[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 10 พฤศจิกายน 2564 16:31:11



หัวข้อ: เห็ด 14 ชนิด ที่คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมเก็บมารับประทาน-ขาย
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 10 พฤศจิกายน 2564 16:31:11

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20067918548981__696x364_Copy_.jpg)

เห็ด 14 ชนิด ที่คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมเก็บมารับประทาน-ขาย
เผยแพร่ : ศิลปวัฒนธรรม -วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

การเก็บเห็ดมาเพื่อรับประทานหรือขายคงมีมาแต่โบราณกาล เพราะเห็ดเป็นของที่หาง่ายโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากแม้ไม่มีฝนก็สามารถเพาะเองได้ไม่ยาก คนไทยสมัยก่อนจึงนิยมกินเห็ด เก็บมาได้มากก็นำไปขาย หรืออาจยึดเป็นอาชีพเก็บเห็ดขายก็ได้ เนื่องจากเห็ดบางชนิดหายาก มีรสอร่อย เป็นที่นิยมหาซื้อรับประทาน สามารถนำไปขายได้ราคาดี

ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม 6 แผ่น 47 วันพฤหัสบดีที่ 24 เดือนกันยายน รัตนโกสินทร์ศก 110 และแผ่น 48 วันพฤหัสบดีที่ 1 เดือนตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 110 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2434 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บเห็ดของคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุถึงเห็ด 14 ชนิด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันในสมัยนั้น ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เกิดขึ้นหรือเพาะได้อย่างไร มีราคาซื้อขายเป็นเงินเท่าใด มีวิธีการเสาะหาหรือเก็บเห็ดอย่างไร ฯลฯ รายละเอียดมีดังนี้

“1. เห็ดปลวก (เห็ดโคน) นี้ มีแตกต่างออกไปเป็น 2 ชนิด คือชนิดหนึ่งดอกใหญ่ ชนิดหนึ่งดอกเล็ก ๆ เห็ดชนิดนี้คนชอบกิน ดูเหมือนจะกินกันทั่วทุกตัวคนก็ว่าได้ เพราะมีที่เกิดมาก แลหาง่ายกว่าเห็ดอื่น ๆ ชอบเกิดตามจอมปลวกหรือพื้นที่ที่มีปลวก เพราะฉะนั้นจึ่งได้นามเรียกว่า “เห็ดปลวก” แต่เห็ดชนิดดอกเล็ก ถึงมิใช่ที่จอมปลวกบางทีก็ขึ้นได้ แต่เขาเรียกกันว่า “เห็ดปลวกเข้าตอก” รูปพรรณสัณฐานก็คล้ายเห็ดปลวกชนิดใหญ่ คือมีลำต้นขึ้นจากดิน แล้วมีหมวกกลางแหลม ๆ ครอบลงมา สัณฐานคล้ายกับหมวกเจ๊ก ไม่สู้โตนัก สีขาว ๆ แกมดำบ้างเล็กน้อย

2. เห็ดตับเต่า ชอบขึ้นตามที่เน่าๆ คือที่มีใบไม้สะสมอยู่มากๆ แล้วได้ถูกน้ำฝนเปียกชุ่มจนใบไม้นั้นเน่า เห็ดนี้จึ่งเกิดขึ้นตามที่เหล่านั้น สัณฐานดำๆ คล้ายตับของเต่าจริงๆ แต่ดอกโต เพราะฉะนั้นจึ่งเรียกว่า “เห็ดตับเต่า” เมื่อได้เอามาทำกับข้าวรับประทานดู ก็เป็นเมือกๆ ลื่นๆ ดี

3. เห็ดจาวมะพร้าว ชอบขึ้นที่ริมโคนต้นมะพร้าวที่ตายแล้วจนแห้งผุ รูปพรรณคล้ายจาวมะพร้าว มีรสหวานอร่อยดี แต่หายากเพราะไม่ค่อยจะมีชุกชุมเช่นเห็ดปลวก แต่เป็นที่นิยมชอบกันมาก

4. เห็ดพง (เห็ดระกำ) มีในที่ป่าพงมาก ๆ เกิดขึ้นตามกอพง ดอกกลมๆ รีๆ คล้ายผลหมากดิบ อย่างใหญ่ก็เท่าผลหมากดิบ แต่โอชารสนัก ทั้งหวานแลมัน เป็นที่นิยมของประชุมชนว่าเป็นของมีรสดี เวลาที่ไปเก็บเห็ดนี้ดูออกสนุกสนาน คือต้องมุ่นป่าพง หรือเอาไม้ยาว ๆ นาบไปตามป่าพง ถ้าที่ใดมีมากๆ ก็แย่งชิงกันดูออกสนุก แลเอามาขายก็ได้ราคาดีถึง 8 ดอก หรือ 10 ดอกเฟื่อง ถึงจะเก็บไว้รับประทานนานๆ ก็ไม่เสีย แต่ต้องผึ่งแดดเสียให้แห้ง แล้วก็เก็บไว้ได้จนตลอดปี

