[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 19 มกราคม 2565 14:27:13



หัวข้อ: “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก"
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 19 มกราคม 2565 14:27:13
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19089366826746__Copy_.jpg)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

“ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์”
จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก”

เผยแพร่ – ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ.2565

ในบรรดาขุนนางของราชสำนักสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ปรากฏในบันทึกและการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ว่าเป็นผู้มีอำนาจในวงราชการแผ่นดิน ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทในด้านราชการของขุนนางคนสำคัญในราชสำนักไทยมีบันทึกไว้มากมาย แต่หากจะเอ่ยถึงเรื่องราวหลังม่านวงราชการอาจต้องไปค้นจากหลักฐานอื่น และที่น่าสนใจคือข้อมูลซึ่งปรากฏในบันทึกของแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonovens) สตรีต่างชาติที่เข้ามารับหน้าที่ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ซึ่งบันทึกหลากหลายเรื่องราวในราชสำนักเอาไว้

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กำเนิดในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ช่วง พ.ศ.2351 หลังจากการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็รับราชการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยความอาวุโสและตำแหน่งทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กลายเป็นขุนนางที่มีอิทธิพลและอำนาจอย่างมาก โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 รับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ถือว่ามีอำนาจมากในราชการแผ่นดินแทบจะเรียกได้ว่าผูกสิทธิ์ขาดในราชการทั้งหลายเอาไว้ก็ว่าได้ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับต่างชาติมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยามทรงหาครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนพระโอรสพระธิดาให้ได้เตรียมตัวรับมือกับตะวันตก ในช่วงเวลานั้นเอง แอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีลูกผสมที่เกิดในอินเดีย เกิดมาในสถานะเด็กยากจนเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ.1862 พร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ (บางแห่งว่า 7 ขวบ) มารับงานเป็นครูพี่เลี้ยงในราชสำนักสยาม

ในระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่แหม่มแอนนาใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของราชสำนักสยาม นอกจากมีโอกาสให้การศึกษากับเจ้าจอมและพระราชโอรสและพระธิดาของพระองค์ หรือแม้แต่ความใกล้ชิดกับราชสำนักฝ่ายอันมีหลักฐานจากจดหมาย 8 ฉบับที่ “คิงมงกุฎ” เขียนถึงแอนนาย่อมเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่บ่งบอกในแง่สถานะของแอนนาได้อย่างชัดเจน

ภายหลังเดินทางออกจากสยามเมื่อ ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) แอนนาจึงนำ “ประสบการณ์” มาบันทึกลงในผลงานอย่างเช่น “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem

หนังสืออันอื้อฉาวของแหม่มแอนนาไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่จนถึงทุกวันนี้ ผลงานของแอนนายังถูกวิจารณ์ว่ามีหลายส่วนที่เขียนเกินจริงไป การอ่านบันทึกของบุคคลในอดีตที่มีลักษณะผสมข้อมูลเชิงประจักษ์เข้ากับความคิดเห็นส่วนตัวย่อมต้องระมัดระวัง แต่องค์ประกอบบางอย่างของหลักฐานที่เป็นบันทึกลักษณะนี้ อย่างน้อยยังสะท้อนบริบทและบรรยากาศโดยรวมเป็นข้อมูลประกอบการอ้างอิงกับหลักฐานชิ้นอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องเกร็ดหลังม่านภารกิจหน้าที่อย่างเป็นทางการ


(The English Governess at the Siamese Court
ในบันทึกฉบับหนึ่งที่สร้างชื่อให้แหม่มแอนนา คือ “(The English Governess at the Siamese Court” บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึกเกี่ยวกับสยามเล่มแรกของแอนนา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) หลังจากเธอออกจากสยามไปแล้ว 3 ปี สิ่งที่บอกเล่าผ่านบันทึกมีแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้งจากการรับรู้ของแอนนาเอง จากการค้นคว้าเพิ่มเติม และจากการบอกเล่าของบุคคลอื่น

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมีพูดถึงแง่มุมหนึ่งของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในแง่บรรยากาศในวัง และความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตของท่าน ช่วงที่แอนนา เอ่ยถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เริ่มขึ้นมาจากช่วงหลังเชิญภิกษุ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ขึ้นสู่บัลลังก์แล้ว แอนนา เล่าว่า เหตุการณ์นี้ “ทำลายความหวังลับๆ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้เป็นมหาเสนาบดีคนปัจจุบันจนไม่เหลือดี”

