[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 01 พฤศจิกายน 2564 09:03:17



หัวข้อ: ต้นกำเนิดโรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกในไทย บันทึกฝรั่งชี้ สภาพน่าอับอายหลังเปิดมานาน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 01 พฤศจิกายน 2564 09:03:17
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/70129842683672_IMG_8227_e1547822663172_1024x7.jpg)
คนเสียจริต หรือผู้ป่วยโรคทางจิตที่รอตรวจวินิจฉัยอาการ

ต้นกำเนิดโรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกในไทย
บันทึกฝรั่งชี้ สภาพน่าอับอายหลังเปิดมานาน

เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

โรงพยาบาลจิตเวช หรือโรงพยาบาลโรคจิตในไทยปรากฏแรกเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช 1 ปี นั่นคือ พ.ศ.2432 โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งอยู่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรี โดยเป็นการปรับปรุงจากเก๋งจีน

บทความเรื่อง “120 ปีแห่งบริการสุขภาพจิตโดยระบบโรงพยาบาล กับ โรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกในประเทศไทย” โดยกิติกร มีทรัพย์ ซึ่งเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน พ.ศ.2552 อธิบายลักษณะของโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย)

“โรงพยาบาลปรับปรุงจากเก๋งจีนของพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวโกงซัวหรือเกงซัวหรือเกงซัก) ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2422 เป็นรองเจ้ากรมท่าซ้าย ศักดินา 1,000 ไร่ โรงพยาบาลมีรูปลักษณะทำนองนี้

คือประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น 3 หลัง และอาคารเล็กๆ ชั้นเดียวโดยรอบอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10-12 หลัง อาคารใหญ่หลังกลางด้านหน้ามีเก๋งเล็กคู่หนึ่งใช้เป็นที่รับแขก อาคารใหญ่ที่เหลืออีก 2 หลังนั้นใช้เป็นหอผู้ป่วย ทั้งนี้รวมถึงอาคารหลังเล็กบางส่วนด้วย อาคารหลังใหญ่เป็นห้องโถงกว้าง จุผู้ป่วยได้ 100 คน ส่วนอาคารหลังเล็กโดยรอบนั้นจัดแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ห้องละ 10-20 คน

พื้นที่เก๋งจีนทั้งหมดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่โดยประมาณ 4-5 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูนทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าเก๋งจีนหันไปทางทิศเหนือจรดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีโป๊ะขนาดใหญ่ที่ท่าน้ำสำหรับรับส่งผู้ป่วยจากฝั่งพระนคร ด้านตะวันตกติดกับบ้านท่านสุ่น ภริยาพระยาโชดึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์ นัยว่าเป็นสถาปนิกออกแบบพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน) คั่นด้วยอู่จอดเรือ โรงพยาบาลด้านทิศตะวันตกส่วนในติดกับบ้านท่านล้อม เหมะชญาติ และรั้ววัดทองล่าง (วัดทองนพคุณ)

ส่วนด้านทิศใต้หรือด้านหลังโรงพยาบาลติดกับโรงพยาบาลกาฬโรค เดิมคือโรงพยาบาลโรคติดต่อ ปัจจุบันคือโรงพยาบาลตากสินของกรุงเทพมหานคร

ทางด้านทิศตะวันออกของโรงพยาบาลติดกับป้อมป้องปัจจามิตร ถัดจากป้อมออกมาทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีผู้เช่าบ้านปลูกพักอาศัยอยู่ 3 ราย คือ อำแดงเชย (สามีเป็นฝรั่ง ชื่อ มิสเตอร์โกเฮน) นายจ่ารงค์ และจีนเป๋า (บุตรชายของพระยาภักดีภัทรากร)”

สาเหตุที่ใช้เก๋งจีนนี้ดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลได้ กิติกร เล่าสาเหตุของเรื่องที่เก๋งถูกหลวงยึดไว้ว่าเป็นเพราะติดค้างเงินรายได้แผ่นดิน ไม่สามารถชดใช้คืนได้ตามกำหนด ไม่เพียงแค่พระยาภักดีภัทรากร มีนายอากรอีกหลายรายถูกยึดบ้านมาเป็นของหลวง เช่น บ้านของพระยาชัยบูรณ์-อิ่ม ดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช

โรงพยาบาลคนเสียจริตเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 ผู้เขียนบทความเล่าไว้ว่ามีผู้ป่วย 30 คน ในแง่การรักษาผู้ป่วยทางจิตนั้น หากย้อนกลับไปในช่วงโรงพยาบาลศิริราชเปิดแล้วปีหนึ่ง หรือในเวลาใกล้ๆ กัน โรงพยาบาลศิริราชมีราษฎรจำนวนหนึ่งพาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตมารับการรักษา สะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏราษฎรที่เข้าใจการเจ็บป่วยทางจิต แตกต่างจากความเชื่อทั่วไปในสมัยนั้นที่ว่าการเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากอำนาจของภูตผี ไสยศาสตร์หรืออำนาจผิดธรรมชาติอื่นๆ

แต่เนื่องด้วยโรงพยาบาลศิริราชไม่ได้เตรียมการในกรณีนี้ไว้ก่อน จึงรับบริการเป็นเพียงคนไข้นอกตรวจรักษา รับยาแล้วให้กลับบ้าน ซึ่งประเด็นนี้คงทิ้งโจทย์ความต้องการให้คณะบริการโรงพยาบาลได้ขบคิดต่อ

ในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลในเวลานั้น บันทึกไว้ว่า “…ด้วยมีผู้ขอส่งคนเสียจริตให้โรงพยาบาลรักษาเนืองๆ จะรับรักษาไว้ในโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ได้ จะบอกปัดไม่รักษาคนเสียจริตก็เห็นขัดกับหน้าที่กรมพยาบาล จึงคิดจะตั้งโรงพยาบาลต่อออกไปที่อื่น พร้อมกับตั้งโรงพยาบาลรักษาคนเสียจริต การที่ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติมไม่ยากเหมือนโรงพยาบาลศิริราช…ความลำบากมีแต่เงินทุนไม่พอที่จะปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลขึ้นใหม่ จึงขอกราบทูลขอเป็นบ้านที่เป็นของหลวง เช่นบ้านเจ้าภาษีนายอากร ที่ใช้หนี้หลวงเป็นต้น…”

ภายหลังยังปรากฏหลักฐานว่า พระยาภาษกรวงศ์ เกษตราธนบดี บริจาคเงินให้โรงพยาบาลคนเสียจริตเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2432 ก่อนโรงพยาบาลเปิดอย่างเป็นทางการ เป็นเงินถึง 10 ชั่ง 20 บาท อย่างไรก็ดี การให้บริการในยุคแรกๆ น่าจะมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งในด้านงบประมาณ การบริหารจัดการและการบำบัดรักษา ภาพของโรงพยาบาลคนเสียจริตจึงไม่ค่อยดีนัก คล้ายๆ เป็นที่กักขังหรืออไซลัม (asylum) แบบฝรั่ง

ช่วงแรกของโรงพยาบาลยังเป็นเพียงนำคนเสียจริตจากที่ต่างๆ คือคนป่วย (ทางจิต) ที่ชาวบ้านนำตัวมาฝากรักษากับพลตระเวน หรือหัวเมืองหรือกระทรวงมหาดไทยนำมาฝาก และคนเสียจริตจากกองมหันตโทษ กองลหุโทษ และศาลยุติธรรมนำมาฝากรักษา

เมื่อนานวันเข้า เริ่มมีผู้ป่วยมากขึ้น สถานที่ก็คับแคบ อาคารชำรุดตามเวลา กิติกร มีทรัพย์ เล่าไว้ว่า ภาพของโรงพยาบาลจึงค่อนข้างน่าหวาดกลัว หากอ้างอิงจากรายงานของนายแพทย์ไฮเอ็ต (Hugh Campbel Highet) เจ้ากรมสุขาภิบาลในขณะนั้น รายงานไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2453 หลังจากโรงพยาบาลเปิดดำเนินการมานาน 21 ปี ว่า


“…ในจำนวนคนไข้ทั้งหมดนั้น เป็นชาย 264 คน หญิง 32 คน มีอาการคลุ้มคลั่งรุนแรง อาจทำอันตรายต่างๆ ได้ถึง 54 คน ต้องแยกขังไว้ต่างหาก แต่ห้องแยกมีน้อยจึงต้องขังรวมกับคนอื่น ซึ่งยัดเยียดทำร้ายกันเสมอ มีหลายคนถูกล่ามโซ่ไว้กับพื้นกระดานเช่นเดียวกับสัตว์ที่ดุร้าย ห้องหลายห้องชำรุดและรักษาความสะอาดไม่ได้ จนมีผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้กันมาก โรงพยาบาลนี้ชำรุดน่าอับอายอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปให้ดีขึ้น ข้าพเจ้าเองไม่สามารถหาคำพูดใดๆ ที่แรงพอ เพื่อแสดงว่าน่าอับอายและน่าขยะแขยงเพียงใด…”