5. เห็ดยาง (เห็ดถอบ) มีตามป่ายาง เกิดขึ้นที่ภายใต้ต้นยาง เป็นเพราะใบยางสะสมกันมากเข้า ครั้นถึงฤดูฝนฝนตกเปียกแฉะ จึ่งเกิดเป็นเห็ดขึ้น แต่บางคนว่าเป็นเพราะผลยาง…สัณฐานของเห็ดนี้ลูกกลมๆ เท่าผลหมากปอกแล้ว พวกที่หาเห็ดยางมีไม้คนละอันเที่ยวเขี่ยไปตามโคนต้นยาง บางแห่งก็มีมากๆ กองอยู่เป็นกลุ่มๆ หลายสิบหลายร้อย สีมอๆ ดำๆ แต่เห็ดนี้มีเนื้อเป็น 2 ชั้น คือมีเปลือกหุ้มนอกชั้นหนึ่ง เป็นแกนอ่อนๆ อยู่ข้างในอีกชั้นหนึ่ง ราคาขายไม่สู้แพงเหมือนเห็ดอื่นๆ ซื้อเฟื้องหนึ่งก็พอหม้อแกงใหญ่ ๆ แต่รสไม่สู้ดีอะไรนัก ผึ่งแดดเสียให้แห้งแล้วก็เก็บไว้ค้างปีได้

6. เห็ดพะยอม ก็คล้ายกับเห็ดยาง อาศัยผลพะยอมปลิวไปสะสมอยู่มากๆ ในที่ร่มๆ จนตลอดปี แล้วได้ถูกน้ำฝนตกรดจนเน่าจึ่งเกิดเป็นเห็ดขึ้น แต่ถ้าปีใดพะยอมไม่มีดอก เห็ดก็ไม่มีเลย ถึงเห็ดยางก็จะเป็นเช่นเดียวกับเห็ดพะยอม รสของเห็ดนี้จะวิเศษกว่าเห็ดยางบ้างก็เล็กน้อย ไม่ไกลกันนัก

7. เห็ดไข่ห่าน เห็ดไข่เหลือง แล เห็ดชันหมากพระร่วง มีตามป่าหลังเมืองระแหง (เมืองตาก) รูปคล้ายๆ ฟองห่าน โตก็ขนาดฟองห่านบ้าง โตกว่าบ้าง เห็ดไข่เหลืองก็แปลกแต่ที่มีสีเหลืองๆ เมื่อถึงฤดูฝนตกชุกๆ เห็ดนี้จึ่งขึ้น ชาวบ้านราษฎรพากันออกเก็บเห็ดกันแต่เช้าๆ ทุกบ้านทุกเรือน ราคาขายก็แพงถึง 5 ดอก 6 ดอกเฟื้อง มีรสหวานแลมันบ้างเล็กน้อย แต่ผิวนอกดอกเห็ดชนิดนี้ลื่นๆ เป็นเมือกๆ เห็ดชันหมากพระร่วงแปลกกว่าเห็ดไข่ห่าน ไข่เหลือง สีแดงๆ ดอกโต รูปคล้ายๆ ร่มกำมะลอเล็กๆ แต่รสไม่สู้ดีเหมือนเห็ดไข่ห่าน ไข่เหลือง

8. เห็ดลม อีกชนิดหนึ่งชอบขึ้นตามไม้ผุ สีขาวสะอาด รสออกหวาน แต่รับประทานเหนียวๆ เขาพูดกันว่าเห็ดชนิดนี้ชอบเกิดเมื่อเวลามีลมพายุพัดมากในฤดูฝน คราวใดเมื่อมีลมเช่นนี้ก็เป็นที่สังเกตของพวกที่เคยเก็บเห็ดคราวนั้น แลจะมีเห็ดลมเกิดขึ้น อาศัยเหตุนี้จึ่งได้เรียกกันว่า “เห็ดลม”

9. เห็ดหูหนู ชอบขึ้นตามไม้ผุ แต่สีดำๆ รูปคล้ายๆ หูหนูเรานี่เอง เห็ดนี้ถ้าผึ่งแดดเสียให้แห้งแล้วก็ไม่เสีย เก็บไว้นานๆ ได้ แต่เขามักใช้ประสมในแกงร้อน หรือผัดหมู เกาเหลาแห้ง

