[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 03 พฤษภาคม 2564 15:46:54



หัวข้อ: "ครุฑ" จากสัตว์ป่าหิมพานต์สู่วัตถุมงคล
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 03 พฤษภาคม 2564 15:46:54

(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/garuda01.jpg)

"ครุฑ" จากสัตว์ป่าหิมพานต์สู่วัตถุมงคล

ครุฑเป็น “สัตว์หิมพานต์” หรือสัตว์ในจินตนาการของคนอินเดียโบราณ ครึ่งคนครึ่งนก ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ถือเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ส่วนในจักรวาลทางพุทธศาสนา ครุฑเป็นสัตว์อย่างหนึ่งที่อาศัยอยู่บนต้นงิ้วใหญ่ หรือ “วิมานฉิมพลี” เชิงเขาพระสุเมรุ แกนกลางของจักรวาล

บ้านเมืองต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียจึงพลอยได้รู้จัก “ครุฑ” ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบรูปครุฑอยู่ในงานศิลปะมาตั้งแต่โบราณ ถือเป็นพญานกมีฤทธิ์เดช แม้แต่สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซียปัจจุบันก็ยังใช้ชื่อว่าสายการบินพญาครุฑ หรือ Garuda

ส่วนไทยเรารับคติเรื่องครุฑมาทั้งแบบพุทธและแบบพราหมณ์ผสมๆ กัน เราจึงมีรูป “พระนารายณ์ทรงครุฑ” อยู่ตามหน้าบันอุโบสถวัดต่างๆ

เรื่องครุฑยังมาเกี่ยวข้องกับคติทางไทยที่นับถือพระมหากษัตริย์ในสถานะหนึ่ง คือในอวตารของพระนารายณ์

ธงประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “ธงมหาราช” นั้น เป็นธงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปครุฑสีแดงบนพื้นเหลือง ในความหมายว่า พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจพระนารายณ์อวตาร เมื่อพบเห็นครุฑที่เป็นเทวพาหนะอยู่ที่ใด ย่อมหมายความว่า องค์พระนารายณ์อวตารย่อมประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น

คตินี้เองยังต่อเนื่องมาถึงการที่ไทยใช้ “ตราแผ่นดิน” หรือเครื่องหมายราชการเป็นรูปครุฑ ได้ยินมาว่าสมัยก่อน ครุฑที่อยู่บนหัวกระดาษจะเป็นลายเส้นสีแดง ซึ่งเป็นสีกายของครุฑและถือว่าเป็นสีศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ แต่พอถึงยุคเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์สมัยทศวรรษ 2500 รัฐบาลทหารไม่ชอบอะไร “แดงๆ” จึงต้องเปลี่ยนหัวกระดาษตราครุฑมาเป็นลายเส้นสีดำอย่างที่ใช้กันจนทุกวันนี้

เมื่อมีฐานะเป็นตราแผ่นดิน ครุฑจึงเคยมาปรากฏตัวประดับตามมุมตึก เช่นรูปครุฑยุดแตรที่มุมตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก รวมถึงบนเหรียญสตางค์ที่ผลิตออกมาใช้กันด้วย เช่นเหรียญบาทรุ่นปี 2517 ด้านหัวเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนด้านก้อยทำเป็นภาพครุฑกางปีก เหมือนที่หัวหนังสือราชการ

ต่อมาเมื่อมีเหรียญบาทรุ่นใหม่ๆ ออกมาใช้หมุนเวียนอีกหลายต่อหลายรุ่น เหรียญบาทรุ่น 2517 ที่มีรูปครุฑเริ่มไม่คุ้นตา ก็มีผู้ไปให้ค่าให้ความหมายใหม่ ว่าเหรียญบาทครุฑรุ่นนี้เป็นของขลัง มีฐานะเป็นกึ่งๆ วัตถุมงคล เพราะมีรูปครุฑซึ่งเป็นของสูง ของศักดิ์สิทธิ์

เหรียญบาทรุ่น 2517 จึงเปลี่ยนความหมายจากเงินตรา กลายเป็นเครื่องราง อัดกรอบไว้ห้อยคอ หรือใช้พกติดตัวป้องกันภูตผี ปัดรังควานเสนียดจัญไร โดยเฉพาะนิยมใส่ลงไปในหลุมตอนยกเสาเอกปลูกบ้าน หรือใช้ฝังไปในพิธีวางศิลาฤกษ์
ผู้ที่เชื่อเช่นนั้น ถ้าบังเอิญมีเหรียญบาทครุฑติดบ้านมาแต่เดิม หรือตกค้างอยู่ตามกระปุกออมสินเก่าๆ ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าต้องไปซื้อหามาในราคาสูงๆ ก็อาจเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ เพราะเหรียญรุ่นนี้มีผลิตออกมาใช้หลายสิบล้านเหรียญ ถึงเวลานี้ก็ยังน่าจะมีตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนทั่วประเทศเป็นแสนๆ อัน ไม่น่ามีราคาสูงเป็นพันบาทอย่างที่เป็นข่าว


ที่มา - www.sarakadee.com