[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 มกราคม 2564 21:00:34



หัวข้อ: "สังคายนา" ตามพระอรรถาธิบายในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มกราคม 2564 21:00:34
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14592512903941_imagesSKQOQ47X_Copy_.jpg)

สังคายนา
ตามพระอรรถาธิบายในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

คำว่า สังคายนา ใช้อีกอย่างหนึ่งว่า สังคีติ, สังคีติ และ สังคายนา เป็นศัพท์เดียวกัน แต่ลงปัจจัยต่างกันตามไวยากรณ์เท่านั้น ความอย่างเดียวกัน คือเป็น เค หรือ คี ธาตุ แปลว่า กล่าวเสียงออกมาทางปาก คู่กับ วาทิตะ ให้สิ่งอื่นออกเสียงแทน, เช่น ในศีล ๘ ศีล ๑๐ ว่า นัจจคีตวาทิตะ, นัจจะ การฟ้อน,

คีตะ การขับร้องทางปาก, วาทิตะ ให้สิ่งอื่นออกเสียงแทน เช่น เป่าปี่ สีซอ, สังคีติ หรือ สังคายนา ก็เช่นเดียวกัน คือ กล่าวออกมาทางปาก. วิธีทำสังคายนาทำอย่างไร ? อ่านในเรื่องสังคีติ หรือสังคายนาไม่สู้ชัด, แต่ได้เคยฟังพวกนับถือศาสนาพราหมณ์พวกหนึ่ง เขานั่งล้อมกัน มีคนหนึ่งนั่งอยู่บนเตียงในท่ามกลางว่านำขึ้น ผู้ที่นั่งล้อมอยู่ก็ว่าตาม. จึงถามว่า เขาทำอะไรกัน, มีผู้ตอบว่า คีตะ, ก็แปลได้ว่า กิริยาที่มีผู้ว่านำและมีผู้ว่าตามไปพร้อม ๆ กัน นี่คือ คีตะ, เมื่อต้องการแสดงให้ชัดว่าออกเสียงพร้อมๆ กัน ก็เพิ่ม สํ เข้าข้างหน้าเป็น สังคีตะ แปลว่าออกเสียงพร้อมๆ กัน.

