[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 21 พฤษภาคม 2564 16:01:24



หัวข้อ: ที่มาของอิติปิโสฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 พฤษภาคม 2564 16:01:24
(https://www.creditonhand.com/horo/images/26-27-11-55.gif)

ที่มาของอิติปิโสฯ

ที่มาของอิติปิโสฯ หรือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

บทสวดนี้ มีที่มาจากบท "ธชัคคสูตร"

ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง

ธชัคคสูตร คือ พระสูตรที่แสดงถึงยอดธง

ธชัคคสูตรเป็นสูตรใหญ่ นิยมสวดทั้งสูตรเฉพาะภายในวัด เช่น สวดประจำพรรษาในพระอุโบสถเพราะใช้เวลามาก ถ้าจะสวดทำบุญตามบ้าน หรือแม้ในพระบรมมหาราชวัง ก็ไม่สวดเต็ม ตัดสวดเฉพาะบทอิติปิโสฯ หรือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ซึ่งเป็นหัวใจของพระสูตรนี้ ถือว่าเป็นบทมงคล เพราะเป็นการถอดแบบจากพุทธพจน์โดยตรง เป็นความจริงอันเป็นสัจจะ เป็นดั่งยอดธงชัยสำหรับมวลหมู่เทวดา ในสงครามเทวดากับอสูร

ในพระไตรปิฏก พระพุทธองค์ทรงเล่าถึง พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ เป็นดั่งธงชัยที่เหนือกว่าธงชัยขององค์จอมเทพทั้งหลาย เพราะบริสุทธิ์ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงขจัดความหวาดกลัว ความขยาด ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าได้

ในครานั้น เมื่อสงครามเทวดากับอสูร ได้ประชิดกันขึ้นในเทวโลก ครั้งนั้น เหล่าเทวดาก็มีความสะดุ้งหวาดกลัวต่อพวกอสูรไม่น้อย ถึงกับท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพเจ้า 3 ชั้นฟ้า ให้ประชุมเทพยดาทั้งสิ้น แล้วจัดทำธงชัยประจำทัพทั้ง 4 ทิศ เป็นสัญญาณต่อต้านพวกอสูร โดยเทวบัญชาว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ในขณะทำสงครามกับเหล่าอสูร ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า อันจะทำให้เสียกำลังรบ อาจเกิดมีแก่บางท่านได้  ดังนั้น ถ้าคราวใดเกิดมีความกลัวขึ้น ขอให้ทุกท่านจงมองดูชายธงของเรา แล้วความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าของท่านจะหายไปได้ หรือถ้าไม่มองชายธงของเรา ก็จงมองดูชายธงของท้าวปชาบดีของท้าววรุณ หรือของท้าวอีสานะ องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อท่านทั้งหลายได้มองดูชายธงแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยามเกล้าจักหายไป

ภิกษุทั้งหลาย ถึงเทวดาที่มองดูชายธงของท้าวเทวราชทั้ง ๔ พระองค์นั้น บางครั้งก็หาย บางครั้งก็ไม่หาย คือ หายบ้าง ไม่หายบ้าง หรือ หายแล้วก็กลับกลัวอีก  ข้อนั้น เพราะอะไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะท้าวสักกะเทวราช ท้าวปชาบดี ท้าววรุณ และท้าวอีสานะ ผู้เป็นเจ้าของธงชัยนั้น ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีกิเลส จึงยังกลัว ยังหวาดเสียว ยังสะดุ้ง ยังหนีอยู่ ก็เมื่อจอมเทพ จอมทัพ ยังกลัว ยังสะดุ้ง ยังหนีอยู่แล้วอย่างไร ชายธงของท้าวเธอจึงจะบำบัด ความกลัว ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ที่ทำให้เสียขวัญถึงแก่หนี ไม่คิดสู้เขาเสมอไปได้เล่า

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนพระรัตนตรัย ที่ท่านทั้งหลายคารวะนับถือปฏิบัติอยู่นั้น ทรงคุณ ทรงอานุภาพ เหนือท้าวเทวราชเหล่านั้น เหนือธงชัยของท้าวเทวราชเหล่านั้น

ดังนั้น เมื่อท่านทั้งหลาย จะอยู่ในป่าก็ตาม อยู่ที่โคนไม้ก็ตาม หรือจะอยู่ในเรือนว่างก็ตาม หากความกลัวหรือความหวาด ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ก็ดี บังเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า “ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นต้น เมื่อท่านทั้งหลายระลึกด้วยดีแล้ว ความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าเหล่านั้นจักหายไป

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19)  ทรงให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า "[พระสูตร]นี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่างๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง"

อานิสงส์การสวด
- บทสวดนี้เป็นการรวมเอาถ้อยคำสำคัญๆ มาของพระพุทธองค์  ซึ่งเชื่อว่าทำให้ใจสงบ เมื่อมีใจสงบก็ย่อมมีสติ มีปัญหาอะไรก็ย่อมแก้ไขได้ไม่ยาก ยิ่งสวดเป็นประจำสม่ำเสมอ จึงมักมีสติปัญญาดี นิ่งสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจเข้มแข็ง ปัญญาดี หลับสบาย มีสมาธิ และแน่นอนเมื่อสติปัญญาดี การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำ ผลที่ได้จึงมักจะประสบพบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต

- เสริมสร้างอนุสติ ช่วยทำลายความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า หรือความขลาดกลัวต่ออารมณ์ที่สร้างขึ้นมาหลอนใจ ยามลำพังอาจกลัวเสียงต่างๆ หรือแม้แต่เงาตนเอง เป็นต้น อาจหลอนด้วยอารมณ์อันเกิดกับจิต โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างถิ่น หรือในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย โดยน้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยมาสร้างเสริมกำลังใจให้เกิด ความอาจหาญแกล้วกล้าในการต่อสู่อันตรายและอุปสรรคนานาประการ

- สิ่งที่ทุกคนประจักษ์ตรงกันเมื่อสวดหลายจบ คือความรู้สึกสว่าง อบอุ่นใจ และเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บังเกิดขึ้นรอบตัว แม้ไม่ทราบคำแปลเลยก็ตาม ยิ่งถ้าทราบคำแปลด้วยก็จะยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสและมีความแน่วแน่ยิ่งขึ้น

- ช่วยคุมครองป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศ เช่น อันตรายจากการขึ้นต้นไม้สูง อันตรายจากการเดินทางที่ต้องผ่านหุบเขาเหวผาสูงชัน อันตรายจากสิ่งที่ตกหล่นมาจากอากาศ และในปัจจุบันยังนิยมใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการเดินทาง

- เนื่องจาก บทสวดนี้ มีพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพครบถ้วน จึงช่วยให้จิตใจมีกำลังเข้มแข็งต่ออุปสรรคใดๆ ที่เผชิญ เป็นคนมีเสน่ห์และเป็นที่รัก มีผลในการช่วยต่อชะตาให้อายุยืนยาว เทวดารักษา ป้องกันภูติผีปีศาจ นิมิตร้ายใดๆ และแคล้วคลาดจากโรคภัยไข้เจ็บใดๆ และจากอุบัติเหตุ 
 
- บางคนเชื่อกันว่า เป็นเหมือนเกราะเพชรคุ้มครองป้องกันภัยให้ผู้สวดอีกด้วย พระหลายๆ รูปนิยมนำมาสวด เพื่อเป็นยันต์เกราะเพชร และแนะนำให้ลูกศิษย์สวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย