[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2564 10:37:52



หัวข้อ: บุรุษผู้เลี้ยงมารดา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2564 10:37:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92178738613923_52889852_2056371941150408_7115.jpg)

บุรุษผู้เลี้ยงมารดา

ยถา หิ เอกํ อสงฺขยํ อติกฺกนฺตํ ณ กาลใดเมื่อล่วงอสงไขยกัปป์อันหนึ่งไปแล้ว ในระหว่างกาลนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าแม้พระองค์เดียวก็มิได้มีมาตรัสในโลกเลย คราวนั้น จึงเทพยดาทั้งหลายที่เป็นพุทธศาสนิกบริษัท ได้ตรัสรู้มรรคผลธรรมวิเศษอันเป็นส่วนภูมิเบื้องต่ำ คือ พระโสดา พระสกิทา ซึ่งมีมาแต่ในศาสนาพระพุทธเจ้าก่อนๆ นั้น ต่างองค์ต่างพยายามทำความเพียรเพื่อให้ได้มรรคผล คือ พระอนาคาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสมหาพรหม ทำบริกรรมภาวนาได้สำเร็จพระอรหัตตผลแล้ว ก็นิพพานล่วงไปๆ

สมัยนั้น มีสุทธาวาสมหาพรหมพวกหลังๆ เห็นหมู่มหาพรหมที่ถึงมรรคผลนั้นมีจำนวนน้อยเข้า แล้วก็พิจารณาไปในธาตุเห็นว่า กาลที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสนั่นแหละมีโดยมาก ก็บังเกิดความสังเวชสลดจิตคิดว่า กาลนี้หามีพระพุทธเจ้ามาตรัสไม่เลย ก็ใครหนอ จะมีวิริยภาพพยายามสามารถจะบำเพ็ญพุทธการกธรรมได้ จะมีอยู่บ้างแลหรือ? ก็เมื่อสุทธาวาสมหาพรหมเล็งแลไปในแหล่งโลกธาตุนั้น ถ้าเห็นว่าผู้ใดอาจสามารถในการที่จะบำเพ็ญพุทธการกธรรมได้ ก็เข้าดลใจผู้นั้นให้เกิดความรักใคร่ในทางที่จะปรารถนาพุทธภูมิ

ในกาลนั้น สุทธาวาสมหาพรหมองค์หนึ่ง มีอายุยืนได้ ๑ หมื่น ๒ พันกัปป์ ทราบว่า พระพุทธเจ้ามิได้มีมาตรัสในโลกเลย จึงแลดูไปในหมื่นจักรวาล ก็ได้ทัศนาการเห็นพระมหาบุรุษเจ้า ครั้งนั้น พระองค์ได้บังเกิดในตระกูล ทลิทก ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในแว่นแคว้นคันธารราชนคร อุตสาหะปฏิบัติอุปัฏฐากมารดาของตนอยู่เป็นนิตย์ เอกทิวสํ วันหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์เจ้านำมาซึ่งภาระอันหนักเหลือกำลังจากป่า เหนื่อยนักหนา ให้กระหายน้ำเป็นกำลัง จึงแวะเข้าอาศัยหยุดพักริมฝั่งคงคา ใต้ต้นมหานิโครธไทรใหญ่ใกล้ท่าสำเภาจอด จึงมาคิดแต่ในใจว่า กาลนี้ เรายังกำลังรุ่นหนุ่มบริบูรณ์ด้วยกำลังกายอยู่ จึงองอาจนำภาระอันหนักถึงเพียงนี้ได้ ก็เมื่อกายของเราแก่ชราลง นานไปกำลังก็น้อยถอยลงทุกทีๆ หรือกาลเมื่อเจ็บไข้ได้พยาธิก็ดี จะประกอบการงานอันหนักเช่นนี้ได้ละหรือ ยนฺนูน อย่ากระนั้นเลยเราจะไปยังเมืองสุวรรณภูมิ เพื่อแสวงหาทองกับด้วยพาณิชสำเภาเหล่านี้เถิด ครั้นได้ทองมาแล้ว จะได้ขายเลี้ยงมารดาของเราโดยสะดวก คิดฉะนี้แล้ว ก็ไปหาพาณิชนายสำเภาผู้ใหญ่ พูดจาขอโดยสารเภตราไปกับพวกพาณิช

ครั้นขอโดยสารได้แล้ว เมื่อวันที่สำเภาจะออกจากท่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็พามารดาไปลงนาวาด้วย โดยที่มารดาเป็นคนอนาถาหามีใครจะอุปัฏฐากไม่ ครั้นเภตราเคลื่อนออกจากท่า แล่นไปในมหาสมุทรได้ ๗ วัน สำเภานั้นก็ต้องลมพายุกล้าใหญ่ก็อัปปางลงในท่านกลางมหาสมุทรอันกว้างขวาง พวกพาณิชทั้งหลายก็พาถึงซึ่งความตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น

ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็โลดโผนโจนลงจากเภตรา เพื่อจะรักษาชีวิตของตน ครั้นแล้วก็ระลึกถึงมารดาขึ้นมาได้ ก็ว่ายกลับมารับมารดาอันยังโยนโหนห้อยตัวเหนือท่อนไม้ ยังมารดาให้นั่งเหนือคอแห่งตน แล้วก็แบกพาว่ายข้ามมหาสมุทรไป สู้อดกลั้นทนทานกำลังคลื่น ฝ่าฝืนว่ายไปมิได้หยุดหย่อน ด้วยทรงพระอุตสาหะมากยิ่งนัก ฯ          

ณ กาลครั้งนั้น ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมในชั้นอกนิฏฐภพ เมื่อแลเล็งเพ่งดูในหมู่สัตว์ เพื่อจะเลือกคัดจัดสรรแสวงหาผู้มีหทัยสามารถ เพื่อจะกระทำพุทธการกธรรมได้ จึงเห็นองค์พระบรมโพธิสัตว์อันทรงบริจาคชีวิต เพื่ออุทิศประโยชน์แก่มารดาของตนอยู่ ดังนั้น จึงดำริว่า บุรุษผู้นี้เป็นมหาบุรุษได้โดยแท้ จึงไม่เอื้อเฟื้อต่อมหาสมุทรอันสุดซึ้งกว้างใหญ่เช่นนี้ สู้สละชีวิตของตนเพื่อจะรื้อขนมารดาขึ้นให้ถึงฝั่ง เอวรูโป ทฬฺหวิริโย ก็บุคคลผู้มีความเพียรอันมั่งคั่งเห็นปานดังนี้ ควรนับว่าเป็นผู้สามารถในพุทธการกธรรม เมื่อท้าวมหาพรหมรำพึงฉะนี้แล้ว ก็ดลจิตให้พระบรมโพธิสัตว์ให้นึกปณิธานปรารถนาพุทธภูมิ ด้วยเดชอำนาจแห่งน้ำพระทัยที่ท้าวมหาพรหมหากบันดาลให้นึกนั้น พระมหาบุรุษก็บังเกิดปริวิตกกระนี้ว่า ถ้าเราพิลาลัยตายลงในท้องมหาสมุทร เพราะเหตุเอื้อเฟื้อในมารดาฉะนี้ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาล ครั้นทรงนึกปณิธานในพระทัยฉะนี้แล้ว ก็อุตสาหะแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรมา ด้วยกำลังอานุภาพอันท้าวมหาพรหมหากอนุเคราะห์ ๒-๓วัน ก็ถึงฝั่งมหาสมุทรแห่งหนึ่ง จึงพามารดาขึ้นฝั่งได้ เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีวิตในบ้านแห่งหนึ่งตามประสายากจน อุตสาหะบำรุงเลี้ยงมารดาจนตราบเท่าสิ้นชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในพรหมโลก ส่วนมารดาพระโพธิสัตว์นั้น ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ไปตามยถากรรมแห่งตน ฯ


จบเรื่องบุรุษผู้เลี้ยงมารดา