[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 30 กรกฎาคม 2564 11:35:26



หัวข้อ: “เสือผ่อน” โจรดังสมัย ร.5-7 จากลำตัดเก่าแก่ที่สาบสูญ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 30 กรกฎาคม 2564 11:35:26

(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2021/07/%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-696x364.jpg)
ภาพประกอบเนื้อหา - เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก
เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)


ร่องรอย “เสือผ่อน” โจรดังสมัย ร.5-7
จากลำตัดเก่าแก่ที่สาบสูญ ชีวิตวัยเด็ก ถึงจุดจบน่าเศร้า

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549
ผู้เขียน - อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2564


“เขาหมูดุด” เป็นชื่อของภูเขาลูกหนึ่งในบริเวณบ้านหมูดุด ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ดินแดนแห่งนี้ถูกอ้างว่าในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 เคยเป็น “รังโจร” ของเสือมีชื่อในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ผู้มีนามว่า “เสือผ่อน

เรื่องราวของเสือผ่อนได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบของ “ลำตัด” สื่อมวลชนชาวบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมานานนับ 8 ทศวรรษ เรียกกันว่า “ลำตัดเสือผ่อน”

พระครูมหานทีคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และก๋งสิม เกษโกวิท กรุณาเล่าว่า เรื่องลำตัดเสือผ่อนนี้ครั้งแรกแต่งโดยหะยีเขียด ใช้ชื่อว่าอ้ายเสือจอมโจรชลบุรี อ้ายเสือผ่อน มี 2 เล่มจบ พิมพ์ที่โรงพิมพ์เขษมพานิช เมื่อปี พ.ศ.2472

การพิมพ์ครั้งแรกนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ภายหลังปราชญ์ชาวบ้านท่าพริก เมืองตราด ชื่อนายทอง เจริญสุข๒ นำมาแต่งใหม่จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เล่ากันว่านายทองนี้เป็นผู้มีความรู้ในทางกาพย์กลอนมาก มีอาชีพเป็นเสมียนของทางการ เป็นกวีชื่อดังของเมืองตราดคนหนึ่งในสมัยนั้น คู่กันกับสหายรักคือ พระสาธนธนากร (มุ่ย ชพานนท์) อดีตสรรพากรเมืองตราด

ผู้ใหญ่ประจวบ เกษโกวิท วัย 82 ปี ปราชญ์ชาวบ้านของบ้านท่าพริก อันเป็นถิ่นกำเนิดของเสมียนทอง เล่าถึงเรื่องลำตัดเสือผ่อนนี้ก่อนถึงแก่กรรมว่า ลำตัดเสือผ่อน แต่งโดยเสมียนทอง เจริญสุข พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 7 (พิมพ์หลังปี พ.ศ.2474) ราคาขายเล่มละ 25 สตางค์ กล่าวถึงชีวิตของเสือผ่อนซึ่งเป็นโจรชื่อดังของภาคตะวันออกในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นชาวอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี อาศัยอยู่ที่เกาะมันใน และเขาหมูดุด ที่จันทบุรี ในคราวนั้นพิมพ์ 4 เล่มจบ โดยแต่ละเล่มมีเนื้อหาดังนี้

เล่ม 1 ประวัติเสือผ่อนว่าเกิดที่ไหน เหตุใดจึงได้เป็นโจร เจ็บใจอะไรอย่างไร
เล่ม 2 เริ่มเป็นเสือ วีรกรรมการปล้นของเสือผ่อน
เล่ม 3 โกนจุกหลาน
เล่ม 4 เสือผ่อนตาย

ลำตัดเสือผ่อนทั้ง 4 เล่มนี้ ปัจจุบันถือเป็นของหายาก และยังหากันไม่พบ (ข้อมูลเมื่อ 2549-กองบรรณาธิการ) อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนของเล่ม 3 จากผู้ใหญ่ประจวบ เกษโกวิท ผู้ที่เคยได้อ่านและร้องลำตัดเสือผ่อนนี้เมื่อวัยเยาว์ ซึ่งจะได้เล่าร้อยกันไปกับชีวิตของเสือผ่อน


จาก “เด็กชาย” ถึง “นายโจร”
บุญจริง เสนาะสรรพ์ วัย 78 ปี (เมื่อ 2549 – กองบรรณาธิการ) ไวยาวัจกรวัดท่าแคลง ทายาทเสือผ่อน เล่าถึงบิดาของตนไว้ว่า เสือผ่อนเกิดราวปี พ.ศ.2432-37 (คำนวณจากอายุของทายาท) เป็นชาวจังหวัดระยองโดยกำเนิด บริเวณอ่าวมะขามป้อม หาดแหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ก๋ง ประจวบ เกษโกวิท (ถึงแก่กรรม) อายุ 82 ปี เล่าถึงรูปร่างหน้าตาของเสือผ่อนว่า “เสือผ่อนนี่ เขาว่าร่างใหญ่ เห็นเขาถ่ายรูปน่ากลัวเหมือนเสือ เป็นคนตัวโตสูง เคยมีคนถ่ายรูปเสือผ่อน”

ในขณะที่ลุงบุญจริงกล่าวว่า “คนที่เคยเห็นพ่อเขาว่าผมหน้าตา รูปร่าง ทรงผม ไม่ผิดจากพ่อ แล้วก็ชอบใส่กางเกงจีน ไม่สักยันต์แต่ชอบแขวนพระ”

บิดาเสือผ่อนชื่ออะไรไม่มีใครจำได้ ทราบแต่เพียงมารดาว่าชื่ออ่อน ส่วนพี่น้องมีเท่าไรไม่ปรากฏแน่ชัด เท่าที่ทราบกันปรากฏเพียง 5 คน ดังนี้

ที่ 1 ชื่อเล็ก (ญ)
ที่ 2 ชื่อหน่าย (ญ)
ที่ 3 ชื่อผ่อน (ช)
ที่ 4 ชื่อผัน (ช)
ที่ 5 ชื่อเพียร (ญ)

ญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ของเสือผ่อนปัจจุบัน (2549 – กองบรรณาธิการ) ก็ยังคงอยู่ ณ นิวาสสถานเดิม คือที่แหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ทำอาชีพประมงสืบกันมา ปรากฏชื่อสกุลว่า “มัจฉาเกื้อ” ส่วนเสือผ่อนนั้นเป็นสมาชิกคนเดียวของตระกูลที่หันมาเอาดีทาง “โจรสลัด”

เสือผ่อนเดินทางเทียวไปเทียวมาระหว่างเกาะมันใน แหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง และเขาหมูดุด จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่งเสือผ่อนได้เมียคนแรกชื่อ “แม่มี” ชาวจันทบุรี มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้ใหญ่บุญลือ (หนู) เสนาะสรรพ์ (ถึงแก่กรรม) เมียคนที่ 2 ชื่อ “แม่ถ้วน” มีบุตรด้วยกัน 1 คนเช่นกัน คือ ลุงบุญจริง เสนาะสรรพ์

นอกจากนี้แล้วเสือผ่อนยังมีเมียรายทางไประหว่างไปปล้นอีก เช่น แม่ละมุน ที่ก้นอ่าว จังหวัดระยอง แม่หลี ที่หาดพลา จังหวัดระยอง แม่จ้อย ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

เสือผ่อนเป็นหนึ่งในบรรดา “เสือ” ทั้งหลายที่เรียนวิชาอาคมแก่กล้า เล่ากันว่า เสือผ่อนนี้เรียนคาถาอาคมมาจากหลวงพ่อเปรม เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดท่าแคลง จังหวัดจันทบุรี พระผู้มีชื่อเสียงเรื่องอยู่ยงคงกระพันในสมัยนั้น ทำให้เสือผ่อนเคารพรักหลวงพ่อเปรมมาก เล่ากันว่า อุโบสถหลังเก่าของวัดท่าแคลงนี้ เสือผ่อนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการสร้าง


