[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 ธันวาคม 2564 20:38:59



หัวข้อ: ทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 ธันวาคม 2564 20:38:59

(https://www.108prageji.com/wp-content/uploads/2020/12/สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-ลป.อ้วน-ติสโส.jpg)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เรียบเรียง

ชื่อที่เรียกภิกษุสามเณร

เมื่อกุลบุตรบรรพชาแล้วเรียกว่า “จัว” คำที่ว่า จัว คำนี้  เจ้าอธิการม้าวเทวธมฺมี ผู้เป็นพระอุปัชฌายะของข้าพเจ้าบอกว่า คือ เจ้า นั้นเอง  แม้ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ก็ได้ทรงแสดงไว้ในคำนำประชุมพงศาวดารภาคที่ ๙ หรืออื่นอีกว่า “จุ” ก็คือ เจ้า เช่น ๑๒ จุไท ก็คือ ๑๒ เจ้าไท จึงเป็นอันยุติว่า จัว จุ เจ้า ๓ คำนี้ เป็นอันเดียวกัน และ จัว นั้น  เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุภาวะแล้วเรียกว่า “เจ้าหัว” หรือ “เจ้าหม่อม” ประหนึ่งว่าเป็นเจ้าอยู่เหนือหัวหรืออยู่บนกระหม่อม การที่ยกย่องสามเณรขึ้นเป็น จัว คือเป็นเจ้าก็ดี ยกย่องภิกษุขึ้นเป็นเจ้าหัวหรือเจ้าหม่อมก็ดี นำให้สันนิษฐานเห็นว่า ยกย่องโดยฐานเป็นผู้ทรงเพศทรงคุณอันอุดม ที่เนื่องมาแต่พระบรมศาสดา ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งโลกแห่งธรรมนั้นเอง และการที่ยกย่องนี้คงอาศัยหลักอันใดอันหนึ่งแน่นอน คงไม่ทำไปโดยปราศจากเหตุผล วิจารดูก็น่าจะอาศัยคำว่า สากฺยปุตฺติโย เป็นหลัก ซึ่งแปลว่า พระสงฆ์ สาวกผู้เหล่ากอโดยทางศาสนวงศ์หรือธรรมวงศ์ อันเนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระราชบุตรแห่งกษัตริย์ศากฺย หากอาศัยหลักอันนี้เป็นเหตุแล้วยกย่องภิกษุสามเณรให้เป็น จัว เป็น เจ้าหัว ก็นับว่าเป็นกลเม็ดดีอยู่ ก็และที่ร้องเรียกภิกษุว่า พระ ที่ชื่อว่ายกย่องให้เป็น เจ้า ดุจกัน  เพราะว่า พระ คำนี้ก็แปลว่าประเสริฐ คือเป็นจอม ก็อยู่ในวงแห่งความหมายว่าเป็น เจ้า เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ ที่ยกย่องภิกษุเป็น พระ ก็ชื่อว่ายกให้เป็น เจ้า แท้จริง ส่วนชาวพายัพ เรียก สามเณร ว่า พระ ก็น่าจะมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เรียกภิกษุว่า ตุ๊ จะมีอธิบายอย่างไรไม่แจ้ง ข้อความที่บรรยายมาทั้งนี้เป็นแต่สันนิษฐาน ขอท่านผู้มีปรีชาจงวิจารดูเถิด ฯ

ลำดับสมณศักดิ์
เมื่อ จัว หรือ เจ้าหัว ผู้ที่ประกอบด้วยองคคุณอันสมควรที่จะมีฐานันตรศักดิ์ได้ ก็ยกย่องขึ้นตามอนุรูปแห่งคุณวุฒิ มีศักดิ์เป็นชั้น ๆ ดังนี้ คือ ๑. สำเร็จ, ๒. ซา, ๓. คู, ๔. ฝ่าย, ๕. ด้าน, ๖. หลักคำ, ๗. ลูกแก้ว, ๘. ยอดแก้ว ฯ

