[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 14 มกราคม 2565 13:13:24



หัวข้อ: การดื่มชาของคนไทย ในหลักฐานฝรั่งมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 14 มกราคม 2565 13:13:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48548397877150_tae_696x464_Copy_.jpg)

การดื่มชาของคนไทย ในหลักฐานฝรั่งมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา

ที่มา - พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย
ผู้เขียน -1ดร.สุรีย์ ภูมิภมร
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ.2565


ในบรรดาเครื่องดื่มของสัมคมมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่มีเครื่องดื่มอะไรที่เป็นที่นิยมชมชอบของมนุษย์ได้มากเท่า “ชา” ชานับเป็นเครื่องดื่มอันดับ 2 รองจาก “น้ำเปล่า”

โดยมีการดื่มชาวันละ 800 ล้านถ้วย ในบรรดานักดื่มชาทั่วโลก แม้เอกสารส่วนใหญ่จะเห็นว่าการดื่มชานั้นเริ่มขึ้นในประเทศจีนเมื่อ 2,153 ปี ก่อนพุทธศักราช แต่ผู้ผลิตชารายใหญ่ที่สุดในโลกกลับเป็นอินเดีย

สำหรับประเทศไทย มีการนำเข้าชาเข้ามาเมื่อไหร่ยังไม่เด่นชัด หลักฐานในศิลาจารึกก็ไม่ปรากฎ ในช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีนเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น น่าจะมีการดื่มชากันมากแล้ว

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จดหมายเหตุของท่านลาลูแบร์ ในปี พ.ศ.2230 พูดถึงการดื่มชาในสยามประเทศ ชามีให้ดื่มกันเฉพาะในเมืองหลวง ช่วงนั้นคนไทยรู้จักดื่มชากันแล้วและชอบชงน้ำชารับแขก

กรุงสยามมีชา 2-3 ชนิด คือ ชาชะป่วย ฤาชาป่วย และชาซอมพูล คนสยามมีกาบอลิซึ่งเป็นกาทองแดงข้างในบุด้วยตะกั่ว เป็นกาที่ผลิตในญี่ปุ่น ใช้ต้มน้ำครู่เดียวก็เดือด เดี๋ยวนี้กลายเป็นของเก่า แต่ที่สแกนดิเนเวียยังนิยมใช้กันอยู่

คนสยามใช้กาดินเหนียว จะต้องใช้น้ำร้อนราดกาก่อน เอาชามาหนึ่งหยิบมือ แล้วเทน้ำร้อนลงไปให้โชกชา ใช้น้ำร้อนราดกาต่อไปอีก ในการรินน้ำชาจะรินลงไปในจอกสักครึ่งจอก หากชาที่ชงแก่เกินไปก็เติมน้ำร้อนลงไป หากน้ำชาไม่แก่นักก็เติมชาลงไป คุยกันไป ดื่มกันไป ชงชากันไป

ตามบันทึกในจดหมายเหตุนี้จะเห็นว่า ลักษณะของการดื่มชาของคนไทยในสมัยนั้นเหมือนการดื่มชาแบบจีนนั่นเอง ท่านลาลู แบร์ยังเขียนอีกว่าคนสยามไม่ใส่น้ำตาลในชา ดื่มชาร้อนๆ แบบคนจีน การปฏิเสธไม่ดื่มชาในสยามถือว่าไม่มีมารยาท ต้องนั่งดื่มกันเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ


บาทหลวง เดอ ชวาสี ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในไทย ได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2228 ว่า ได้ไปเสาะหาชาดีในตลาดมาเก็บไว้ชงดื่ม ได้รับชาอย่างดีเป็นชาที่คนจีนนําถวายฮ่องเต้ รู้สึกดีใจมาก เพราะชาอย่างนี้ไม่อาจจะหาได้ในตลาดทั่วไป แสดงว่าในสมัยนั้นได้มีการดื่มชากันมากแล้ว และผู้มีรสนิยมสูงในการดื่มชาจะเสาะหาชาดีมาดื่ม

ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่จําเป็นในสังคมไทยปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการสั่งชาเข้ามาจําหน่ายเป็นจํานวนมากก็ตาม แต่การปลูกชาใน ประเทศไทยก็ได้ดําเนินการมานานพอสมควร แหล่งชาเก่าๆ ดูได้จาก ด้านชาเก่าแก่สูงอายุ ที่สามารถพบเห็นได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ เข้าใจว่าชาวเขาเป็นผู้ปลูกชาเหล่านี้

การปลูกชายุคใหม่ของไทยเกิดขึ้นจากการบุกเบิกของคนไทยอย่าง นายประสิทธิ พุ่มชูศรี และนายประธาน พุ่มชูศรี ที่เชียงดาว นอกจากนั้นก็ยังมี นายพร เกียวการค้า และนายพ่วง สุวรรณธาดา ที่ฝาง รวมทั้งป๋าซุง ที่บ้านแม่สลอง

การปลูกชายุคใหม่ปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ โดยผลิตที่อําเภอแม่แตงปีละ 290 ตัน (ชาสยาม, ใบชาสุริยา, ชาบุญประธาน, ชาแม่ลา, ชาทองเจริญ) ผลิตที่อําเภอเมืองปีละ 277 ตัน (ชาระมิงค์, ชาศิริพืชผล, ใบชาทวีคุณ) ผลิตที่อําเภอดอยสะเก็ดปีละ 125 ตัน (ชาพนัสพัฒน์, ชาสถิตย์พร, ชาเชียงใหม่, ชาหอม, ชาชูกิจ, ชาเฉลิมศรี, ชาดอยสะเก็ดป่าเมี่ยง, ชารุ่งบูรพา) ผลิตที่อําเภอฝางปีละ 108 ตัน (ชาถาวร, ชาร้านค้าชาวเขา) ยังมีการ ผลิตที่อําเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 120 ตัน (ชาแสงไทย, ชาแม่ สลอง) นอกจากนี้ยังมีการปลูกเป็นปริมาณน้อยที่แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ ลําปาง ตาก