[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: sithiphong ที่ 12 พฤษภาคม 2553 08:42:56



หัวข้อ: “ป้องกัน” “จำเป็น” อาวุธโดยชอบด้วยกฎหมายของลูกผู้หญิง /อ้วน อารีวรรณ
เริ่มหัวข้อโดย: sithiphong ที่ 12 พฤษภาคม 2553 08:42:56
“ป้องกัน” “จำเป็น” อาวุธโดยชอบด้วยกฎหมายของลูกผู้หญิง /อ้วน อารีวรรณ
http://www.manager.co.th/CelebOnline...=9530000064692 (http://www.manager.co.th/CelebOnline...=9530000064692)
 
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2553 12:49 น.
 
jatung_32@yahoo.com

 
เป็นลูกผู้หญิงต้องเรียนรู้ข้อกฎหมายให้ติดตัวไว้เยอะๆ เอาไว้ป้องกันตัวเอง ถึงเวลาคับขันมีเหตุจำเป็นขึ้นมาก็งัดขึ้นมาใช้ได้ทันที ..เคยได้ยินคำพูดนี้บ้างไหมคะ? หลายคนอาจชักจะสงสัยว่า กฎหมายจะกลายเป็นอาวุธไปได้อย่างไร?

ก็อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ทำให้เราได้รู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเราเองมากขึ้น

กลับมาที่ข้อกฎหมายที่ตั้งใจนำเสนอในสัปดาห์นี้ คือ คำว่า “การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย” กับคำว่า “ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากอ้วนเห็นว่า ทั้งสองคำนี้เป็นเรื่องที่ลูกผู้หญิงควรรู้ไว้มากๆ จะได้ไม่ต้องกังวลมากมาย เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ความหวาดกลัว ที่อาจจะมีภัยอันตรายใกล้จะถึงตัวเราแล้วก็ “สู้ไปเลยค่ะ”

แต่เพื่อความเข้าใจในคำว่า “การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย” คืออะไร ต้องขออธิบายตามตัวบทกฎหมายก่อนนะคะ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า

“ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

จากกฎหมายข้อนี้ ทำให้เราย่อมมีสิทธิในการกระทำซึ่งจะเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้รอดพ้นจากภัยอันตรายที่กำลังปรากฎอยู่ตรงหน้า เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังยังคงอยู่ หากมัวแต่รอเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพลเมืองดีมาช่วย ก็จะเสียหายเกินแก้ไข

การป้องกันสิทธิของตนหรือคนอื่น ก็คือ การป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์นี้ล่ะค่ะ เช่น สิทธิของการมีชีวิต สิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเรา สิทธิครอบครองเคหสถานที่อยู่อาศัย สิทธิในทรัพย์สินของเรา ฯลฯ ที่จะให้คนอื่นมากระทำละเมิดต่อกฎหมายกับเราหรือคนอื่นไม่ได้ เช่น มาทำร้าย มาฆ่า มาทุบตี มาคุกคามขับไล่ หรือมาขโมยของๆ เรา ไม่ได้

เรามีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิที่กำลังจะถูกละเมิด หรือถูกละเมิดอยู่ แต่ต้องเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุด้วย หมายความว่า การใช้สิทธิป้องกันของเรานี้สามารถหยุดยั้งการละเมิดหรือการประทุษร้ายที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย โดยทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายน้อยที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่บ้านเพียงลำพัง ตกกลางดึก เห็นคนร้ายปีนเข้ารั้วบ้านเราเข้ามาแล้วพยายามงัดแงะประตูบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ถ้าเรามีอาวุธปืนอยู่ก็ใช้ป้องกันได้ แต่ถ้าคนร้ายเห็นว่าเรามีปืน ก็เกิดความกลัววิ่งหนีออกจากบ้านเราไปแล้ว แต่เรายังตามไปยิงจนเสียชีวิต อย่างนี้ไม่ใช่การกระทำเพื่อป้องกันตัวนะคะ