๑. คำที่ว่า สำเร็จ นี้บางเหล่าเรียกว่า สมเด็จที่จริง สำเร็จ นี้เองกลายเป็น สมเด็จ ไป ที่กลายไปเป็นเช่นนั้น น่าจะเมื่อรวมการปกครองเป็นอันเดียวกันแล้วนี้เอง คือจำเดิมแต่นั้นมา การติดต่อกับด้วยกรุงเทพฯ ก็มากขึ้น ครั้นไปได้ยินได้ฟังที่ท่านร้องเรียกพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จ ก็จดจำได้ เมื่อกลับถึงบ้านถึงช่องก็เอามาร้องเรียก สำเร็จ ของตนว่า สมเด็จ โดยสำคัญว่าเหมือนกัน เพราะ ๒ คำนี้มีสำเนียงใกล้กัน ความจริงเรื่องนี้ ได้พยายามสังเกตสำเนียงของชาวชนบทผู้อยู่ห่างไกลชุมนุมที่ยังหนักอยู่ในลัทธิธรรมเนียมเก่า ๆ สำเนียงมักเป็น สำเร็จ ทั้งนั้น จึงเป็นอันยุติว่า ท่านที่บัญญัติแรกคงเป็น สำเร็จ แน่ และมีข้อที่จะพึงอ้างได้ คือ ท่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่ควรจะเชื่อฟังได้เล่าให้ฟังจำได้เป็นลางๆ ว่า ธรรมเนียมของพระสงฆ์ชาวเมืองเวียงจันทน์แต่โบราณกาลโน้น ตั้งหลักสูตรไว้ให้กุลบุตต์เล่าเรียนมีลำดับดังนี้  ๑. สวดมนต์ ๒. มูลกัจจายนะ ๓. พระวินัยทั้ง ๕ คัมภีร์ ๔. ธรรมบท ๕. ทศชาติ ๖. มงฺคลทีปนี ๗. วิสุทฺธิมรรค ๘. อภิธมฺมตฺถสงฺคห นอกจากนี้แล้วแต่จะเรียนอะไรต่อไป แต่สวดมนต์นั้นแบ่งเป็น ๓ หมวด เรียกว่าสวดมนต์น้อย คือมุงคุลน้อยได้แก่ ๗ ตำนาน มุงคุลหลวงได้แก่ ๑๒ ตำนาน นี้หมวดหนึ่ง  สวดมนต์กลาง คือ ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสูตร มหาสมยสูตร อนตฺตลกฺขณสูตร อาทิตฺตปริยายสูตร แลมาติกา นี้หมวดหนึ่ง  สวดมนต์ปลาย คือสัททา (สูตรมูลกัจจายนะที่ยังไม่ได้แปล) อภิธมฺมตฺถสงฺคหะแลปาติโมกข์นี้หมวดหนึ่ง  นอกจาก ๓ หมวดนี้ ก็มีเบ็ดเตล็ดตามควร  แต่นัยว่าวิธีที่สวดเหมือนกันทุกบ้านทุกเมือง  ไปไหน ๆ เข้าสวดด้วยกันได้ทั้งนั้นไม่ขัดข้อง และมีกลเม็ดอยู่หน่อยน่านึกคือ เมื่อทำวัตร์เสร็จก็ตั้ง นโม ๓ จบ แล้วก็เริ่มสวดพระพุทธอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคาติ ปฐมพุทฺธวจนํ นิฎฺฐิตํ แล้วก็สวดไปตามเกณฑ์  เมื่อจะจบก็สวดปัจฉิมพุทธวจนะว่า หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว.  วยธมฺมา สํขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติ ปจฺฉิมพุทฺธวจนํ นิฏฺฐิตํ  แล้วก็เลิกกันดังนี้แทบทุกแห่งหน ที่บรรยายมานี้  เพื่อจะให้ส่องเห็นรูปโครงของหลักสูตร ด้วยว่า ผู้ที่จะได้รับสถาปนาในฐานันตรศักดิ์เป็น สำเร็จ เป็น ซา เป็น คู ทั้ง ๓ นี้  น่าจะเป็นผู้ได้เรียนจบหลักสูตรโดยอนุรูปของตน ๆ ทั้งนั้น ก็และผู้ที่จะได้รับฐานันตรศักดิ์เป็น สำเร็จ น่าจะหมายเพียงเรียนจบหลักสูตร อันเป็นบุพพภาคเบื้องต้น คือเรียนสวดมนต์จบ และเรียนมูลกัจจายนะจบทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นเกณฑ์ จะเป็น จัว หรือเป็น เจ้าหัว ก็ตาม เมื่อเรียนจบตามเกณฑ์แล้ว ก็สถาปนาขึ้นเป็น สำเร็จ ได้ทั้งนั้น คือแปลว่าเป็นผู้เรียนสำเร็จตามหลักสูตรเบื้องต้นนั้นเอง จัว กับ เจ้าหัว  เมื่อได้เป็น สำเร็จ แล้ว สำเนียงที่ร้องเรียกสับเปลี่ยนกัน คือถ้าเป็น จัว ใช้คำ สำเร็จ นำหน้า ถ้าเป็น เจ้าหัว ใช้คำ สำเร็จ ไว้หลัง ตัวอย่าง สำเร็จจัว เจ้าหัวสำเร็จ ส่วนนามเดิมใส่ต่อท้ายเพิ่มอีกเช่นว่า สำเร็จจัวทอง เจ้าหัวสำเร็จแก้ว ดังนี้ ฯ

อนึ่งได้ยินว่า ชาวเมืองนครหลวงพระบาง ก็มีการสถาปนาพระสงฆ์ให้ดำรงฐานันตรศักดิ์เป็นสาธุ และชาวเมืองเชียงตุงก็มีการยกย่องพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งเป็น สิทธิ ก็ สาธุ ของหลวงพระบาง และ สิทธิ ของเชียงตุง ก็แปลว่า สำเร็จ เหมือนกันกับของเวียงจันทน์ แต่น่าจะหมายความสำเร็จต่างกัน คือทางหลวงพระบางกับเชียงตุง น่าจะหมาย สำเร็จ ศาสนกิจทั้งปกครองหมู่คณะ ทั้งสั่งสอน ประชาชนพลเมือง จึงเลือกยกย่องแต่ผู้ที่ตั้งอยู่ในเถรภูมิทั้ง ๒ เมือง ส่วนทางเวียงจันทน์น่าจะหมายเพียงสำเร็จ หลักสูตรดังกล่าวแล้วข้างบนนั้น ฯ

๒. คำที่ว่า ซา นี้บางมติเห็นว่ามาจากภาษาจีนซึ่งแปลว่าสาม แต่จะหมายอะไรมองยังไม่เห็น หรือจะหมายกิจที่ได้บรรพชาอุปสมบทแล้วนี้ส่วน ๑  ได้รับศักดิ์เป็น สำเร็จ นี้ส่วน ๑ และได้รับศักดิ์เป็น ซา นี้ส่วน ๑ รวมเป็น ๓ ฉะนี้ แต่เหตุผลไม่สนิท และบางมติเห็นว่า ซา คำนี้มาจากอุปัชฌายะ เว้นแต่พูดทิ้งคำต้น คำปลาย เสียเหลือแต่ ฌา ซ้ำพูด ฌา ไม่ชัดก็กลายเป็น ซา ไป  นี้ดูเหตุผลสนิทดี แต่มีทางที่จะฟังคำนึง เพราะผู้ที่จะเป็นอุปัชฌายะต้องตั้งอยู่ในเถรภูมิ แต่ส่วนนี้ผู้นวกภูมิก็เป็นได้ แม้ที่สุด จัว ก็เป็น ซา ได้ความจริงจะเป็นอย่างไร ขอนักโบราณคดีจงวิจารดูเถิด อันที่แท้น่าจะเป็นอย่างนี้ คือผู้ที่ได้เล่าเรียนหลักสูตรบุพพภาคเบื้องต้นเสร็จจนได้เป็นสำเร็จ แล้วก็มีความพยายามเล่าเรียนขึ้นไปในเบื้องบนจนมีปรีชาสามารถรอบรู้แตกฉานในห้องปิฎกธรรมโดยอนุรูป มีคุณควรเป็นที่เฉลิมพระศาสนาได้ จึงยกย่องให้ดำรงในฐานันตรศักดิ์เป็น ซา ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งนี้ต้องเป็น สำเร็จ มาก่อนทั้งนั้น ถ้าเป็น จัว ก็เรียกว่า ซาจัว ถ้าเป็น เจ้าหัว ก็เรียกว่า เจ้าหัวซา เมื่อหมายคุณเช่นนี้คำที่ว่า ซา ก็น่าจะมาจากคำว่า ปรีชา ซึ่งแปลว่ารอบรู้ เว้นแต่พูดทิ้งคำต้นเสีย เหลือแต่ ชา พูด ชา ไม่ชัด เลยกลายเป็น ซา ไปดังกล่าวแล้วนัยก่อน ฯ

๓. คำที่ว่า คู ก็คือ ครู นั้นเอง ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งนี้ น่าจะเลือกผู้ที่ประกอบด้วยสมบัติ ๒ อย่าง คือเป็นผู้พ้นจากนวกภูมิและมัชฌิมภูมิตั้งอยู่ในเถรภูมิแล้ว เรียกว่ามีวัยสมบัติ และเป็นพหูสูตรได้เล่าเรียนมาก ควรเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนอรรถธรรมแก่กุลบุตต์ได้ ทั้งได้รับศักดิ์เป็น สำเร็จ เป็น ซา มาแล้ว เรียกว่าคุณสมบัติ ที่ประกอบด้วยวุฒิทั้งสองนี้ จึงได้รับยกย่องเป็น เจ้าหัวคู ก็คือควรเป็นครูผู้สั่งสอนนั่นเอง ความจริงผู้ที่จะได้รับตำแหน่ง สาเร็จ ซา คู ทั้ง ๓ นี้ เมื่อเจ้าภูมิปาละยังดำรงเป็นเจ้าของอยู่นั้น น่าจะต้องเล่าเรียนจบหลักสูตรตามกฎเกณฑ์ หรืออาจมีการสอบเสงเสียก่อนแล้วจึงได้ ครั้นมาภายสร้อย ราษฎรเป็นเจ้าของ การยกย่องให้เป็น สำเร็จ ซา คู ก็แล้วแต่มติของราษฎรในถิ่นนั้น ๆ จัดไปโดยความเห็นของตน ๆ ที่เห็นว่าสมควร ไม่มีเกณฑ์ที่จะเลือกหาผู้ประกอบด้วยวุฒิธรรมมาตั้งแต่งเมื่อเป็นเช่นนั้นวิธีก็เรียวลง การตั้งแต่งก็กลายเป็นวิธีทำบุญไป ความจริง ที่รักษาภาพมาได้ก็น่าจะเป็นเพราะกลายมาเป็นวิธีทำบุญนั้นเอง ฯ

๔. คำที่ว่า ฝ่าย นี้เป็นตำแหน่งสำหรับผู้ปกครองหมู่ส่วน ๑ ผู้ที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ย่อมเป็น เจ้าหัวคู มาก่อน คือเป็นผู้สามารถในอันสั่งสอนและคุ้มครองสงฆ์ตลอดประชาชนพลเมือง ให้ดำเนินไปสู่สัมมาจารีอันดีงาม จึงได้รับยกย่องให้เป็น เจ้าหัวคูฝ่าย ตำแหน่งนี้น่าจะอนุโลมตามที่ฝ่ายบ้านเมืองจัดการปกครองชนบท คือ จัดให้มีเจ้าหน้าที่เรียกว่า ท้าวฝ่ายและตาแสง ปกครองราษฎรเป็นส่วน ๆ เทียบเหมือนกำนันหรือนายตำบลทุกวันนี้ เจ้าหัวคูฝ่ายน่าจะเทียบเท่าตำแหน่งท้าวฝ่าย ต่างแต่ว่าส่วนหนึ่งคุ้มครองสงฆ์ ส่วนหนึ่งคุ้มครองราษฎรน่าจะเหมือนเจ้าคณะหมวดกับนายตำบลในบัดนี้

๕. คำที่ว่า ด้าน นี้ก็เป็นตำแหน่งสำหรับผู้ปกครองหมู่ส่วนหนึ่ง ดุจกันกับตำแหน่งฝ่าย แต่จะมีอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไรนั้น ไม่ทราบแน่ สังเกตรูปโครงเกือบเป็นอันเดียวกัน เมื่อยังไม่ได้คิดว่าจะแต่งเรื่องนี้ ที่จังหวัดอุบลราชธานียังมีภาพปรากฎอยู่ เสียดายที่ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ ให้รู้จักเหตุผลไว้ แต่เมื่อมามองคืนไปดูภาพที่เป็นอยู่ ในเวลานั้น คือเจ้าหัวคูด้าน อยู่ที่วัดทุ่งเบื้องปัจฉิมทางตำบลชีทวน เจ้าหัวคูฝ่าย อยู่ที่วัดพระแก้วเบื้องบูรพ์ทางตำบลดอนมดแดง  เมื่อเช่นนี้ ด้าน กับ ฝ่าย นำให้เห็นเป็นอย่างเดียวกัน ได้สืบดูบางเมืองก็มีแต่เจ้าหัวคูด้าน นี้ก็ส่อให้เห็นว่า ถ้ามีตำแหน่งหนึ่งแล้ว อีกตำแหน่งหนึ่งไม่ต้องมีก็ได้ หรือจะว่า ด้าน เทียบกับ แขวง “ฝ่าย” เทียบกับ หมวด ดูก็เข้าท่าเข้าที แต่เห็นว่าอาจเหลือวิสัย เพราะรูปโครงการปกครองทุกส่วนในครั้งกระโน้น ยังไม่แสดงรูปว่าจะเป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้นักโบราณคดีจงวิจารดูเถิด

๖. คำที่ว่า หลักคำ นี้ น่าจะหมายว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ เปรียบด้วยหลักที่หล่อด้วยทองคำเป็นของที่มั่นคงแน่นหนาไม่คลอนแคลน ผู้ที่จะได้ดำรงในตำแหน่งนี้ ต้องเป็นผู้มีธรรมเป็นหลัก หวังจักมั่นคงในอันประกอบศาสนกิจ จึงจะได้รับยกย่องเป็น เจ้าหัวคูหลักคำ ตำแหน่งนี้เทียบกับเจ้าคณะจังหวัดในบัดนี้ไม่มีผิด เพราะเมืองหนึ่ง ย่อมมีได้แต่รูปเดียวดุจกัน แม้ถึงราษฎรบางเหล่าร้องเรียกเจ้าคณะจังหวัดว่า เจ้าหัวคูหลักคำก็มี บางเหล่าเรียกว่า เจ้าหัวคูหลวง ก็มี  ที่ร้องเรียกคำหลังนี้น่าจะมีความหมายว่าได้รับตั้งแต่งมาจากในหลวงนั้นเอง ฯ

๗. คำที่ว่า ลูกแก้ว นี้ก็เป็นตำแหน่งส่วนหนึ่ง ไม่แน่ว่าจะมีชั้นภูมิเพียงไร เรื่องนี้ได้วิจารมานาน เห็นว่าเป็นตำแหน่งรอง ที่ควรรับมรดกจากท่านที่เป็นสังฆบิดร เหมือนลูกอันควรรับมรดกจากบิดาฉะนั้น เดิมตำแหน่งนี้น่าจะมีแต่ในเมืองเวียงจันทน์แห่งเดียว ผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนี้ ก็น่าจะเลือกผู้สามารถในศาสนกิจ มีคุณควรเป็นศาสนทายาทของท่านที่เป็นสังฆนายกได้ จึงได้รับยกย่องเป็น เจ้าหัวคูลูกแก้ว ครั้นมาภายหลังได้เห็นบางเมืองนำมายกย่องกันขึ้นก็มี ฯ

๘. คำที่ว่า ยอดแก้ว นี้ เป็นตำแหน่งที่สูงสุด คือเป็นสังฆนายก ประกอบด้วยคุณสมบัติและวัยสมบัติ ทั้งเป็นครุฐานียบุคคลผู้ควรเคารพยำเกรงของสังฆมณฑลแลเจ้าภูมิปาละพสกนิกรตลอดแคว้น จึงสถาปนาขึ้นให้เป็น เจ้าหัวคูยอดแก้ว เพื่อเป็นยอดเป็นจอมเป็นที่เฉลิมพระศาสนา ฯ เฉพาะมีอยู่ แต่เมืองเวียงจันทน์แห่งเดียว ฯ

ก็และรูปที่ปรากฎชื่อในพงศาวดารภาคอีสานว่า พระครูโพนสเม็ด นั้น นัยว่าท่านก็เป็นเจ้าหัวคูยอดแก้ว องค์หนึ่ง ท่านอยู่ที่วัดโพนสเม็ด ประชุมชนจึงร้องเรียกท่านตามนามวัดว่า เจ้าหัวคูโพนเสม็ด ดังได้ยินว่าปางหนึ่งในเมืองเวียงจันทน์เกิดยุคเข็ญไม่มีสำราญ ท่านจึงพาญาติโยมผู้ที่ร่วมฉันทะหนีไปอาศัยอยู่ในเขตต์กรุงกัมพูชา ต่อมามีเหตุให้ไม่เป็นที่พึ่งใจในที่นั้นอีก จึงได้พาญาติโยมถอยกลับคืนมาอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ ประชุมชนในที่นั้นก็นับถือเป็นอย่างยิ่ง จนถึงร้องเรียกท่านโดยฐานเป็นที่นับถือว่า เจ้าหัวคูขี้หอม ในอวสานท่านก็มรณภาพในนครจำปาศักดิ์นั้นเอง ประชุมชนมีเจ้าผู้ครองนครเป็นประธาน ได้พร้อมกันทำฌาปนกิจเป็นการใหญ่ตามประเพณีนิยม แล้วจึงก่อธาตุครอบกรวมลงในที่ทำฌาปนกิจนั้น แล้วก็ตั้งให้เป็นวัด เรียกว่าวัดธาตุเจ้าหัวคูขี้หอมมาจนทุกวันนี้ ส่วนอัฐิของท่านนั้น เจ้าผู้ครองเมืองให้นำขึ้นไปก่อธาตุบรรจุไว้ในบริเวณแห่งธาตุพนมแขวงจังหวัดนครพนม ยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ฯ

ก็แลฐานันตรศักดิ์ที่บรรยายมานี้ เห็นว่าเป็น ๒ อย่าง คือ ฝ่ายปริยัติ ๑ ฝ่ายบริหาร ๑ ตำแหน่ง สำเร็จ ซา คู เป็นพวกปริยัติ เหลือนอกนั้นเป็นพวกบริหาร ฯ



ขอขอบคุณ
- เพจพระพุทธศาสนา (ที่มาเรื่อง)
- เว็บไซต์ ๑๐๘ พระเกจิ (ที่มาภาพ)