[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 10 สิงหาคม 2554 10:07:29



หัวข้อ: ประวัติความเป็นมาของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 10 สิงหาคม 2554 10:07:29


(http://www.mahasukhavati.com/spaw2/uploads/images/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%208.jpg)

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมหายาน
พระอวโลกิเตศวร หรือพระแม่กวนอิมคือใคร


 พระอวโลกิเตศวรในฐานะเป็นพระธยานิโพธิสัตว์ องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน ที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด และเป็นเสมือนปุคคลาธิษฐานแห่งมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เรื่องราวของพระอวโลกิเตศวรปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์สันสกฤตของมหายาน อาทิ ปฺรชฺญาปารมิตาสูตฺร, สทฺธรฺมปุณฑรีกสูตฺร และการณฺฑวยูหสูตฺร

          คำว่า อวโลกิเตศวร ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่าอวโลกิเตศวรมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือพระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง, ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์ นอกจากนี้นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ จึงถือได้ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตว์พระองค์อื่นหามีไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้

          พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง

          ประวัติความเป็นมาของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
          พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีปรากฏเรื่องราวหรือแม้แต่พระนามของพระอวโลกิเตศวรอยู่เลย ทว่าในส่วนของนิกายมหายานแล้ว พระอวโลกิเตศวรมีบทบาทปรากฏอยู่มากในพระสูตรสำคัญ ๆ และยังมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรมหายานว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกยังได้เคยตรัสสนทนาธรรมกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้อยู่บ่อยครั้งทีเดียว ในพุทธศาสนามหายานยกย่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ว่าเป็นพระผู้ได้รับธรรมจักรมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นผู้นำในการรักษาพระพุทธศาสนาและหมุนธรรมจักรต่อไป

          การอุบัติของพระอวโลกิเตศวรนี้สันนิษฐานว่ามีขึ้นภายหลังการเกิดนิกายมหายานขึ้นแล้วในราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ภายหลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากวรรณคดีสันสกฤตยุคต้น ๆ ของมหายานอย่าง ชาดกมาลา ทิวยาวทาน หรือลลิตวิสตระ ก็ยังไม่ปรากฏนามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แต่อย่างใด แต่มีปรากฏขึ้นครั้งแรกพร้อม ๆ กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ในพระสูตรปรัชญาปารมิตาซึ่งถือว่าเป็นพระสูตรมหายานรุ่นเก่าที่สุด และในพระสูตรรุ่นต่อ ๆ มาก็ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ปรากฏขึ้นมากมาย

          พระสูตรมหายานกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรประทับอยู่ ณ สุขาวดีพุทธเกษตร คอยช่วยพระอมิตาภะโปรดสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ และเนื่องจากทรงเป็นพระธยานิโพธิสัตว์จึงมีความเป็นมาอันยาวนานสุดจะคาดคำนวณได้ นับแต่สมัยของ พระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้นมาก็ทรงได้โปรดสัตว์มาเป็นลำดับจนถึงบัดนี้ อันเป็นกาลสมัยของพระสมณโคดมศากยมุนีพุทธเจ้า ก็เป็นระยะเวลาเนิ่นนานสุดจะพรรณนา ใน กรุณาปุณฑริกสูตร อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรเป็นพระธรรมกายโพธิสัตว์ สูงกว่าพระโพธิสัตว์สามัญอื่น ๆ และเป็นเอกชาติปฏิพัทธะเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์อารยเมตตรัย กล่าวคือเป็นผู้ที่ยังข้องอยู่กับการเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวกันว่าพระอวโลกิเตศวรจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังการดับขันธปรินิพพานของพระอมิตาภะ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ณ แดนสุขาวดี