แอนนา ถึงกับเล่าเหตุการณ์ในวัน “เถลิงราชย์” ที่เธอนิยามว่า “ไม่มีชาวพื้นเมืองคนใด ไม่ว่าเจ้านายหรือชาวไร่ชาวนากล้าเสี่ยงพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย” ข้อความที่แอนนา เล่ามีว่า “ในวันเถลิงราชย์ มหาเสนาบดีหลบไปเก็บตัวอยู่ในเรือนด้วยความโทมนัสและทุกข์ใจอยู่ 3 วัน ในวันที่ 4 มหาเสนาบดีในเครื่องแบบราชสำนักพร้อมบริวารติดตามจำนวนมากมาปรากฏตัวร่วมงานเฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชวัง

กษัตริย์หนุ่มทรงปัญญาผู้มีบุคลิกแบบผู้ทรงศีลซึ่งรับรู้กลซ่อนเร้นมากมายในราชสำนัก เป็นฝ่ายเข้ามาทักทายเขาด้วยเป้าหมาย 2 ชั้น ทั้งเพื่อซื้อใจและทดสอบความจงรักภักดีของบุตรชายผู้คับข้องใจและสองจิตสองใจของสมเด็จองค์ใหญ่ผู้จงรักภักดี พระองค์แต่งตั้งเขา ณ ที่นั้นให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพภายใต้ทินนามว่าพระยาพระกลาโหม”

แอนนา แสดงความคิดเห็นว่า “เกียรติยศที่ได้รับยกย่องนี้แม้จะไม่ได้ลวงล่อให้เขาสิ้นความขุ่นเคืองได้ทันทีทันใด แต่ก็ช่วยหันเหความเพ้อฝันอันตรายของเขาไปสู่ความกระตือรือร้นในหน้าที่และเขาก็ค้นพบหนทางปลอดภัยเพื่อระบายความรำคาญใจให้แปรเป็นความทุรนทุรายที่มีประโยชน์…”

เห็นได้ว่า แอนนาบอกเล่าสภาพอารมณ์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะที่บรรยากาศในช่วงรัชกาลที่ 4 นั้น เป็นที่ทราบกันว่า มีความกังวลเรื่องคิดการกบฏเพื่อแย่งชิงราชสมบัติดำเนินมาตลอดรัชกาลที่ 4 อย่างไรก็ตาม ไกรฤกษ์ นานา ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่คร่ำหวอดในวงวิชาการแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่ปรากฏว่ารัชกาลที่ 4 ทรงปักพระทัยเชื่อว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้ต้องสงสัย จึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นปกติต่อท่านเรื่อยมา และไม่เคยลิดรอนอำนาจของท่านลงแม้แต่น้อย เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ ถึงกระนั้นก็ทรงไม่สามารถลบล้างความกินแหนงแคลงใจให้สูญสิ้นไปได้”

ในบรรยากาศความสัมพันธ์แบบไม่แน่ชัดนี้ แหม่มแอนนา เสริมด้วยว่า “หลังจากเขาปรับเปลี่ยนรูปแบบและสร้างกองทัพให้สมบูรณ์ได้แล้ว เขาก็กลับสู่สภาพอารมณ์ซึมเศร้าจนผิดปกติ ซึ่งถูกกระตุ้นอีกครั้งโดยกษัตริย์ผู้เป็นนายเหนือหัวที่เชิญเขามาร่วมบริหารรัฐบาลพลเรือนในตำแหน่งสูงสุด นั่นคือมหาเสนาบดี เขาตอบรับและนับจากนั้นก็แสดงความสามารถในการบริหารจัดการกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ สานความร่วมมือจากขุนนางทั้งปวง และรักษาอำนาจของตนไว้อย่างมั่นคง”

เนื้อหาจากการบอกเล่าของแอนนาในส่วนนี้สอดคล้องกับบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงความสามารถของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ด้วยว่า “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ”


ลักษณะภายนอกของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
ในด้านลักษณะภายนอกของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แอนนา ยังบรรยายไว้อย่างละเอียด และถึงกับใช้คำว่า “เป็นผู้ปกครองตัวจริงของอาณาจักรกึ่งป่าเถื่อน” ข้อความส่วนหนึ่งที่แอนนา บรรยายความรู้สึกเมื่อพบเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ครั้งแรกมีว่า  “…มีราศีกษัตริย์ในตัวตนธรรมชาติของเขาแม้ถูกแวดล้อมท่ามกลางผู้คนไร้สง่าราศี เป็นผู้ปกครองตัวจริงของอาณาจักรกึ่งป่าเถื่อน และเป็นบุคคลสำคัญผู้วางนโยบายตามอำเภอใจอย่างเบ็ดเสร็จของประเทศ เขาผิวดำคล้ำ แต่หน้าตาดี กำยำ และกระฉับกระเฉง คอสั้นและหนา จมูกใหญ่และรูจมูกบาน สายตาสำรวจซอกแซก สติปัญญาสูงส่งดั่งผู้รอบรู้ ละเอียดรอบคอบ และมีระบบ

ลักษณะเด่นในคำพูดคำจาภาษาสยามคือเขามักแสดงความเห็นรุนแรงและมีอคติออกมาเป็นถ้อยคำตรงไปตรงมาและไม่ออมมือ ความทะนงตนประการเดียวของเขาคือภาษาอังกฤษที่เขาพูดปะปนกับภาษาแม่อยู่บ่อยๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ขันอันคมคายในความคิดอ่านซึ่งมักเป็นเรื่องจริงจัง มีเหตุมีผล และน่าประทับใจ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แอนนา เอ่ยถึงต่อไปนั้นคือบรรยากาศฝ่ายในที่พำนักของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งแอนนา บรรยายดังข้อความว่า “เราจะพบผู้ทรงปัญญา…อยู่ในฮาเร็มของเขากับบรรดานางคนโปรดชุดใหม่ล่าสุดที่คอยหยอกเย้าอยู่ใกล้ๆ” ซึ่งแอนนา ไม่ได้ระบุว่า ทราบได้อย่างไรว่าสตรีที่อ้างว่าพบเห็นเป็น “บรรดานางคนโปรดชุดใหม่” และไม่ได้บอกแหล่งที่มาของข้อมูลนี้


ห้องหับที่พบเห็น
แอนนา บรรยายละเอียดตั้งแต่บรรยากาศในห้องโถงที่พบ “เด็กสาวผิวสีมะกอกเรียงรายเป็นแถวยาวอยู่กลางห้อง” แต่ละนางมีสัดส่วนเรือนร่างและอายุแบบเด็กที่ผ่านการฝึกฝนให้เป็นหญิงสาวลักษณะนางละครที่คล่องแคล่ว

“เด็กสาวราว 20 คน ห่มผ้าโปร่งกับสายรัดเอวสีทอง แขนและทรวงอกเปลือยเปล่า สวมใส่เครื่องประดับทองคำแบบหยาบๆ ที่วิบวับยามพวกเธอเคลื่อนไหวย้ายยักค้อมศีรษะอย่างนอบน้อม ประนมมืออย่างเจียมตน สายตาหลุบต่ำอย่างขวยเขินใต้แพขนตายาว อาภรณ์ท่อนล่างชิ้นเดียวของพวกเธอที่พลิ้วไหวคลุมขาทำจากวัสดุสูงค่า ชายผ้าขลิบริมด้วยทองคำ ปลายนิ้วสวม ‘เล็บ’ ทองคำทรงเรียวแหลมเหมือนกรงเล็บนก ห้องสว่างด้วยโคมระย้าที่แขวนอยู่สูงมาก จนแสงที่ส่องลงมาตรงกลางห้อง และใบหน้าอ่อนเยาว์กับเรือนร่างอรชนอ่อนช้อยเบื้องล่างแลดูสลัว”

ครูสอนภาษาอังกฤษรายนี้ถึงกับบรรยายด้วยว่า “ภรรยาเอก” (ท่านผู้หญิงกลิ่น บุนนาค) เอนกายอยู่บนตั่ง ถูริมฝีปากด้วยขี้ผึ้งอย่างจริงจัง โดยมีหญิงรับใช้หลายนางคอยรับใช้

