[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 กันยายน 2564 15:08:15



หัวข้อ: "ม้าหางชี้" ทัศนะศิลป์การสร้างพระบรมรูปทรงม้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กันยายน 2564 15:08:15
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46582668316033_3_Copy_.jpeg)
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ

ตั้งอยู่ที่กลางวงเวียนใหญ่ ธนบุรี  เป็นพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์
ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ  สวมพระมาลาเบี่ยง  พระหัตถ์ขวาทรงเงื้อพระแสงดาบนำพลเข้ารุกไล่
ข้าศึก พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียน  หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่เมืองจันทบุรี
ขอขอบคุณเว็บไซท์ cbtthailand.dasta.or.th (ที่มาภาพประกอบ)

ลักษณะม้าทรง
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ทางสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควรโดยแท้ ที่จะเทอดทูนพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ปรากฏ ได้จัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ประดิษฐานไว้เป็นอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไปชั่วกาลนาน   ลักษณะของพระบรมรูปที่สร้างนั้น ได้สร้างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตขวาทรงพระแสงดาบ ส่วนสูงวัดจากเท้าม้าขึ้นไปสุดยอดพระมาลารวม ๖ เมตร ส่วนยาวตลอดลำตัวม้าทรง ๔ เมตร ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งมีส่วนสูง ๘.๙๕ เมตร กว้าง ๑.๘๐ เมตร ยาว ๓.๙๐ เมตร  ประกอบด้วยลานชาลาคอนกรีต สูงจากระดับพื้นดินโดยรอบ ๑.๗๐ เมตร  พระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ประดิษฐานไว้ ณ วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี  ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีนายช่างปฏิมากรแห่งกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและอำนวยการปั้นหล่อ องค์พระบรมรูปและม้าทรง

ประชาชนยังข้องใจและวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับหางม้าทรงของพระบรมรูปพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะว่าม้ายืนไม่ควรที่จะจัดสร้างทำให้หางยกเหมือนกับม้าวิ่ง กล่าวกันว่าสร้างขึ้นผิดลักษณะไม่เหมือนกับพระบรมรูปทรงม้าของสมเด็จพระปิยะมหาราช  

ในทัศนะศิลป์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งกรมศิลปากร ได้อธิบายถึงลักษณะม้าทรงอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไว้ในวารสารศิลปากรเล่ม ๔ พ.ศ.๒๔๙๗ มีข้อความดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้าคิดว่า คงจะไม่เคยมีงานศิลปะชิ้นใดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะประสบการวิพากษ์วิจารณ์มากมายเหมือนอนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสิน  สิ่งที่ประชาชนยังข้องใจอยู่มากก็คือ หางม้า ซึ่งส่วนมากคิดว่าไม่ควรยกขึ้นเพราะม้าไม่อยู่ในลักษณะวิ่ง ถ้าหากว่าหางนี้อยู่ผิดลักษณะ เราก็สามารถแก้ให้ถูกต้องโดยง่ายด้วยการตัดมันออกแล้วต่อใหม่ให้ห้อยต่ำลงมา แต่ในเมื่องานศิลปะทุกชิ้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของศิลปินผู้สร้างงาน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขออธิบายความคิดเห็นอันนี้ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ความเข้าใจในสิ่งที่คิดว่าไม่ใคร่ถูกต้องนี้เสียได้

แน่นอนทีเดียว เราสามารถจะทำม้าในท่าทางต่างๆ ให้เป็นที่ถูกใจนักวิจารณ์ได้มากมายหลายท่า แต่เมื่อเป็นงานของเรา จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องทำไปตามความคิดเห็นของเราเอง

ส่วนสัด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะจูงความสนใจของท่านผู้อ่านทั้งหลายมายังส่วนสัด ระหว่างพระบรมรูปกับม้าทรงเสียก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงในประวัติศาสตร์ เราจึงจำเป็นต้องทำม้าให้มีลักษณะเป็นม้าไทย ไม่ใช่ม้าอาหรับ ม้าออสเตรเลีย ม้าเนอร์แมน หรือม้าพันธุ์อื่นใดเลย ถึงเราจะทำม้าค่อนข้างใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับม้าไทยธรรมดาแล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้นส่วนสัดระหว่างพระบรมรูปกับม้าทรง ก็ยังไม่เหมือนกับส่วนสัดที่เคยเห็นในอนุสาวรีย์ขี่ม้าในยุโรปและอเมริกา

อากัปกิริยา เมื่อกล่าวถึงอากัปกิริยาของม้าแล้ว คนส่วนมากก็ใคร่จะเห็นม้าในลักษณะที่กำลังยกขาขึ้นก้าวเดินเหมือนกับม้าตามแบบฉะบับของกรีกและโรมัน เราขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ศิลปินแต่ละคนก็มีความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปินอื่นๆ ถึงแม้จะคิดในเรื่องเดียวกันก็ตาม ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงเป็นการพอเพียงที่จะทำแบบพิมพ์ของรูปที่ถือเป็นแบบฉะบับไว้ และหล่อออกมาได้เหมือนกันทุกรูปต่อไป แต่ที่ข้าพเจ้าคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ในลักษณะขององค์วีระบุรุษไทย มิใช่ลักษณะของจักรพรรดิ์โรมัน ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพให้เห็นพระองค์ในลักษณะอันเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอย่างแท้จริง เพื่อจิตใจของชาวไทยทั้งมวล  ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีระบุรุษของเรา ในลักษณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ  ดังนั้นความรู้สึกที่แสดงออกในพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิด และเต็มไปด้วยลักษณะของชายชาติชาตรี

องค์พระเจ้าตากสินและม้าทรงอยู่ในอาการที่เคร่งเครียด พระองค์ทรงกระชับบังเหียนเพื่อจะรุดไปข้างหน้า และม้าทรงก็ตื่นเต้นคึกคักพร้อมที่จะโผนไปข้างหน้าเช่นกัน เมื่อเป็นดังนั้น หู และหาง ที่ชันชี้จึงสอดคล้องกับความตื่นคะนองของสัตว์

ผู้วิจารณ์อีกหลายท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ม้ากำลังตื่นจะยกหางขึ้นก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นเพียงส่วนที่เป็นกระดูกเท่านั้น ที่ยกขึ้นได้ ส่วนที่เป็นขนควรห้อยลง นี่อาจเป็นการสังเกตสมเหตุสมผลทีเดียว แต่ในความเห็นของเรามีว่า หางของสัตว์ใดๆ ก็ตามอาจยกขึ้นโดยแรงเหวี่ยง (Momentum) ของกระดูกที่ส่งผลให้แก่ส่วนที่เป็นขน หรือความจริงเราอาจสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อม้าถูกรบกวนจากแมลงวันหรือแมลงอื่นย่อมปัดหางขึ้น, ลง, ซ้าย, ขวาได้เป็นอิสระตามใจมัน โดยลักษณะที่กล่าวแล้วนี้เองตามความคิดที่ทำเรื่องนี้ เราปรารถนาให้หางมีลักษณะเหมือน (Stream-like) เพื่อเสริมความรู้สึกที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า ดังนั้นเราจึงเลือกทำหางตามที่เราได้ทำไว้นั้น

ยังมีประชาชนกล่าวอีกด้วยว่า ลักษณะการวางของขาควรให้แตกต่างกันไปบ้าง ก็อีกนั่นแหละ เป็นการง่ายมากที่จะปั้นขาหลังหรือขาหน้าให้อยู่ในท่าที่ไม่เหมือนกัน ที่ไม่ทำเช่นนั้นเพราะเราคิดว่า ม้าทรงถึงจุดยอดของอาการที่พุ่งตัวออก ดังนั้นจึงตรึงกีบมั่นกับพื้น เพื่อให้มีพลังที่จะโผนไปข้างหน้า ถ้าหากขาหนึ่งแปลกออกไป จะลดคุณค่าความเป็นจริงในรูปความคิดของเราลงอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าประสงค์จะเน้นความจริงว่า ข้าพเจ้าต้องการให้พระบรมรูปแทนองค์วีระบุรุษ ในลักษณะประกอบวีรกรรม มิใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้า เพื่อรับคำสรรเสริญอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนน โห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย ซึ่งส่วนมากท่าทางของม้าที่ปั้นนั้น มีลักษณะเหมือนม้าที่สง่างามของ ละครสัตว์

ถ้าหากท่านผู้อ่านมีความกรุณาทั้งหลาย ได้เข้าใจถึงรูปความคิดเป็นบ่อเกิดของพระบรมรูปพระเจ้าตากสินแล้ว ก็อาจเข้าใจได้ว่า ม้าทรงของพระองค์ถึงแม้จะมีลักษณะไม่เคลื่อนไหว (ไม่วิ่ง) แต่ก็เต็มไปด้วยพลังอันแกร่งกล้า และข้าพเจ้าอยากกล่าวว่า แกร่งกล้ายิ่งกว่าที่เคลื่อนไหวไปเสียแล้วอีก อันที่จริงจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านผู้อ่านจะได้คิดว่า ผู้ชายจะปรากฏกำลังอำนาจของระบบกล้ามเนื้อ และดุดันน่ากลัว ก็ในขณะที่เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยความตื่นเต้นอย่างรุนแรง มากกว่าที่กำลังทำการต่อสู้กัน เหมือนกับระบบกล้ามเนื้อของเสือที่กำลังจ้องจับเหยื่อ ในขณะที่มันพร้อมที่จะกระโจนออก ย่อมมีความเก็งแกร่งมากกว่ามันตะปบเหยื่อได้แล้ว

โดยการเปรียบเทียบ พระบรมรูปและม้าทรงของพระเจ้าตากสิน กับพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช จะเห็นได้โดยชัดเจนว่าอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นอนุสรณ์แด่องค์พระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้อำนวยประศาสโนบายปกครองบ้านเมืองอย่างเลอเลิศ ด้วยเหตุฉะนั้นเอง ที่ความสุขุมคัมภีรภาพและความสง่าผ่าเผยจึงปรากฏสมบูรณ์ในอนุสาวรีย์ของพระบรมรูปทรงม้าพระปิยะมหาราช
... คัดลอกโดย คงพยัญชนะต้นและสระเดิมของต้นฉบับ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27836282509896_8_Copy_.jpg)
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ม้าทรงมีลักษณะหางห้อย
ตั้งอยู่ ณ ลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) เขตดุสิต กรุงเทพฯ

ขอขอบคุณเว็บไซท์ ohmasomehot.files.wordpress.com (ที่มาภาพ)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95973482521043_240597180_1218763878639290_132.jpg)
อนุสาวรีย์ประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา
สร้างม้าหางยกขึ้น