10. เห็ดร่ม ชนิดหนึ่งดอกใหญ่คล้ายๆ ร่ม แต่ดอกหนึ่งๆ เกือบแกงได้ 3 หม้อ มีทั้งรสหวานมัน แลมีรสเบื่อเมามากไปหน่อย ชักให้รสอร่อยดีหมดไปเสียเกือบครึ่ง แต่เห็ดนี้ไม่เลือกว่าที่ใด เกิดได้ทุกแห่ง

11. เห็ดมูลช้างมูลม้า อีกอย่างหนึ่งชอบเกิดตามกองมูลช้างม้า ที่สะสมกันอยู่มากๆ ค้างปีมานานๆ จึ่งเกิดเป็นเห็ดขึ้น คนเราเขาก็ชอบรับประทาน มีรสหวานอร่อยดี เห็ดมูลโค มูลกระบือ ก็รับประทานได้เหมือนกัน แต่เห็ดมูลกระบือนี้ บางแห่งก็มีธาตุเมาอยู่มากจนรับประทานไม่ได้ก็มี…

12. ดอกดิน ควรนับสงเคราะห์เข้าในพวกเห็ดได้ชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นตามป่าแขมป่าแฝก รูปแลสีคล้ายดอกอัญชันเขียว แลเป็นกิ่งก้านงามคล้ายดอกไม้ เพราะฉะนั้นคนจึ่งสมมุตเรียกว่า “ดอกดิน” ตามดอกเป็นยางเลือกๆ ครั้นบานแก่วันแล้วก็ร่วงโรยเน่าไปเหมือนเห็ดต่างๆ แต่คนชอบเก็บมาทำขนมชนิดหนึ่งคล้ายๆ ขนมกล้วย เรียกว่า “ขนมดอกดิน” เมื่อเขาได้ประสมเข้ากับแป้งซึ่งจะทำขนมแล้ว ก็พาแป้งนั้นสีเขียวเป็นสีม่วงไปหมด นอกจากทำขนมชนิดนี้ก็ไม่เห็นใช้ทำอะไรได้อีก

13. เห็ดบัว เห็ดชนิดนี้เขามักใช้เพาะด้วยเปลือกเมล็ดบัว คือเขาเก็บเปลือกบัวมามากๆ กองลงไว้ในที่ร่ม เช่นที่ใต้ต้นไม้ เป็นต้น แลล้อมกันเป็นห้องให้มิดชิดดี แล้วต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ จนเปลือกบัวนั้นแฉะเน่า คราวนั้นก็จะมีเห็ดเกิดขึ้นเรียกว่า “เห็ดบัว” เพราะเกิดด้วยเปลือกบัว แต่มีรสอร่อยดี ราคาขายถึง 4 ดอกหรือ 5 ดอก 6 ดอกเฟื้อง แม้ถึงขายได้ราคาเช่นนี้ก็ดี ยังหาที่ซื้อได้โดยยาก นานๆ จึ่งจะพบสักคราวหนึ่งเพราะเป็นของเพาะยาก บางทีเพาะไม่ดีก็ไม่เกิดเห็ด

14. เห็ดหมาก เขาใช้เพาะด้วยเปลือกหมาก วิธีก็คล้ายกันกับเห็ดบัว แต่บางทีเกิดขึ้นที่ผลหมากยับที่เขาบรรทุกเรือไปขายมาก ๆ เปลือกหมากนั้นเน่าสะสมกันมาก ก็เกิดเป็นเห็ดขึ้นได้ รสก็ดี ออกหวานๆ แต่ไม่ค่อยจะมีชุมนัก”

นอกจากนี้ ในหนังสือวชิรญาณวิเศษยังระบุอีกว่า เห็ดทุกชนิดมี “ธาตุเมา” เหมือนกันหมด แต่จะมีมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป เห็ดบางชนิดกินไม่ได้แต่ก็นำไปทำเป็นยาได้ เช่น เห็กกระถินพิมาน และเห็ดไม้แดง เป็นต้น

ส่วนวิธีการดูว่าเห็ดชนิดใดมีธาตุเมามากน้อยพอจะนำมากินได้หรือไม่นั้น ในหนังสืออธิบายว่า “ผู้ที่เขาเข้าใจรับประทานเห็ด เขาก็รู้ได้ว่าจะเมาแลไม่เมาด้วยความทดลอง คือเอาเห็ดนั้นๆ มาต้มหรือทำเป็นกับข้าวต่างๆ แล้วเอาข้าวสารปนลงไปด้วย เมื่อสุกดีแล้ว ถ้าข้าวสารไม่สุกแตกเมล็ด เห็ดนั้นก็เมาใช้รับประทานไม่ได้ ถ้าข้าวสารสุกแตกเมล็ดดีแล้วก็ไม่เมาเลย”


อ้างอิง :กรมศิลปากร. (2554). วิชาอาชีพชาวสยาม จากหนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ. 108-113. กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรสโพรดักส์