[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:20:40



หัวข้อ: viriyapharamee วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:20:40
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)

http://www.fungdham.com/download/song/allhits/17.wma




(:LOVE:).........ถ่ายภาพประกอบเนื้อหาโดยข้าพเจ้า(บางครั้ง)สงวนลิขสิทธิ์ภาพถ่ายทุกกรณี......... (:LOVE:)



ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา ที่ทุกท่านได้สะสมมาแล้ว จึงได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้และได้ทรงแสดง ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไป ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ผู้ที่ได้สะสมกุศลศรัทธาในการฟังพระธรรมก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ประการสำคัญที่สุดก็คือว่า ชาวพุทธย่อมทราบว่าพระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เป็นธรรมที่คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดง ซึ่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และกำลังปรากฏอยูทุกขณะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากแสนยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะตามความเป็นจริง ซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้ฟังได้ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ แล้วก็สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมอื่น แต่ว่าธรรมที่ไม่ไช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริง ๆ ว่าผู้ที่มีศรัทธาย่อมเป็นผู้ที่ละเอียด และเห็นว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ดับได้ยาก ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่นึกอยากจะให้อกุศลจิต อกุศลธรรมทั้งหลายหมดไป ก็จะหมดไปได้ แต่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณที่ทรงอบรมพระบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม และทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา
พราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มสนใจธรรมะ และคิดว่าคงจะไม่ต้องศึกษาก็คงจะสามารถเข้าใจได้ หรือว่าเพียงเข้าใจพระธรรมเพียงนิดหน่อยก็สามารถที่จะหมดกิเลสได้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าพระธรรมเป็นสิ่งซึ่งละเอียด เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาก็ต้องศึกษาด้วยความละเอียดจริง ๆ
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่าพระธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดงเป็นสิ่งซึ่ง บุคคลอื่น ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตนเอง ขอกล่าวถึงอดีตชาติที่พระผู้มีพระภาคทรงได้รับคำพยากรณ์ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ซึ่งขอย้อนถอยหลังไปถึงเมื่อสี่อสงไขยแสนกัปป์ ให้เห็นความยากลำบากกว่าที่จะได้ตรัสรู้ธรรม เป็นสิ่งซึ่งยากจริงๆ และต้องอบรมบารมีจนกว่าพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:23:43
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



ในสมัยที่ทรงพระชาติเป็นสุเมธดาบส เมื่อสี่อสงไขยแสนกัปป์ และทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรว่า อีกสี่อสงไขยแสนกัปป์ ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ ผู้ที่ได้รับคำพยากรณ์อย่างนั้นจะรู้สึกอย่างไร อีกสี่อสงไขยแสนกัปป์ แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะมีความเพียรที่จะอบรมเจริญบารมีความดีทุกประการ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าถ้าหากยังมีกิเลสมาก ๆ และไม่มีการขัดเกลากิเลสเลย ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ส่วนมากบางคนจะคิดว่าไม่ต้องขัดเกลากิเลสไม่ต้องอบรมเจริญกุศล เมื่อฟังธรรมแล้วได้ปฏิบัตินิด ๆ หน่อย ๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่นั่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะว่าผู้ที่จะรู้ได้ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดเช่นหนทางที่พระโพธิสัตว์ได้ ดำเนินมาแล้ว เมื่อท่านสุเมธดาบสได้รู้ว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทำอะไร ท่านใคร่ครวญด้วยปัญญาว่า ธรรมที่เป็นพุทธการกธรรม คือ ธรรมอันทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อได้พิจารณาแล้วก็รู้ว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นพุทธการกธรรม เป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่งจากความเป็นปุถุชนไปสู่ฝั่งของการดับอกุศลทั้งปวงได้
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเป็นสิ่งที่สมควรแก่เหตุ หมายความว่าถ้าเหตุไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
พุทธการกธรรมซึ่งเป็นบารมีที่ ๙ คือ ทานบารมี ทุกท่านคงจะชินกับบารมีทั้งสิบ แต่ก็ให้ทราบว่า ทานบารมีเป็นกุศลซึ่งไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่ได้ต้องการภพชาติ ไม่ได้ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการแม้เพียงการคุ้นเคยสนิทสนม แต่ต้องเป็นไปด้วยการละการติดข้องในวัตถุทั้งปวง เพราะฉะนั้นทานของแต่ละคนก็สามารถจะพิจารณาได้ ว่าเป็นแนวทางของการที่จะทำให้ละความติดข้อง และสามารถที่จะเจริญปัญญาที่จะเห็นโทษของการติดข้อง แล้วก็อบรมทานบารมีเท่าที่สามารถจะกระทำได้
บารมีที่ ๒ คือ ศีลบารมี ก็คือ การละเว้น กาย วาจาที่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ เดือดร้อน ซึ่งศีลเป็นที่ตั้งของกุศลทุกอย่าง เพราะว่าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลใดทั้งสิ้น มีแต่จะนำประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นกุศลประการอื่น ๆ ต่อไป
บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมบารมี การออกจากความติดข้องในกาม เพราะถึงแม้ว่าจะให้ทานแล้ว แต่ก็ยังมีการติดข้องในสิ่งต่าง ๆ แล้วถึงแม้ว่าจะมีศีล
มีการละเว้นทุจริต ไม่ทำให้กาย วาจาของตนเองทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ก็ยังติดข้องอยู่ในสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เห็นโทษว่ามีความติดข้องมาก โดยที่ทานและศีลก็ไม่สามารถจะทำให้ความติดข้องนั้นหมดไป ก็จะมีการเพียรพยายามที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย จากการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมอื่นๆ ทั้งหลาย เช่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามกำลังที่จะเป็นไปได้ ก็จะเป็นไปได้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าใครสามารถจะหมดความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะออกจากเรือนเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นเนกขัมมะอย่างสูง คือ การสละอาคารบ้านเรือน แต่ถ้าปัญญาไม่ได้อบรมพอ และบารมีทั้งหลายไม่อบรมพอ ก็ไม่สามารถที่จะคลายความติดข้องได้ ซึ่งความติดข้องกันมานานแสนนาน กว่าจะละได้ก็ต้องใช้เวลาที่นานมาก ในการจะละความติดข้องได้ เพราะว่าผู้ที่จะละความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ในภพ ในชาติ ในการเกิด ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของความติดข้องในรูปที่กำลังปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฎฐัพพะซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดทุกภพทุกชาติ ติดข้องอยู่ตลอดถ้าไม่มีปัญญาหรือบารมีที่ได้อบรมมาจริง ๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะละความติดข้องได้


