[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เอกสารธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:47:41



หัวข้อ: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:47:41

(http://sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash2/hs210.ash2/47371_143907162316622_100000920169547_201590_5352202_n.jpg)

    ๐ บทนำ
    ๑. กุสะลาธัมมา
    ๒. อกุสะลา ธัมมา
    ๓. อัพยากะตา ธัมมา
    ๔. สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
    ๕. ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    ๖. อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
    ๗. วิปากา ธัมมา
    ๘. วิปากะธัมมะ ธัมมา
    ๙. เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา
    ๑๐. อุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

    ๑๑. อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา
    ๑๒. อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา
    ๑๓. สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
    ๑๔. อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
    ๑๕. อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา

    ๑๖. สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา
    ๑๗. อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา
    ๑๘. อะวิตักกาวิจารา ธัมมา
    ๑๙. ปีติสะหะคะตา ธัมมา
    ๒๐. สุขะสะหะคะตา ธัมมา

    ๒๑. อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา
    ๒๒. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๓. ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๔. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๕. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา

    ๒๖. ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา
    ๒๗. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา
    ๒๘. อาจะยะคามิโน ธัมมา
    ๒๙. อะปะจะยะคามิโน ธัมมา
    ๓๐. เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา

    ๓๑. เสกขา ธัมมา
    ๓๒. อะเสกขา ธัมมา
    ๓๓. เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา
    ๓๔. ปะริตตา ธัมมา
    ๓๕. มะหัคคะตา ธัมมา

    ๓๖. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา
    ๓๗. ปะริตตารัมมะณา ธัมมา
    ๓๘. มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา
    ๓๙. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา
    ๔๐. หีนา ธัมมา

    ๔๑. มัชฌิมา ธัมมา
    ๔๒. ปะณีตา ธัมมา
    ๔๓. มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา
    ๔๔. สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา
    ๔๕. อะนิยะตา ธัมมา

    ๔๖. มัคคารัมมะณา ธัมมา
    ๔๗. มัคคะเหตุกา ธัมมา
    ๔๘. มัคคาธิปะติโน ธัมมา
    ๔๙. อุปปันนา ธัมมา
    ๕๐. อะนุปปันนา ธัมมา

    ๕๑. อุปปาทิโน ธัมมา
    ๕๒. อะตีตา ธัมมา
    ๕๓. อะนาคะตา ธัมมา
    ๕๔. ปัจจุปปันนา ธัมมา
    ๕๕. อะตีตารัมมะณา ธัมมา

    ๕๖. อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา
    ๕๗. ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา
    ๕๘. อัชฌัตตา ธัมมา
    ๕๙. พะหิทธา ธัมมา
    ๖๐. อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา

    ๖๑. อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา
    ๖๒. พะหิทธารัมมะณา ธัมมา
    ๖๓. อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา
    ๖๔. สะนิทัสสนะสัปปะฏิฆา ธัมมา
    ๖๕. อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา
    ๖๖. อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:51:56


(http://www.baanjomyut.com/pratripidok/fan/fan.jpg)

พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย
เรียบเรียงโดยหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

กรุณา วิยะ สัตเตสุ ปัญญายัสสะ มเหสิโน
เญยยธัมเมสุ สัพเพสุ ปวัตติตถะยถารุจิง
ทยายะ ตายะ สัตเตสุ สมุสสาหิตมานโส
ฯลฯ
อภิธัมมกถัง กเถสีติฯ

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้ประทานวิสัชนา ในพระอภิธรรมมาติกา ๒๒ ติกะในเบื้องต้น สนองศรัทธาธรรมของท่านสาธุชนสัปบุรุษ โดยสมควรแก่กาลเวลา ด้วยพระอภิธรรมมาติกานี้ ยากที่จะอธิบายแก้ไขแปลออกไปให้พิศดารได้ มีแต่ท่าน สวดมาติกาเพลาบังสุกุลเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบาลีอยู่ ยากที่จะเข้าใจได้ ที่ท่านแปลออกไว้ก็มีแต่พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์อย่างย่อเท่านั้น แต่ในพระอภิธรรมมาติกานี้ หาได้แปลออกให้วิตถารพิศดารไม่ พระอภิธรรมมาติกา ๒๒ ติกะในเบื้องต้นนี้ ทรงสำแดงเมื่อพระชินสีห์พระศาสดาจารย์ เสด็จคมนาการขึ้นจำวัสสาในชั้นดาวดึงสาเทวโลก ทรงตรัสเทศนาในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดหมู่เทวกัลยา มีพระพุทธมารดาเป็นต้น กเถตตุ กามะยะตา ทรงปุจฉาเป็นสกวาที ปรวาที ทุก ๆ คัมภีร์ เป็นลำดับ ๆ ไปฯ

