[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 มกราคม 2565 15:56:41



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๖๘ จุลลธนุคคหชาดก : บัณฑิตอวดกล้า
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 มกราคม 2565 15:56:41

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๖๘ จุลลธนุคคหชาดก
บัณฑิตอวดกล้า

          ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่งไปศึกษาวิชาศิลปศาสตร์อยู่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในเมืองตักสิลา เขาเป็นคนเก่งกล้าสามารถเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษจึงประสบความสำเร็จในวิชายังธนู ฝีมือของเขาเท่ากับอาจารย์เลยทีเดียว จึงได้รับฉายาจากอาจารย์ว่า จุลลธนุคคหบัณฑิต แปลว่า บัณฑิตน้อยผู้ถือธนู
          อาจารย์พอใจจุลลธนุคคหบัณฑิตมาก จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย 
          ทั้งสองอยู่ด้วยกันที่บ้านอาจารย์ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ลาอาจารย์เดินทางกลับบ้าน จุลลธนุคคหบัณฑิตคิดจะสร้างครอบครัวและสร้างชื่อเสียงให้เกรียงไกรในยุทธภพเลยทีเดียว
          ขณะเดินทางนั้นได้ฟังเรื่องราวจากชาวบ้านว่ามีช้างดุร้ายตัวหนึ่ง อาศัยอยู่อีกทางหนึ่งซึ่งผู้คนไม่ค่อยเดินผ่านไปมามากนัก ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางขึ้น แต่บัณฑิตจะใช้เส้นทางลง เพราะเป็นคนชอบลองดี จึงพาภริยาไปทางนั้น แล้วก็พบช้างดุร้ายตัวนั้นเข้าพอดี พอเห็นช้างเท่านั้นแหละเขาก็ยกธนูขึ้นเล็งไปที่กระพองช้าง เหนี่ยวเต็มแรงแล้วปล่อยลูกศรออกไป ช้างโดนลูกศรอาบยาพิษจึงล้มทั้งยืน ไม่นานก็ตาย
          ทางข้างหน้าจะมีพวกโจรอาศัยอยู่ ชาวบ้านต่างพากันห้ามไม่ให้เขาเดินไปทางนั้น แต่บัณฑิตก็ไม่ฟัง พาภริยาเดินผ่านดงไป จนถึงรังโจรเห็นพวกโจรกำลังย่างเนื้อกินกันอยู่ จึงใช้ภริยาไปขอเนื้อมากิน หัวหน้าโจรเอาเนื้อดิบให้ แต่บัณฑิตไม่พอใจอยากกินเนื้อสุก เกิดการทะเลาะกับโจรเข้า จึงใช้ธนูยิงโจรตาย ๔๙ คน เหลือเพียงหัวหน้าโจรคนเดียว เนื่องจากเขาได้ใช้ลูกธนูยิงช้างไปแล้วหนึ่งดอก จึงไม่มีธนูเหลือให้ยิงอีก จึงใช้วิธีเตะโจรล้มลง บอกให้ภริยาส่งดาบให้ตั้งใจจะฟันโจรให้ตายในดาบเดียว แต่ภริยาบัณฑิตเกิดหลงใหลโจรเข้า กลับส่งดาบให้โจร นายโจรใช้ดาบฟันบัณฑิตจนตายทันที จากนั้นโจรก็เอาภริยาเขาไปเป็นเมีย
          โจรแปลกใจจึงถามนางว่า “เป็นลูกใครกันหรือ”
          นางตอบว่า “เราเป็นลูกสาวของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในเมืองตักสิลา”
          “เธอมาเป็นภริยาของชายผู้นี้ได้อย่างไรกัน” โจรถาม