ในเรื่องสังคีติหรือสังคายนา แสดงว่า เมื่อทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปเป็นผู้ถามพระวินัย พระอุบาลีเป็นผู้แก้ ด้วยถามว่า ปฐมปาราชิก พระพุทธเจ้าบัญญัติที่ไหน และปรารภใคร เรื่องอะไร. พระอุบาลีก็แก้ไปเป็นตอนๆ จนตลอดพระวินัย. พระเถระที่ประชุมกันนั้นก็สวดขึ้นพร้อม ๆ กัน. เรื่องที่แสดงถึงสังคีติหรือสังคายนานี้มีในสามนต์อรรถกถาพระวินัย ซึ่งท่านเก็บเอาความมาแสดง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปแล้วกว่า ๔๐๐ ปี, ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น. ถ้าพิจารณาดูน่าจะเห็นว่า ท่านเลือกกันว่า ใครเป็นผู้ทรงจำวินัยได้ชำนาญ ก็นิมนต์ท่านองค์นั้นให้เป็นผู้แสดง, เช่น ครั้งปฐมสังคายนา พระอุบาลีเป็นผู้ทรงจำพระวินัยได้ชำนาญ พระมหากัสสปก็นิมนต์ให้พระอุบาลีเป็นผู้แสดง พระอุบาลีแสดงตั้งแต่ต้นไปจนจบ ไม่น่าจะมีถามมีแก้กัน, เมื่อพระอุบาลีแสดงไปจบตอนหนึ่งแล้ว พระที่ประชุมกันก็หารือสอบกันว่าถูกต้องหรือไม่, เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วลงกันแล้ว ก็สวดขึ้นพร้อม ๆ กัน ตามที่พระอุบาลีแสดงเป็นตอนๆ ไปจนจบ เป็นอันท่องกันไปในเวลานั้น. ในส่วนพระธรรม ซึ่งแยกเป็นพระสูตรและพระอภิธรรมหรือปรมัตถ์ ก็เช่นเดียวกัน, แต่ว่าพระอานนท์เป็นผู้ทรงธรรม พระมหากัสสปจึงนิมนต์ให้พระอานนท์เป็นผู้แสดง, ตามเรื่องสังคีติหรือสังคายนาก็เล่าไว้เหมือนกัน คือ พระมหากัสสปถามว่า สูตรนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ไหน และปรารภใครแสดงว่าอย่างไร พระอานนท์ก็แก้, แต่ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น; พระอานนท์แสดงพระสูตรตั้งแต่ต้น ท่านจะจับสูตรไหนก็ตาม แสดงไปตอนหนึ่งให้ฟัง, พระที่ประชุมกันอยู่ก็ฟัง แล้วก็พิจารณากันว่าถูกหรือไม่ถูก ถ้าถูกก็ท่องตามกันไป ถ้าไม่ถูกก็สอบสวนถามกันว่าอย่างไรถูก, เมื่อตกลงกันว่า อย่างไรถูก แล้วก็สวดพร้อมๆ กันไป ท่องกันไปในเวลานั้นทีเดียว. จบตอนหนึ่งๆ ก็ท่องตอนหนึ่ง . ถ้าดูเพียงอาการเท่านี้จะเห็นว่ายากนักหนา จะทำอย่างไรไหว. แต่ว่าถ้าดูตามเรื่องแล้วไม่ใช่เป็นการยาก เพราะพระเถระทั้งนั้นท่านเป็นผู้ทรงวินัย ท่านเป็นผู้ทรงธรรมไว้ได้ด้วยกันทั่วๆ กัน จำขึ้นใจอยู่เหมือนๆ กัน เป็นแต่ว่าใครชำนาญทางไหนก็มุ่งไปทางนั้น, พระพุทธศาสนาที่ท่านจำกันไว้ เรียกว่า มุขปาฐ คือบาลีปาก หมายความว่าท่านท่องจำไว้, เพราะฉะนั้น เมื่อพระอุบาลีแสดงวินัยให้ฟังเมื่อตกลงกันว่าอย่างนี้ถูกแล้ว ก็ว่าตามกันไปเป็นตอนๆ จึงไม่ยาก เพราะจำกันได้ทั้งนั้น เป็นแต่สอบกันให้แน่นอนเท่านั้น.

ต่อมาครั้งที่ ๒ พระวัชชีบุตร เกิดลดพระวินัยลงมาหาคนที่ท่านอ้างว่าแสดงวัตถุ ๑๐ หย่อนวินัยลงมาให้พอประพฤติได้สะดวกมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า วัตถุ ๑๐ อยากจะรู้ไปดูในสังคีติได้. เพราะพระธรรมและพระวินัยท่านจำได้ด้วยปากจนขึ้นใจ เมื่อมีพวกที่ย่อหย่อนต่อพระวินัย ลดพระวินัยลงมาหาคนเสีย ก็หย่อนลงไปชั้นหนึ่ง ถ้าปล่อยลงไปเช่นนั้นก็จะหย่อนลงไปอีก. แต่พระเถระครั้งกระนั้น มีพระยสเถระกากัณฑกบุตร เป็นต้น ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมทำตามพวกที่หย่อนวินัยลงมาหาคน จึงชักชวนพระพวกที่เคร่งครัด ให้รวมกันเข้าทำสังคายนาอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ ให้ท่านผู้ชำนาญวินัย แสดงวินัยเป็นตอนๆ แล้วพระที่ประชุมกันก็ว่าตามกันเป็นตอน ๆ ไปจนจบพระวินัย แล้วให้แสดงธรรมเป็นตอนๆ ว่าตามกันไปจนจบ; เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า วินัยที่พระวัชชีบุตรหย่อนลงมาหาคน ผิดพระบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ใช้ไม่ได้ ท่านจึงกำจัดพระวัชชีบุตรออกจากหมู่ออกจากพวก. ถ้าจะถือว่าพระยสเถระกัณฑกบุตรทำสังฆเภท แยกสงฆ์ในเวลานั้นให้แตกกัน ก็น่าจะหา, แต่ว่าท่านไม่หากัน กลับยกย่องว่าท่านทำดี ท่านได้ทำคุณแก่พระพุทธศาสนาหรือแก่คนที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งเสียอีก, เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาจะเลอะเลือนไปทุกที, ที่ท่านกำจัดพวกวัชชีบุตรออกไปก็คือ กำจัดพวกที่ย่อหย่อนทางวินัย ไม่ให้เข้าพวก.