“ชาติเสือต้องไว้ลาย” กับการท้าทายอำนาจรัฐ
ไม่มีใครบอกได้ว่าเสือผ่อนเริ่มเป็นโจรสลัดตั้งแต่เมื่อใด และเขามีเหตุผลอะไรจึงได้หันเหชีวิตมาท้าทายกฎหมายเช่นนี้ บุตรชายของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่คนเดียวเล่าว่า อาวุธที่บิดาใช้ปล้นคือปืนสั้นบราวนิ่ง โดยมีเรือใบเป็นพาหนะสำคัญ ยาวราวๆ 3-4 วา เสือลูกน้องที่สำคัญๆ ได้แก่ เสือชั้น เสือหม้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเสือชื่อดังเป็นพวกอีกจำนวนมาก และนักเลงท้องถิ่น เช่นที่เมืองตราดเล่ากันว่า เสือผ่อนมีเพื่อนชื่อผู้ใหญ่ เจียก เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เกาะช้าง ดังปรากฏในลำตัดเสือผ่อน ว่าเสือผ่อนมาปล้นถึงที่เกาะช้าง เกาะหมาก รวมทั้งมีเพื่อนโจรสลัดอยู่ที่นี่จำนวนมาก ดังปรากฏในตอนที่เสือผ่อนมาเชิญเพื่อนไปร่วมงานโกนจุกหลานสาว ความว่า

เกาะช้างเพื่อนมาก     เกาะหมากเพื่อนจัง
ถึงเกาะกงเขตฝรั่ง     จึงมีคำสั่งส่งไปฯ
อ่าวช่อธรรมชาติ       จังหวัดตราดเพื่อนฝูง
เชิญมาบำรุง            แต่ล้วนพวกฝูงสหายฯ

เวลาเสือผ่อนจะออกไปปล้นมักจะไปกับลูกน้องประมาณ 4-5 คน ซึ่งก่อนจะไปปล้นเสือผ่อนจะดูฤกษ์ยามก่อนออกปล้น และมีพิธีบวงสรวงเทวดาทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล

วิธีการปล้นของเสือผ่อนนี้ปล้นทั้งบนบกและในน้ำ โดยมากมักปล้นบ้านเรือนบนเกาะ หรือชายฝั่งที่ติดทะเล เนื่องจากมีเรือใบเป็นพาหนะสำคัญ ผู้เฒ่าหลายคนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องเสือผ่อนจากบรรพบุรุษต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า เสือผ่อนนี้เวลาปล้นนี้ดุร้ายมาก ฆ่าไม่เลือก

ครั้งหนึ่งเคยไปปล้นบ้านคหบดีที่เกาะช้าง ได้เงินและทองไปมาก แต่ก็ไม่วายที่จะปลิดชีวิตเจ้าบ้านและลูกน้อย หรือตอนไปปล้นที่เกาะหมาก ซึ่งเป็นเกาะของเจ้าสัวเส็ง หรือพระประเสริฐวานิช ที่ถูกเสือผ่อนแวะมาปล้นอยู่บ่อยครั้ง เป็นเหตุให้ภายหลังเจ้าสัวเส็งจึงขายเกาะหมากให้กับหลวงพรหมภักดี

…เล่ากันว่าผู้ที่มาเริ่มจับจองพื้นที่บนเกาะหมาก เพื่อสร้างเป็นสวนมะพร้าวเป็นคนแรกนั้น ชื่อว่าเจ้าสัวเส็ง มีตำแหน่งเป็นปลัดฝ่ายจีนในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาเจ้าสัวเส็งได้ขายสวนมะพร้าวบนเกาะหมากให้กับหลวงพรหมภักดี (เปลี่ยน ตะเวทีกุล) ปลัดจีนอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเกาะปอ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์…

ลุงบุญจริงยังเล่าว่า ที่บางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีคนเก่าแก่เล่าว่าเคยเห็นรอยขวานที่เสือผ่อนไปฟันบ้านขณะปล้นที่บางเสร่ นอกจากนี้ยังเล่ากันว่าเสือผ่อนนี้ไปปล้นถึงที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ก็มี

อุปนิสัยดุร้ายและพฤติกรรมการปล้นของเสือผ่อนข้างต้นแตกต่างไปจากที่บุตรชายของเสือผ่อนเล่าว่าบิดา “เป็นคนใจดี เอื้ออารี เวลาปล้นมักไปขอมากกว่า ไปขอเฉพาะคนรวยๆ”

นอกจากอาชีพหลักคือการปล้นแล้ว เสือผ่อนยังทำหน้าที่อารักขาคหบดีบางคนด้วย เช่น เจ๊กจง ซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่แห่งบ้านศาลา ซึ่งเสือผ่อนได้รับฝิ่นของเถ้าแก่จงเป็นสิ่งตอบแทนน้ำใจ

ชื่อของเสือผ่อนเป็นที่ยำเกรงและเกรงกลัวของคนทั่วไป ทั้งประชาชนหรือแม้กระทั่งตำรวจเอง เพราะเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งที่เสือผ่อนไปตัดผม มีตำรวจนายหนึ่งเดินมาคนเดียวมาเจอเสือผ่อนเข้าก็ยังไม่กล้าจับ เพราะไม่มีพวก กลัวว่าจะถูกเสือผ่อนยิง และจากชื่อเสียงเรื่องความโหดร้ายนี้เองจึงทำให้บรรดาเสือลูกน้องทั้งหลายมักขอให้เสือผ่อนเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอผู้หญิงให้ เพราะไปขอใครก็ยกให้ เนื่องจากต่างก็กลัวเสือผ่อน รวมทั้งลูกน้องมักเอาชื่อเสือผ่อนไปอ้างเพื่อสวมรอยเวลาปล้นด้วยก็มี

นอกจากเรื่องปล้นที่เป็นที่กล่าวขวัญกันแล้ว เรื่องของเสือผ่อนยังได้รับการกล่าวขวัญเกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วย

เรื่องที่ทำให้เสือผ่อนมีชื่อเรื่องอาคมมากที่สุดคือเรื่องหนีตำรวจที่เกาะมัน เพราะคนคิดว่าเสือผ่อนหายตัวได้ แต่ความจริงแล้วเสือผ่อนหนีไปตอนกลางคืน แล้วดำน้ำเข้าไปหลบที่ถ้ำเล็ก ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยใช้ขอนไม้ข้ามทะเลไปเกาะมัน แล้วมีปลาโลมาคุ้มกันไป 2 ข้างขนาบไป เชื่อกันว่าน่าจะเป็นครูบาอาจารย์ของเสือผ่อนแปลงกายมาช่วย

เรื่องราววีรกรรมของเสือผ่อนนี้เป็นที่โจษขานไปทั่ว จนเมื่อทราบไปถึงทางการ จึงมีการส่งนายตำรวจออกมาปราบปราม นั่นคือหลวงจิตใจดล ภายหลังไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.2483-84

อย่างไรก็ตามในประวัติของพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้และในจังหวัดอื่นๆ ในฝีมือการปราบปรามโจรผู้ร้าย ในประวัติของ “ท่านขุน” ปรากฏว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ.2489 ท่านย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น

จากประวัติดังกล่าวปรากฏชื่อ “เสือผ่อน” รวมอยู่ด้วย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นคนเดียวกับ “เสือผ่อน” ของภาคตะวันออกหรือไม่…


“มิตรแท้ไม่มีในหมู่โจร” : อมตะภาษิตที่ปิดฉากตำนานเสือผู้ยิ่งใหญ่
ลำตัดเสือผ่อนเท่าที่สืบค้นมาได้ในปัจจุบันทราบว่ามี 4 เล่ม แต่มีผู้จดจำไว้ได้เพียง 2 เล่ม คือ เล่ม 2 และเล่ม 3 ส่วนต้นฉบับนั้นยังหาไม่พบ