          “พ่อของเราเห็นว่าบัณฑิตมีฝีมือในการยิงธนู หาใครเทียบไม่ได้พ่อจึงยกเราให้ แต่ตอนนี้เรารักท่าน อยากเป็นเมียท่าน”
          นายโจรนึกในใจ ขนาดสามีที่พ่อเลือกให้นางยังกล้าให้เราฆ่าเลย อีกหน่อยเราก็คงโดนฆ่าเหมือนกัน จึงคิดหาทางทิ้งนางตั้งแต่ตอนนี้เสียดีกว่า ก่อนที่จะถูกฆ่าตาย
          เมื่อเดินผ่านแม่น้ำ โจรจึงบอกนางว่า “แม่นาง ในแม่น้ำมีจระเข้ดุร้ายมาก เราจะข้ามไปได้ยังไงถึงจะมีชีวิตรอดได้”
          นางตอบว่า “เอาอย่างนี้ ให้ท่านเอาผ้าห่อเครื่องประดับของมีค่าของเราข้ามไปฝั่งโน้นก่อน แล้วค่อยกลับมารับฉัน”
          โจรถือห่อเครื่องประดับข้ามไปได้แล้วก็ทิ้งนางไว้ที่นั่น แล้วก็รีบหนีไปพร้อมกับสมบัติ นางร้องเรียกให้เขากลับมารับก่อน แต่โจรก็ยังไม่ฟังยังตอบกลับว่า “ขนาดสามีเจ้าที่เป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกัน นางยังทำกับเขาได้ ต่อไปถ้านางเจอคนใหม่ดีกว่าเรา คงจะทิ้งเราไป ฉะนั้น เราขอหนีไปให้ลิบลับเลยทีเดียว”
          นางเสียใจมาก ได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร   
          เทวดามองเห็นพฤติกรรมมาตลอด คิดอยากสั่งสอนนางให้รู้สึกสำนึกตน จึงให้เทวดามาตลีแปลงเป็นปลา และเทวดาปัญจสิขะแปลงเป็นนก ส่วนอีกองค์แปลงเป็นสุนัขจิ้งจอกคาบชิ้นเนื้อ แล้วแสดงให้นางดู
ปลากระโดดขึ้นมาที่หน้าสุนัขจิ้งจอกซึ่งคาบชิ้นเนื้ออยู่ สุนัขจิ้งจอกทิ้งเนื้อแล้ววิ่งไปงับปลา แต่ปลากระโดดหนีลงน้ำ ขณะนั้นนกก็บินมาโฉบเอาเนื้อไป สุนัขจิ้งจอกอดทั้งเนื้ออดทั้งปลา นั่งซึมเศร้าร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางเห็นสุนัขจิ้งจอกถูกความอยากเข้าครอบงำ อดกินทั้งปลาและเนื้อ จึงหัวเราะขึ้น
          “ใครกันหัวเราเสียงดังอยู่แถวนี้” สุนัขจิ้งจอกถาม
          นางตอบว่า “สุนับจิ้งจอกเอ๊ย! ปลาก็ไม่ได้กิน เนื้อก็อดกิน ต้องมานั่งซึมเศร้าเสียใจ เจ้าช่างเป็นสัตว์ไร้ปัญญาเสียจริงๆ”
          สุนัขจิ้งจอกตอบกลับว่า “โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนมองไม่เห็นเลย เจ้านั่นแหละอดทั้งสามีและชายชู้ ซึมเศร้ายิ่งกว่าเราเสียอีก”
          นางพูดตอบว่า”ที่เจ้าพูดก็จริงนะ ต่อแต่นี้ไปเราจะเป็นคนรักเดียวใจเดียวอย่างแน่นอน”
          เทวดากล่าวว่า “ผู้ที่เคยขโมยมาแล้ว ก็ยังขโมยอยู่วันยังค่ำ เจ้าเคยชั่วมาแล้ว หรือเจ้าจะทำชั่วอีกไม่ได้ ว่าแล้วเทวดาก็หายตัวไปอย่างลึกลับ

 
นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นได้ยาก””
“คนทำชั่ว ย่อมทำชั่วได้อีก”


พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺสสํ
โทษคนอื่นเห็นง่าย แต่โทษตนเองเห็นยาก (๒๕/๔๐)