ข้อควรรู้ คือ ถ้าภัยตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราไม่สามารถอ้างสิทธิป้องกันได้คะ

ยกตัวอย่างเช่น คนร้ายมาขโมยทรัพย์สินเงินทองในบ้านเราไปซุกซ่อนในพงไม้ เราตามไปเจอสถานที่ซุกซ่อนแล้วก็เอากลับคืนมาได้ ไม่จำเป็นต้องดักรอให้คนร้ายกลับมาแล้วยิงทำร้ายหรือฆ่าคนร้าย อย่างนี้อ้างสิทธิป้องกันไม่ได้ แต่เรากลายเป็นคนที่กระทำผิดกฎหมายเสียเอง

ข้อควรระวังอีกเรื่องคือ ถ้าเราเป็นคนก่อเหตุก่อเรื่องขึ้นมาก่อน เช่น ไปท้าทาย ด่าทอ ทำร้ายคนอื่นก่อน หรือสมัครใจเข้าต่อสู้ หรือทะเลาะวิวาทกัน แล้วจะมาอ้างเหตุป้องกันไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นฝ่ายไปด่าทออีกคนหนึ่งก่อน ต่อมามีการโต้เถียงด่าทอกันไปมา แล้วอารมณ์นำพาให้มีการใช้อาวุธเข้าทำร้ายร่างกายกัน แบบนี้ถือว่า ทั้งเราและเขาสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน เราจะอ้างว่าที่เราไปตีหัวเขาเพราะป้องกันตัวเองไม่ได้

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือคำว่า “ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 บัญญัติว่า

“ ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
(๑) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(๒) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

การกระทำโดยความจำเป็นจึงมีความคล้ายคลึงกับการกระทำโดยป้องกัน เนื่องจากการกระทำเหล่านี้ ต้องเป็นกรณีที่เราตกอยู่ในสถานการณ์หรือมีบุคคลอื่นกระทำความผิดอันเป็นอันตรายต่อตัวเราหรือคนอื่นๆ เป็นภัยอันตรายที่ใกล้จะถึงตัวหรือปรากฎอยู่ตรงหน้า โดยเราไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดภัยอันตรายนี้ ที่สำคัญเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

ยกตัวอย่างเช่น มีคนร้ายใช้ปืนข่มขู่ให้เราขับรถพาหลบหนีแล้วพุ่งชนคนอื่น ถือได้ว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจที่บังคับให้เราต้องกระทำความผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

หรือกรณีเช่น เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุม เราเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ไปใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยสงบและปราศจากอาวุธ ด้วยความตกใจกลัวเราอาจจะวิ่งเข้าไปหลบกระสุนปืนในบ้านของคนอื่นโดยที่เจ้าของบ้านไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิการครอบครองเคหสถานของผู้อื่น หรือว่าง่ายๆ คือบุกรุก แต่เราอาจเหตุความจำเป็นในกรณีนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีนิรโทษกรรม เพื่อคุ้มครองบุคคลที่กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจำเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นกฎหมายด้วยเช่นกันค่ะ

บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย หากได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น บุคคลดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้ที่เสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น หรือจากบุคคลที่สั่งให้กระทำละเมิดเช่นนั้นแทน

หากเป็นกรณี เราต้องทำให้ทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสียหาย หรือบุบสลาย เพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภัยอันตรายที่มีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์สินนั้นเป็นเหตุ เช่น นั่งอยู่ในรถแท็กซี่ที่กำลังจะจมน้ำในคลองลึก ปรากฎว่าระบบปลดล็อกไม่ทำงาน เราก็ต้องทุบกระจกออก โดยที่เราไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากทุบกระจกนั้น เป็นต้น

สุดท้ายที่อยากจะฝากคือ ถ้าเราได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ตรงนี้ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่า การที่เรากระทำเกินสมควรแก่เหตุไปนั้น มีมากน้อยแค่ไหน และจะลงโทษเราน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และยิ่งถ้าเรากระทำลงไป เพราะความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ค่ะ