          นอกจากนี้ในพระสูตรมหายานอื่น ๆ ก็ยังมีปรากฏว่าอธิบายแตกต่างออกไปอีก กล่าวคือ บางพระสูตรกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นแท้จริงแล้วคืออวตารภาคหนึ่งของพระอดีตพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบรรลุพุทธภูมิเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะแล้วในอดีตกาลอันยาวไกล ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าของเรา แต่ด้วยพระมหากรุณาที่เล็งเห็นสรรพสัตว์ยังตกอยู่ในโมหะอวิชชา ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏยากจะหลุดพ้นไปได้ จึงทรงแบ่งภาคมาเป็นพระอวโลกิเตศวรเพื่อโปรดปวงสัตว์ให้เห็นธรรมพ้นทุกข์ด้วยพระเมตตากรุณา ในบางแห่งก็กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรเป็นพุทธโอรสของพระอมิตาภะที่ทรงบันดาลด้วยพุทธาภินิหาริย์ให้อุบัติขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่โลก แต่ทางฝ่ายทิเบตเชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรอุบัติขึ้นมาพร้อม ๆ กับพระนางตาราด้วยอานุภาพของพระอมิตาภพุทธ จากแสงสว่าง (บางแห่งว่าเป็นน้ำพระเนตรจากความกรุณาสงสารสรรพสัตว์) ที่เปล่งออกมาจากพระเนตรเบื้องขวาของพระอมิตาภะได้บังเกิดเป็นพระอวโลกิเตศวรประทับบนดอกบัวที่ปรากฏขึ้นพร้อม ๆ กับมนตร์ โอม มณี ปัทเม หูม ส่วนแสงจากพระเนตรเบื้องซ้ายก่อให้เกิดพระนางตาราโพธิสัตว์ อย่างไรก็ตาม ในพระสูตรอื่นบางแห่งก็มีกล่าวว่าแท้จริงแล้วพระอวโลกิเตศวรก็คือภาคหนึ่งขององค์พระอมิตาภะนั่นเอง

(เนื่องด้วยเรื่องราวของพระสูตรเป็นลิขสิทธิ์ของวัดโพธิ์แมนคุณาราม ฉะนั้นหากท่านต้องการศึกษาเพิ่มเติมกรุณา เข้าไปอ่านในนี้เวปพุทธยาน (เวปของคณะศิษย์คณะสงฆ์จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม ที่มา http://community.buddhayan.com (http://community.buddhayan.com))
ต่อไปนี้ เป็นงานแปลของ เสถียร โพธินันทะ เกี่ยวกับพระแม่กวนอิม



หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 10 สิงหาคม 2554 10:53:15


          พระคัมภีร์พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์
          แปลโดย
... เสถียร โพธินันทะ

          ในลัทธิมหายานมีพระคัมภีร์อรรถว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ศากยมุนี) ตรัส
          พระอมิตาภะสูตร (ออนีท้อเก็ง) แก่พระสารีบุตรเถระ มีใจความย่อดังนี้.-

          "จำเดิมแต่เวลาล่วงมาถึง 10 กัปป์แล้ว ได้มี พระพุทธอมิตาภะ (ออนีท้อฮุก) ประทับ อยู่ ณ แดนสุขาวดีทางทิศปัจฉิม (เกกลักสี่ก่าย-ไซที) พระพุทธอักโษภยา ทางทิศบูรพา, พระพุทธรัตนสมภพ ทางทิศทักษิณ พระพุทธอโมฆสิทธิ์ ทางทิศอุดร พระพุทธไวโรจน์ อยู่ศูนย์กลาง ฯลฯ พระพุทธเจ้า เหล่านั้นล้วนเป็นพระฌานีพุทธ (ไม่ได้เสด็จลงมาตรัสในโลกมนุษย์)

          กับยังมีพระฌานีโพธิสัตว์จำนวนมากไม่สมัครพระทัยที่จะเสด็จเข้าสู่พุทธภูมิ ดับขันธ์เพียงแค่ชาตินั้น (เป็นพระพุทธเจ้าไปแต่ก็ไม่มีแม้เยื่อใยเหลือไว้แก่โลกอีก คือไม่โปรดสัตว์แล้ว) ทรงตั้งปณิธานขอโปรดสัตว์โลกในไตรภูมิต่อไป เพื่อให้สัตว์โลกในอนาคตได้รับพระเมตตากรุณาเช่นเดียวกับสัตว์โลกในอดีต"