อย่างไรก็ตามในเล่ม 4 ซึ่งเป็นตอนจบนั้นได้ถูกอ้างถึงไว้โดยย่อในท้ายเล่ม 3 ว่า

เล่มสี่มีต่อ สนุกพอน่าฟัง มีตำรวจกองกลาง ออกไปยังกลุ่มใหญ่ฯ

ให้จับเสือตัวเอ้      ที่ทะเลชายหาด
ให้ถูกปืนพิฆาต     ถึงชีวาตม์วางวายฯ

สรุปได้ว่าเล่ม 4 นี้กล่าวถึงจุดจบของเสือผ่อนนั่นเอง บุญจริง เสนาะสรรพ์ บุตรชายเสือผ่อนเล่าว่า ก่อนเสือผ่อนตายเพียงไม่กี่วัน เสือลูกน้องก็เป็นไส้ศึก เป็นสายให้กับตำรวจ เนื่องจากทางการให้สัญญาว่าหากเป็นสายให้แล้วจะผ่อนผันโทษให้ เสือลูกน้องของเสือผ่อนนี้ไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร ส่วนภารกิจของสายลับคือ ให้เมียของตน นำเอาระดูไปผสมกับอาหารให้เสือผ่อนกิน เพื่อทำลายความเข้มขลังของเครื่องราง และวิชาทางไสยศาสตร์ของเสือผ่อนที่ติดตัวมาตั้งแต่เริ่มเป็นเสือ

เมื่อเสือผ่อนกินข้าวที่ผสมกับระดูนั้นเข้าไป ปรากฏว่าตะกรุดที่ห้อยคอตั้งแต่ที่เริ่มเป็นเสือมาก็ลั่นแตกทันที จึงได้รู้ว่าวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมาสูญสิ้นแล้ว ความคงกระพันฟันแทงไม่เข้าก็เสื่อมลงไปในคราวเดียวกัน เล่ากันว่าครั้งนั้นน้ำตาเสือก็ไหลลงอาบหน้าเพราะทราบว่าชีวิตเสือจะจบลงในไม่ช้า

ต่อมาไม่นานตำรวจก็ได้เข้าจับกุมเสือผ่อน และมีการยิงต่อสู้กัน ท้ายที่สุดปรากฏว่า สิบตรีฟุ้ง (สำนวนหะยีเขียดว่า ร้อยตรีฟุ้ง ระงับภัย กับขุนภูมิประศาสน์เป็นคนยิงเสือผ่อนตาย ที่อ่าวคุ้งกระเบน บริเวณต้นตาลแถว แล้วก็เผาศพที่นั่นเอง

คุณฟุ้งยิงตอบ     ยิงสอบลั่นตอบเร็วพลัน
เหนี่ยวไกนกลั่น   โดนที่ท้องเสือป่าฯ

เสือผ่อนเสียชีวิตเมื่อขณะอายุได้ราว 35-40 ปี เมื่อราวปี พ.ศ.2472-77 เวลานั้นลุงบุญจริงอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้น สำนวนของหะยีเขียดระบุว่าคือวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2472

สำหรับที่ดินที่เกาะมันในจังหวัดระยอง ที่เป็นสมบัติของเสือผ่อนนั้น ภายหลังทายาทได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

เรื่องราวของเสือผ่อน ตำนานจอมโจรภาคตะวันออกได้รับการกล่าวขวัญสืบต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่น ซึ่งหากมองในทัศนะของโจรก็อาจกล่าวได้ว่าเสือผ่อนประสบความสำเร็จควรค่าแก่ “ดุษฎีบัณฑิต สาขามหาโจร” จนอาจทำให้ลำตัดเสือผ่อนกลายเป็น “มหากาพย์แห่งมหาโจร”

แต่อย่างไรก็ตามความสำคัญของเรื่องนี้ที่นอกจากจะสะท้อนประวัติศาสตร์แบบโจรๆ แล้ว ยังเผยให้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งของชาวบ้านที่มักไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึง คือชีวิตที่ถูกคุกคาม ความรู้สึกของชาวบ้าน และการตีความความรู้สึกของโจรผ่านกวีชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเป็นพื้นฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคตะวันออกต่อไป
 
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ “โจร เสือ และเรือใบ : ว่าด้วย “ลำตัดเสือผ่อน” บันทึกประวัติศาสตร์โจรสลัดชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549