[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 สิงหาคม 2564 14:59:07



หัวข้อ: เครื่องประทิ่น (เครื่องประทิน)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 สิงหาคม 2564 14:59:07

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36095907373560_3.JPG)
ภาพจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เครื่องประทิ่น

เครื่องประทิ่น หมายถึงเครื่องหอมชนิดต่างๆ ที่ใช้เสริมความงามให้แก่สตรีไทยสมัยก่อน และบุรุษใช้บ้าง

จากบันทึกของชาวต่างชาติสมัยอยุธยา สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาสมัยโบราณมีการใช้เครื่องหอมประทิ่นผิว รวมถึงวิธีการดูแลผิวพรรณให้เปล่งปลั่งอยู่มากมาย โดยเฉพาะสตรีในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาจะนิยมใช้เครื่องประทิ่นกันมาก

จากหลักฐานของนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise)ได้กล่าวถึงการใช้น้ำมันหอมของชาวสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า ชาวสยามทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ บุรุษ สตรี ใช้น้ำมันหอมหรือน้ำมันตานี มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้วเป็นอย่างน้อย  โดยบันทึกไว้ว่า  “...เพื่อทำให้เส้นผมเป็นเงางาม นางใช้น้ำมันทา เรียกว่า น้ำมันหอม หมายความว่าน้ำมันอันมีกลิ่นหอมชื่นใจ พวกผู้ชายก็ใช้น้ำมันหอมอย่างผู้หญิงเหมือนกัน เพราะถือกันว่าเป็นความไม่สุภาพอย่างเอก ถ้าสามีจะเข้าไปหาภรรยา  ภรรยาจะเข้าไปหาสามี หรือบุตรธิดาจะเข้าไปหาบิดามารดา โดยไม่ทำให้ผมหอมด้วยน้ำมันเช่นนั้นเสียก่อน...”

เครื่องประทิ่นอย่างไทย จำแนกออกได้ดังต่อไปนี้

เครื่องประทิ่นชนิดน้ำ ได้แก่ น้ำอบไทย น้ำดอกไม้เทศ น้ำปรุง

เครื่องประทิ่นชนิดน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันหอม น้ำมันตานี ขี้ผึ้งสีปาก

เครื่องประทิ่นชนิดผง ได้แก่ แป้งหอม หรือแป้งนวล แป้งร่ำ แป้งสารภี แป้งพวง แป้งกระแจะ จันทน์ผง ขมิ้นผง จวง

เครื่องประทิ่นชนิดชำระล้าง ได้แก่ ขมิ้น มะกรูด

เครื่องประทิ่นชนิดเคี้ยวอม ได้แก่ หมากหอม ใบเนียม กานพลู ลูกจันทน์เทศ

เครื่องประทิ่นอื่นๆ ได้แก่ ดอกกรรณิการ์ กระแจะจันทน์ ชะมดเช็ด และชะมดเชียง

เครื่องประทิ่นที่กล่าวมานี้ บางชนิดใช้เฉพาะอย่างเท่านั้น เช่น

- แป้งหอมใช้ผัดหน้า ผัดตัว  ส่วนแป้งกระแจะต้องใช้ร่วมกับน้ำอบไทย โดยละลายแป้งกระแจะให้เหลวพอจะปะหรือทาชโลมกายได้ถ้วนทั่ว  

- ขมิ้น ใช้ขมิ้นสดมาตำแล้วคั้นผสมน้ำมาทาตัว และที่บดเป็นผง เมื่อจะนำมาใช้จึงผสมกับน้ำเพื่อทาตัวหลังจากทำความสะอาดร่างกายแล้ว เป็นการรักษาผิวและทำให้ผิวมีสีเหลืองนวลตามความนิยมของชาวอยุธยา

- มะกรูด ใช้ผลมะกรูดในการสระผม เพื่อให้ผมมีกลิ่นหอมสะอาด วิธีการใช้นั้นสันนิษฐานว่า นำผลมะกรูดมาเผาไฟพอนิ่ม แล้วผ่าครึ่ง คั้นเอาน้ำมาสระผม

- ก้านดอกกรรณิการ์ นิโกลาส แชร์แวร์ ได้กล่าวถึงการตกแต่งและย้อมสีเล็บนิ้วมือของชาวสยามไว้ว่า “...ใช้น้ำยาอย่างเดียวกันกับที่ใช้ขัดฟันให้แดงนั้น ย้อมเล็บและนิ้วก้อยของมือด้วย จะมีบุคคลที่เป็นผู้ลากมากดีเท่านั้นที่ไว้เล็บยาว และย้อมนิ้วก้อยให้เป็นสีแดง เพราะคนที่ทำงานนั้นต้องตัดเล็บสั้น อันเป็นการชี้ความแตกต่างระหว่างผู้ดีกับไพร่...”

- กระแจะจันทน์ พบในภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้งทั่วไป เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ แข็ง หนักปานกลาง ค่อนข้างเหนียว เปลือกและเนื้อไม้ใช้ฝนกับน้ำผสมกับแป้งเป็นเครื่องหอม

- ชะมดเช็ด ได้มาจากตัวของชะมด ซึ่งมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อนำมาผสมกับเครื่องหอม เช่น แป้งกระแจะจันทร์หรือน้ำปรุง จะทำให้เครื่องหอมนั้นมีกลิ่นหอมแรงขึ้น

- ชะมดเชียง ได้มาจากกวางชนิดหนึ่ง มีราคาสูง และหาได้ยาก

- สีผึ้ง นำรังผึ้งมาเคี่ยวเพื่อเอาเทียนขี้ผึ้ง แล้วตุ๋นกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาผสมอบร่ำด้วยเครื่องหอม สำหรับใช้ทาริมฝีปาก เพื่อกันปากแตกในฤดูหนาว

- แป้งพวง นำแป้งดินสอพอง มาปรุงน้ำอบ แล้วนำมาหยดให้เป็นเม็ดเล็กๆ กับด้ายเพื่อให้เป็นสายยาว จัดเป็นพวง เพื่อนำเป็นพวงอุบะ ประดับยอดชฎา ตัวแป้งจะค่อยๆสัมผัสหน้าให้ขาวนวล

- แป้งร่ำ ปรุงจากแป้งหิน ผสมน้ำอบ หรือน้ำปรุง แล้วบีบลงผ้าขาวเป็นกรวยแหลม เมื่อแห้งแล้วเก็บมาอบร่ำด้วยดอกไม้และเครื่องหอมอีกครั้ง ใช้สำหรับทำแป้งผัดหน้า

- แป้งกระแจะจันทน์ ปรุงจากแป้งหิน ผสมเครื่องหอม และผสมชะมดเช็ด ปรุงแป้งไว้สำหรับเป็นส่วนผสมของน้ำอบ แป้งร่ำ และแป้งเจิม

- น้ำอบ : การปรุงน้ำอบไทยตามแบบโบราณทำใช้กันเฉพาะในวัง มีกรรมวิธี ๓ ขั้นตอน คือการต้มน้ำ การอบน้ำ การปรุงน้ำ แต่ละขั้นตอนประกอบด้วยเครื่องปรุงทั้งสดและแห้งที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมหลายชนิด เช่น ผิวมะกรูด ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ดอกพิกุล ดอกกุหลาบ ดอกจำปา ดอกลำเจียก ใบเตย ผงไม้จันทน์หอม ผงกำยาน เปลือกชะลูดแห้ง พิมเสน ชะมดเช็ด อุปกรณ์ที่ใช้การอบก็เฉพาะเจาะจง เช่น ตะคันสำหรับใส่กำยาน ทวนใช้เป็นที่ตั้งถ้วยตะคัน โถอบ เตาเผาตะคัน

 - น้ำมันหอม หรือน้ำมันตานี มีลักษณะเป็นน้ำมันเหนียวข้น มีกลิ่นหอม สำหรับทาหรือใส่ผม น้ำมันตานีจะทำให้ผมดกดำงาม ขั้นตอนการทำ คือ นำกะทิสดตั้งไฟเคี่ยวไปจนแตกมันกลายเป็นขี้โล้ (เหลือแต่น้ำมันบริสุทธิ์) นำมากรองเอาแต่น้ำมันใส (ไม่ขุ่นมัว) ฉีกดอกกระดังงา ดอกลำเจียกใส่ลงไป แล้วนำขึ้นตั้งไฟเคี่ยวไฟอ่อน สักครู่ยกลง ใส่น้ำมันจันทน์แท้กับน้ำมันลำเจียกลงไป แล้วจึงใส่ขี้ผึ้งแท้ลงไปเล็กน้อย อย่าใส่มากเพราะเมื่อเย็นลงเนื้อจะแข็งเกินไป ทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำไปอบควันเทียนอีก ๒ ครั้ง แล้วอบด้วยดอกมะลิอีก ๑ คืน เป็นอันเสร็จขั้นตอน  เนื้อสัมผัสของน้ำมันตานีจะต้องคล้ายไข่ต้มตานี คือไข่แดงมีลักษณะเยิ้ม หรือเรียกว่า ไข่ยางมะตูม

นับตั้งแต่สยามมีการเปิดประเทศกับชาติตะวันตกนับแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องประทิ่นหรือเครื่องสำอางแบบตะวันตกก็ได้เข้ามาแทนที่เครื่องประทิ่นแบบโบราณ จึงแทบจะเป็นเพียงตัวอักษร แต่กระนั้นบางสิ่งก็ถูกนำมาแปรรูปให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน


อ้างอิง
- การแต่งกายไทย : คณะอนุกรรมการแต่งกายไทย, วิวัฒนาการและเอกลักษณ์ประจำชาติ สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ.
- เครื่องประทิ่น : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่ม ๓ หน้า๑๑๒๕
- ประทิ่น-ประทิน : เว็บไซท์ dailynews.co.th
- เครื่องหอมไทย : เว็บไซท์ nation.nationtv.tv/blo
- เพจ คนรักไม้ดอกหอมและเครื่องหอมไทย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35238960509498_K5346425_22_1_.jpg)
ภาพวาด : ครูเหม เวชกร