          มีพระมหาโพธิสัตว์องค์สำคัญยิ่งมีพระนามว่า พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือ พระกวนอีม เป็นพระมหาโพธิสัตว์ที่บรรดาพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเคารพนับถือมากที่สุด ด้วยพระองค์ทรงพระเมตตากรุณาโปรดสัตว์ทั่วทั้งไตรภูมิให้พ้นจากกองทุกข์ เนื่องด้วยพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ทรงมีพระวทัญญู (ความเมตตากรุณาธิคุณ) คอยปลดเปลื้องความทุกข์ภัยของสัตว์โลก จึงมี พระเนมิตตกนาม (นามที่มาจากลักษณะและคุณสมบัติ) ตามภาษาจีนเรียกว่า พระกวนซีอิมไต่พู่สัก แปลว่า พระมหาโพธิสัตว์ที่มีพระกรรณาวธานโลกาศัพย์ หรือที่เรียกง่าย ๆ คือ พระมหาโพธิสัตว์ที่เงี่ยหูฟังเสียงโลก (พวกที่มีทุกข์ใจไปบนบานถือศีลกินเจ แล้วมักจะเกิดผลดีในทางจิตใจ พวกที่กินเจไม่ได้เลย…ก็ยังช่วยทำบุญก็มีมาก คืออุทิศเงินให้ผู้อื่นถือศีลแทนตน)

          ตามคติในมหายานกล่าวว่า เมื่อพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือพระกวนอีมจะเสด็จไปโปรด ท้าวพระยามหากษัตริย์ พระองค์ก็แปลงพระองค์เป็น เมธาตถมาณพทรงเครื่องภูษามาลามหากษัตริย์ ถนิมอลังการสง่ากว่าพระมหากษัตริย์องค์นั้น เมื่อพระองค์เสด็จไปโปรด ท้าวนางพระยาและบรรดาสตรีเพศ พระองค์ทรงจำแลงพระองค์เป็น สตรีอันทรงอิตถีรูป (มีความงามของผู้หญิง) ทรงสมรรถนะเป็นที่น่าวันทาอภิวันท์ พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นนี้ ให้เหมาะสมกัลกาละเทศะ เพื่อว่าง่ายสอนง่าย

          พระรูปของพระองค์ส่วนมากมักนิยมทำหรือเขียนเป็นพระมหาโพธิสัตว์ผู้หญิง และเป็นพระมหาโพธิสัตว์องค์เดียวเท่านั้นที่บรรดาสตรีจีน ทั้งในประเทศและนอกประเทศจีนรู้จักกันและเคารพนับถือมากที่สุด
          พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือ พระกวนอีม ในพระสูตร (โพ้วมึ้งปิ้ง) มีกล่าวว่า ถ้าบุคคลใดจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อระลึกถึงพระองค์ด้วยความเลื่อมใสอ้อนวอนขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะแผ่เมตตากรุณามาปลดเปลื้องทุกข์ภัยของผู้นั้นสมประสงค์ (เป็นสื่อกลางดึงดูดบันดาลใจให้คนมีเมตตากรุณาจิตมาก)

          ในพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ฮวบฮั้วเก็ง)
          พระคัมภีร์กล่าวว่า พระมหาโพธิสัตว์กวนอีม มี พระคุณาลังการ อันประกอบด้วย
          1.พระปัญญาคุณ 2. พระสันติคุณ และ 3. พระเมตตากรุณาธิคุณ
          ผู้ใดเข้าถึงหรือมีคุณาการ (บ่อรวมความดี) ตามอย่างพระองค์ก็จะเป็นผู้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายได้จริง การภาวนาพระคาถาของพระองค์จะต้องการะทำประกอบพร้อมทั้งองค์ 3 คือ กาย วาจา และ ใจ โน้วน้าวไปตาม ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (ความประพฤติดีงามตามสถานะ) จึงจะเกิด ธรรมสาระคุณ (คุณในแก่นแห่งธรรม) คือบรรลุถึง "วิปัสสนาปัญญา" เช่น
          1. คุณในปัญญา
          2. คุณในสันติและ
          3. คุณในเมตตากรุณา
          พระองค์เป็นแต่ผู้ให้ คุโณปการ (การอุดหนุนให้ทำคุณงามความดีต่าง ๆ ) ชี้ทางและเตือนใจให้สร้างคุณธรรมนั้น ๆ ขึ้น อนึ่ง ในลัทธิมหายาน มักจะมีอรรถข้อความเรียกว่า กลบท หรือเป็น ธรรมปริศนา แบบต้นตออินเดียของเดิมแท้นั้น ไว้ให้ขบคิดกันเอง ถ้าขบคิดไม่ตก ก็แปลว่ายังค้นหาช่องทางไม่ถูก เข้ายังไม่ถึงหรือว่ายังมองไม่ทะลุ ธรรมบท นั้น ๆ ถ้าขบคิดตกแล้วก็หมายถึงซึ่งความสว่างแล้ว ดังในพระสูตรกล่าว เช่น .-



หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 10 สิงหาคม 2554 11:15:21


          ในกรณีโจรภัย
          พระคัมภีร์กล่าวว่า : "บุคคลใดกล่าวภาวนาคาถาของพระมหาโพธิสัตว์ กวนอีม โจรภัยก็ปราศจากไป คำว่า โจร ณ ที่นี้ ในธรรมาธิษฐานมีความหมายถึง โจรแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่าน หาใช่โจรธรรมดาไม่ โจรที่จุดคบไฟแดงโห่ร้องเข้าปล้นบ้านนั้น เป็นโจรชนิดออกหน้าออกตามาให้แลเห็น แต่โจรแห่งอารณ์ฟุ้งซ่านนั้น เป็นโจรชนิดไม่มีตัวตน (เพราะตาเรามองไม่เห็นตัวตนของมัน) ปล้นอย่างเงียบ ๆ และใจเย็น รุมกันเข้าปล้นเราทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ใจ ผู้ถูกปล้น มีสติเพลิดเพลินหลงใหลทรัพย์สินเงินทองสมบัติหมดเปลือง ถูกขนของออกจากบ้านไป โดยการปล้นชนิดนี้ทีละเล็กทีละน้อยจนหมดเนื้อประดาตัว โจรชนิดนี้ไม่ใช่โจรที่จะมาปล้นเป็นครั้งคราว มันทำการปล้นทั้งกลางวันและกลางคือทุกวัน ทั้ง ๆ ที่ผู้ถูกปล้นอยู่ในขณะมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น.-

          ทางหู อยากฟังเสียงขับร้องเสนาะเพราะ ๆ อยากฟังเสียงอ่อนหวานยวนยีให้เกิดอารมณในตัณหา เสียงที่ยกยอปอปั้นจากบุคคลหัวประจบ ส่งเสริมไปในทางอบายมุข เหล่านี้เรียกว่า โจรปล้นทางหู ทางตา อยากดูหนังแล้วก็พากันไปที่โรงภาพยนต์คิงส์ หรือ ควีน อยากดูละคร ก็พากันไปที่โรงละครศรีอยุธยา, อยากดูงิ้ว ก็พากันไปโรงงิ้วแถวทีกัวที, อยากดูของงาม ๆ หรือภาพสวย ๆ ก็ไปจัดซื้อหามาเก็บไว้ดูเพลิน ๆ เหล่านี้คือโจรปล้นทางตา

          ทางจมูก อยากสูดกลิ่นเสาวคนธ์ กลิ่นหอมระรวยต่าง ๆ ก็พากันไปซื้อน้ำอบฝรั่งอย่างชนิดดี ๆ จะแพงเท่าไหร่ไม่ว่า ยิ่งชนิดเข้าชะมดเชียงหอมทนได้ตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์ยิ่งดีใหญ่ ทั้งที่นอนหมอนมุ้ง ตลอดจนอาบน้ำก็ชะโลมด้วยเครื่องหอม เหล่านี้คือโจรปล้นทางจมูก

          ทางปาก อยากรับประทานของที่มีรสอร่อย ๆ เช่น กับข้าวฝรั่งก็พากันไปยังโฮเต็ลโทรคาเดโร, โอเรียลเต็ล กับข้าวจีนก็ไปยังห้อยเทียนเหลา เยาวยื่น กับข้าวไทยก็ไปภัตตาคารสวนลุมชายทะเล ยิ่งแถมสุราเข้าไปด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ๋ โจรเหล่านี้คือ โจรปล้นทางปาก

          ทางกาย อยากแต่งตัวด้วยอาภรณ์จินดา อยากนั่งรถยนต์คันโต ๆ โก้สง่า อยากอยู่ตึกหลังใหญ่ ๆ มีการรื่นเริงเลี้ยงดูกันด้วย สุรานารี ฟ้อนรำ ทำเพลงสนุกสนาน เมื่อขัดสนเข้าก็กู้เงินเขามาใช้จ่ายโดยเสียดอกเบี้ย อย่างนี้คือโจรปล้นทางกาย ปล้นทั้งเงินทองและปล้นทั้งสุขภาพอนามัย และหนัก ๆ เข้าก็ปล้นถอนเอาเสาเรือนเป็นหลัง ๆ ไปเลย

          ทางใจ เมื่อใจคิดอยากได้ในสิ่งต่าง ๆ ไม่ประสบผลสมประสงค์อย่างหนึ่ง คือความอยากใด ๆ ได้บรรลุผลสมความปรารถนามาแล้ว แต่ถึงขนาดสภาพมีรายได้มาปิดหีบไม่ลง ใจก็เกิดฟุ้งซ่านเดินเลยขอบเขตอันดีงามไป คือ คิดวิธีหาเงินในทางอกุศล แล้วอกุศลกรรมก็นำไปสู่ความหายนะอย่างนี้ คือโจรปล้นทางใจ โจรชนิดนี้ยังปล้นเอาความอิสรภาพไปอีกด้วย

          หากบุคคลใดสามารถไตร่ตรองตามทำนองในพระคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอีม โดยนำเอาเพียง ปัญญาคุณ อย่างเดียวพิจารณา ก็จะแลเห็นว่า ทรัพย์ที่ได้พยายามหามาด้วยการลำบากยากและเหน็ดเหนื่อยนั้น ได้ถูกปล้นไปในทางแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่าน ถ้าจะเอาปัญญาคุณมาใช้ โจรภัยแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านี้ ก็จะปราศจากไปเอง
          ในกรณีอัคคีภัย กล่าวว่า: บุคคลใดเมื่อภาวนาคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอีม
          อัคคีภัยจะทำอะไรไม่ได้
พระคัมภีร์นี้ถ้าถอดเป็นพระธรรมาธิษฐาน อัคคีภัย ณ ที่นี้ หมายถึง
          1. โลภะ อัคนี
          2. โทสะ อัคนี และ
          3. โมหะ อัคนี

          หาใช่อัคคีภัยที่เผาผลาญบ้านเรือนไม่ อัคคีภัยที่เกิดถึงขนาดร้ายแรง เช่น เกิดจากลูกระเบิด ปรมาณูไหม้กันวินาศหมดไปทั้งเมืองก็ยังสามารถดับได้ด้วยน้ำ แต่ไฟชนิดอันมีนามว่า อัคคีแห่งกิเลสราคะ นั้น จะอาศัยเอาน้ำในมหาสมุทรมาดับก็ไม่ยังผล           อัคคีชนิดนี้ลุกลามแพร่แผ่ไพศาลครอบงำมนุษย์ทั่วโลกและกำลังคุกคามเผาโลกให้ลุกเป็นเปลวแดงอยู่ในขณะนี้ (90 % คนมองข้ามไฟนี้ไป กรรม…)
อัคคีภัยแห่งกิเลสราคะ นั้น คอยจี้มนุษย์ให้ร้อนเป็นไฟโดยมิรู้สึกตัว (ร้อนในทางเลือดไม่ใช่ร้อนทางกาย) ถึงขนาดเจ้าโลภะ โทสะ และ โมหะ ก็เข้าบงการจิตใจ เช่น :-

          1. รบราฆ่าฟันกัน
          2. ไปลอบฆ่าคนตาย
          3. ไปทำร้ายร่างกาย

          4. ไปปล้นทรัพย์
          5. ไปฉ้อฉลยักยอก
          6. ไปผิดศีลธรรมในลูกเมียเขา

เมื่อเหตุก่อเกิดขึ้น ผลก็มาตามหลัง คือตกทุกข์ได้ยากและต้องรับโทษทัณฑ์ ก็เนื่องจากกองอัคคีดังกล่าวนี้ ผู้ที่เจริญพระคาถาของพระกวนอีม หากนำเอาคำในพระคัมภีร์มาพิจารณาใช้ก็จะเกิดประโยชน์ กล่าวคือ:-

          1. อัคคีภัยแห่งราคะ จะดับได้ด้วย สันติคุณ
          2. อัคคีภัยแห่งโทสะ จะดับได้ด้วย เมตตากรุณาธิคุณ
          3. อัคคีภัยแห่งโมหะ จะดับได้ด้วย ปัญญาคุณ

ในเมื่อบุคคลใดขบคิดปัญหากลบท หรือเรียกว่าปริศนาธรรมในพระคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอีมแตกฉาน อัคคีภัยที่กล่าวข้างต้นก็จะทำอะไรไม่ได้จริง ๆ



หัวข้อ: Re: ประวัติความเป็นมาของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 10 สิงหาคม 2554 12:35:05


(http://www.mahasukhavati.com/spaw2/uploads/images/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C.jpg)

          ในกรณีมหาวาตภัยเรือล่มในทะเล
          กล่าวว่า : บุคคลใดถ้าภาวนาระลึกถึงพระมหาโพธิสัตว์กวนอีมก็จะรอดพ้นจากการจมน้ำตาย ทะเล ในกรณีนี้ พระคัมภีร์มีความหมายถึง ทะเลทุกข์ ซึ่งเรียกกันในพระพุทธศาสนา สัตว์โลกอุปมาดังผู้อาศัยอยู่ในเรือน้อยลอยลำร่อนเร่พเนจรอยู่ในกลางทะเลทุกข์ อันเป็นวัฏฏสงสาร เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลก คือได้แก่:-
การเกิด การแก่ การเจ็บ และ การตาย

          สัตว์โลกจะหนีรอดพ้นจากอาการทั้งสี่ที่กล่าวนี้ไม่ได้
          ต้องอยู่ในสภาพอันผันแปรอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เช่น :-

          1. สภาพเป็นเด็กเล็กแล้วก็ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ใหญ่
          2. สภาพเป็นคนหนุ่มแน่นภายหลังก็ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนแก่ชรา
          3. สภาพเป็นคนแข็งแรงในสุขภาพ แล้วก็ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนเพียบไปด้วยโรคาพยาธิ
          4. สภาพเป็นคนเกิดมาในโลก แล้วก็ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนตายไปจากโลก

การผันแปรเปลี่ยนแปลงอยู่ทุก ๆ นาทีนี้ เช่นเดียวกับการลาดเอียงสูงต่ำแห่งกระแสคลื่นในทะเล จะมีอะไรเป็นแก่นสารก็หาไม่ ขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็อยู่เพียงระยะชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรจะคงทนอยู่ได้ตลอดกาล โดยไม่มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงเสื่อมคลาย และสูญดับ

          อนิจจัง คือ ความไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง
          ทุกขัง คือ ความทุกข์ ความยาก
          อนัตตา คือ สิ่งที่ไม่ใช่เป็นตัวตนของตนเอง

          เหล่านี้เป็นไปตาม กรรมบถ คือ ทางของกุศลกรรมคลุกเคล้าอกุศลกรรม เป็นปัจจัยกระทำให้สัตว์โลกมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในทะเลทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น (จมน้ำตายกันอย่างนี้)
ถ้าบุคคลใดตีปัญหาปริศนาธรรมในพระคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอีมแตก ก็จะเกิดปัญญาคุณ คือ มีปัญญาหลักแหลมมองทะลุความจริงได้ ก็เท่ากับสามารถนำเรือของตนเข้าถึงฝั่งจากมหาวาตภัยและรอดจากการจมน้ำตายได้จริง

          ในกรณีศัสตราภัย

          กล่าวว่า : - บุคคลใดเมื่อภาวนาพระคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอีม อาวุธแหลมทุกชนิดจะไม่สามารถระคายผิวได้
          คำในคาถาข้อสุดท้ายนี้แหละ แสดงให้แลเห็นเด่นชัดว่าในมหายานมีธรรมคาถาเป็น กลบท ชั้นเชิงทำให้ฉงนไปในทางหนึ่งนัยว่า ต้องการให้มีความไหวพริบ คือ ปัญญา (ให้เกิดปัญญาขึ้นในตัวไม่ต้องไปหาปัญญาจากที่อื่น) ถ้าเกิดปัญญาคุณขึ้นแล้วก็มองทะลุความจริงว่า พระคาถานี้หาได้มีความหมายตายตัวตามศัพท์ที่ว่าไม่ เพราะผิวหนังมนุษย์ไม่ใช่เหล็กกล้าจึงจะคงกระพันชาตรี เมื่อเป็นเช่นนี้อรรถในพระคาถานี้คงหมายความเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิด และจุดอันแท้จริงของพระคาถานี้ ได้แก่ :-
          บุคคลที่สามารถรักษา อายตนะทั้งหก คือ อินทรีย์ทั้ง 6 นั้นเอง อายตนะ มี ตา หู จมูก ปาก กาย และใจ อันเชื่อมโยงไปใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์
ถ้าบุคคลใดมีความสามารถ ไม่โยงใย และตัดขาดจากสิ่งที่จะมากระทบให้เกิดอกุศลกรรม กล่าวคือ :-

          1. เมื่อหูได้ยิน ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น เช่นหูไม่ได้ยิน
          2. เมื่อตาและเห็น ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น เมินไม่แลเห็น
          3. เมื่อจมูกได้กลิ่น ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น เหมือนมิได้ดมกลิ่น
          4. เมื่อลิ้มรส ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น เหมือนมิได้รับรสรู้
          5. เมื่อกายสัมผัส ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น ประดุจไม่ได้สัมผัส
          6. เมื่อใจได้รับอารมณ์ ในสิ่งอกุศล ก็ทำเป็น เฉยเฉื่อยไม่ได้รับรู้ในอารมณ์นั้น ๆ
          และไม่หวั่นไหว ระงับ ตัณหา ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิด อกุศล เจตนาขึ้น คือ :-

                    1. ความปรารถนา
                    2. ความดิ้นรน
                    3. ความอยาก และ
                    4. ความเสน่หา

           เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่บังเกิดขึ้น อำนาจแห่ง ธรรมมิตร ก็เข้าชักจูงเรียกร้องดูดดึงเอา สันติคุณ ตลอดจน เมตตากรุณาธิคุณ เข้ามาไว้ในตัว ก็จะเสมือนว่า เป็นเกราะบังป้องกันศัตราวุธไม่ระคายผิวหนังตามพระคาถาได้ไม่ต้องสงสัย
เท่าที่บรรยายมาเบื้องต้น พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือ พระกวนอิม จึงเป็นที่เคารพบูชานับถือว่า พระองค์เป็นที่พึ่งของปวงสัตว์โลก ทั้งเป็นผู้มีพระเมตตาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยของสัตว์โลกทั่วไตรภูมิ และทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นนิจสิน

          พระคาถาของพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมนั้น ไม่ใช่แต่เพียงท่องบ่นอย่างเดียว เป็นกลบทในปริศนาธรรมให้ขบคิดด้วยพร้อมกัน และในเมื่อบุคคลใดสามารถขบปัญหาแตกกับปฏิบัติได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ได้ชื่อว่าอัญเชิญพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์มาอยู่ในดวงจิตของบุคคลนั้น และบุคคลผู้นั้นก็ปลอดภัยจากอันตรายนานาประการ ดังได้บรรยายมาแล้ว
          พระอวโลกิเตศวร หรือพระกวนอีมมหาโพธิสัตว์นี้ ทางอุตรนิกายนับถือว่า เป็นพระปัทมปาณีมหาโพธิสัตว์ ได้โปรดสัตว์โลกในอดีตมานานแล้ว ทั้งทรงตั้งปณิธานวัฒนาการโปรดสัตว์โลกต่อไปอีกในอนาคต จึงยังไม่เสด็จเข้าสู่พระพุทธภูมิ

          อนึ่ง มวลพิธีที่มีในนิกายนี้ เช่น มีพิธีกงเต็ก เป็นต้น พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์อัญเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ เสด็จมาประทับรับการบูชาในพิธีเพื่ออานิสงส์ ส่วนพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ และองค์อื่น ๆ นั้น อัญเชิญมาเป็นประมุขในการประกอบพิธีโปรดสัตว์โลกให้รอดตาย คือไม่ฆ่าชีวิตสัตว์ และยังไม่เสพเลือดเนื้อสัตว์ เจริญมหาเมตตากรุณาธรรมจริง ๆ ตามลัทธิ ด้วยประการฉะนี้ ขอจบการวิสัชชนา เรื่องพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือ พระมหาโพธิสัตว์กวนอีม แต่เพียงนี้

(ที่มา : จากหนังสือพระคัมภีร์ กวนอีมมหาโพธิสัตว์
แปลโดย  : เสถียร โพธินันทะ
พิมพ์แจกเป็นธรรมทานโดย ชมรมธรรมทาน ทางไปรษณีย์
พุทธสถานโรงเจ เป้าเก็งเต๊ง ซอยปลูกจิต 2 ถนนพระราม 4 กทม.)

(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS8nmV-_P6UX1ZAkKicy4TBh1TQoqbsBiprj1NKHfoK4fnFKe1C)

วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
999 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
Credit by : http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana.htm (http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana.htm)
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ท
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