    เบื้องหน้าแต่นี้ อาตมาภาพจักได้วิสัชนาในพระอภิธรรมาติกาเป็นปุจฉาวิสัชนา ตามนัยพระพุทธฎีกาเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสได้ศรัทธา เชื่อมั่นคุณพระรัตนตรัยยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    สมัยครั้งหนึ่ง ยังมีพระอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ สกวาทีอาจารย์ มารำพึงแต่ในใจว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดานั้น พระองค์ได้เลือกคัดจัดสรรพระวินัย พระสุตตันตะ พระอภิธรรมทั้ง ๓ ปิฎกนี้แล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจักเสมอด้วยคุณของพระพุทธมารดานั้นได้ เห็นแต่พระอภิธรรมาติกานี้ไซร้จึงจะสมควรด้วยคุณของพระพุทธมารดา แต่พระบาลีนั้นก็ยังปรากฏอยู่ ๒๒ ติกะ ติกะละ ๓ รวมเป็น ๖๖ บทดังนี้ ทำไฉนหนออาตมาจึงจะรู้จักเข้าใจในเนื้อความแห่งพระอภิมาติกานี้

    เมื่อท่านสกวาทีอาจารย์คิดรำพันแต่ในใจฉะนี้แล้ว จึงคมนาการเข้าไปสู่สำนักของท่านปรวาทีอาจารย์ ท่านปรวาทีอาจารย์จึงกล่าวพระบาลีขึ้นว่า กุสะลา ธัมมา อกุสะลา ธัมมา เป็นต้น โดยเนื้อความเดิมในปฐมมาติกานี้ว่า กุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนั้นเป็นอย่างหนึ่ง อกุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง อัพยากะตา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤตนั้นอย่างหนึ่ง



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:55:51


              (http://sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-snc4/hs402.snc4/46559_143919332315405_100000920169547_201662_6241040_n.jpg)

๑. กุสะลาธัมมา
    โดยความอธิบาย ในธรรมที่เป็นกุศลนั้นว่า ธรรมอันเป็นส่วนของบุคคลทั้งหลาย ผู้ฉลาด แปลว่าตัดออกเสียซึ่งบาป ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดานได้ มีอุปมาเหมือนหนึ่งบุคคลปลูกผลไม้ มีต้นมะม่วง เป็นต้น คอยระวังรักษาไม่ให้กาฝากบังเกิดขึ้นในต้นมะม่วงนั้นได้ เพราะกลัวต้นมะม่วงนั้นจะไม่งาม จะมีผลน้อย เปรียบเหมือนร่างกายของบุคคลผู้ฉลาด อันธรรมดาบุคคลผู้ฉลาดนั้นย่อมระวังรักษากายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ให้บังเกิดความเศร้าหมองได้ฉะนั้น

    ท่านปรวาทีอาจารย์ถามว่า ในปฐมมาติกาคือ กุสะลา ธัมมา นั้น ท่านก็แปลถูกต้องตามพยัญชนะแล้ว แลยังอัตถาธิบายความอุปมาอุปไมยซ้ำอีกเล่า ยังจะมีอะไรที่ข้าพเจ้าจักต้องแจกแจงอีกหรือ?

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงว่า โดยอัตถุนั้นข้าพเจ้าก็เข้าใจแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังมีความวิตกถึงบุคคลที่โง่กว่าข้าพเจ้านี้ก็ยังมีอยู่บ้าง เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงขอคำแนะนำต่อไปอีกสักหน่อย ขอรับ

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงตอบขึ้นว่า เอโก กิระ ปุริโส ดูก่อนท่านสกวาทยาจารย์ ดังได้ยินข่าวว่ามีบุรุษผู้หนึ่งเป็นคนฉลาด ได้เห็นเรือพลัดมาติดอยู่ที่หน้าท่าของตน แล้วก็พิจารณาเห็นว่า เรือนี้เป็นเรือโจร โจรเก็บเอาของในเรือไปหมดแล้ว ลอยเรือมาหน้าท่าของเรา ถ้าเราไม่ผลักออกไปเสียจากหน้าท่าของเราไซร้ เมื่อเจ้าของเรือมาพบเข้าในกาลใด ก็จักกล่าวโทษว่าเราเป็นโจรลักเอาเรือมาดังนี้

