[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 22 สิงหาคม 2564 13:32:13



หัวข้อ: พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 สิงหาคม 2564 13:32:13
(https://differsheet.s3.amazonaws.com/images/user/user654/diary/71633a8789b3a2f767fa339e9941bed6.jpg)

พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง วันที่ ๑๕ พ.ค.๕๖)

         ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่สาธุชนผู้สนใจในการรับฟังธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ก่อนอื่นที่จะได้ฟังการบรรยายธรรมในภาคปฏิบัติก็ขอให้คณะญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ทุกรูปได้นั่งสมาธิฟัง เพราะการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นโอกาสในการประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย เราจะเว้นจากการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่เพียงเผลอกับหลับ นอกนั้นเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดเวลา

          ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมคือการฟังธรรมนั้นเราต้องนั่งสมาธิไปด้วย นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ส่วนผู้หญิงก็นั่งเทพธิดาตั้งสติไว้ที่หูของเรา หูของเรานั้นมีอยู่ ๒ ข้าง ข้างใดที่ได้ยินเสียงชัดเจนเราก็ตั้งสติไว้ที่หูข้างนั้นกำหนดว่า “เสียงหนอๆ” หรือกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” อย่างใดอย่างหนึ่งจนกว่าจิตใจของเราจะสงบเป็นสมาธิ ก็ขอให้เรานั้นได้นั่งสมาธิฟังจนกว่าการบรรยายจะจบสิ้น

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพวกเราทั้งหลายนั้นต้องเป็นผู้มีความตั้งใจ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติสักแต่ว่าประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรมก็ไม่ตั้งใจ นั่งภาวนาก็ไม่ตั้งใจ เราจะยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดเดินไปเดินมานุ่งสบงห่มจีวรอาบน้ำต่างๆ เราไม่มีสติ เราไม่ตั้งใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ยาก มีแต่ลักษณะของการปฏิบัติแต่ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเกิดขึ้นมายาก

          เราทั้งหลายที่มารวมกันพวกเราทั้งหลายนั้นอยู่ในภาวะของผู้ปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะยังผลให้เกิดขึ้นมานั้นก็มีความตั้งใจเป็นมูลฐาน พวกเราทั้งหลายผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมมาก็วันนี้เป็นวันที่ ๖ ย่างวันที่ ๗ ต่อไปก็จะได้ขึ้นระยะที่ ๒

          ระยะที่ ๒ นั้นเราต้องเดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง ขณะที่เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงนั้นเราต้องสำรวมอินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกายใจของเราให้ดีด้วย เพราะอะไร เพราะเมื่อขึ้นระยะที่ ๒ แล้วเราต้องนั่งนานกรรมฐานก็ต้องแน่นการเดินจงกรมการนั่งภาวนาจึงจะผ่านพ้นไปด้วยดี การประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้ผลนั้นประการแรกก็คือความตั้งใจ

          ประการ ๒ การประพฤติปฏิบัติธรรมจะได้ผลนั้น คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมนั้นก็ต้องมีศีลเสียก่อน ศีลนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าผู้ใดไม่มีศีลแล้วจะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรๆ การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่ายังสมาบัติ ยังวิปัสสนาญาณ หรือว่ายังการบรรลุมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะศีลนั้นเป็นพื้นฐานของพรหมจรรย์ ศีลนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานของธรรม

          คนเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากท้องมารดาฉันใด มารดาเป็นผู้คลอดบุตรทั้งหลายฉันใด ศีลก็เป็นมารดาของธรรมทั้งปลายทั้งปวง จะเป็นวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ หรือว่าจะเป็นสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ถ้าผู้ใดไม่มีศีลแล้วสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงถือว่าเป็นมารดาของธรรม เป็นผู้คลอดธรรมทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นมาได้

          ฉะนั้นผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องรักษาศีลให้ดีโดยเฉพาะญาติโยมก็มาสมาทานศีล ๘ เป็นสามเณรก็สมาทานศีล ๑๐ เป็นพระภิกษุก็ต้องมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าเราขาดตกบกพร่องข้อใดข้อหนึ่ง เราก็ต้องทำศีลของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราปลงอาบัติเราเทศนาบัติหรือว่าเราเสียสละ ปาจิตตีย์เราก็ต้องเสียสละ หรือถ้าบุคคลใดมีความสงสัยในเรื่องต้องอาบัติสังฆาทิเสสอย่างนี้เราก็ต้องมาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมเป็นการเผื่อเหนือตกใต้

          ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เรายังอยู่ในห้วงของปริวาสเรายังประพฤติปริวาสอยู่แต่ว่าขณะที่เราประพฤติปริวาสนั้นแหละเราเดินจงกรมนั่งสมาธิเราก็สามารถยังฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ เราสามารถยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ ยังปฐมฌานทุติฌานให้เกิดขึ้นมาได้

          หรือเราอยู่ในห้วงของการประพฤติปริวาสกรรมเราก็สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ หรือว่าเราอยู่ในห้วงของปริวาสกรรมเราก็สามารถยังมรรคยังผลให้เกิดขึ้นมาได้ สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา หรือว่าอนาคาได้

          แต่เมื่อบุคคลนั้นได้อัพภานกรรมแล้วก็ออกจากอัพภานกรรมมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านผ่านประสบการณ์ท่านเล่ากล่าวไว้ เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายได้มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม ญาติโยมทุกท่านคณะครูบาอาจารย์ทุกรูปก็มีศีลด้วยกัน มีศีลเป็นที่รัก มีศีลเป็นพื้นฐานด้วยกัน เมื่อเรามีศีลเป็นพื้นฐานก็สามารถที่จะยังคุณธรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาได้

          การประพฤติวุฏฐานวิธีถือว่าเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่พระธรรมวินัยทำพระธรรมวินัยนั้นให้มั่นคง ทำพระธรรมวินัยนั้นให้บริสุทธิ์ขึ้นมาด้วยการเข้าปริวาสกรรม พวกเราทั้งหลายได้มาเข้าปริวาสกรรมแล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วยจึงถือว่าเป็นโอกาสดี เป็นประการที่ ๑ ประการที่ ๒ ก็คือเราจะยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมานั้นเราก็ต้องพิจารณารูปนาม สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา คือบุคคลผู้จะเจริญพระกรรมฐานนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดจิตใจของบุคคลนั้นต้องเห็นรูปเห็นนามเห็นสังขารทั้งปลายทั้งปวงนั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาเสียก่อน ถ้าผู้ใดยังไม่เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วจิตใจของบุคคลนั้นไม่ควรต่อวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าไม่มีจิตใจคู่ควรต่อการเจริญสมณธรรม ไม่คู่ควรต่อการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          เพราะว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นการงานเพื่อพ้นไปจากความทุกข์ พ้นไปจากความโศก พ้นไปจากความโลภ พ้นไปจากความหลงทั้งปลายทั้งปวง ผู้ใดมีจิตใจร่าเริง มีจิตใจเบิกบาน หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ ในความมั่งความมี ในความสวยความงาม ในความดีความเด่นต่างๆ แล้ว บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ทะลุปรุโปร่งได้

          เพราะฉะนั้นประการที่สำคัญเราก็ต้องพิจารณารูป พิจารณานาม พิจารณาสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสียก่อน อย่างเช่นตาของเรา เราก็ต้องพิจารณาให้เป็นอนิจจัง ว่าตาของเรานั้นเป็นอนิจจัง คือเป็นของไม่เที่ยง แต่ก่อนโน้นตาของเด็กก็มีความใสแวววาวไร้เดียงสาน่ารักน่าชัง แต่เมื่อตาของบุคคลนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาแล้วเป็นตาคนหนุ่มคนสาวก็ใสสวยงามดี แต่เมื่อบุคคลนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาในวัยเฒ่าวัยชราตาของบุคคลนั้นก็ฝ้าฟาง อันนี้คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง ของตา หรือว่ารูปที่ตาเห็นก็เป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          หรือว่าหูของเราก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ก่อนโน้นก็ฟังชัดเจนดีแต่เมื่อแก่เฒ่าชราแล้วหูของเราก็ตึง ฟังอะไรก็ไม่ชัด ลิ้นก็ดี จมูกก็ดี กายของเราก็ดี ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ก่อนโน้นร่างกายของเรานั้นสดสวยงดงามเต่งตึงดี แต่เมื่อชีวิตของเราผ่านไปๆ ย่างเข้า ๔๐ ย่างเข้า ๕๐ ร่างกายของเราก็เริ่มเหี่ยว เริ่มย่น เริ่มตกกระขึ้นมา ผมของเราก็เริ่มขาวขึ้นมา ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น เราต้องทำให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา ไม่ใช่ว่าเราฟังครูบาอาจารย์ว่าร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างนั้นไม่ใช่ อันนั้นเป็นสัญญาไม่ใช่ปัญญา

          ปัญญาที่แท้จริงเราต้องเกิดขึ้นในจิตในใจของเราเราต้องพิจารณาเห็นด้วยจิตด้วยใจของเรา ใจของเราทะลุปรุโปร่งว่ารูปก็ดี นามก็ดีนั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เห็นด้วยใจ เห็นด้วยธรรม ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้แล้วเราก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดไม่คิดยินดีในรูปในเสียงในกลิ่นในรส อันนี้จึงถือว่าเป็นฐานของการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมหวังความเจริญในพระธรรมวินัย หวังการบรรลุมรรคผลนิพพาน หวังถึงความสันติสุข คือการพ้นไปจากความโกรธ ความโลภ ความหลง ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง บุคคลนั้นต้องพิจารณาสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะกิน เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะทำกิจอะไร เราจะต้องพิจารณาเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาทุกอิริยาบถเราจะไม่หมกมุ่นมัวเมา

          ถ้าผู้ใดเป็นผู้พิจารณาร่างกายของเราเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาอยู่ในลักษณะอย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม บุญเกิดกับบุคคลนั้นทุกย่างก้าว ทุก ๒๔ ชั่วโมง ทุกอิริยาบถ

          ถ้าเราพิจารณาสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างนี้แล้ว เราจะคิดโกรธบุคคลอื่นมันก็โกรธยาก เพราะเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหมด เราจะไปโกรธตา หรือว่าเราจะไปโกรธหูเขา ถ้าเราโกรธตา ตาเขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปโกรธหู หูเขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปโกรธจมูก จมูกเขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะไปโกรธร่างกายเขา ร่างกายเขาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะไปโกรธอะไรเขา ในลักษณะอย่างนี้ธรรมะมันก็เกิดขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลนั้น นี้ถ้าเราพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น

          หรือว่าบุคคลผู้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น แม้ความโลภก็เกิดขึ้นในใจของบุคคลนั้นไม่ได้ เวลาเราไปเห็นสิ่งที่ชอบใจเราก็พิจารณาว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติก็ดี จะเป็นบ้านก็ดี จะเป็นรถก็ดี จะเป็นวัตถุที่มีค่าสิ่งของต่างๆ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา แทนที่จะเกิดความโลภขึ้นมาความโลภก็ไม่เกิดขึ้นท่วมทับจิตใจของบุคคลนั้น อานิสงส์ของการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันดีอย่างนี้

          หรือว่าเราพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปเห็นลูกสาวของคนอื่นสวยๆ เราไปเห็นภรรยาของบุคคลอื่นสวยๆ เราไปเห็นสามีของบุคคลอื่นรูปร่างหน้าตาดี แต่ถ้าเราพิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็จะไม่เกิดราคะกับบุคคลเหล่านั้น เราจะพิจารณาว่ารูปที่เราเห็นนั้นก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เราจะมายินดีในรูปนี้ทำไมหนอ เท่านั้นราคะตัณหาต่างๆ มันไม่เกิดขึ้นมา

          ผู้ใดพิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความยึดมั่น ความถือมั่น ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เบาลงลดลงน้อยลงไปถอยลงไป นี้เป็นปฏิปทาเป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราจะเกิดเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๑๐๐ ปี จิตใจของเราก็เข้าถึงธรรมได้ยากเพราะปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ก็อีกแบบหนึ่ง ปฏิปทาแห่งความสร้างโลกสร้างชื่อสร้างเสียงก็อีกแบบหนึ่งนี้มันคนละอย่างกัน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ใดอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ต้องพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เราพิจารณารูป พิจารณาเสียง พิจารณากลิ่น พิจารณารส พิจารณาสัมผัสทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาใจของเรานั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นอนัตตา พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบที่ใจของเรานั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          ความดีใจก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเสียใจก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เราพิจารณาเวลาเราดีใจบางครั้งมันดีใจได้แค่ ๕ นาที ๑๐ นาที ได้ยินสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมาโกรธขึ้นมาแล้ว ก็แสดงว่าความดีใจนั้นก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ขณะที่เราได้ยินสิ่งที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดความโกรธขึ้นมา ความดีใจหายแวบไป ใจดีใจมันดับไป ใจโกรธมันเกิดขึ้นมา เมื่อใจโกรธมันเกิดขึ้นมาเราก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่เมื่อเวลามันผ่านพ้นไปอารมณ์ของความโกรธมันหายไป ความชอบใจความดีใจมันเกิดขึ้นมาอีก จิตใจของเราก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาในลักษณะอย่างนี้เป็นประจำ

          ถ้าผู้ใดพิจารณาว่าสังขารก็ดี รูปนามก็ดี ร่างกายของเราก็ดีนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นเป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเราพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เราก็ต้องพิจารณาเราก็ต้องระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย คือต้องระลึกถึงพระพุทธ ระลึกนึกถึงพระธรรม ระลึกนึกถึงพระสงฆ์นั้นเป็นที่พึ่ง นี้ประการต่อมาคือประการที่ ๓ นั้นเราต้องระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรม ระลึกนึกถึงคุณของพระสงฆ์

          เพราะถ้าเราพิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ใจของเรายังไม่เกิดปีติ ใจของเรายังไม่เกิดปัสสัทธิ ใจของเรายังไม่เกิดสมาธิ เราก็ต้องระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรม ระลึกนึกถึงคุณของพระสงฆ์ เอาพระพุทธ เอาพระธรรม เอาพระสงฆ์นั้นเป็นที่พึ่งเสียก่อน

          เราระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้ว กิเลสคือ ความโกรธก็ดี ความโลภก็ดี ความหลงก็ดี มานะทิฏฐิตัณหาอุปาทานต่างๆ ไม่มีในพระพุทธเจ้า ขันธสันดานของพระองค์ทรงเป็นขันธสันดานบริสุทธิ์ จิตของพระองค์เป็นจิตที่บริสุทธิ์ พระองค์ทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส เรียกว่าพระอรหันต์ สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง คือพระองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองไม่มีใครเป็นครู ไม่มีใครเป็นอาจารย์ พระองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นสยัมภู เป็นผู้รู้แจ้งโลก

          เมื่อเราระลึกนึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราก็จะเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ เกิดความเชื่อ คิดว่าเราเกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เราก็ทันพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ถึงเราจะไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ถ้าเราตั้งใจเดินจงกรมนั่งภาวนา “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรมไม่เผลอ จะยกก็มีสติ จะย่างก็มีสติ จะเหยียบก็มีสติ จะคู้จะเหยียดจะก้มจะเงยจะเดินจะไปมาต่างๆ มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม

          ถ้าเราปฏิบัติธรรมสำรวมอยู่ตลอดเวลาสติของเรามันสมบูรณ์ สมาธิของเราสมบูรณ์ วิปัสสนาญาณของเราสมบูรณ์เราก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าผู้ใดสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในอดีตแต่ก่อนโน้นความเป็นพระโสดาบันในอดีตฉันใด ความเป็นพระโสดาบันในปัจจุบันก็ฉันนั้น ธรรมที่บรรลุแล้วในอดีตกับธรรมที่บรรลุแล้วในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน

          ความเป็นพระโสดาบันก็ละได้ ๓ ตัวเหมือนกัน สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ถึงเราจะไม่เกิดทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีโอกาสอยู่ในหน้าพระภักตร์ของพระองค์แต่เราก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงธรรมของพระองค์ได้ ความเข้าถึงธรรมของพระองค์นั้นแหละเป็นการเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจของบุคคลผู้เข้าถึงธรรมนั้นย่อมสัมผัสธรรมะอันลึกซึ้งที่พระองค์ทรงตรัส

          อย่างเช่นบุคคลที่ไม่เคยเกิดปีติธรรมเวลาเรามานั่งภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป จิตใจของเราไม่เผลอไปในอดีต ไม่คิดไปในอนาคต ไม่ปรุงแต่งเรื่องต่างๆ มีสติเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ มีสติตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เมื่อมีสติตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ มือของเรามันก็แน่นเข้า ตัวของเรามันก็เบาเข้า ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าไปๆๆ ท้องของเราแต่ก่อนโน้นเคยหายใจลำบาก เคยหายใจฝืดๆ อึดอัด แต่เมื่อสมาธิมันเข้ามาแล้ว ลมหายใจของเราก็เป็นธรรมชาติ ลมหายใจของเราก็เป็นกลางกำหนดพองหนอยุบหนอนั้นสบายๆ เห็นอาการยุบนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปๆ ในลักษณะอย่างนี้สมาธิมันก็ก่อตัวขึ้นมา

              เมื่อสมาธิมันก่อตัวขึ้นมาแล้วก็จะเกิดปีติ เกิดตัวแข็ง เกิดตัวเบา เกิดตัวเอน ตัวลอย เราก็จะรู้ว่าเวลาตัวเบามันเกิดความรู้สึกอย่างไร เวลาตัวลอยมันเกิดความรู้สึกอย่างไร คล้ายๆ กับว่าก้นย้อยของเรานั้นไม่ถูกกับพื้น คล้ายๆ ว่าเรานั้นลอยพ้นขึ้นมาจากพื้น เราก็จะมีความรู้สึกว่าในขณะนั้นธรรมะที่มันปรากฏขึ้นมามันเป็นปีติ เมื่อปีติอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันทำให้กายของเรามันซาบซ่านอย่างโน้น ทำให้จิตใจของเรามันเบาอย่างนี้ ทำให้สมองของเรามันปลอดโปร่ง คิดอะไรมันก็คิดออก นี้ถ้าสภาวธรรมมันเกิดขึ้นมาเราก็จะมีกำลังในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          หรือว่าในขณะที่เรากำลังภาวนาอยู่นั้นตัวของเรามันตัวโยก ตัวโคลง ตัวโอน ตัวเอน ตัวไหว เราจะกำหนดอย่างไรก็ไม่อยู่ เพราะอะไร เพราะมันเป็นอำนาจของปีติเราต้องคอยกำหนด “รู้หนอๆ” พยายามที่จะไม่ทำตามอำนาจของปีติ พยายามอย่าส่งใจเหม่อลอยไปตามอำนาจของปีติ พยายามกำหนดปีติให้อยู่ เรียกว่าไม่รู้อำนาจของปีติ บางคนก็รู้อำนาจของปีติตัวโยกก็ปล่อยให้มันโยกไป ตัวโคลงก็ปล่อยให้มันตัวโคลงไป ขณะที่ตัวโยกตัวโคลงนั้นมันก็เกิดความเพลิน คล้ายๆ ว่าเพลิดเพลินไปตามอำนาจของปีติ หรือว่าเหม่อลอยไปตามอำนาจของปีติ วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิดการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรามันก็ไม่ได้ผล

          บางรูปบางท่านญาติโยมนั่งไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป ขณะที่ “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปอาการพองอาการยุบมันหายแวบไปเกิดนิมิตขึ้นมาเห็นป่าไม้เห็นภูเขา เห็นแม่น้ำลำธารอะไรต่างๆ ปรากฏขึ้นมาก็ชมเพลินไปๆ บางครั้งก็เห็นคล้ายๆ กับวิมานของเทวดาปรากฏเป็นช่อเป็นยวงขึ้นมา บางครั้งก็ปรากฏคล้ายๆ กับว่าเป็นสวนดอกไม้อย่างที่เราอ่านในธรรมบทนั่นแหละ เป็นสวนดอกไม้ สวนนันทวัน สวนโน้นสวนนี้ปรากฏขึ้นมาก็เหม่อลอยเพลินไป

          เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งในสมัยนั้นไปปฏิบัติที่ภูกระดึง ไปเดินจงกรมนั่งภาวนาบำเพ็ญธรรมที่ภูกระดึง พระภิกษุรูปนั้นเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ยันตระท่านอยู่ในถ้ำตลอดเวลา พระอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าก็ปกครองถ้ำแล้วก็มีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาประพฤติปฏิบัติอยู่ในถ้ำแถบนั้นประมาณเกือบ ๑๐ รูป เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นพระอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าต้องส่งอาหารตามถ้ำต่างๆ

          มีภิกษุรูปหนึ่งพอดีได้เข้าไปกราบท่านพรรษาเท่ากัน สนทนาธรรมกันแล้วท่านก็พูดขึ้นว่า “มีลูกศิษย์คนหนึ่งไม่ยอมไปไหนนั่งภาวนาเข้าฌานอย่างเดียว หันหน้าเข้าฝาผนังถ้ำชมแต่วิมานอย่างเดียว ใครจะพูดอย่างไรๆ ก็ไม่ฟังคิดว่าหลงอยู่ในอำนาจของนิมิต”  ในลักษณะอย่างนี้ก็มีใครพูดอย่างไรก็ไม่ฟัง ครูบาอาจารย์ไปบอกอย่างไรกำหนดอย่างไรก็ไม่ฟัง นี้ในลักษณะของความหลงในนิมิตมันเป็นอย่างนั้น เพราะเห็นในสิ่งที่สวยงาม เห็นในสิ่งที่เลิศ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏในนิมิตนั้นมันเป็นของที่ละเอียดอ่อนเป็นของปราณีตกว่าสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยตา มันก็น่าเพลิดเพลินเจริญใจอันนี้เรียกว่าเป็นความหลงในนิมิต

          เหมือนกับหลวงปู่คนหนึ่งไปปฏิบัติธรรม เดินธุดงค์ไปที่อำเภอสิรินธรแล้วก็ไปถึงอำเภอน้ำยืน บ้านแปดอุ้ม บ้านโนนสูง ในสมัยนั้นเป็นแดนที่เกิดสงครามกันได้ไปปักกลดอยู่ตรงนั้นแล้วมีพระหลวงตารูปหนึ่ง หลวงตารูปนั้นก็เข้าไปกราบท่าน ท่านว่า “ผมได้บรรลุธรรมแล้ว” ก็เลยกราบเรียนถามท่านว่า “หลวงตาบรรลุธรรมอย่างไรหนอ” หลวงตาก็พูดให้ฟังว่า วันหนึ่งนั่งภาวนาไป ขณะที่นั่งภาวนาไปนั้นหลวงตาได้เกิดดวงแก้วขึ้นมา ลอยขึ้นมา ขณะที่กำหนด พุทโธๆๆ ไปนั้นเกิดดวงแก้วขึ้นมา ลอยขึ้นมาจากดวงจิตของท่านแล้วก็ลอยขึ้นมา ขณะที่ลอยขึ้นมาท่านเห็นตัวของท่านสว่างไปหมด แล้วท่านก็เห็นภูเขาทั้งหมดทั้งปวงนั้นสว่างไปหมด ท่านก็เลยว่า อันนี้คงจะเป็นดวงธรรมแน่นอน นี้เป็นการบรรลุธรรมแน่นอน เพราะภูเขาทั้งภูเขามันสว่างไสวไปหมด นี้เรียกว่าท่านหลงในโอภาส ในแสงสว่าง คนไม่มีครูไม่มีอาจารย์ก็อาจจะเกิดความหลงในลักษณะอย่างนี้ได้

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งใดที่เกิดขึ้นมานั้นเราต้องกำหนด ปีติเราก็ต้องกำหนดรู้ ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบจิตเราก็ต้องกำหนดรู้ นิมิตต่างๆ ปรากฏขึ้นมาเราก็ต้องกำหนดรู้ เพราะอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอาการของจิต ถ้าเราไปทำตามอารมณ์ของจิตเราก็ชื่อว่าหลงในอารมณ์ของกรรมฐาน กรรมฐานก็ไม่เดินสะดวก สติของเราก็ไปติดตรงโน้นบ้าง ติดตรงนี้บ้าง

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องมีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม เราต้องย้อมใจของเราเสียก่อนเพราะว่าเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าจิตใจของเรามันเหี่ยวห่อ เราก็ต้องรู้จักยกจิตใจของเราให้สูงขึ้นด้วยอำนาจของปีติ ยกจิตใจของเราสูงขึ้นด้วยอำนาจของปัสสัทธิคือความสงบกายสงบจิต ยกจิตของเราให้มีความเพียร ให้มีความร่าเริงอาจหาญในการปฏิบัติด้วยอำนาจของสมาธิ

          เพราะบุคคลผู้มีปีติ มีปัสสัทธิแล้วมีสมาธิ กับบุคคลผู้ไม่มีปีติ ไม่มีปัสสัทธิ ไม่มีสมาธินั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต่างกันมาก ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่เกิดปีติ ไม่เกิดสมาธิ เวลาเดินจงกรมนั้นขี้เกียจขี้คร้านเหลือเกิน เวลาเดินจงกรมนั่งภาวนานั้นเหมือนกระดูกมันจะหัก กระดูกมันจะแตก เวลาได้ยินเสียงระฆังจะตื่นแต่ละครั้งมันลำบากเหลือเกิน อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ไม่เกิดสมาธิ พอประพฤติปฏิบัติธรรมถึง ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม คล้ายๆ กับว่าความง่วงไม่รู้มาจากไหน ความเกียจคร้านไม่รู้มันมาจากไหนประดังประดาเข้ามา ถาโถมเข้ามามากมาย เหมือนกับเราอดหลับอดนอนมาเป็นแรมปี นี้ลักษณะของบุคคลผู้ไม่ได้สมาธิกว่าที่จะถึง ๔ ทุ่มนั้นก็รอดเป็นรอดตายทุรนทุรายกันเหมือนกับว่าใจจะขาด

          แต่ถ้าผู้ใดมีสมาธิ มีปีติ เวลานั่งภาวนานั้นมันนั่งสบายๆ นั่งก็เพลิน ๓๐ นาทีแวบหนึ่ง ก็เหมือนเรานั่ง ๕ นาที ๑๐ นาที ยิ่งเกิดปีติก็นั่งเพลินไป ยิ่งผู้ใดสามารถเข้าฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานจะมีสติเห็นอาการพองอาการยุบ เห็นลมเข้าลมออกมีความรู้อยู่ ตามชั้นของสมาธิ มันจะเกิดความสุข เกิดปีติขึ้นมาอันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสมาธิ

          แต่เมื่อมีสมาธิแล้วท่านก็ไม่ให้หลงในสมาธิ เวลามันเข้าสมาธิไปวิปัสสนาญาณมันก็จะไม่เกิด ถ้าเราเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานไป วิปัสสนาญาณมันจะไม่เกิด นี้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องพยายามจำให้ดี บางคนว่าเข้าสมาธิมันเป็นสมาธิหัวตอ เป็นสมาธิไม่เป็นไปเพื่อมรรคเพื่อผลเพื่อพระนิพพาน นี้บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น

          แต่ว่าสมาธินั้นเป็นพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราพิจารณาว่าพระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์คือ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เมื่อย่อพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมก็คือ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ย่อโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็ลงอยู่ที่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต ลงไปที่สัมมาทิฏฐิเป็นปริโยสานเป็นที่สุดท้าย ย่อมรรคมีองค์ ๘ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

          สมาธินั้นถือว่าเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ท่านกล่าวไว้ในวิมุตตายตนสูตร สูตรว่าด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็มีการบรรลุด้วยการฟังธรรม ด้วยการสนทนาธรรม ด้วยการแสดงธรรม ประการสุดท้ายบรรลุด้วยสมาธิ ด้วยอำนาจของสมาธิ เพราะฉะนั้นสมาธินั้นถือว่าเป็นฐานของการบรรลุมรรคผลนิพพานได้เหมือนกัน เราย่อมรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราย่อ ศีล สมาธิ ปัญญาลงก็คือรูปนาม เราย่อรูปนามก็คืออาการพอง อาการยุบ เรากำหนดอาการพองครั้งหนึ่ง อาการยุบครั้งหนึ่ง เราถูกทั้งพระสูตร ทั้งอภิธรรม ทั้งพระวินัย ถูกทั้งศีล ถูกทั้งสมาธิ ถูกทั้งปัญญา ถูกทั้งมรรค ถูกทั้งผล ถูกทั้งพระนิพพาน

          เวลาเราก้าวขาข้างหนึ่ง “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ถูกทั้งศีล ถูกทั้งสมาธิ ถูกทั้งปัญญา ถูกทั้งมรรค ถูกทั้งผล ถูกทั้งพระนิพพาน เพราะขณะที่เรา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ครั้งหนึ่ง หรือว่าเราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ครั้งหนึ่งนั้น สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้

          ในครั้งหนึ่งกระผมไปสอนกรรมฐานที่บ้านอิเติ่ง บ้านอิเติ่งนั้นเป็นบ้านเกิดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากร ขณะที่ไปสอนสมัยนั้นมีญาติมีโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรมมาก ในสมัยนั้นกระผมได้พรรษา ๔ เวลากระผมไปสอนกรรมฐานนั้นเขาก็ให้กระผมไปคุมผ้าขาวก็สอนผ้าขาวเดินจงกรม

          ในสมัยนั้นมีผ้าขาวมาประพฤติปฏิบัติธรรมประมาณเกือบ ๔๐ คนก็พาผ้าขาวนั้นเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” มีโยมแก่ๆ คนหนึ่งถือไม้เท้าเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ขณะที่เดินขวาย่างหนอนั้นแหละโยมแก่ๆ ที่ถือไม้เท้าเดินยกเท้าขวาขึ้นแล้วก็ค้างคาอยู่อย่างนั้น เพื่อนเดินผ่านไปแล้วก็ยังยืนเข้าสมาธิอยู่อย่างนั้น ยืนเข้าสมาธิประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง คนแก่ๆ ยืนขาเดียวเข้าสมาธิมือหนึ่งถือไม้เท้า ขาหนึ่งยกเท้า ขาหนึ่งยืน ยืนอยู่อย่างนั้นเกือบ ๒ ชั่วโมงเข้าสมาธิในท่ายืน

          เวลาเราเดินจงกรมนั้นเราก็สามารถยังสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาได้ วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมาได้ เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาได้การบรรลุมรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์จริง แต่ว่าถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติหรือว่าเราประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรามันก็ยาก

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทวนกระแสน้ำเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา มันลำบากเหลือเกินเวลาเดินจงกรมก็ต้องอดทนเวลานั่งภาวนาก็ต้องอดทน เวลาเดินไปเดินมาก็ต้องสำรวมทวนกระแสของโลกอยู่เป็นประจำ บุคคลผู้เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงมีน้อยนักที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับนก มีน้อยนักที่จะพ้นจากตาข่ายของนายพราน ส่วนมากก็กระทำไปตามอำนาจของกิเลสหรือว่าแผ่นดินทั้งแผ่นกับฝุ่นที่ติดอยู่ในเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ฝุ่นที่ติดอยู่ในเท้านั้นกับแผ่นดินทั้งแผ่นอะไรมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า แผ่นดินทั้งแผ่นนั้นเป็นมหาปฐพีหนา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กว้างขวางไม่มีประมาณสุดลูกหูลูกตาเป็นแผ่นดินใหญ่ แต่ฝุ่นที่ติดอยู่ฝ่าเท้าของพระองค์นั้นมีนิดเดียว

          พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลผู้บรรลุมรรคผลนิพพานก็มีน้อยเมื่อเทียบกับสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นบุคคลที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นจึงเป็นของหายาก ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง ไม่ประพฤติปฏิบัติจริง ไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพันจริงๆ แล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นยากต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

  


หัวข้อ: Re: พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 สิงหาคม 2564 13:35:37

(https://differsheet.s3.amazonaws.com/images/user/user654/diary/71633a8789b3a2f767fa339e9941bed6.jpg)

พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง วันที่ ๑๕ พ.ค.๕๖)


          ถ้าผู้ใดอยากพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเราประพฤติปฏิบัติธรรมเล่นๆ โอกาสที่จะพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเราพ้นไม่ได้ แต่เมื่อจิตใจของบุคคลใดพ้นไปจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้นั้นก็ถือว่าคุ้มค่า เรียกว่าชีวิตของบุคคลนั้นไม่ว่างเปล่าจากสาระ ไม่ว่างเปล่าจากแก่นสาร

          การประพฤติปฏิบัติธรรมญาติโยมทุกคนนั้นต้องพยายาม ถ้าสติยังไม่มีก็ต้องพยายามกำหนดสติให้ดี อย่าเผลอ อย่าคุย อย่าประมาทในการเดินการไปการมาต่างๆ เวลาการเดินก็ดี การไปการมาก็ดี การฉันก็ดี การอาบน้ำชำระร่างกายทุกสิ่งทุกอย่างนั้นต้องสำรวม ผู้ใดสำรวมผู้นั้นจะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมเพราะว่าธรรมะนั้นมันเป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน ไม่ทั่วไปไม่เป็นสาธารณะใครทำใครได้ใครรู้แจ้งบุคคลนั้นเข้าถึง แต่ถ้าผู้ใดไม่รู้แจ้งผู้ใดทำไม่ได้บุคคลนั้นก็เข้าไม่ถึง ผู้ใดเข้าไม่ถึงธรรมบุคคลนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารต่อไป

          การประพฤติปฏิบัติธรรมที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มันเป็นของยาก เป็นของลำบาก แต่ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจจริงๆ แล้วก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เกินวิสัย บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ นั้นมันลำบากเหลือเกิน ปีติก็ไม่เกิดความสงบก็ไม่เกิดมีแต่ความฟุ้งซ่าน แต่พอประพฤติปฏิบัติธรรมไปๆ มีความอดทน มีความตั้งใจ มีความจริงใจ เมื่อจิตใจสงบขึ้นมาแล้วการปฏิบัติธรรมสบายเลยก็มีเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

          บางรูปประพฤติปฏิบัติธรรมปีแรกๆ นั้นมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความปรุงแต่ง สงบแค่กระพริบตาก็ยังหายากแต่พอปีที่ ๒ ผ่านไป ปีที่ ๓ ก็เริ่มสงบขึ้นมา ปีที่ ๔ เหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่อย่างนี้ก็มี

          แต่บางคนบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมแป้บเดียวเกิดความสบาย เกิดความสุขนี้แล้วแต่บุญ วาสนา บารมี บางคนก็ปฏิบัติง่าย บางคนก็ปฏิบัติลำบาก อันนี้ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

          เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เราดูสภาวะของเราเอง ดูผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราเอง อย่าเอาผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อย่าเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบกับของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเราอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ท่านให้เรานั้นพิจารณาเฉพาะร่างกายแล้วก็จิตใจของเรา ไม่ต้องส่งจิตออกไปข้างนอก ให้พิจารณาการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การกำหนดบทพระกรรมฐานของเรา

          ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาเราเผลอไปตอนไหน เราเผลอไปตอนยืน หรือตอนเดิน หรือตอนไปทำวัตรเช้า หรือเราเผลอไปตอนทานอาหาร หรือว่าเราเผลอตอนทำวัตรเย็น หรือว่าเราเผลอตอนอาบน้ำอะไรทำนองนี้เราต้องมีสติกำหนดรู้ว่า เราเผลอไปตอนไหนแล้วเราค่อยไปตั้งสติกำหนด เราต้องพิจารณาอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนถึงหลับนอนนั้นเราเผลออย่างไร นี้ถ้าเราพิจาณาอยู่อย่างนี้แล้วเราก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท ธรรมอันสมควรแก่ธรรมที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน

          การประพฤติปฏิบัติธรรมที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทองก็ถือว่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมใหม่ ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ใหม่ คณะครูบาอาจารย์ก็ยังไม่คุ้นเคยกัน แต่ว่าการหลับ วิธีการต่างๆ นั้น แนะนำพร่ำสอนญาติโยมมาก็เป็น ๑๐ กว่าปีที่ประพฤติปฏิบัติธรรมมาก็ ๒๐ ปีมั่นใจในผลของการประพฤติปฏิบัติ ว่าถ้าเราประพฤติตามหลักการที่กล่าวมาแล้วนี้ สามารถได้สมาธิ สมาบัติ สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าเราตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติธรรมจริงแล้วเราจะเป็นผู้เชยชมธรรมะได้

          สถานปฏิบัติธรรมจอมทองเรามาปรากฏในที่นี้ ถ้าญาติโยมสาธุชนไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจริงแล้ว สถานประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติธรรมจริง ครูบาอาจารย์พูดอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น สถานปฏิบัติธรรมมันก็จะเจริญขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง เวลาเดินจงกรมนั้นท่านให้เราตั้งใจเดิน ไม่จำเป็นไม่หันซ้ายแลขวาไม่ก้ม ไม่เงย ไม่เข้าห้องน้ำห้องท่ามีสติกำหนดรู้เท่ารู้ทันอยู่ตลอดเวลา แม้เดินจงกรมเรียบร้อยแล้วท่านก็ไม่ให้เราไปเบาไปเข้าห้องน้ำ ไปถ่มน้ำลายเป็นต้น ท่านให้เรานั่งลงทันทีเพื่อที่จะให้สติมันต่อเนื่องวิปัสสนาญาณมันต่อเนื่องกัน ถ้าเรากระทำในลักษณะอย่างนี้ สมาธิมันก็เกิด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นไปได้ง่าย เราประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความตั้งใจจริงๆ

          ก็ขอให้คณะญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ให้ตั้งใจปฏิบัติ ก็ถือว่าเราเข้าสู่ท่ามกลางของการประพฤติปฏิบัติ อีกประมาณ ๒ ราตรี ๓ ราตรีเราทั้งหลายก็จะได้ขึ้นมานัตต์ หลังจากขึ้นมานัตต์แล้วก็อีก ๖ ราตรีเราก็ต้องจากกัน แต่ในช่วงท้ายๆ เราก็ต้องมีการพุทธาภิเสก มีการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ มีการสมโภชพระแก้วมรกต แล้วก็มีการประพฤติปฏิบัติธรรมในวันส่งท้ายพุทธชยันตี ผู้คนก็อาจจะมาเป็นจำนวนมาก การประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะไม่สะดวก   เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมตลอดทั้งคณะครูบาอาจารย์จงเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ไป

          วันนี้อาตมภาพได้มากล่าวธรรมเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม จงเป็นผู้เจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยความเพียร เจริญด้วยสติ เจริญด้วยสมาธิ เจริญด้วยปัญญารู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรคซึ่งผลพระนิพพานในการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.