หีนยาน-มหายาน
ต่อมาก็ถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ มีเรื่องแสดงว่า เดียรถีย์ปลอมบวชแยกออกเป็น ๒ ชนิด คือเข้ามาบวชในหมู่ภิกษุนั่นเอง แต่ว่าเมื่อบวชแล้ว ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติไปตามลัทธิเดิมของตัวบ้าง, เข้ามาปลอมตัวนุ่งห่มอย่างภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วปฏิบัติตามลัทธิเดิมของตนบ้าง. พระโมคคัลลีบุตรเถระเป็นผู้ใหญ่ผู้เคร่งครัดในเวลานั้นเห็นไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ถูก จึงชักชวนพระเถระซึ่งเป็นผู้หนักอยู่ในพระธรรมวินัย ให้ทำสังคายนาอีกคราวหนึ่ง, วิธีทำก็ทำชนิดที่กล่าวมาแล้วคือ นิมนต์ให้ผู้ชำนาญทางพระวินัยว่าไป แล้วพระอื่นก็ว่าตาม, ในทางธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน; เมื่อสังคายนาเช่นนั้นเสร็จแล้วก็รู้ได้ว่า พวกเดียรถีย์เข้ามาปลอมบวช เพราะไม่รู้พระวินัย ท่านจึงกำจัดพวกเดียรถีย์ออกไป, ตามเรื่องว่าพระเจ้าอโศกหรือธรรมราชาอโศก ให้พวกเดียรถีย์สึกเสีย แต่คงไม่หมด, แต่ก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหนีออกไปทางเหนือ, ไปประสบอากาศหนาวเข้า นุ่งอันตรวาสกห่มอุตตราสงค์ไม่พอ จึงต้องเปลี่ยนสบงเป็นกางเกง จีวรเป็นเสื้อ และมีผ้าห่มหนาวสวมรองเท้าเข้าด้วยเป็นไปตามถิ่น, เมื่อไปแสดงธรรมแก่พระเจ้ากนิษกะที่มีอำนาจทางเหนือ, พระเจ้ากนิษกะทรงเลื่อมใสก็ทรงอุปถัมภ์ เป็นอัครศาสนูปถัมภก อุดหนุนท่านพวกที่แตกแยกออกไป, ครั้นพระเจ้ากนิษกะมีอำนาจแผ่ลงมาทางใต้, พวกเหล่านั้นที่แยกออกไปก็ลงมาอยู่ทางใต้ได้อีก. เพราะฉะนั้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาจึงแยกออกได้เป็น ๒ พวก พวกเหนือพวกหนึ่ง พวกใต้พวกหนึ่ง. พวกเหนือตั้งชื่อว่า มหายาน คือ มียานเครื่องไปอันกว้างขวาง และตั้งชื่อพวกทางใต้ว่า หีนยาน คือมียานเครื่องไปอันคับแคบไม่ทันสมัย เพราะคงถือตามหลักเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนพวกเหนือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย. เมื่อพระถังซำจั๋งหรือหลวงจีนฮวนฉ่าง ไปเรียนพระพุทธศาสนาที่มัธยมประเทศ ก็ไปเลือกเรียนในสำนักมหายาน, ถ้านึกดู ก็น่าจะสม เพราะเป็นจีนและอยู่ทางจีนเหนือใช้สบงจีวรสังฆาฏิเท่านั้นไม่พอ ต้องนุ่งกางเกง สวมเสื้อ สวมรองเท้า ซ้ำยังสวมหมวกด้วย ก็เพราะหนาว ทนไม่ไหว จะทำอย่างไร. เมื่อพระถังซำจั๋งเรียนพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกลับไปประเทศจีนแล้ว ก็ได้รับทำนุบำรุงให้แพร่หลายมาก, เพราะฉะนั้น พวกมหายานจึงแผ่ออกไปมาก ไปทางทิเบต ไซบีเรีย จีน เกาหลี ข้ามมาญี่ปุ่น และไปญวน.