(นายแพทย์แคมพ์เบล ไฮเอ็ต CM., MD., D.PH.-London เป็นชาวอังกฤษ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะแพทย์ประจำสถานทูตอังกฤษ จากนั้นจึงเข้ามารับจ้างทำงานต่อในโรงพยาบาลกระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. 2441 ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ซึ่งควบคุมดูแลโรงพยาบาลทั้งหมดรวมทั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตด้วย เป็นผู้เสนอย้ายโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งเดิมไปอยู่แห่งใหม่ คือที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน นายแพทย์ไฮเอ็ตได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เดินทางไปดูแบบการสร้างโรงพยาบาลแบบตะวันตกที่สิงคโปร์ ปัตตาเวีย และมลายาด้วย แต่ยังไม่ทันได้สร้างเสร็จ หลังจากหมดสัญญาจ้างระยะยาวนาน 15 ปี ก็ได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษเมื่อปี 2456)

เหตุปัจจัยการกำเนิดโรงพยาบาลรักษาคนไข้ทางจิต

ถึงภาพจะดูเป็นเชิงลบ แต่ยังปรากฏว่ารัฐบาลสมัยนั้นยังให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมากกว่าสมัยที่ผ่านมา ทุ่มงบประมาณจัดเตรียมสร้างโรงพยาบาลดีๆ แบบตะวันตก กิติกร มีทรัพย์ วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดการสร้างโรงพยาบาลรักษาคนไข้โรคจิตของภาครัฐในขณะนั้นว่ามีมูลเหตุ 3 ประการ คือ

1. เป็นพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 เอง ด้วยทรงปรารถนาให้บ้านเมืองทันสมัยแบบประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป รวมถึงกิจการด้านสุขภาพอนามัยด้วย กล่าวคือ เมื่อคราวเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2413 หลังจากครองราชย์ได้ 2 ปี โดยเสด็จฯ เมืองสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) ในครั้งนั้นได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการโรงพยาบาลทั่วไปและกิจการโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งกิจการโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งนั้นเป็นแบบยุโรป เพราะเวลานั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และอินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์

เป็นที่เชื่อถือได้ว่าภาพสถานที่รักษาคนเสียจริตและตึกรักษาคนบ้าที่สิงคโปร์กับที่สมารัง คราวเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ.2411 ย่อมเป็นส่วนผลักดันอย่างสำคัญทำให้เกิดโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นในปี พ.ศ.2432 สำหรับกระบวนการบำบัดรักษานั้น แม้มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งก็น่าจะเป็นการรักษาตามแพทย์แผนไทยเป็นหลักกับส่วนหนึ่งอาจเป็นแผนฝรั่งเพราะมีผู้ตรวจการณ์ใหญ่เป็นแพทย์ชาวต่างประเทศ

2. มูลเหตุด้านมิชชันนารี มีแพทย์ที่เป็นมิชชันนารีอย่างน้อย 2 คน ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญผลักดันให้เกิดบริการสุขภาพจิตอย่างฝรั่งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คนแรกคือ หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) กับคนหลังคือหมอเฮย์ส (T.H. Hays)

หมอบรัดเลย์แม้จะมิใช่แรงผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลคนเสียจริตโดยตรง แต่ในฐานะเป็นผู้นำวิทยาการทางการแพทย์และสุขภาพใหม่ๆ นำมาเผยแพร่ผ่านการพิมพ์ให้คนไทยได้รู้จัก โดยเฉพาะการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตในสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่ายอร์ค รีทรีต (york retreat) เป็นการบำบัดเชิงเมตตาธรรม เห็นอกเห็นใจและให้อิสระผู้ป่วยตามสมควร รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้ดูดีดุจเดียวกับโรงพยาบาลคนปกติด้วย อันเป็นวิธีของเบนจามิน รัช (Benjamin Rush) และเดอโรธี ดิกซ์ (Derothea Dix) ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมกว้างขวางในห้วงปี ค.ศ.1804-73

สำหรับหมอเฮย์สนั้นเป็นผู้เสนอให้ตั้งโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นโดยตรง หมอเฮย์สเป็นศัลยแพทย์ชาวอเมริกันมิใช่จิตแพทย์ สังกัดคณะสอนศาสนาเพรส ไบทีเรียน ถูกส่งมาประจำที่กรุงเทพฯ และได้เป็นที่ปรึกษาแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นประธานคณะคอมมิตตีจัดตั้งโรงพยาบาล และหมอเฮย์สก็เป็นกรรมการในคณะคอมมิตตีนั้นด้วยพร้อมกับกรรมการคนอื่นๆ อีก 4 คน คือ พระไตรโกศา ขุนสรรพกิจพยาบาล หมอปีเตอร์ เกาแวน และพระประสิทธิ์วิทยา (หนู)

