[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2564 20:09:09



หัวข้อ: สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) ผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2564 20:09:09
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56707998903261_145739868_980277169046654_5613.jpg)
ภาพ : สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/50935821359356_144636503_979105779163793_6552.jpg)
ภาพ : สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ)

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ)

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นสมเด็จพระวันรัต องค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นพระมหาเถระองค์หนึ่ง ในจำนวนพระมหาเถระ ๑๐ องค์ ผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ เป็นพระมหาเถระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นนักกรรมฐานที่ชอบธุดงค์ เป็นผู้ที่มีปฏิปทา มุ่งพระนิพพาน และเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยมาก ท่านมีอาจารสมบัติที่น่าประทับใจ น่าเลื่อมใส และเป็นสมเด็จที่ทรงเกียรติคุณควรแก่การเคารพบูชามากองค์หนึ่ง ของประเทศไทย.

ชาติภูมิ
สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร มีนามเดิมว่า ทับ มีฉายาว่า พุทฺธสิริ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑ ณ.หมู่บ้านสกัดน้ำมัน ปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้วัดเทวราชกุญชร กรุงเทพมหานคร  โยมบิดาชื่อ อ่อน ผู้คนนิยมเรียกว่า "ท่านอาจารย์อ่อน" โยมมารดาชื่อ คง ท่านเป็นบุตรคนโตในตระกูลนี้ กล่าวกันว่าครอบครัวของท่านเป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ  

การศึกษาเมื่อปฐมวัย
ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อท่านมีอายุ ๙ ขวบ ได้เข้าเรียนอักษรสมัยอยู่ที่วัดภคินีนาถ แล้วต่อมาได้เข้าเรียนบาลี โดยเรียนสูตรมูลกัจจายน์ อยู่ที่วัดมหาธาตุ คือ ได้เรียนบาลีตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่าน จึงทรงให้อุปการะในการเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมของท่าน ทรงจัดสอบความรู้ ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนืองๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดทรงประทานรางวัล จึงได้ทรงเมตตาในตัวท่านแต่นั้นมา.

การบรรพชาอุปสมบท
ท่านได้บรรพชาเมื่ออายุเท่าไร ยังไม่ปรากฎหลักฐาน ทราบแต่ว่าท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสังเวชวิศยาราม บางลำภู ครั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว รัชกาลที่ ๓ ในสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงโปรดให้ท่านไปอยู่ที่วัดราชโอรส  อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ครั้นเมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว คุณโยมของท่าน จึงให้ท่านมาอุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชร อันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเดิม. ท่านจึงได้อุปสมบท เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙ ที่วัดเทวราชกุญชร โดยมีพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมฬีโลกยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้อยู่ในสำนักพระธรรมวิโรจน์ ที่วัดราชาธิวาสตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ไปอยู่และศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์นพรัตน์ ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจบพิตร) บ้าง ที่พระมหาเกื้อ วัดชนะสงครามบ้างเนืองๆ    

สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค
ลุถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๗๙ เมื่อท่านมีพรรษา ๑๑ อายุ ๓๑ ปี ยังเป็นพระอันดับอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ทรงผนวช) เสด็จไปครองวัดบวรนิเวศวิหาร และในสมัยนั้นพระสงฆ์วัดราชาธิวาสมีทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์เป็นมหานิกาย จึงได้โปรดให้ท่านอยู่ครองฝ่ายธรรมยุตที่วัดราชาธิวาส ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวงครั้งแรก ท่านแปลได้ถึง ๗ ประโยค แล้วท่านไม่แปลต่อ รอมาอีกระยะหนึ่งจึงเข้าแปลได้อีก ๒ ประโยค รวมเป็น ๙ ประโยค หลังจากท่านเป็นเปรียญ ๙ อยู่ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ ที่ "พระอริยมุนี " และท่านคงอยู่ที่วัดราชาธิวาสต่อมา  

เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดโสมนัสวิหาร
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวชและขึ้นครองราชย์ ในปี ๒๓๙๔ แล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีของพระองค์ ได้พระราชทานนามว่า "วัดโสมนัสวิหาร" โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๖ ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้นราชวรวิหาร ในเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ ครั้นสิ่งก่อสร้างสำเร็จลงบ้าง พอเป็นที่อาศัยอยู่จำพรรษาของภิกษุสามเณรได้บ้างแล้ว ใน พ.ศ.๒๓๙๙ พระองค์ก็ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ในสมัยที่ยังเป็นพระอริยมุนี จากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ ๔๐ รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ ท่านปกครองวัดโสมนัสวิหารมาจนกระทั่งได้ถึงมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๔
 

กราบขอบคุณที่มา (เรื่อง-ภาพ) :-
เว็บไซต์ วัดโสมนัสราชวรวิหาร
เพจ เล่าเรื่อง วัดบวรฯ