[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2564 19:37:39



หัวข้อ: "ถ้ำแก้วโกมล" วนอุทยานแก้วโกมล ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2564 19:37:39
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49594976339075__8_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/40681778722339__1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82149422872397__6_Copy_.jpg)
ปากทางเข้าถ้ำแก้วโกมล วนอุทยานแก้วโกมล
ถ้ำ (CAVE) หมายถึง โพรงหรือช่องที่ลึกเข้าไปในภูเขาหรือพื้นดิน มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ พอที่มนุษย์จะเข้าไปสำรวจได้


วนอุทยานแก้วโกมล
ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติความเป็นมา

วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล
เดิมเรียกชื่อ "ถ้ำผลึกแคลไซค์แม่ลาน้อย" ตั้งอยู่บริเวณเขาดอยถ้ำหมู่ที่ ๑๔ บ้านห้วยมะไฟ ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วี.ซัพพลายส์ (ไทยแลนด์)อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย  มีเนื้อที่ประมาณ ๕๑.๒๖ ไร่  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภูเขาสูงชัน มีป่าไม้ ๒ ชนิดคือ ป่าเบญจพรรณและป่าสนเขา  ป่าเบญจพรรณประกอบด้วยไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก แดง ประดู่ เต็ง รัง เป็นต้น ไม่พบสัตว์ป่าอาศัยอยู่

ลักษณะภูมิอากาศ : แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน – ตุลาคม)  ฤดูหนา (เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์)  ฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม)  อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็นและมีหมอก

ถ้ำแก้วโกมลได้ถูกค้นพบโดยวิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๖  สภาพภายในถ้ำเต็มไปด้วย "ผลึกแคลไซต์ (Calcite)" รอบด้าน ทั้งบริเวณฝาผนัง พื้น และเพดานถ้ำ  

ผลึกมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันมาก ทั้งแบบ Prismatic, Form, Rhombohedron และ Scalenohedron  จับตัวกันมองดูคล้ายปะการัง ดอกกระหล่ำ เทียนไข เกล็ดน้ำแข็ง ดอกเข็ม และโคมไฟเพดาน มีสีขาว ใส เหลือง แดง และน้ำตาล มีความสมบูรณ์สูงตามธรรมชาติ มีคุณค่าและความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านทรัพยากรธรณีวิทยา แร่วิทยา และผลึกศาสตร์   จาการตรวจสอบพบว่าภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องๆ จำนวน ๕ ห้อง ซึ่งห้องที่ ๕ อยู่ด้านในสุด เป็นห้องที่มีความสวยงามมากที่สุด เนื่องจากผลึกแคลไซต์มีความสมบูรณ์จำนวนมาก มีการงอกของผลึกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการพัฒนาด้านความสะดวกและความปลอดภัยในการเข้าเที่ยวชมถ้ำ ได้ดำเนินการกันเขตพื้นที่บริเวณรอบถ้ำในรัศมี ๒๐๐ เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ ๕๑ ไร่ ๑ งาน ๐๔ ตารางวา ออกจากพื้นที่ประทานบัตรโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ ตรี แห่ง พ.ร.บ. เหมืองแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ให้พื้นที่กลับไปมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ เนื่องจากมีสภาพธรรมชาติสวยงาม เป็นปรากฎการณ์ที่แปลกและหายาก  พร้อมกับดำเนินการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้มาเที่ยวชมมีความปลอดภัย และหลังจากได้รับมอบจากสำนักงานทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ได้เปลี่ยนพื้นที่ถ้ำผลึกแคลไซต์เป็นพื้นที่ วนอุทยาน ให้ใช้ชื่อว่า วนอุทยานถ้ำแม่ลาน้อย ตามความมาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗

ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้มีการส่งมอบและรับมอบถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อย ระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับกรมป่าไม้โยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ณ วนอุยานถ้ำแม่ลาน้อย

ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธุ์ ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรถ้ำแม่ลาน้อย และได้พระราชทานนามถ้ำแม่ลาน้อย เป็นชื่อ "วนอุทยานแก้วโกมล" ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ (กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช) และได้พระราชทานนามชื่อห้องในถ้ำแก้วโกมล ซึ่งอยู่ภายในถ้ำเป็นชั้นๆ จำนวน ๕ ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ ๑ นามห้อง พระทัยธาร
ชั้นที่ ๒ นามห้อง วิมาเมฆ
ชั้นที่ ๓ นามห้อง เฉกหิมพานต์
ชั้นที่ ๔ นามห้อง ม่านผาแก้ว
ชั้นที่ ๕ นามห้อง เพริศแพร้วมณีบุปผา

สิ่งน่าสนใจในห้องต่างๆ มีดังนี้

ห้องที่ ๑ พระทัยธาร และ ๒ วิมานเมฆ : ได้แก่บริเวณปากทางเข้า มีหินงอกหินย้อย และผลึกแคลไซต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจในยุคแรกๆ จึงสวยงามน้อยกว่าห้องอื่น   แม้กระนั้น บริเวณนี้ก็ยังมีความงามเกินกว่าจะหาคำใดมาบรรยาย เปรียบเสมือนนั่งอยู่ในวิมานของเทวดา มีความสวยงามของกลุ่มปุยเมฆรูปร่างต่างๆ

ห้องที่ ๓ เฉกหิมพานต์ : ต้องลงบันไดประมาณ ๕๐ เมตร ลักษณะเป็นผ้าม่านและผลึกที่ก่อตัวเป็นหินงอกหินย้อย  ผลึกเหล่านี้ถูกละลายโดยน้ำเกิดเป็นคลื่นเป็นริ้วๆ สีขาวขุ่น หรือน้ำตาล  ตามแต่สภาพน้ำที่ไหลเข้ามาเกาะตามผนังถ้ำและย้อยลงมาอยู่ทั่วไป