3. มูลเหตุด้านประชาชน มีประชาชนจำนวนหนึ่งพาผู้ป่วยโรคจิตมาขอรับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช และพามาขอรับบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะแปลว่าประชาชนเหล่านั้นเข้าใจความแปรปรวนของจิตใจหรือการเจ็บป่วยทางจิตอันเป็นผลเนื่องมาจากสุขภาพไม่ดีว่า มิได้เกิดจากปัญหาภูตผีปีศาจ อำนาจอันผิดธรรมชาติ คุณไสยหรือเคราะห์กรรมต่างๆ ตามความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้น องค์ความรู้ทำนองนี้อาจได้มาจากหมอมิชชันนารีคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น หมอกุสลาฟ (Carl Gutzlalf) ชาวเยอรมัน และหมอทอมลิน (Jacob Tomlin) ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2371) หรือได้มาจากแหล่งความรู้อื่น เช่น จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย ผู้เคยเป็นทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้เห็นการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตในอังกฤษที่เบธเลเฮม หรือเบดแลม

ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้เกิดโรงพยาบาลคนเสียจริตและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 โดยสังกัดอยู่ในกรมพยาบาล (มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เป็นเจ้ากรมพยาบาลแทนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งไปดำรงตำแหน่งที่กระทรวงมหาดไทย) กระทรวงธรรมการ มีแพทย์ผู้ตรวจการณ์ 3 คน คือ 1. หมอแฮนส์ อาดัมเซน (พระบำบัดสรรพโรค) 2. หลวงวิฆเณศร์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) 3. ขุนอาจวิทยาคม (ชุ่ม)

โรงพยาบาลสังกัดกรมพยาบาลอยู่ 16 ปี จึงได้ย้ายไปสังกัดในกรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล เมื่อปี พ.ศ.2448 ช่วงนี้มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโรงพยาบาลเพียง 11 คน แต่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 1,858 คน เจ้าหน้าที่พยาบาล 11 คนนั้น ประกอบด้วย นายคล้อยแพทย์ใหญ่ นายปานผู้รักษาการรอง นอกจากนั้นมีเสมียน 1 คน คนแจกยา 1 คน คนพยาบาล 4 คน และคนครัว 3 คน ทั้งนี้มีแพทย์แผนไทยประจำ 3 คน คือ นายพุ่มแพทย์ที่หนึ่ง นายคล้อยแพทย์ใหญ่ และนายบุญแพทย์รอง การดูแลรักษายังคงเป็นแบบแพทย์แผนไทย

ในพ.ศ.2448 นั้นเอง โรงพยาบาลคนเสียจริตได้เปลี่ยนมาสังกัดกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล หมอไฮเอ็ตจึงเข้ามามีบทบาทในโรงพยาบาลคนเสียจริตมากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาเชิงเมตตาธรรมแบบตะวันตก ประกอบกับได้เสนอรัฐบาลให้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ แต่ในเวลานั้นก็ยังมีโรงพยาบาลคนเสียจริตเพียงแห่งเดียวในประเทศที่รับผู้ป่วยโรคจิตจากหน่วยราชการหลายแห่ง ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจึงแก้ไขระบบการจัดการภายในขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “เป็นธุระจัดการภายใน” คือภายในโรงพยาบาลจัดการให้เป็นระบบมากขึ้น

เมื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยและให้บริการบำบัดรักษาขึ้นใหม่ก็คือ ปรับปรุงด้านการแพทย์กับการรักษาเป็นสำคัญ มีแพทย์ที่ทำงานประจำในโรงพยาบาลคล้ายตำแหน่งผู้อำนวยการ ทำหน้าที่ทั้งบริหารและบริการ บำบัดรักษาไปพร้อมๆ กัน คือ นายพุ่มแพทย์ที่หนึ่ง มีผู้ช่วยเป็นแพทย์หมุนเวียน 5 คน คือ เปลี่ยน กาญจนารัณย์ จำปี เหมือนมี อิน จูทะพันธ์ ชัย สืบแสง และ ตี๋ ตีระแพทย์ (เป็นแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ศิริราช รุ่นที่ 3 พ.ศ.2437)

นายคล้อยแพทย์ใหญ่ ทำหน้าที่ต่อจากนายพุ่มแพทย์ที่หนึ่ง แต่ไม่เรียกว่าแพทย์ที่หนึ่ง เรียกว่าแพทย์ใหญ่แทน โดยมีนายบุญเป็นแพทย์รอง และมีแพทย์ผู้ตรวจการณ์ 1 คนชื่อนายกลิ่น พร้อมกับมีแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ศิริราช รุ่นที่ 11 มาช่วยงาน 3 คน คือ ประวัติ พราหมณ์พันธุ์ ถิน นครานันท์ และ บรรจง (ไม่ทราบนามสกุล) ขุนอดุลย์แพทยาการ ดำรงตำแหน่งต่อจากนายคล้อยและทำหน้าที่เป็นครูแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ศิริราชด้วย