[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 14 สิงหาคม 2564 19:31:31



หัวข้อ: ตำนาน "ชามไก่"
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 14 สิงหาคม 2564 19:31:31


ตำนาน "ชามไก่"

(https://scontent.fbkk10-1.fna.fbcdn.net/v/t1.6435-9/225316481_2716448748654617_2537755638289477984_n.jpg?_nc_cat=102&ccb=1-5&_nc_sid=973b4a&_nc_ohc=QNlk39t7ucEAX9Zlcp9&_nc_ht=scontent.fbkk10-1.fna&oh=c79abd839db8cb9bfd86cd78d4f5a137&oe=613B5366)

         "ชามไก่" ที่ชาวแต้จิ๋วเรียก "โกยอั้ว" หรือ "แกกุงหว่อน" และคนไทยในปัจจุบันเรียก "ชามตราไก่" นั้น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ในหมู่คนจีนแต้จิ๋วในประเทศไทย นิยมใช้ "ชามไก่" สำหรับใส่ข้าวต้มรับประทาน โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากรูปไก่สีแดง และลักษณะของชามที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบพุ้ย

          ลักษณะของชามไก่ในยุคแรก เป็นชามทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลมปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยรับกับเหลี่ยมของชาม ขาเป็นเชิง ชุบเคลือบขี้เถ้า วาดลวดลายบนเคลือบด้วยมือ เป็นรูปไก่ ขนคอ และลำตัวสีแดง หาง และขาสีดำ เดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูออกม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย และมีต้นกล้วย 3 ใบสีเขียว ตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา นอกจากนั้นชามบางใบยังมีนกบินห้อยหัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไก่ และมีดอกไม้และใบไม้เล็กๆ แต้มอยู่ก้นชามด้านในอีกด้วย

          วิธีผลิตแบบโบราณ เริ่มจากการผสมดินโดยย่ำด้วยเท้า และนวดด้วยมือ จากนั้นนำดินมาปั้นตบเป็นดินแผ่น แล้วจึงอัดดินลงแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ หมุนขึ้นรูปชามเป็นวงกลมด้วยมือ ปาดด้วยไก๊ (ไม้ปาดตัดเป็นรูปโค้ง) แล้วนำมาต่อขา ทิ้งชามที่ขึ้นรูปแล้วเสร็จไว้บนกระดานให้แห้งโดยธรรมชาติ นำมาชุบเคลือบที่ทำจากขี้เถ้าแกลบปูนหอย และดินขาว จากนั้นบรรจุลงจ้อ นำไปเรียงในเตามังกร เผาด้วยฟืนในความร้อนประมาณ 1,260องศาเซลเซียส ใช้เวลา24 ชั่วโมง (ปัจจุบันเผาในเตาแก๊ส ใช้เวลา8-10ชั่วโมง) เมื่อเผาสุกดีแล้ว จึงนำชามมาเขียนสีบนเคลือบด้วยพู่กันเป็นลายไก่ ดอกไม้ และต้นกล้วย แล้วเผาในเตาอบรูปกลม ภายในเป็นถังดินขนาดใหญ่ ด้วยความร้อนจากฟืนประมาณ 700 -750องศาเซลเซียส ประมาณ 5-6 ชั่วโมง รอจนเย็นจึงบรรจุใส่เข่งส่งจำหน่าย

          ความเป็นมาของชามไก่ มีต้นกำเนิดการผลิตในประเทศจีนกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยชนชาวจีนแคะ ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง และชาวจีนแต้จิ๋ว ที่ตำบลปังโคย ซึ่งมีเขตติดต่อกันทางใต้ ชามไก่ นอกจากใช้ในประเทศจีนแล้ว ยังส่งจำหน่ายแก่ชาวจีนโพ้นทะเลด้วย ดังนั้น ส่วนหนึ่งจึงส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทย ซึ่งมีชาวจีนโดยเฉพาะชาวแต้จิ๋วอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีผู้ผลิตชามไก่ในประเทศไทย และมีความต้องการจากตลาดมาก พ่อค้าชาวจีนซึ่งอยู่แถวถนนทรงวาด ตลาดเก่าในกรุงเทพฯ จึงสั่งนำเข้าชามไก่มาจากประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้นมีราคาถูกมาก ต่อมาเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นขึ้น ทำให้ชามไก่ขาดตลาด ของที่นำเข้าไม่พอขาย และราคาสูงขึ้น

         จากถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่จะมุ่งหน้าไปเชียงราย ให้เลี้ยวขวาตรงสี่แยกสนามบิน เข้าถนนพระบาท เลี้ยวซ้ายเข้า ซอยพระบาท 1 แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนวัดจองคำ เข้าซอยธนบดี ซึ่งอยู่ติดกับวัดจองคำ เรามีโอกาสไปเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์เซรามิค ธนบดี" ของ "โรงงานธนบดี" หนึ่งในผู้คิดค้นต้นตำรับ และผลิตชามตราไก่มาตรฐานสูง จนเป็นสินค้าส่งออก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แสดงประวัติศาสตร์การก่อตั้งและดำเนินงาน สาธิตขั้นตอนการผลิต และแนะนำสินค้าใหม่ๆ พร้อมทั้งมีมัคคุเทศก์อัธยาศัยดี นำชม และบรรยายให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน และประชาสัมพันธ์สินค้าได้อย่างลงตัว รอบละ 40 นาที...ประวัติโรงงานชามตราไก่แห่งนี้เกิดขึ้นโดย อาปาอี้ ซิมหยู แซ่ฉิน ชาวจีนแคะ จากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งครอบครัวของท่านที่เมืองจีนก็มีอาชีพทำชามตราไก่มาช้านานแล้ว ได้เข้ามาค้นพบดินขาวที่เหมาะแก่การทำเซรามิคที่ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อ พ.ศ.2498 จึงได้ตั้งโรงงานผลิตขึ้น ในปี 2508 ในช่วงแรกนั้นเป็นการปั้นด้วยมือล้วนๆ และเผาในเตาฟืนแบบโบราณที่เรียกว่า "เตามังกร" (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร) ผลิตถ้วยขนม และถ้วยน้ำจิ้ม ขายดีมาถึงทุกวันนี้

         ปัจจุบันนี้มีการพัฒนารูปแบบการผลิตให้สวยงาม มีศิลปะมากขึ้น พร้อมคิดค้นวิธีใส่ลวดลายลงบนผลิตภัณฑ์ ด้วยการติดสติ๊กเกอร์ก่อนนำไปเผาได้สำเร็จ จนเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน และร้านค้าแนวย้อนยุค (retro) ชามตราไก่จึงกลับมาเป็นสินค้าในกระแสนิยมอีกครั้ง และกลายเป็นสินค้าสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง


สกุลไทยออนไลน์