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:27:11
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



ถ้าตราบใดยังไม่มีความรู้สึกว่า ความติดข้องในภพ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับคนที่อยู่ในที่คุมขัง ซึ่งไม่มีทางที่จะออกไปจากความติดข้องในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้เลย ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะอบรมบารมีที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนต้องฟัง แล้วใคร่ครวญพิจารณาด้วยความละเอียดจริงๆ
บารมีที่ ๔ คือ ปัญญาบารมี ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็น เข้าใจถูก รู้ถูกตามสภาพความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาจะมีได้อย่างไร ถ้าไม่มีความเพียรที่จะพยายามฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียรอย่างอื่นไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
นี่คือความเพียรของผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นความเพียรของผู้ที่อบรมถึงขั้นของผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า เพียรอย่างอื่นไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งท่านสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้สอนตนเองอย่างนี้ว่า.................................................................................
ท่านไม่พึงเว้นชนชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูงไร ๆ เข้าไปหาบัณฑิตทุกท่าน แล้วถามปัญหาเช่นเดียวกับอาหารบิณฑบาตไม่เว้นตระกูลทั้งหลายเลย ทั้งตระกูลชั้นต่ำ ตระกูลชั้นกลาง ตระกูลชั้นสูงนี่แสดงให้เห็นถึงความเพียรของ บุคคลผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แม้ปัญญาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโดยการฟัง ไม่ว่าจะฟังใครมาทั้งนั้น ก็จะต้องเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูกจากการฟัง จึงจะเป็นผู้ที่เป็นพหูสูต คือผู้ที่ฟังมาก ไตร่ตรองมาก เมื่อท่านสุเมธดาบสได้ฟังคำพยากรณ์ ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรแล้ว ท่านก็ได้เฝ้าและฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๒๓ พระองค์ ซึ่งรวมทั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรด้วยแล้ว ก็เป็น ๒๔ พระองค์ ก็เป็นเวลาที่ยาวนานมาก เป็นจิรกาลภาวนาบารมีที่ ๕ คือ “วิริยบารมี” ความเพียรไม่ท้อถอยในสิ่งที่แม้จะยากลำบากสักเท่าไรก็ตาม ซึ่งทุกคนที่เพียรในเรื่องอื่นมีความสามารถในเรื่องอื่นมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะยากกว่าความเพียรที่จะละความชั่ว ประพฤติดี และชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จทุกอย่างทั้งในทางโลกและทางธรรม ถ้าไม่มีความเพียรแล้ว ไม่มีทางจะสำเร็จได้เลย แต่ความเพียรในทางโลกซึ่งเต็มไปด้วยความต้องการ กับความเพียรในกุศลซึ่งจะขัดเกลากิเลส ความเพียรในกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสก็ย่อมจะต้องมีความเพียรมากกว่า เพราะว่าปกติแล้วก็เป็นผู้ที่เพียรในอกุศล เป็นผู้ที่เพียรในอกุศลคือ เพียรด้วยความติดข้อง ต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนก็พิสูจน์ได้ว่าเพียรอย่างนี้มาโดยตลอด คือเพียรที่จะได้รูปด้วยความต้องการในรูปนั้น เพียรที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข เพราะว่ากว่าจะมีกำลังในความเพียรที่จะละ ไม่ใช่เพียรที่จะได้ แต่เพียรที่จะละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในทุกอย่าง ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญสุข ก็จะเห็นได้ว่าต้องเป็นเวลาที่ยาวนานมาก กว่าจะเปลี่ยนความเพียรในอกุศลเป็นความเพียรที่เป็นกุศล


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:31:01
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



ขอกล่าวถึงความเพียรอย่างยิ่งยวดของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นพระมหาชนก
พระมหาชนกได้ทูลลาพระมารดา แล้วลงเรือเพื่อไปค้าขายสินค้าที่เมืองไกลคือ ในสุวรรณภูมิ ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก เมื่อพระมหาชนกทรงทราบว่าเรือจะจม ก็เสวยอาหารจนอิ่ม แล้วทรงนุ่งผ้าที่ทรงชุบน้ำมันจนชุ่มอย่างแน่นหนา เมื่อเรือจม ผู้ที่อยู่ในเรือก็จมน้ำ เป็นอาหารของสัตว์น้ำไป แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย และผ้าทรงที่ชุบน้ำมันจนชุ่ม ก็ทำให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี ป้องกันภัยจากสัตว์น้ำทั้งหลายได้ พระองค์ทรงมีความเพียร ไม่ย่อท้อ ทรงว่ายน้ำอยู่ในทะเลนานถึง ๗ วัน นางมณีเมขลาซึ่งเป็นเทพธิดา เห็นเช่นนั้นก็ลองพระทัย โดยถามว่า ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง ๗ วันทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ก็จะทนว่ายไปทำไมพระมหาชนกตรัสตอบว่า “ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไป จนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง
นางมณีเมขลากล่าวว่า มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะตายเสียก่อนเป็นแน่
พระมหาชนกตรัสตอบว่า คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะที่กำลังทำความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว
นางมณีเมขลาถามต่อว่า การทำความพยายามโดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้นมีแต่ความยากลำบาก อาจจะถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน
พระมหาชนกตรัสว่า แม้จะรู้ว่าสิ่งที่กำลังกระทำนั้น ไม่อาจสำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายาม แต่กลับหมดความเพียรเสีย ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงจุดหมายที่ต้องการ บุคคลควรมีความเพียรพยายามแม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ในทะเลนี้เมื่อคนอื่นตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามจนสุดกำลังเพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้
นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็สรรเสริญความเพียรพยายามของพระมหาชนก และอุ้มพระมหาชนกไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา
นี่เป็นพระชาติหนึ่งซึ่งจะได้เห็นความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งยาก เพราะว่าเพียงการเพียรข้ามมหาสมุทร ถ้ายังทำไม่ได้ การเพียรที่จะข้ามโอฆะ คือห้วงน้ำของกิเลสจะมีได้อย่างไร


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:34:38
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมคุณธรรมทางฝ่ายที่เป็นบารมีที่จะให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่เรื่องที่เล็กน้อยเลย เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าทุกคนกำลังมีกิเลส แล้วจะให้ละกิเลสที่กำลังมี กำลังเกิดขึ้น แม้เพียงในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เช่น ขณะที่กำลังสนุกสนานรื่นเริงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม บอกว่าหยุดเสียอย่าต้องการ เลิกเสีย ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรืออะไรก็ตาม ใครทำได้ในขณะนั้น ในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นเกี่ยวข้องในสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นชีวิตในแต่ละวันก็เป็นอย่างนี้ คือ มีความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะให้ละความติดข้องในสภาพที่กำลังติดข้องนั้น ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมไม่สามารถที่จะละอกุศลได้ และการละอกุศลได้ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่ตามความต้องการว่าจะละโลภะก่อน แต่จะต้องละตามลำดับขั้นของอกุศล ละความเห็นผิดที่เห็นว่าสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
บารมีที่ ๖ คือ ขันติบารมี ไม่พอเลยแม้ว่าจะมีบารมี ๕ ประการแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะทำให้สามารถที่จะดับกิเลสได้ ต้องอาศัยบารมีอื่นประกอบอีก คือบารมีที่ ๖ ขันติบารมี ความอดทนต่อความทุกข์ ความสุข ความยากลำบาก อดทนในการยกย่อง ในการดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้เพื่อละความติดข้องในตัวตน เพราะว่าเมื่อยังมีเรา ก็ยังต้องติดข้องในคำสรรเสริญ ในการยกย่อง หรือว่ามีความขุ่นเคืองใจ เมื่อผู้อื่นดูหมิ่น เพราะฉะนั้นความอดทน ต้องอดทนทุกอย่างในชีวิต ทั้งในสุข ทั้งในทุกข์ ทั้งในความยากลำบากต่าง ๆ
อุปมาเหมือนกับแผ่นดินซึ่งต้องอดทน ต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงมา ทั้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง เพราะฉะนั้น ชีวิตของทุกท่านในระหว่างที่กำลังฟังธรรม ก็จะต้องมีความอดทนที่จะต้องเพียรต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะในชาติไหน จะได้รับสุข ทุกข์อย่างไร หรือว่าจะมีความทุกข์ยากต่าง ๆ อย่างไร
สำหรับชีวิตในชาตินี้ ก็อาจจะเห็นได้ว่า ถ้าขณะที่กำลังเพลินไป ขณะนั้นไม่ทำกุศล เพราะฉะนั้นกำลังติดข้อง คิดว่าจะทำ แต่ถ้าอกุศลจิตเกิด ไม่ทำแล้ว ไปเที่ยว หรือว่าทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การกุศล
บารมีที่ ๗ สัจจบารมี เป็นผู้ที่ตรงและจริง ไม่ทำและพูดสิ่งที่ผิดจากความจริง เวลาที่ทำความดีกับใครก็ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพราะว่าเป็นเรื่องความจริงของการที่ทำดีจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ว่าหลอกลวงหรือเสแสร้ง เพราะว่าถ้าเป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ว่าทำไปด้วยความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ด้วยความจริงใจ ในขณะนั้นก็เหมือนการเสแสร้งหรือเป็นการหลอกลวง เพราะว่าเป็นการทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อหวังประโยชน์ของคนอื่น


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:37:47
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



ซึ่งเรื่องของ สัจจะ ความเป็นผู้ตรง มีข้ออุปมาว่า เสมือนยาชนิดใดก็แก้โรคชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นขิง ดีปลี ก็รักษาตรงต่อโรคนั้นๆ ไม่ออกนอกทางไปทางอื่น คือแล้วแต่ว่าเป็นยาประเภทใด ก็รักษาตามลักษณะของโรคประเภทนั้น ๆ
เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดที่หวังจะให้กุศลเป็นบารมี การทำกุศลก็ต้องเป็นการตรงเพื่อกุศลจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น
บารมีที่ ๘ คือ อธิษฐานบารมี เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญกุศลในการขัดเกลากิเลส เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งบางคนอาจจะมีความคิดที่จะเจริญปัญญา หรือว่ามีความตั้งใจว่าชาตินี้หรือชีวิตนี้ จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์อย่างไร แต่ถ้ามีอกุศลเกิดขึ้นเมื่อไร ความมั่นคงของกุศลนั้นก็จะคลอนแคลนได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริง แม้ลมพัดมากระทบทุกทิศก็ไม่คลอนแคลนสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่มั่นคง
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตนเองจริง ๆ ในเรื่องของการขัดเกลากิเลส ในเรื่องของการที่จะถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสได้
บารมีที่ ๙ คือ เมตตาบารมี คำนี้ใช้กันบ่อย ๆ แต่ว่าจิตที่เมตตานั้นเกิดบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าทุกคนใช้คำต่าง ๆ ได้ แต่ต้องพิจารณาสภาพจิตจริงๆ ว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรที่จะมีความเมตตา คือ มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดีที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงสิ่งซึ่งใช้คำนี้ให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน ให้ทุกคนมีแต่ว่า ในขณะที่ตนเองกำลังประสบกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็อาจจะลืมพิจารณาว่า ขณะนั้นมีเมตตาหรือเปล่า ๆ ในชีวิตที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำกุศลประเภทใด ก็เป็นผู้ที่ไม่คลอนแคลนในการที่จะให้ชีวิตดำเนินไป ตามความต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งในข้อนี้อุปมาว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะพิจารณาก็คือ ว่า ถ้ามีการเมตตากับคนที่เป็นคนดี มีประโยชน์เกื้อกูลก็ไม่ยาก แต่ว่าการที่จะมีเมตตาต่อคนที่ไม่มีประโยชน์เกื้อกูล คนที่ไม่ดีนั้น รู้สึกว่าจะทำได้ยาก แต่เมตตาไม่ควรจะจำกัด เพราะว่าผู้ที่อบรมเจริญเมตตาก็จะต้องเมตตาไปหมด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี หรือว่าเป็นคนชั่ว ไม่ใช่ว่าเป็นคนชั่วแล้วก็ไม่เมตตา เมตตาแต่เฉพาะคนดี ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่เป็นบารมี เพราะว่าไม่สามารถจะชำระความขุ่นเคืองใจของตนเองได้ ในขณะที่ไม่เมตตาคนอื่น ขณะนั้นก็ยังคงมีความขุ่นเคืองในบุคคลนั้น อุปมาเหมือนกับน้ำที่ย่อมเอิบอาบ ทำความเย็นแก่ที่ ๆ น้ำผ่านไป บุคคลใดก็ตามที่มีความเมตตาแก่คนทั้งปวง ไม่ว่าจะพบเห็นบุคคลใด ทั้งคนดีและคนชั่ว ขณะนั้นจึงจะเป็นเหมือนกับน้ำที่เอิบอาบ ทำความเย็นแก่ทุกคนที่ผ่านไปในชีวิต ซึ่งขณะนั้นก็ทำให้จิตคลายจากอกุศลคือโทสะ เพราะว่าถ้าขณะใดที่เมตตาไม่เกิด ขณะนั้นก็อาจจะขุ่นเคืองในบุคคลอื่นได้


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:41:07
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