ต่อจากตติยสังคายนา คือสังคายนาครั้งที่ ๓ ออกไป ทำที่ลังกา มีเรื่องที่ท่านเล่าไว้ว่า พระมหินท์ที่พระโมคคัลลีบุตรส่งออกไปประกาศศาสนาที่ลังกา ไปบวชคนชาวลังกาได้มาก, พระลังกาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาจนถึงจำพระพุทธศาสนาได้ด้วยกันเป็นอันมาก ท่านจึงชักชวนกันให้ทำสังคายนาในลังกา ให้ท่านองค์หนึ่งที่ทรงจำเป็นผู้ว่านำขึ้นแล้ว พระองค์อื่นที่ประชุมกันก็ว่าตาม. สังคายนาครั้งนี้ไม่มีเรื่องอะไร แต่ว่าท่านให้ทำสังคายนา ก็เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาว่า ตั้งมั่นแล้วที่ลังกา เพราะมีพระในลังกาสามารถจำพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายพระวินัย ทั้งฝ่ายพระธรรม จนถึงสามารถทำสังคายนาได้ นี่เรียกว่า สังคายนาครั้งที่ ๔ หรือจตุตถสังคายนา.
จารึกพระพุทธศาสนาเป็นตัวหนังสือ

ย่อจากนั้นไป พระเถระในรุ่นหลัง เห็นความทรงจำของคนเสื่อมทรามลง และประเทศลังกาเองก็เกิดข้าศึกรุกราน พวกทมิฬข้ามฟากมารบบ้าง เกิดกบฏในประเทศบ้าง, เมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยลงคราวหนึ่ง ท่านก็ชวนกันจารึกพระพุทธศาสนาลงเป็นตัวหนังสือในใบลาน. แต่เมื่อพิจารณาดู ก่อนที่จะจารลงไปเป็นตัวหนังสือในใบลาน ก็ต้องทำสังคายนา คือ ประชุมกันให้ท่านผู้ชำนาญว่านำขึ้น และพิจารณาสอบสวนจนเห็นว่า ถูกต้องแล้ว ก็ว่าตามเป็นตอนๆ จนจบ แล้วจึงจารลงเป็นตัวหนังสือ เรียกว่า สังคายนาครั้งที่ ๕ หรือปัญจมสังคายนา.

ต่อจากนั้น สังคายนาไม่มี, เพราะพระพุทธศาสนาปรากฏเป็นตัวหนังสือแล้ว, ในประเทศไทยปรากฏว่า พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงให้ชำระพระไตรปิฎก ก็เป็นแต่เอาหนังสือมาพิจารณาสอบสวนแล้วก็จารลงไป จนถึงพิมพ์ในกระดาษเป็นหนังสือพิมพ์ นี่ไม่ใช่สังคายนา เป็นเพียงชำระหนังสือเท่านั้น. กว่าจะจารึกพระพุทธศาสนาลงเป็นตัวหนังสือ พระพุทธศาสนาก็ล่วงไปกว่า ๔๕๐ ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะมีเรื่องที่มิใช่พระพุทธศาสนาปลอมเข้ามาอยู่ด้วย เช่น สูตรที่แสดงว่า พระราหูอมพระอาทิตย์ อมพระจันทร์ นี่มีในพระไตรปิฎกเหมือนกัน, พระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรมชนิดนี้, จึงสันนิษฐานได้ว่าปลอมเข้ามา. แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าที่จะไม่จารึกลงไว้, ถ้าไม่จารึกลงไว้ จะเสื่อมสูญไปเท่าไร ก็ไม่รู้.


ที่มา เล่าเรื่อง วัดบวรฯ