[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 07 สิงหาคม 2564 11:27:45



หัวข้อ: แฟนคืออะไร ทำไมคนไทยเรียกคนรักว่า “แฟน” ?
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 07 สิงหาคม 2564 11:27:45
   แฟนมาจากไหน? คนไทยเรียกคนรักว่า “แฟน” ตั้งแต่เมื่อไหร่?


     (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2020/05/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA-696x364.jpg)
          ภาพประกอบเนื้อหา - มานี สุมนนัฏ และจำรัส สุวคนธ์ นักแสดงไทยในอดีต ในภาพยนตร์เรื่อง หลอกเมีย พ.ศ. 2481
          (ภาพจากหนังสือ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต โดยกาญจนาคพันธุ์)



พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า แฟน ไว้ว่า
 “(ปาก) น. ผู้นิยมชมชอบ เช่น แฟนเพลง แฟนภาพยนตร์ แฟนมวย, ผู้เป็นที่ชอบพอรักใคร่, คู่รัก. สามีหรือภรรยา.”
โดยคำว่า แฟน มาจากภาษาอังกฤษว่า FAN นั่นเอง ซึ่งย่อมาจากคำว่า FANATIC หมายถึง ความคลั่งไคล้ ชื่นชอบ ชนิดที่เรียกว่า “บ้า” สิ่งหนึ่งอย่างมาก

ก่อนเรียกคนรักว่า แฟน คนไทยยุคก่อนหน้านี้เรียกคนรักว่า “ชิ้น” แล้วคนไทยเริ่มใช้คำว่า แฟน เรียกคนรักของตนเองตั้งแต่เมื่อใด?

เอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ในหนังสือ “หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 1” (959 พับลิชชิ่ง, 2549) ว่า คนไทยเริ่มนิยมใช้คำว่า แฟน
เมื่อราว พ.ศ. 2490 เศษ ๆ (หรืออาจใช้กันมาก่อนหน้านั้นแล้วชั่วเวลาหนึ่ง) ปรากฏหลักฐานในหนังสือ “ชมรมเพลงชุดพิเศษ พยงค์ มุกดา”
จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2494 มีบทเพลง “แฟนตลอดกาล” ผลงานประพันธ์ของพยงค์ มุกดา กล่าวถึงคำว่า แฟน เอาไว้ โดยอธิบายว่า
ขณะนี้คนไทยกำลังใช้คำว่า แฟน กันฟุ่มเฟือย และเล่าที่มาของคำว่าแฟน ดังเนื้อเพลงว่า


“สมัยนี้มีคำฟุ่มเฟือย ใช้กันเรื่อยเปื่อยคือคำว่าแฟน
ไปไหนได้ยินหนาแน่น ถึงจะไม่รู้ว่าแฟนนั่นน่ะแปลว่าอะไร

บางคนนั้นแปลแฟนว่าพัด รู้ไม่ถนัดพูดตามเขาไป
ผู้รู้เขาแปลให้ใหม่ เขาว่าไม่ใช่อื่นไกล แฟนว่าผู้บ้าคลั่ง

ย่อมาจากแฟนาติค ศัพท์สะแลงพลิกแพลงของฝรั่ง
ความหมายที่ใช้จริงจัง เกิดจากเมืองหนังพวกที่คลั่งดารา

จนเดี๋ยวนี้มีคำว่าแฟนแพร่หลาย ใช้เป็นคำไทยมากมายทั่วหน้า
เด็กเล็กกระทั่งยายตา มักอวดกันทั่วหน้าว่าฉันมีแฟน…”


นอกจากบทเพลง “แฟนตลอดกาล” จะสะท้อนความนิยมของการเรียกคนรักว่า แฟน ในยุคนั้นแล้ว ยังปรากฏคำว่า แฟน บนปกโฆษณาขายนิยาย
ของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ สี่แยกหลานหลวง ช่วง พ.ศ. 2490 ที่ลงข้อความว่า “สมุดคู่มือสำหรับ ‘แฟน’ หนังสือทุกเรื่องที่มีชื่ออยู่ในรายการนี้
ท่านที่สมัครเปนแฟนของเพลินจิตต์ จะซื้อได้ต่ำกว่าราคาปกติ 20 เปอรเซนต์.” แฟนในที่นี้จึงหมายถึง แฟนของสำนักพิมพ์ นั่นเอง

บทเพลง “แฟนตลอดกาล” ไม่ได้บอกเล่าแค่ที่มาคำว่า แฟน อย่างเดียวเท่านั้น ยังบรรยายถึงความนิยมเรียก แฟน ในสังคมไทยหลายเรื่องราว
เช่น ในแวดวงบันเทิง ศิลปินมีชื่อก็อยากมีแฟนมาดูตนเองทำการแสดงอย่างหนาแน่น นักแสดงลิเกก็มีแฟนรุ่นใหญ่มาชม เมื่อร้องกลอนถูกใจก็
“เล่นเอาบรรดาแฟนน้ำหมากปลิวว่อนไป”

ส่วนบรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีคนรักเคียงคู่ ก็มักอวดกันว่า “ฉันนี่ก็มีแฟน“ คนไม่มีแฟนเดินไปไหนมาไหนก็ตีหน้าแหยเพราะแฟนไม่มี
ต้องเร่งหาแฟนมาควงแขนเคียงข้างเพื่อให้เป็นสง่า บางคนริจะไปเป็นแฟนเมียเขาจน “ผัวเข้ามาเจอโมโห พบไม้ที่ดุ้นโต หัวโนก็ด้วยแฟน“
เพลงท่านก็มีกล่าวไว้

ในแวดวงการเมืองก็อยากมีแฟนกับเขาเช่นกัน เมื่อถึงเวลาลงสมัครรับเลือกตั้ง “เขาเที่ยวหาแฟนไหว้วอนวาจา ไหว้ดะผู้ดีขี้ข้า
ขอเวทนาเลือกหาเป็นผู้แทน” แต่เมื่อเข้าไปนั่งในสภาฯ ก็ “แอ๊คทำวางท่าเหมือนกิ้งก่านั่งแป้น” บทเพลงอธิบายว่า
เพราะ “ท่าน ๆ” ได้แฟนใหม่ เป็นแฟนจีนแฟนไทย “มุดเข้าหลังบ้านไว้วานได้ผล” แต่พอคนอย่าง “เรา ๆ” อยากเข้าพบ
“แหมกิจท่านมากล้น สินบนเราไม่มี” …ช่างดูไม่ต่างจากยุคนี้สมัยนี้เท่าใดนัก

ตอนจบของบทเพลงก็เตือนพี่น้องชาวไทยว่า “เรื่องแฟนอะไรเหล่านี้ ลุ่มหลงซักพักชั่วปี แต่ชาติไทยนี้ซิควรเป็นแฟน จงลุ่มรักภักดีร่วมกัน
รักชาติคงมั่นป้องกันแว่นแคว้น ชาติของเราควรหวงแหน รักชาติกันให้แน่นแฟ้น เป็นแฟนตลอดกาล” …ชาติไทยคงโด่งดังน่าดู เพราะมี “แฟน”
เป็นล้าน ๆ คน











ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
เว็บไซท์ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/culture/article_50422)