ห้องที่ ๔ ม่านผาแก้ว : แร่มีลักษณะไหลย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ ทำให้มองเห็นเสมือนม่านผาใหญ่สูงชันที่มีความสวยงามระยิบระยับ เป็นห้องที่เริ่มพบผลึกแคลไซต์บริสุทธิ์ทั้งแบบปะการัง แบบเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง  ผลึกทั้งสามแบบมีความเปราะบางที่สุดได้รับผลกระทบจากอากาศภายนอกจนลดน้อยลงไปมาก ส่วนผลึกรูปปะการังเป็นผลึกขนาดเล็กละเอียด จับตัวต่อเนื่องเป็นผืนจนเต็มผนังอย่างสวยงาม พบตอนในสุดของถ้ำ

ห้องที่ ๕ เพริศแพร้วมณีบุปผา (Pertpawmaneebubpha): อยู่ลึกลงไปประมาณ ๓๐ เมตร เป็นห้องที่ถือว่าสวยงามที่สุด เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ มีผลึกแคลไซต์ที่สมบูรณ์ตั้งแต่พื้นจนจดผนัง ทั้งผลึกรูปเข็มและผลึกรูปปะการังสีขาวบริสุทธิ์ราวกับเกล็ดหิมะ จับตัวกันมีลักษณะคล้ายดอกไม้แก้วหลากชนิดสีขาว มารวมกันในห้องนี้ เปรียบเสมือนสวนดอกไม้ขนาดใหญ่

ปัจจุบัน วนอุทยานถ้ำแม่ลาน้อยได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วนอุทยานแก้วโกมล" หรือเรียกว่า "ถ้ำน้ำแข็ง" ได้รับการพัฒนาปรับปรุงและอยู่ในความดูแลของสำนักงานอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้จัดทำโครงการ "๔๐ เส้นทางเท่องเที่ยว Unseen" ได้กำหนดเส้นทางพันโค้งสู่ถ้ำน้ำแข็ง ๑ ใน ๓ แห่งของโลก (ถ้ำแก้วโกมล)

ถ้ำแก้วโกมลเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. – ๑๖.๓๐ น.ทุกวัน และเนื่องจากภายในถ้ำอากาศมีน้อย สถานที่คับแคบ ต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมไม่เกินครั้งละ ๒๕ คน/๒๐ นาที  กรณีนำกล้องถ่ายรูปหรือสัมภาระต่างๆ ให้ฝากไว้ที่เจ้าหน้าที่หน้าถ้ำ (ปัจจุบัน ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในถ้ำ เนื่องจากแสงไฟหรือแฟลชจะมีผลเสียกับผลึกแคลไซต์)

การเข้าชมถ้ำแก้วโกมล มีรถบริการรับ-ส่ง ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท เด็กเล็ก ๒๐ บาท (ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขับรถยนต์ขึ้นไปเอง เนื่องจากเส้นทางเป็นภูเขาสูงชัน คับแคบ มีโค้งหักศอกหลายโค้ง ผู้ขับรถต้องมีความชำนาญเส้นทาง)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-070702, 053-070703 ในเวลาราชการ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65342616000109__1_Copy_.jpg)
ทัศนียภาพหน้าถ้ำแก้วโกมล

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34557610791590__7_Copy_.jpg)
ผัง ลักษณะภายในถ้ำแก้วโกมล

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89327979543142__2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81520886181129__3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77815861047969__2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96182453922099__3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69246727724870__4_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27557596895429__5_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/43670357184277__9_Copy_.jpg)
น้องชายกับน้องสะใภ้ : น้องชายอาสาเฝ้าสุนัขอยู่นอกถ้ำ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11513157726989_138987755_1070966233419056_419.jpg)
ต้นกระพี้จั่น (Millettia brandisiana Kurz) ปลูกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20478935788075_139520456_1070965770085769_770.jpg)
ผู้โพสท์เข้าไปชมในถ้ำกับน้องสะใภ้สองคน มีพนักงานประจำอุทยานเดินตามหลังมาห่างๆ
เราเดินเข้าไปไม่ลึกเท่าใดนัก ต้องรีบพากันเดินออกมา รู้สึกเหมือนเราหลุดจากโลกมนุษย์
ตื่นตะลึงเกินบรรยายกับธรรมชาติภายในถ้ำ ทั่วทั้งผนังถ้ำคล้ายผ้าม่านพริ้วไสว มีผลึกแร่ที่
ก่อตัวเป็นหินงอกหินย้อย รูปร่างแปลกแตกต่างกันไป  ลักษณะใสแวววาวทั่วทั้งผนังห้อง
มีทั้ง เป็นแก้วใส สีขาว ชมพู แดง ส้มแก่ ส้มอ่อน เมื่อได้มองลงไปด้านล่างที่มีบันไดทอดโค้ง
ให้เดินลงไปชม ยิ่งพบความสวยงามมากเป็นทวีคูณ   เรากลัวเกินกว่าที่จะก้าวขาเดินต่อไป
หันหลังกลับตั้งแต่ห้องวิมานเมฆ  ความอลังการของห้องเพริศแพร้วมณีบุปผา ที่ว่ากันว่า
"สวยงามที่สุด เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์บริสุทธิ์ สมบูรณ์ตั้งแต่พื้นจนจดผนัง"
จะเป็นเฉกเช่นไร ยังไม่ได้ทัศนา ไว้โอกาสอำนวย ค่อยหาเพื่อนหลายๆ คน ร่วมผจญแดนหิมพานต์