บารมีที่ ๑๐ คือ อุเบกขาบารมี เป็นสิ่งที่เพิ่มความยากขึ้น อุเบกขาบารมีหมายความถึงความเป็นกลาง ทั้งในสุขและทุกข์ คือไม่หวั่นไหว เห็นว่าสุขและทุกข์ก็เหมือนกัน คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของความสุขและความทุกข์ได้เลย เพราะทุกอย่างเป็นธรรมะ สำหรับผู้ที่มีอุเบกขาก็เสมือนกับผู้ที่ถือตาช่าง ซึ่งสุขและทุกข์ และตราชั่งนัยก็ตรงกัน คือ เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
นี่ก็เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่า แม้ว่าทุกคนจะรู้จักบารมีทั้ง ๑๐ เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่สามารถที่จะมีบารมีได้ทุกโอกาส เพราะยังมีอกุศลมากที่จะต้องอาศัยบารมีหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย คือ วิริยบารมี ถ้าใครรู้ว่าสิ่งใดดี แต่ไม่มีความพากเพียรที่จะทำ ยังไงก็สำเร็จไม่ได้ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แล้วไม่ท้อถอย ยังเพียรต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ที่อีกยาวนาน กว่าทุกคนจะหมดกิเลสได้ ต้องรู้ว่า บารมีหนึ่งที่สำคัญที่เกื้อกูลบารมีทั้งหลายก็คือ วิริยบารมี ซึ่งตามความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะได้ทราบว่า วิริยะ ในชีวิตเกิดขึ้นเกือบทุกขณะ ความเพียรเกิดขึ้นกับจิตเกือบทุกประเภท คือ หลังจากที่เห็นมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่ได้ยินมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เห็นแล้วคิด ขณะที่คิดมีความเพียรเกิดร่วมด้วย คือ คิดดีหรือคิดไม่ดีหลังจากที่ได้ยินแล้วก็คิด ในขณะที่คิดหลังจากที่ได้ยินก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วยในขณะที่คิดดีหรือไม่ดี
เพราะฉะนั้นในชีวิตวันหนึ่ งๆ นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็มีความเพียรเกิดร่วมกับความคิดตลอดมา แต่ความเพียรในชีวิตประจำวันเป็นความเพียรที่เป็นไปกับความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องของทางโลก ในการอาชีพต่างๆ แล้วก็เพียรตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นไปในเรื่องของชีวิตในความเป็นอยู่ซึ่งไม่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว หลายๆ ชาติ ตลอดกี่แสนชาติ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ความเพียรที่เกิดหลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่น ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็เพียรไปเพียงในเรื่องความเป็นอยู่ของชีวิตในวันหนึ่ง ๆ
ดังนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะเห็นได้แล้วว่ากว่าจะค่อยๆ เพิ่มวิริยะความเพียร จากความเพียรในอกุศล เป็นความเพียรในกุศล จากความเพียรที่เป็นมิจฉาชีพ หรือมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะจากอกุศลกรรมทั้งหลาย เป็นความเพียรที่ค่อยๆ เป็นในกุศลธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะเป็นความเพียรในโพธิปักขิยธรรม
นี่จะเห็นได้ว่า ธรรมทุกอย่างจะต้องค่อย ๆ เจริญขึ้น ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลที่สะสมมาแล้ว ก็เป็นไปตามกำลังของอกุศลนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่การสะสมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้นธรรมฝ่ายอกุศลก็ย่อมมีกำลังมาก ซึ่งต้องอาศัยความเพียรอย่างมากในทางฝ่ายกุศลจึงจะค่อย ๆ เพียรตามความเป็นจริงในชีวิตว่าหลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้วไม่กล่าวถึงในชาติก่อน เฉพาะในชาตินี้มีความเพียรในทางกุศลเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า
ถ้าขาดความเพียรเสียอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะละอกุศลได้เลย แล้วจะได้เห็นกำลังของความเพียรค่อย ๆ


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:44:39
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



พิ่มขึ้น จากกุศลที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นธรรม ที่เป็นฝักฝ่ายในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องใช้กาลเวลานานมาก คือ ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม เพียรฟัง เพียรพิจารณาให้ถูก เพียรอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าในขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นละอกุศลทีละเล็กทีละน้อย แต่ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าความเพียรนั้นยังไม่เป็นไปในธรรมที่เป็นไปในโพธิปักขิยธรรม คือ เป็นธรรมที่เป็นส่วน หรือเป็นฝักฝ่ายในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นสิ่งที่จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ ใกล้คือสามารถจะอบรมเจริญได้เมื่อมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ที่ไกลก็คือ
กว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมครบทั้ง ๓๗ ประการ ที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ ก็ต้องเป็นเวลาที่นานมาก จะขาดโพธิปักขิยธรรมประการหนึ่งประการใดใน ๓๗ ประการไม่ได้เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงโพธิปักขิย ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนของการตรัสรู้ ซึ่งมี ๗ ประเภท คือ..................

สติปัฏฐาน ๔

สัมมัปปธาน ๔

อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕

พละ ๕

โพชฌงค์ ๗

มัคค์มีองค์ ๘


ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นจะต้องค่อยๆ อบรมไปจริง ๆ สำหรับโพธิปักขิยธรรมประเภทที่ ๑ คือ สติปัฏฐาน ๔
สติเป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมด้วยอาตาปี สัมปชาโน เพราะว่าสติปัฏฐานเป็น
การระลึกลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ถ้าจะกล่าวถึงทั่ว ๆ ไป ก็คือว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ๆ
ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะไม่พ้นจากกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม
แต่ที่ทรงจำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรมก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่เคยยึดถือกายว่าเป็นเรา เวทนาว่าเป็นเรา จิตว่าเป็นเรา ธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรา


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:52:04
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



เพราะฉะนั้นจะต้องมีการระลึกรู้ จนกว่าปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังระลึกนั้นว่า เมื่อไม่ใช่เรา สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ซึ่งการที่จะมีความรู้สมบูรณ์ขึ้นได้ ก็จะต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา
สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งมี ๗ ประเภทนั้น ไม่ขาดความเพียร คือ วิริยะเลยสักประเภทเดียว นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความเพียรในชีวิตเป็นสิ่งซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาจริง ๆ ว่า ความเพียรที่มีในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่เป็นความเพียรในอกุศล หรือความเพียรในกุศล หรือเริ่มเป็นความเพียรที่เป็นฝักฝ่ายในการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ แจ้งอริยสัจธรรมสัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ ความเพียรโดยตรง ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ.....................................
ความเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้นความเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วความเพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ความเพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วเจริญถึงความบริบูรณ์นี่ก็เป็นเรื่องของความเพียร ซึ่งขณะใดที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความเพียรนั้นก็เป็นสัมมัปปธาน คือ เป็นความเพียรชอบ
ปธาน คือ ความเพียร สัมมา คือ ชอบดังนั้นสัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ เพราะเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดเพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นเพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้วเจริญถึงความบริบูรณ์
ต้องเป็นเรื่องที่ค่อย ๆ อบรมไปจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อใด โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ครบสมบูรณ์เมื่อนั้นดังนั้นเวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็มีสัมมัปปธาน ๔ ร่วมด้วย


...........................................อิทธิบาท ๔.............................................


๑) ฉันทสมาธิปธานสังขาร ๑

๒) วิริยสมาธิปธานสังขาร ๑

๓) จิตตสมาธิปธานสังขาร ๑

๔) วิมังสาสมาธิปธานสังขาร ๑

ฉันทสมาธิปธานสังขาร คือ มีฉันทะอันยิ่ง คือ เป็นอธิบดี สัมปยุตด้วยสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเป็นปธานชื่อว่า ปธานสังขาร
คำว่า ปธานสังขาร เป็นชื่อของความเพียร ส่วนอิทธิบาท ๔ ก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา เพราะเป็นอิทธิบาท คือ เป็นธรรมซึ่งเป็นบาทที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมฉันทสมาธิปธานสังขาร คือ มีฉันทะอันยิ่ง คือ เป็นอธิบดี สัมปยุตด้วยสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเป็นปธานชื่อว่า ปธานสังขาร
อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย
พละ ๕ คือ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย.............................................


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 13:57:16
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)




...........................................โพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือ...........................................


๑. สติสัมโพชฌงค์

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๓. วิริยสัมโพชฌงค์

๔. ปีติสัมโพชฌงค์

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์


.......................................มัคค์มีองค์ ๘  คือ.........................................


๑. สัมมาทิฏฐิ

๒. สัมมาสังกัปปะ

๓. สัมมาวาจา

๔. สัมมากัมมันตะ

๕. สัมมาอาชีวะ

๖. สัมมาวายามะ

๗. สัมมาสติ

๘. สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะ ก็ได้แก่ความเพียร จะเห็นได้ว่าไม่ขาดความเพียรในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ ประเภท
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่าน แม้ว่าจะได้ยินเพียงชื่อของโพธิปักขิยธรรม ก็จะต้องทราบว่า เป็นการอบรมปัญญาพร้อมด้วยธรรมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายกุศลที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้นวิริยะที่กำลังเกิดในขณะนี้ เป็นทางฝ่ายกุศล หรือเป็นทางฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลไม่เป็นบารมีเลย และทุกท่านก็พอจะสังเกตเห็นวิริยะ ซึ่งเป็นไปในโลภะเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาปรารถนาที่จะเห็น ขณะมีวิริยะที่จะสร้างสิ่งที่สวยงาม ที่ปรารถนา ที่จะดูให้เกิดขึ้น


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 14:01:03
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ ซึ่งเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ แต่ว่าเมื่อเกิดกับอกุศลจิต เป็นประจำมานานแสนนานแล้ว ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของวิริยบารมีว่า แทนที่จะเพียรในทางอกุศล ก็ควรที่จะเพียรเพื่อที่จะให้วิริยะนั้นเป็นวิริยบารมีดังนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณะลักษณะของวิริยะซึ่งกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ด้วยข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่าวิริยะ มีอุตสาหะ เป็นลักษณะมีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลาย เป็นรสะ คือเป็นกิจมีความไม่ท้อแท้ใจ เป็นปัจจุปัฏฐานมีความสลดใจ เป็นปทัฏฐานถ้าจะดูวิริยะที่พอจะเห็นได้ คือ ในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับขณะที่เกียจคร้าน แต่ว่าโดยอภิธรรม คือ ธรรมที่ละเอียดที่ทรงแสดงไว้ ถึงเจตสิกที่เกิดกับจิต จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นวิริยะในทางเกียจคร้าน ไม่มีใครอยากจะขยันเท่าไร ขี้เกียจสบายกว่า ดังนั้นแม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน ก็มีวิริยะที่จะเกียจคร้านต่อไปอีกนี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ควรจะต้องพิจารณา แม้แต่ลักษณะ รสะ คือ กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดสำหรับลักษณะของวิริยเจตสิกอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณา แต่ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่าความเป็นผู้กล้าหาญ การกระทำของคนกล้าหาญ และความไม่ย่อหย่อนนั้น เป็นลักษณะของวิริยเจตสิก
มี ๒ คน คนหนึ่งกล้า อีกคนหนึ่งขลาดแม้ว่าโดยอภิธรรม คนขลาดก็จะต้องมีวิริยะที่จะขลาด แต่คนกล้าจะแสดงลักษณะของวิริยะชัดเจน เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะมีอุปสรรค หรือว่าจะมีอันตราย อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญนั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นไปทางฝ่ายกุศล วิริยะนั้นก็ถึงฐานะของความเป็นอินทรียะ คือ เป็นวิริยินทรีย์เมื่อเกิดร่วมกับสัทธา สติ สมาธิ ปัญญา และเมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นสัมมาวายมะ เป็นความเพียรชอบที่จะระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง และเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น วิริยะนั้นก็เป็นวิริยพละ มีกำลังไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทุกเหตุการณ์ ไม่มีการที่คิดว่า ขณะนี้จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายวิริยินทรีย์ เพื่อที่จะให้ทุกท่านได้ตรวจสอบลักษณะของวิริยเจตสิก จากข้อความในอัฏฐสาลินี ซึ่งมีว่าความเป็นไปแห่งความกล้า ชื่อ วิริยหรือ การกระทำของคนกล้า เป็น วิริยะ วันหนึ่ง ๆ มีความกล้าอะไรบ้างหรือเปล่ากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกหรือเปล่า หรือว่ากล้าที่จะเป็นผู้ที่สุจริต โดยที่ว่าไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ความลำบาก ความขัดสน ความยากจน
หรือว่าบางท่าน กล้าที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมโดยที่ไม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่รักของคนพาล..........................................................


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 14:04:35
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



หรือว่า อาจจะมีคนที่เข้าใจเจตนานั้นผิดก็ได้ แต่ธรรมก็คือธรรมตามความเป็นจริงดังนั้นผู้ที่กล้าที่จะเห็นการกระทำ ที่กล้าได้ทุกอย่าง ทั้งในทางโลกและในทางธรรมอีกอย่างหนึ่งชื่อว่าวิริยะ เพราะให้ดำเนินไป คือให้เป็นไปด้วยวิธี คือ นัย ได้แก่ อุบาย ซึ่งหมายความถึง ความฉลาด
วิริยะนั้นแลชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเกียจคร้านได้อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะของการประคองวิริยะกำลังเกิดกับทุกท่าน แต่ว่าถ้าพระธรรมไม่แสดงไว้ ไม่มีทางที่จะรู้จักลักษณะของวิริยะโดยนัยประการต่างๆ ได้ แม้แต่ว่าที่ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคองขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรือท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความอดทน ด้วยความขยัน ให้ทราบว่ามีวิริยเจตสิกซึ่งกำลังประคองอยู่ในขณะนั้น กิจการงานนั้นจึงกระทำไปโดยที่ไม่ท้อถอยได้วิริยะนั้นและเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่า วิริยินทรีย์ก็วิริยะนั้นมีการอุปถัมภ์ค้ำจุนเป็นลักษณะ และมีการประคองเป็นลักษณะผู้อบรมเจริญปัญญา ผู้ได้รับการอุปถัมภ์ด้วยการอุปถัมภ์ คือ วิริยะ ย่อมไม่เสื่อม คือไม่เสื่อมรอบจากกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรือนเก่าย่อมทรงอยู่ได้เพราะมีเครื่องค้ำจุน คือ เสาที่เอาเข้ามาใส่ ฉะนั้นขณะนี้ถ้าใครเบื่อ ใคร
ขี้เกียจ ใครง่วง ใครท้อถอย ให้ทราบได้ว่า เหมือนเรือนเก่าซึ่งกำลังผุพัง เพราะว่าไม่สามารถจะตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ หรือดำเนินไปในกุศลทั้งหลายได้
ดังนั้น วิริยเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุนและมีการประคอง เช่นเดียวกับเรือนเก่าซึ่งต้องเอาเสาเข้ามาใส่จึงจะประคองให้เรือนนั้นตั้งอยู่ได้
ในเบื้องแรก พึงทราบว่าความที่วิริยะนั้นมีการค้ำจุนเป็นลักษณะ ท่านทรงแสดงอุปมาหลายอย่าง เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะสภาพของวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้
เหมือนอย่างว่า เมื่อกองทัพน้อยกับกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่น ลำดับนั้นเขาก็จะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระองค์ก็จะพึงส่งพลและพาหนะไปให้กองทัพของพระองค์ที่มีพลพาหนะนั้นสนับสนุน จึงยังกองทัพของข้าศึกให้กลับพ่ายแพ้ได้ฉันใด วิริยะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายท้อถอย ท้อแท้ ย่อมยกคือประคองสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ ดังนั้นท่านกล่าวว่า วิริยะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ วิริยะประคองให้สนใจในสิ่งซึ่งกำลังฟังให้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจขึ้นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของวิริยะ ซึ่งเป็นบริวารของปัญญาข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา อัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่าท่านพระสารีบุตรแสดงการอบรมเจริญบารมีเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ว่า เหมือนอย่างว่ามีนคร ๒ นคร คือ โจรนคร ๑ เขมนคร ๑
ครั้งนั้นนายทหารใหญ่คนหนึ่งเกิดความคิดว่า โจรนครนี้ยังตั้งอยู่ตราบใด เขมนครย่อมไม่พ้นอันตรายนั้น เราจักทำโจรนครให้ไม่เป็นนคร เขาสวมเกราะถือดาบเข้าไปยังโจรนคร เอาดาบฟันเสาระเนียดซึ่งเขายกขึ้นไว้ที่ประตูนคร ทำลายที่ต่อบานประตูและหน้าต่าง ถอนลิ่มสลัก ทำลายกำแพง ถมคู เอาธงที่ยกขึ้นเพื่อความสง่างามของนครลง เอาไฟเผานคร แล้วเข้าเขมนคร ขึ้นบนปราสาท แวดล้อมไปด้วยหมู่ญาติ บริโภคโภชนาหารที่มีรสอร่อย ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 14:06:32
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้นข้อความตอนท้ายที่ว่า สักกายทิฏฐิดุจโจรนคร นิพพานดุจเขมนคร ผู้อบรมเจริญภาวนาดุจนายทหารใหญ่ที่คิดว่า เครื่องผูกคือสักกายทิฏฐิยังผูกพันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นภัยตราบนั้น
นอกจากนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั้นอีก ๗ ชาติอย่างมาก ก็จะบรรลุถึงคุณธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่มีการเกิดอีกเลย
เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่เห็นว่า กิเลสและความทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่อัตภาพ คือที่นามธรรมและรูปธรรมนี่เอง ดังนั้นการที่จะหมดกิเลส หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ก็คือไม่มีนามธรรมและรูปธรรมอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นไปได้ด้วยบารมีหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ คือ วิริยบารมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่จะได้รู้ความจริงว่า วิริยะในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลในขณะใด เป็นอกุศลในขณะใด ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญามาที่จะมีวิริยะเป็นบารมี มีความเพียรที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลและเจริญกุศลขึ้น ถ้าไม่พิจารณาธรรมที่เกิดกับตน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของวิริยะที่เป็นกุศลและอกุศลได้ อกุศลธรรมที่จะต้องดับก่อนคือ สักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงๆ ว่า โจรนครกับเขมนครต่างกัน เขมนครนั้นก็สงบ แต่โจรนครนั้นก็เดือดร้อนวุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะถ้ายังมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพ้นจากความกระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความกังวลก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตอนท้ายของอรรถกถา อนุมานสูตร มีข้อความว่า โบราณาจารย์ คือ อาจารย์ทั้งหลายในอดีต กล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง คือ ตอนเช้า ควรพิจารณาว่ากิเลสมีประมาณเท่านี้ของเรามีอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่ามี พึงพยายามเพื่อละกิเลสเหล่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่มี พึงเป็นผู้มีใจเป็นของตนว่า เราบวชดีแล้วตอนกลางวันก็พิจารณาอีก ตอนเย็นก็พิจารณาอีก เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจถึง ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้ง แต่การไม่พิจารณาเลยไม่สมควร