เมื่อเสียงขลุ่ยดังก็มีหญิงสาว 12 นางถือพัดสีเงินและทองเดินออกจากซอกเล็กๆ มานั่งเรียงรายปรนนิบัติพัดโบกให้กลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ทันทีที่เพลงดัง นางรำทั้งหมดก็ยืนขึ้นตั้งเป็น 2 แถว ร่ายรำกรีดกรายมือ และร่ายรำด้วยท่วงท่าที่เชื่อว่า “ผ่านการฝึกฝนร่างกายระดับสูงสุดเท่านั้น” แอนนา บรรยายท่วงท่าเหล่านี้ว่า “ทุกท่วงท่าคือบทกวี การแสดงออกสื่อถึงความรัก”

ส่วน “ท่านกลาโหม” นั้น แอนนา บรรยายไว้ว่า “ท่านกลาโหมนั่งอยู่ที่นั่นเหมือนเทวรูปสีดำขลับก่อนถูกภูตผีเข้าสิง! ขณะที่รอบกายเขา เหล่าผู้บวงสรวงแสนบอบบางเหล่านี้ แก้มแกงปลั่ง ตาเป็นประกาย แขวนแกว่งไกว หน้าอกกระเพื่อม เยื้องย่างร่ายรำระบำต้องมนตร์ เขาเป็นบุรุษน่าพิศวง หน้านิ่งและเคร่งขรึม มือใหญ่โตวางบนหัวเข่าในท่าแบบรูปปั้นราวกับพยุงน้ำหนักมหามงกุฎบนศีรษะให้สมดุล ขณะที่หญิงสาวเหล่านี้เปรียบเป็นใบไม้สีน้ำตาลสั่นสะทกอยู่แทบเท้า…

หุ่นกระบอกที่ยังมีชีวิตยังคงหมอบอยู่ตรงนั้น ไม่กล้าแหงนมองใบหน้าเทพเจ้าผู้เงียบงันของพวกนาง ใบหน้าที่ความเหยียดหยามกับความหลงใหลมารวมตัวกัน…ความปรารถนาไร้รูปลักษณ์ ความรู้สึกผิดไร้นิยาม! น่าเวทนา น่าเวทนานัก!

…เขาผงกศีรษะให้พวกท่าไร้ที่พึ่งเหล่านี้อย่างใจร้ายและปั้นปึ่งโดยจงใจ ไม่เคยมีรอยยิ้มยินดีหรือความพึงพอใจปรากฏบนสีหน้าหมองหม่น…เขาเบื่อหน่ายจึงลุกขึ้นปลีกตัวไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ส่วนพวกเด็กสาวอ่อนเยาว์ งดงามเปล่งปลั่ง หอบหายใจอยู่ตรงนั้นภายใต้อาภรณ์แสนงามที่ห่อหุ้มร่างซึ่งอาจไม่ใช่ความงามที่แท้จริง…”


ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค
ไม่เพียงแค่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แอนนายังบรรยายลักษณะของท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ภรรยาอีกท่านหนึ่งของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่า “เขาแต่งงานกับเธอหลังเลิกรากับคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมาหลายปี”

“คุณหญิงพันไม่ใช่ทั้งคนสวยหรือสง่างาม แต่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและอารมณ์เย็นที่สุด ตอนเจอกันครั้งแรกเธอน่าจะอายุราว 40 ปี ตัวล่ำหนา ผิวคล้ำ เสน่ห์เดียวของเธอคือสายตากับวาจาที่อ่อนโยน…คุณหญิงพันรักดอกไม้เป็นชีวิตจิตใจซึ่งเธอถือว่าเป็นลูกรัก…สุภาพสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครัวเรือนท่านมหาเสนาบดีมีความปรานีต่อบรรดาสาวน้อยในฮาเร็มสามีเธอ เธอใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของพวกนางอย่างฉันมิตรที่สุด ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกนางอย่างผาสุกเหมือนแม่กับลูกสาว ต่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมักแก้ต่างให้พวกนางกับสามี ผู้ที่เธอต้องอาศัยการโน้มน้าวเชิงบวกอย่างละเอียดรอบคอบ”

สภาพความเป็นอยู่ในลักษณะของที่พำนักแบบขุนนางใหญ่ในราชสำนักสยามอาจไม่ค่อยเป็นที่คุ้นชินของแอนนา และอาจเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวที่มองกิจกรรมการแสดงต่อหน้าขุนนางชั้นสูงของราชสำนักว่าเป็น “ฮาเร็ม” อันทำให้แอนนาบันทึกด้วยว่า เธอรู้สึกนับถือ รัก และยอมรับภรรยาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะ “แบบอย่างของความซื่อสัตย์อันเลอค่าสูงสุด”

ไม่มีหลักฐานใดที่จะเป็นข้อยืนยันคำบอกเล่าของแอนนา เกี่ยวกับสภาพที่บรรยายออกมานี้ได้มากนัก แน่นอนว่า ในแง่หนึ่งการบอกเล่าดังที่ได้อ่านข้างต้นผสมความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผู้บันทึกอันมาจากการสัมผัสภาพเบื้องหน้าโดยที่อาจยังไม่เข้าใจบริบทสภาพชีวิตขุนนางมาก่อน

คำว่า “เวทนา” ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของแหม่มแอนนา หากพิจารณาใต้สมมติฐานขั้นต่ำว่าข้อมูลที่แอนนาเล่ามามีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง ความรู้สึก “เวทนา” ย่อมเป็นปฏิกิริยาจากพื้นฐานมุมมองแบบชาวต่างชาติที่พบเห็นวิถีแบบขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสยามไปเทียบกับคติที่อิงกับความเชื่อทางศาสนาและบริบทสังคมแบบตะวันตก

อีกประการคือ การบันทึกข้อมูลจากสายตาชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยระยะหนึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะพบว่า ข้อมูลในบันทึกบ่งชี้หรือตีความเรื่องราวคลาดเคลื่อนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งบันทึกของวันวลิต, ลาลูแบร์ หรือปาเลกัว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คงต้องยอมรับว่า การบอกเล่าภาพที่มาจากการรับรู้ของชาวต่างชาติผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านี้มีข้อมูลบางส่วนที่สามารถสกัดออกมาใช้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาเรื่องราวในอดีตเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเนื้อหาบางส่วนของบันทึกแอนนา ยังบอกเล่าอีกแง่หนึ่ง ว่า “…ฉันประหลาดใจเหลือเกิน เพราะรู้มาว่าท่านมหาเสนาบดีเป็นผู้หยิบยื่นความยุติธรรมแทนกษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง”

บันทึกของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า แอนนา มีปัญหาสุขภาพ โดยป่วยด้วยโรคอหิวาต์ 2 ครั้ง อลิซาเบธ มาฮอน ระบุว่า เธอถูกคนทำร้าย 2 ครั้งและถูกขู่มากกว่า 1 ครั้ง

แอนนา เล่าว่า ในช่วง ค.ศ.1866 สุขภาพของเธอเข้าขั้นย่ำแย่ถึงขั้นคิดว่าต้องตาย จึงตัดสินใจกลับอังกฤษ แต่ต้อง “รอถึงครึ่งปีกว่ากษัตริย์จะทรงยินยอม” แต่ในเช้าวันที่เธอจะเดินทางจากไปนั้น พระองค์หันมาตรัสว่า “แหม่ม! เธอเป็นที่รักของคนทั่วไปรวมทั้งทุกคนในวังและลูกๆ ของฉันนะ ทุกคนเป็นทุกข์ที่เธอต้องจากไป…ฉันเองก็โกรธและอารมณ์เสียใส่เธออยู่บ่อยๆ แต่ฉันก็เคารพยกย่องเธอมากถึงกระนั้นเธอก็ควรต้องรู้นะว่าเธอเป็นหญิงที่รั้นและรั้นเกินกว่าปกตินัก แต่เธอจงลืมและกลับมาทำงานให้ฉันอีก เพราะฉันไว้เนื้อเชื่อใจเธอมากขึ้นทุกวันนะ ลาก่อน!”


หลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต
ภายหลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต เมื่อ พ.ศ.2411 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหมเรียกประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวังเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีลำดับถัดไป ที่ประชุมเห็นชอบให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อไป จากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวต่อว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหนักพระราชหฤทัยด้วยพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ เกรงว่าจะปกครองไม่ได้

ดังนั้น กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงเสนอต่อที่ประชุมให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชมมายุพอที่จะผนวชได้ คือ 20 พรรษา ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ เจ้าพระยาฯ จึงรับหน้าที่นั้นไว้จึงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินประมาณ 5-6 ปี

หลังจากท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วงบั้นปลายชีวิตมีข้อมูลว่า ท่านมักพักที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี อายุรวม 74 ปี


หัวข้อ: Re: “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก"
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 19 มกราคม 2565 14:29:16
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74709054910474_19_696x522_Copy_.jpg)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, 2351-2425)

สมเด็จช่วง ขุนนางผู้ “ทรงอิทธิพล” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2564

ช่วงสิ้นปีมักมีการจัดอันดับต่างๆ ว่า พ่อค้าที่รวยที่สุด, ผู้นำที่แย่ที่สุด, สตรีที่สวยที่สุด ฯลฯ แล้วหากเรามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ “ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลที่สุด” แห่งรัตนโกสินทร์ ก็น่าจะเป็นของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, 2351-2425)


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ก่อนจะไปดู “ตอนอวสาน” ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เราไปดูตอนอื่นที่วิภัส เลิศรัตนรังษี นำเสนอก่อน เริ่มจาก “ฐานที่มั่น” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาฯ บิดาของท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมุหพระกลาโหมใน สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อบิดาท่านสิ้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ว่าราชการกรมพระกลาโหมแทน

ปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค, 2334-2400) ถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (2351-2408) สวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขณะเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” สามารถรวบอำนาจการนำในรัฐบาลได้สำเร็จ

เมื่อรัชกาลที่ 4 สวรรคต วันที่ 1 ตุลาคม 2411 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวควบคุมการเปลี่ยนผ่านจากรัชกาล ที่ 4 เป็น “รัชกาลที่ 5”

ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทั้งยังประชวรหนัก ราชสำนักจึงขาดผู้นำ ที่ประชุมเจ้านาย เสนาบดี และพระราชาคณะ จึงตกลงให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ไปจนกว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา

เมื่อตำแหน่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขยับไป ตำแหน่งข้าราชสำนักอื่นๆ ก็ขยับ และเป็นการขยับตาม


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71637894254591_3_206x300_Copy_.jpg)
เจ้าคุณทหาร” – เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมของท่านก็มอบให้ “เจ้าคุณทหาร” หรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายได้สืบตำแหน่งต่อ, เสนาบดีกรมท่าเดิม กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ว่าราชการอยู่ แต่มีเรื่องขัดแย้งกับท่าน จึงมอบให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) น้องชายต่างมารดาของท่าน  แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ว่าราชการเพียง 1 ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) น้องชายต่างมารดาอีกคนของท่านเป็นเสนาบดีแทน

นอกจากขุนนางระดับเสนาบดีจตุสดมภ์แล้ว ก็ยังมี “คนสนิท” ดูแล้วทั้งหมด, ในราชสำนักก็มีเส้นสายวางไว้ ฯลฯ

ปี 2411 สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอายุ 60 ปี ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการยุคปัจจุบัน คือ ปีที่เกษียณอายุ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทน 5 ปี

เมื่อถวายอำนาจคืน รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” ที่เป็นบรรดาศักดิ์สูงสุดของเสนาบดีในสมัยนั้น (เกียรติยศเทียบเท่าพระองค์เจ้าต่างกรม), โปรดให้มีอำนาจสั่งประหารชีวิตได้เทียบเท่าพระเจ้าอยู่หัว, เรียกขานว่า “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ อยู่ในฐานะ “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” (จนถึงแก่พิราลัย) ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ “หัวหน้าเสนาบดี”

รวมเวลาตั้งแต่เป็นผู้สำเร็จราชการ, ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน คือ 14 ปี หรือ 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ (2411-2453)  สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงมีทั้งอำนาจและบารมีเป็นที่ยำเกรง, แรงกดดัน ฯลฯ ดังที่เจ้านายหลายพระองค์บันทึกเรื่องนี้ไว้ เช่น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2403-2464) ตรัสเล่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ย่ำแย่ระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ กับบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ว่า “เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราเป็นครั้งแรก คนผู้เคยนับถือและฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรงก็ต้องเกรง…สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้น ชั่งเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร (2399-2474) ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ของพระองค์ ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ว่า “เรากลัวเขาจริง พอคลานผ่านที่เขา [สมเด็จเจ้าพระยาฯ] เอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบเทียว”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัยซึ่งเกิดไม่ทันเหตุการณ์ ในยามที่ สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นหัวหน้าเสนาบดีสร้างอำนาจบารมีเหนือพระเจ้าอยู่หัวเป็นเช่นไร และยากที่จะเชื่อ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/59274857408470_5_206x300_Copy_.jpg)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร

หาก “คำตอบ” ของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร คงทำให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัย และใครอื่นที่ไม่เชื่อกระจ่าง เมื่อตรัสว่า “มึงอย่าอวดดีไปหน่อยเลย ถ้าเอ็งเกิดทัน เอ็งก็กลัวเขาเหมือนกัน”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยืนยันตามว่า “จริงของท่าน [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร] นะ พ่อเคยเห็นคนมามากแล้ว ไม่เห็นใครมีสง่าเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนนี้ ถ้าเดินมาในที่ประชุม คนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร”

กับรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็มีการ “กระทบกระทั่ง” อยู่เป็นระยะ แม้ไม่เคยมีครั้งใดที่จะเกิด “แตกหัก” เพราะส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการประนีประนอม แต่บางครั้งก็มีเหตุน่า “ระทึก” เช่นกัน อย่างเรื่อง “สร้างกองทัพสมัยใหม่”

สมเด็จเจ้าพระยาฯ และรัชกาลที่ 5 “เห็นตรงกัน” แต่วิธีการจะสร้างกองทัพกลับ “ต่างกัน” กองทัพสมัยใหม่ของ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็คือกองทัพไพร่ติดอาวุธ แต่รัชกาลที่ 5 ทรงต้องการให้เปลี่ยนเป็นการเปิดรับสมัครทหาร และมีการเปิดรับสมัครทหารใหม่ กว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะรู้ก็ผ่านพ้นไปหลายเดือนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ  ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะกราบบังคมทูลขอไพร่เหล่านั้นกลับคืนในทันที

แต่คราวนี้รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิเสธ และทรงยืนกรานที่จะไม่คืนไพร่ โดยทรงให้เหตุผลว่าไพร่เหล่านี้ถูกพระยาเพชรบุรีน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เบียดเบียนจนต้องหนีมาสมัครเป็นทหารที่กรุงเทพฯ หากพระองค์บังคับให้กลับไปก็เป็นการซ้ำเติมไพร่เหล่านี้

เหตุครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธเคืองและไม่พอใจมาก สถานการณ์คงจะตึงเครียด ถึงขั้นมีข่าวลือในกรุงเทพฯ ว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ ชักชวนให้เจ้าคุณทหาร “ก่อการกบฏ”

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้คงพอทำให้เห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็น “ข้าราชการที่ทรงอิทธิพล” เพียงใด เพราะแม้สมเด็จเจ้าพระยาที่สูงวัยก็เป็นเสมือน “ขิง” ที่ “ยิ่งแก่ ยิ่งเผ็ด”


 


หัวข้อ: Re: “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก"
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 19 มกราคม 2565 14:30:13

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91635731814636__2_Copy_.jpg)

19 มกราคม วันคล้ายวันพิราลัย
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ.2565

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน

บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่างๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีที่ว่าการต่างประเทศและว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สามารถพูด และอ่านตำราภาษาอังกฤษในสมัยนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านได้คบหากับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 โดยตลอด นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่นๆ เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 และรับราชการมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งราชกาลในระดับสูงคือ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 4 และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากที่ลาออกจากราชกาลในบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึงแก่พิราลัย นับเป็นมหาบุรุษคนสำคัญของประเทศชาติที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง

ดังบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกล่าวไว้ว่า “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัย อย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัย และยกย่องเกียรติคุณของท่านว่า “ครั้นถึงราชกาลปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฉลองพระเดชพระคุณโดยอัธยาศัย เที่ยงธรรม ซื่อตรงมิได้แลเกรงผู้ใด จะว่ากล่าวตัดสินการสิ่งใดจะเป็นคุณประโยชน์โดยทั่วกัน และเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า สิ้นกาลนาน”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน 4 คน ในบั้นปลายชีวิต ของท่านมักจะพักอยู่ที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมบนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี รวมอายุ 74 ปี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2425