[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 19:51:21



หัวข้อ: "หมากล้อม" เกมกระดานในหมู่ปัญญาชนชั้นสูงของจีนโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 19:51:21

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/43392937175101_150927497_1091735248008821_468.jpg)
การเล่นเกมกระดาน "หมากล้อม"
ภาพจิตรกรรม วัดเขื่อนแดง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

หมากล้อม

หมากล้อม หรือ เหวยฉี หรือ โกะ เป็นเกมหมากกระดานชนิดหนึ่ง เป็นเกมกลยุทธ์ซึ่งผู้เล่นสองคนต่างมุ่งหมายล้อมเอาพื้นที่ในกระดานให้ได้มากกว่าคู่แข่ง เดิมถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นสิ่งแสดงถึงความเก่าแก่และลึกซึ้งของอารยธรรมจีน  

เหวยฉีเป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ปัญญาชนชั้นสูงและขุนนางผู้บริหารประเทศ ในสมัยนั้น เหวยฉีหรือหมากล้อมเป็นหมากกระดานประจำชาติจีน ถูกจัดเป็น ๑ ใน ๔ ศิลปะประจำชาติจีน (ได้แก่ หมากล้อม ดนตรี กลอน ภาพ) เป็นภูมิปัญญาจีนแท้ ในขณะที่หมากรุกจีนยังมีเค้าว่ารับมาจากอินเดียและเพิ่งจะแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถังเท่านั้น

ต่อมา เหวยฉี ได้แพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ที่ญี่ปุ่นนี้เอง ที่เป็นแผ่นดินทองของ "โกะ" ซึ่งเป็นคำที่ญี่ปุ่นใช้เรียกเหวยฉีหรือหมากล้อม

โกะรุ่งเรืองอย่างมากในญี่ปุ่น สมัยโชกุนโทะกุงะวะ ได้สนับสนุนให้ทหารเล่นโกะ เปลี่ยนวิธีการรบด้วยกำลังเป็นการรบด้วยปัญญา และยังสนับสนุนให้โกะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นอีก โชกุนโทะกุงะวะได้ตั้งสำนักโกะขึ้น ๔ สำนัก เพื่อคัดเลือกผู้เป็นยอดฝีมือโกะของญี่ปุ่น โดยจัดให้สำนักทั้ง ๔ คือ ฮงอินโบ, อิโนะอูเอะ, ยาสุอิ และ ฮายาชิ ส่งตัวแทนมาประลองฝีมือเพื่อชิงตำแหน่ง "เมย์จิน" จากการส่งเสริมโกะของญี่ปุ่น ทำให้อีกประมาณ ๑๐๐ ปีต่อมา มาตรฐานฝีมือนักเล่นโกะของญี่ปุ่นก็ก้าวนำจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโกะรวมทั้งประเทศเกาหลีไปไกลแล้ว

ปัจจุบันทั่วโลกเล่นโกะกันอย่างแพร่หลาย โกะเรียกเป็นสากลว่า "Go"  

โกะแพร่หลายในกว่า ๕๐ ประเทศ ทวีปออสเตรเลียและอเมริกาเหนือทุกประเทศ อเมริกาใต้, ยุโรป, เอเชีย เกือบทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ในทวีปแอฟริกาแพร่หลายในประเทศแอฟริกาใต้

สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งญี่ปุ่น (Japan Go Association) ได้จัดการแข่งขันหมากล้อมสมัครเล่นชิงแชมป์โลกขึ้นครั้งแรกในปี ๒๕๒๒ มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมแข่งขัน ๑๕ ประเทศ และเพิ่มเป็น ๒๙ ประเทศในปี ๒๕๒๕ จึงได้มีการจัดตั้งสหพันธ์หมากล้อมนานาชาติ (International Go Federation) ขึ้น ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ มีสมาชิกจำนวน ๗๕ ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์หมากล้อมนานาชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และต่อมาในปี ๒๕๒๗ ได้มีการส่งตัวแทนไปแข่งครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น สำหรับการก่อตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ซึ่งมีการก่อตั้ง ชมรมหมากล้อม (โกะ) ประเทศไทย โดยนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ทำให้มีคนไทยเล่นมากขึ้น มีการบรรจุเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒๓ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๔ จึงมีการจดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาหมากล้อม และต่อมาในปี ๒๕๔๖ ได้กลายเป็น สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย สำนักงานตั้งอยู่ที่ ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ทำให้กีฬาหมากล้อมในประเทศไทยมีการแพร่หลายมากขึ้นจนได้รับการบรรจุในกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๔ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ ได้ทำการศึกษาวิจัยโครงการ การศึกษาผลของการเล่นหมากล้อมที่มีต่อเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเผชิญปัญหา และความคิดเชิงระบบ เพื่อศึกษาวิจัยและวัดผลจากการเล่นหมากล้อมต่อ ๔ ทักษะ คือ เชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และความคิดเชิงระบบของเยาวชนไทยในระดับมัธยมศึกษาพบว่า เยาวชนที่เล่นกีฬาหมากล้อมมีการเปลี่ยนแปลงทางบวกในด้านพัฒนาเชาวน์ปัญญาความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงระบบ ช่วยให้ผู้เล่นมีสมาธิและความจดจำดีขึ้น รวมถึงความสามารถในการวางแผนเพิ่มขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี