[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2564 19:21:56



หัวข้อ: "ปฏิบัติ" โดยไม่มี "ปริยัติ" จริงหรือ?
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 ตุลาคม 2564 19:21:56
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22795515755812__1_Copy_.jpg)
ขอขอบคุณเว็บไซท์ .spu.ac.th/spu/alumni (ที่มาภาพประกอบ)

"ปฏิบัติ" โดยไม่มี "ปริยัติ" จริงหรือ?
ศาสตราจารย์พิเศษ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ที่มา : ธรรมบรรยาย "ปฏิบัติธรรม ให้ถูกทาง"
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒

"มีผู้ถกเถียงกันว่า ไปปฏิบัติเลยโดยไม่มีปริยัติก็ได้ เข้าป่าไปอยู่กับอาจารย์หรือไปอยู่คนเดียว ไปถึงก็ลงมือบำเพ็ญสมาธิเลย ไม่ต้องมีปริยัติ นอกจากนั้นก็ยังมีการติเตียนว่า ถ้าปริยัติอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติก็ไม่ทำให้ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะเมื่อไม่มีการปฏิบัติก็ไม่เกิดผลคือปฏิเวธ นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ...

"ปริยัติ" คือ การเล่าเรียน สดับฟังจากผู้อื่น แม้แต่พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นสิ่งที่ได้รับฟังมาจากผู้อื่น คือรับฟังจากที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

พระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติมาแล้ว แล้วก็ได้รับผล พระองค์มีประสบการณ์ในการปฏิบัติและได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นมาเองแล้ว พระองค์ทรงนำประสบการณ์นั้นแหละมาจัดเรียบเรียงขึ้น แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น

ความรู้จากประสบการณ์ในการปฏิบัติของพระองค์นี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ปริยัติ"

การที่เรายอมรับปริยัตินี้ ก็เพราะเราเชื่อพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ เราไว้ใจว่าพระพุทธเจ้าปฏิบัติถูกได้รับผลจริงแล้ว "ปริยัติ" ไม่ได้มาจากไหน ก็มาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติของพระพุทธเจ้านั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ "ปริยัติ" ก็จะมาเป็นเครื่องช่วยให้ "ปฏิบัติ" ได้ถูกต้องต่อไป

"ปฏิบัติ" นี่ บอกแล้วว่า คือ "เดินทาง" เราเดินทางเองไม่ถูก เราไม่แน่ใจตนเอง เราก็เลยขอความรู้จากท่านที่เคยมีประสบการณ์ได้เดินทางมาก่อน เราก็จึงมาเรียนปริยัติ

ทีนี้ ถ้าเราไม่อาศัยปริยัติจะเป็นอย่างไร เราก็สุ่มสี่สุ่มห้าเริ่มต้นใหม่ ลองผิดลองถูกก็สามารถทำได้ ปฏิบัตินั้นท่านไม่ได้ห้าม ใครจะปฏิบัติก็ได้ จะตั้งตัวเป็นศาสดาใหม่เสียเอง ใครจะไปห้ามได้

แต่ท่านไม่เคยเดินทางนี้ ก็รับรองไม่ได้นะ ท่านอาจจะไปตกหลุมตกบ่อ อาจจะหล่นเหวไปเสียก่อนระหว่างทาง หรืออาจจะไปทางผิด ทีนี้ถ้าเราไม่เอาปริยัติเลย เราก็เสี่ยงต่อการที่จะปฏิบัติเดินทางผิดพลาด

ปริยัตินี้ ท่านเปรียบเหมือนกับเข็มทิศบ้าง เหมือนกับแสงไฟส่องทางบ้าง เข็มทิศทำให้เรารู้ทิศทางไปถูก แสงไฟส่องทางหรือไฟฉายก็ทำให้เราเห็นทางที่จะเดินไปในความมืด

บางทีเราไม่ได้เรียนปริยัติโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เราก็เรียนผ่าน"อาจารย์" บางทีอาจารย์ไม่ได้ให้เราเรียนตำราหรือคัมภีร์ทั้งหมด อาจารย์สอนเรานิดๆ หน่อยๆ บางทีเราไปหาอาจารย์ปุ๊บนี่! ท่านบอกเลยว่า ให้ทำอย่างนั้นๆ เช่น บอกว่าให้กำหนดลมหายใจอย่างนั้นๆ อันนี้ คืออะไร? อันนี้ ก็คือ "ปริยัติ" เพียงแต่พบกับอาจารย์แล้ว ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ๆนะ นี่คือ "ปริยัติ"แล้วหลายท่านไม่เข้าใจ นึกว่าตัวเองไม่ได้ผ่าน"ปริยัติ" ที่จริงผ่านโดยไม่รู้ตัว

อาจารย์มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือการใช้ความสามารถคัดเลือกปริยัติให้เหมาะกับตัวผู้ปฏิบัติ แทนที่เราจะต้องไปค้นปริยัติ เรียนปริยัติมากมาย หรือเรียนพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า อาจารย์ท่านมีความชำนาญ ท่านได้เคยใช้ปริยัติในการปฏิบัติ มีประสบการณ์ของตนเองแล้ว ท่านก็รู้ว่าอันไหนจำเป็นจะต้องใช้เมื่อไร ท่านก็คัดเลือกปริยัตินั้นมาให้เรา คือ ท่านคัดเลือกปริยัติให้เรา ลัดเวลาให้เราประหยัดเวลาให้เรา เสร็จแล้วพอเราก้าวไปอีกสักนิด อาจารย์ก็มาตรวจสอบว่า เราปฏิบัติไปได้แค่ไหน แล้วท่านก็ให้ปริยัติต่อ กล่าวคือ คำแนะนำที่ว่า ต่อไปให้ทำอย่างนั้นๆ หรือบอกให้รู้ว่าประสบการณ์ที่ได้มาตอนนี่ผิดพลาด ให้แก้ไขอย่างนั้นๆ นี่คือ "ปริยัติ"ทั้งสิ้น

ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านใช้คำว่าปริยัติในความหมายเฉพาะ ท่านจำกัดความไว้ทีเดียวว่า "ปริยัติ" หมายถึง "พุทธพจน์ หรือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า" ซึ่งเป็นสิ่งที่จะพึงเล่าเรียน

ถ้าจะพูดให้ตรงทีเดียว ผู้ที่กล่าวว่า "ปฏิบัติได้โดยไม่มีปริยัติ" ก็เท่ากับพูดว่า "ตนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือไม่ต้องรู้เลยว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร" ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกับพูดว่า ตนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าเลยนั่นเอง

ถ้าอย่างนั้น คนอื่นก็ย่อมจะกล่าวกับผู้นั้นได้ว่า เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า หรือว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา

แต่เขาปฏิบัติอะไรๆ ที่เป็นเรื่องความคิดความเห็นของตัวเขาเอง หรือของอาจารย์ท่านนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งก็อาจจะเก่งมาก เช่น อย่างโยคีหรือฤๅษีชีไพรตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ที่ได้ถึงฌานสมาบัติ หรือแม้กระทั่งจบโลกียอภิญญาชั้นสูงสุด แต่ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

รวมความว่า ปัญหาเกี่ยวกับ"ปริยัติ"นั้น  ไม่ใช่ถามว่าปริยัติต้องมีหรือไม่? แต่ควรถามว่า ปริยัติจะเอาแค่ไหน? และจะรับเอามาอย่างไร?"



ขอขอบคุณที่มา : พระพุทธศาสนา