หัวข้อ: Re: วิริยบารมี
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 10 พฤษภาคม 2553 14:08:49
(http://seesod.com/storage33/VyJTwMPzam1273477996/o.jpg)



ท่านเหล่านั้น ในอดีตท่านเป็นบัณฑิต แล้วท่านก็มีหนทางที่จะเตือนตัวของท่านเอง เปรียบเทียบได้กับบุคคลในสมัยนี้ว่า มีความคิดที่จะพิจารณาตนเหมือนบัณฑิตทั้งหลายในครั้งอดีตหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่การที่จะพิจารณาอกุศลและกุศลของตนเองก็ต้องอาศัยวิริยะ
ตอนเช้า ๑ ครั้ง ตอนกลางวันอีก ๑ ครั้ง ตอนเย็นอีก ๑ ครั้ง ถ้า ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้า ๒ ครั้งไม่ได้ เพียง ๑ ครั้งก็ยังดี มีกิเลสอะไรของท่าน ซึ่งท่านโบราณาจารย์ในครั้งนั้นได้เตือนให้พิจารณาข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมาณสูตรข้อ ๒๒๕ มีว่า......................................
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แสดงธรรมที่เป็นคนว่าง่ายกับภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวให้ภิกษุทั้งหลายพิจารณาตนภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้คนอื่นมาพิจารณาให้ ถามเขาว่าเราเป็นอย่างไร คนนั้นย่อมไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ละเอียดเท่าตัวของเราเองเป็นผู้พิจารณา อกุศลของเราเอง เพราะว่าคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ดีกว่า บางท่านไม่อยากจะพิจารณาอกุศลของตนเองเลย แต่ว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่จะให้วิริยะเจริญขึ้นในฝ่ายกุศล ก็ต้องเห็นอกุศลของตนเองด้วยท่านกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตัวข่มผู้อื่นหรือไม่ หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนยกตัวข่มผู้อื่นจริง ก็พึงพยายามเพื่อจะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
ฟังดูเรื่องของการยกตนข่มคนอื่น ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดจริง อาจจะคิดว่า ท่านเองเปล่า ไม่ได้ทำ ขณะใดที่คิดถึงคนอื่นในความไม่ดีของคนอื่นด้วยอกุศลจิต ขณะนั้นยกตนว่าท่านเป็นคนดีพอที่จะเห็นความไม่ดีของคนอื่นอีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วหรือไม่ หากพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ก็ควรพยายามที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวัน กลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายเรื่องของกาย เรื่องของวาจา เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน คำพูดเป็นผู้ที่อันความโกรธครอบงำหรือเปล่า ถ้ากายหรือวาจาเป็นไปเพราะความโกรธครอบงำในวันนี้แล้ว ตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็นพิจารณาตนหรือเปล่า ว่าเป็นผู้ที่มักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้วจริง ถ้าจริงก็พยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสียยังมีการรู้สึกตัว ยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าวันนี้ไม่พิจารณาเลยในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วว่าไม่ดี ต่อไปก็จะต้องทำอีกแน่นอน ดังนั้นก็จะไม่มีการขัดเกลาตนเองเลย แต่ผู้ที่จะละคลายกิเลสจริงๆ ต้องการที่จะดับจริงๆ ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีวิริยะ มีความเพียรที่จะเห็นอกุศลของตนเอง




.....................................จบวิระบารมีแต่เพียงเท่านี้..................................




...................................ธรรมมะบรรยายโดย อาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์.............................




.......................................ออกอกาศทางวิทยุเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.............................