[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 18 มกราคม 2565 09:55:57



หัวข้อ: 18 มกราคม วันยุทธหัตถีของพระนเรศวร และวันกองทัพไทยที่เปลี่ยนมาจาก 25 ม.ค.
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 มกราคม 2565 09:55:57

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91758644870585_EEE_1024x653_Copy_.jpg)
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา”
จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี



18 มกราคม วันยุทธหัตถีของพระนเรศวร และวันกองทัพไทยที่เปลี่ยนมาจาก 25 ม.ค.
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ.2565

หนึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นที่จดจำของชาวไทย คือเหตุการณ์ “ยุทธหัตถี” ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ.2135 อันถือเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่ซึ่งปรากฏในหน้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตให้ได้ต้องสืบค้นกันมาต่อเนื่อง

เนิ่นนานมาแล้วที่วันที่ 18 มกราคม ถูกนักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า ควรเป็นวันยุทธหัตถีที่พระองค์ได้รับชัยชนะ มากกว่าวันที่ 25 มกราคมที่เคยยึดเป็นวันกองทัพไทยมาก่อน (มาเปลี่ยนเป็น 18 มกราคม เมื่อ พ.ศ.2549 ช่วงเวลานั้นมีข้อถกเถียงในประเด็นวันที่เกิดเหตุการณ์ยุทธหัตถีว่าเกิดในวันที่ 18 มกราคม หรือวันที่ 25 มกราคม ตามการคำนวณที่แตกต่างกัน และยังมีข้อถกเถียงไปจนถึงเรื่องสถานที่เกิดเหตุการณ์ว่าอยู่ที่ใดกันแน่ ระหว่างหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี กับตำบลตระพังตรุ จังหวัดกาญจนบุรี

ในพงศาวดารของพม่ากลับมีความแตกต่างไปจากในประวัติศาสตร์ไทย ดูได้จาก “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ฉบับนายต่อ แปล ตอนพระเจ้าหงษาวดีทำศึกกับไทย แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งแต่ จุ. 908 จนถึง 1095 ที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การสวรรคตของพระมหาอุปราชา ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน 10 จุลศักราช 955 (กันยายน พ.ศ.2136) ไว้ว่า “…เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา กระสุนก็ไปต้องพระมหาอุปราชา ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละพันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป”

ในพงษาวดารพม่าดังกล่าวยังกล่าวต่อหลังจากที่พระมหาอุปราชาว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้นจนต้องถอยทัพกลับไปตั้งมั่นที่เมือง เนื่องจากพระอนุชาทั้ง 3 ของพระมหาอุปราชาร่วมกันตีทัพของพระนเรศวรจนแตก

อีกทั้งในบทความของ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า” ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤษภาคม 2561 ได้อ้างอิงเนื้อหาพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาตอนหนึ่งซึ่งมีใจความบอกเล่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกับในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ แปล ในส่วนว่า ทหาร(องครักษ์) ของสมเด็จพระนเรศวรยิงสวนใส่เข้ามา กระสุนถูกสมเด็จพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ซบคอช้าง แต่วันที่เกิดเหตุและปีที่เกิดเหตุระบุแตกต่างกัน คือวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1592 (พ.ศ.2135)

โดย ศ.ดร.สุเนตร ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า “ภาพความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับสงคราม คือภาพสะท้อนอันเป็นจารีตธรรมเนียมนิยมของการทำสงครามรูปแบบเก่า คือการรบแบบตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือ ปืนไฟ”

อาจกล่าวได้ว่า การทำยุทธหัตถีทั้งจากประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์พม่า ต่างเล่าเรื่องที่แตกต่างกันในรายละเอียด แสดงให้เห็นว่าบทบาทของประวัติศาสตร์ ต่างฝ่ายต่างเขียนแบบฉบับของตน เช่นเดียวกับมุมมองของแต่ละคนที่อาจต่างหรือคล้ายคลึงกัน

และไม่ว่าวัน เวลา  สถานที่ หรือเหตุการณ์จะต่างกัน แต่ข้อมูลที่พอมีน้ำหนักคือ เหตุการณ์การทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชนั้น เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น (เมื่อพิจารณาจากหลักฐานการบอกเล่าต่างๆ ที่สอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย) อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดแล้วยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/70327200202478__2_1024x508_Copy_.jpg)
จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ตอน ยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุทธยา


อะไรทำให้ “เข้าใจผิด” ว่า “วันยุทธหัตถี” ตรงกับวันที่ “25 มกราคม” พ.ศ. 2135
ผู้เขียน - เมฆา วิรุฬหก
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2564


วันกองทัพไทย ซึ่งทางการไทยให้ยึดเอาวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเป็นวันเฉลิมฉลองกิจการของกองทัพนั้น เคยใช้วันที่ 25 มกราคม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เพิ่งจะมีการเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 18 มกราคม ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีขึ้นในปี พ.ศ.2549 นี่เอง

แต่ความจริง นักวิชาการได้ติดตามทักท้วงการยึดเอาวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 เป็นวันยุทธหัตถีว่าเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ดังที่ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชรท่านเล่าว่าได้อ่านหนังสือเถลิงศก 5285 ปี ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว ในปีดังกล่าว ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “เพราะการอ้างอย่างผิดหลักวิชาของนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ และทางราชการกลาโหมเอาไปใช้เป็นวันกองทัพบก ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นที่ถูกดูหมิ่นจากชาวต่างประเทศทั่วโลกว่า คนไทยแม้แต่วันประวัติศาสตร์ก็ยังคิดไม่ถูก แล้วจะทำอะไรได้”

และอีกตอนหนึ่งว่า “วันชนช้างตามประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตามกฎเกรกอเรี่ยนแบบอังกฤษ คือวันที่ 8 มกราคม ไม่ใช่วันที่ 25 มกราคม ตามที่นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ อ้างแก่ทางราชการกลาโหมแน่ เพราะผิดทั้งกฎสุริยยาตร์ กฎเกรกอเรี่ยน”

ด้วยเหตุนี้อาจารย์ล้อมจึงเห็นว่า วันกระทำยุทธหัตถีเป็นเรื่องที่จะต้องนำมาถกเถียงให้กระจ่างกันเสียที โดยท่านได้นำเอาวันที่ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ที่นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่ามีการบันทึกลำดับเหตุการณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุดมาเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งพงศาวดารฉบับนี้ได้ระบุเอาไว้ว่าวันยุทธหัตถีตรงกับ วันจันทร์เดือนยี่แรมสองค่ำ ของ ปีมะโรง จุลศักราชที่ 954

วิธีการหาวันที่ตามบันทึกเดิมให้ตรงกับปฏิทินปัจจุบันนั้น อาจารย์ล้อมกล่าวว่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือการทำปฏิทินเทียบวันเดือนปีของจันทรคติและสุริยคติขึ้นมา ก็จะรู้ได้ว่า เดือนยี่แรมสองค่ำนั้นตรงกับวันจันทร์หรือไม่ และตรงกับวันที่เดือนใดในระบบสุริยคติ

และจากการคำนวณของอาจารย์ล้อมพบว่า วันยุทธหัตถีตามบันทึกของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐแท้จริงแล้วตรงกับวันที่ 18 มกราคม ตามปฏิทินปัจจุบันที่เป็นระบบเกรกอเรี่ยน แต่หากไปเทียบกับปฏิทินแบบเก่าที่เป็นระบบจูเลี่ยนก็จะตรงกับวันที่ 8 มกราคม ตามที่อาจารย์ทองเจือได้คำนวณไว้

ส่วนวันที่ 25 มกราคมในปีเดียวกันนั้น ตรงกับวันจันทร์เช่นกันแต่เป็นวันแรม 9 ค่ำ คลาดเคลื่อนไป 7 วัน หาใช่วันยุทธหัตถีไม่

ซึ่งสุดท้ายข้อมูลตามที่อาจารย์ล้อมได้เคยเสนอไว้ก็ได้รับการยอมรับจากทางกองทัพ แม้จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานไปสักนิด โดยทางกระทรวงกลาโหมได้ยื่นเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม มาเป็น 18 มกราคม และทางคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ถือตามข้อเสนอดังกล่าว ตามมติลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนการรัฐประหารในปีเดียวกัน