยู่เต็มไปทั้งโลกก็ว่าได้ ความดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจจึงเต็มไปทั้งโลกเช่นกัน ดังนั้นจึงพึงเห็นได้ว่าแม้เพียงตัณหาอย่างเดียวคือกามตัณหา ก็มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนักแล้ว เกินกว่าแม่น้ำใดๆ ทั้งหมดแล้ว เมื่อรวมภวตัณหาและวิภวตัณหาเข้าด้วยก็ย่อมจะยิ่งกว้างใหญ่ไพศาลเกิน กว่าจะประมาณขอบเขตได้

พระพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ความอยากละได้ยากในโลก” แม้พิจารณาก็ย่อมจะเห็นตามความจริงนี้ ความอยากในกามคือสิ่งน่าใคร่น่าปรารถนาพอใจเป็นสิ่งละได้ยากแน่นอน แม้พิจารณาความรู้สึกในใจตนของแต่ละคนก็ย่อมจะเห็นจริง ไม่มีปุถุชนใดจะสามารถละความอยากในกามได้ ไม่ในเรื่องนั้นก็ในเรื่องนี้ ย่อมมีความอยากได้ด้วยกันทั้งสิ้นเมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ความอยากมีอยากเป็นก็เช่นกัน ไม่มีปุถุชนคนใดที่สามารถละความอยากมีอยากเป็นได้อย่างง่ายดาย ทุกคนลองพิจารณาใจตนเองให้เห็นความอยากมีอยากเป็นในใจตน แล้วลองพยายามละความอยากมีอยากเป็นนั้นดู ก็ย่อมจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ยากยิ่ง และสำหรับคนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งยังไม่สามารถจะพยายามทำเสียอีกด้วย มีแต่เพลิดเพลินติดอยู่กับกามตัณหานั้น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็นก็เช่นกัน ไม่มีปุถุชนใดสามารถละได้อย่างง่ายดาย

ความอยากมีอยากเป็น กับความอยากไม่มีไม่เป็นนั้น จะกล่าวว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็เกือบได้ เมื่ออยากมีสิ่งหนึ่งก็ย่อมอยากไม่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ตรงกันไม่เหมือนกันหรือเมื่อเป็นอย่างหนึ่งก็ย่อมอยากไม่เป็นอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเช่นอยากเป็นคนรวยก็ย่อมอยากไม่เป็นคนจน หรืออยากมีเงินก็ย่อมอยากไม่ไม่มีเงิน เป็นเช่นนี้นั่นเอง  ความอยากทั้งสองนี้คือ ภวตัณหาและวิภวตัณหา จึงเรียกได้ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  แม้พิจารณาตัณหาทั้งสามอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมจะเห็นว่าเป็นความเกี่ยวเนื่องกันชนิดไม่อาจแยกออกจากกันได้ ทำลายข้อหนึ่งข้อใดได้พร้อมกันทุกข้อ ดังนั้นแม้เห็นโทษของตัณหาก็ไม่เป็นการบกพร่องที่จะจับข้อหนึ่งข้อใดในใจตนขึ้น พิจารณาหาอุบายทำลายถอนรากถอนโคน ไม่จำเป็นต้องสับสนวุ่นวายจับข้อนั้นที่ข้อนที่ขึ้นพิจารณาพุ่งตรงไปที่ตัณหาข้อหนึ่งข้อใดในสามประการดังกล่าวแล้วก็ได้

กามตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ก็คือ ภวตัณหาอยากมีอยากเป็นนั่นเอง คืออยากได้อยากมีของคนทั้งหลายก็ต้องเป็นไปในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากได้ไม่อยากมีในสิ่งที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าปรารถนาพอใจ ซึ่งกล่าวอีกอย่างก็กล่าวว่า อยากไม่ได้ไม่มีในสิ่งที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าปรารถนาพอใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังนี้  เพราะฉะนั้น แม้จะทำลายตัณหาก็เพียงพิจารณาใจของตนให้เห็นชัดว่ามีความปรารถนาต้องการอย่างไร เพราะนั่นคือ กามตัณหาต้นสายของภวตัณหาและวิภวตัณหาพิจารณาให้เห็นแล้วก็ทำลายเสีย ดับเสีย

ทำไมจึงสมควรดับตัณหาแม้ตั้งปัญหานี้ขึ้น ก็อาจตอบได้ง่าย ๆ ว่าเพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งความดิ้นรนกระเสือกกระสนไปไม่รู้หยุด มีความเหน็ดเหนื่อยนักหนา ดับตัณหาเสียได้ก็จะหยุดความดิ้นรนได้ หายเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยาก ได้คำตอบนี้แล้ว ผู้มาบริหารจิตควรตั้งคำถามต่อไป ว่าตนมีความต้องการอย่างไร กระเสือกกระสนไป ไม่รู้หยุดเพื่อสนองตัณหาเช่นนั้นหรือ หรือต้องการหยุดสงบอยู่อย่างสบายใจ ก็จะได้คำตอบที่ตรงกันทุกคน จะเกิดกำลังใจ เพียรดับตัณหาด้วยกันทุกคน

(ที่มา : สมเด็จพระญาณสังวร. “พุทธศาสนสุภาษิต.” ศุภมิตร. มีนาคม – เมษายน ๒๕๓๒, หน้า ๒๗-๒๙)



กราบขอบคุณที่มา เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