    เปรียบเหมือนหนึ่งบุรุษไถนา วันหนึ่งโจรนำเอาถุงทรัพย์ไปทิ้งไว้ที่ริมนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเสด็จไปกับพระอานนท์ ครั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นถุงทรัพย์นั้นแล้ว จึงทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า อสรพิษอยู่ที่นี้แล้ว ครั้นบุรุษไถนาได้ฟังพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ดังนั้น ก็สำคัญเสียว่าเป็นอสรพิษจริง ๆ หาได้คิดว่าโจรเอาถุงเงินไปทิ้งไว้ในที่นั้นไม่ แล้วพระองค์จึงคมนาการเสด็จไปสู่ที่อื่น ครั้นภายหลังบุรุษผู้เป็นเจ้าของทรัพย์มา เห็นถุงทรัพย์ของตนทิ้งอยู่ที่ริมนาของบุรุษไถนานั้นแล้ว ก็สำคัญมั่นหมายว่าบุรุษไถนานั้นเป็นโจร จึงจับเอาบุรุษไถนานั้นไปฉะนี้ บุคคลผู้มีวิจารณญาณพิจารณาเห็นเหตุผลดังนี้แล้ว ก็ถอยเรือนั้นออกจากหน้าท่า ปล่อยไปตามกระแสน้ำ ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด ตัดฐานะภัยเสียได้ ดังนี้

    ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งบุรุษเลี้ยงโค บุรุษเจ้าของโคนั้นเมื่อได้เห็นโคหลวงมาอยู่ในคอกของตนแล้ว ก็คิดแต่ในใจว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอมาเห็นโคหลวงมาอยู่ในคอกของเราแล้ว ก็จะหาว่าเราลักเอาโคของหลวงมา แล้วก็จะจับเอาตัวเราไปลงทัณฑกรรมต่าง ๆ เมื่อบุรุษเลี้ยงโคคิดเช่นนี้แล้ว ก็เปิดประตูคอกไล่โคหลวงออกไปให้พ้นจากบ้านของตน ดังนี้ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด ตัดราชภัยให้พ้นไปเสียได้ ดังนี้

    อีกเรื่องหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะของเราได้เสวยพระชาติเป็นกุฑาลบัณฑิต ครั้งนั้นพระองค์ได้ทำไร่ข้าวโพดและถั่วราชมาส อยู่ริมฝั่งมหาสมุทร ครั้นถึงคิมหันตฤดูแล้ว ก็บวชเป็นฤาษี เมื่อถึงวัสสันตฤดู (ฤดูฝน) แล้วก็สึกออกมาทำไร่ต่อไป เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๗ ครั้ง คือ บวช ๗ ครั้ง สึก ๗ ครั้ง ครั้นภายหลัง พระองค์จึงมาคิดว่า เรามีความเหนื่อยยากลำบากกาย ต้องบวชต้องสึก เพราะเป็นห่วงจอบกับข้าวโพดเป็นต้นนี้เอง ทำให้เราต้องบวช ๆ สึก ๆ เมื่อพระองค์คิดได้เช่นนี้แล้ว จึงนำเอาผ้าห่อพืชคามกับจอบนั้นไปโยนทิ้งเสียที่ริมฝั่งมหาสมุทร ครั้นสิ้นห่วงสิ้นกังวลแล้ว พระองค์จึงมาเจริญสมาบัติ ก็ได้สำเร็จญาณโลกีย์ ครั้นจุติจากนั้นแล้วก็ได้อุบัติบังเกิดในชั้นพรหมโลก ดังนี้

    แสดงมาทั้งนี้ก็เป็นแต่อุปมาอุปไมยเพื่อจะให้เห็นความว่า ร่างกายของเราท่านทั้งหลาย คือ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เมื่อบุคคลมีความยินดีรักใคร่อยู่ตราบใดแล้ว ก็จักได้เสวยแต่กองทุกขเวทนาอยู่ตราบนั้น เท่ากับว่ายินดีอยู่ด้วยราชภัยคือพญามัจจุราช และโจรภัยคือโมหะ เหมือนดังพระบาลีที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ดังนี้ โดยเนื้อความว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีความเดือดร้อนอยู่ ก็เพราะเข้าไปยึดถือเอาขันธ์ไว้ว่าเป็นของของเราฉะนี้

    ในธรรมที่ว่า กุสะลา ธัมมา นั้นคือ มีพุทธประสงค์ให้เอาองค์ปัญญาตัดอาลัยในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้ โดยเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเบญจขันธ์นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจใต้บังคับของผู้ใด เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า กุสะลา ธัมมา แปลว่า ตัดเสียซึ่งบาปออกจากกาย วาจา ใจ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ วินะยะ แปลว่าวินัย ก็แปลว่า นำเสียซึ่งบาปออกจากกาย วาจา ใจ ไม่ให้ติดอยู่ในสันดานได้ ปฏิปัตติ ก็แปลว่า ปฏิบัติกลับ กาย วาจา ใจ ที่เป็นบาปให้เป็นบุญเป็นกุศลเสียฉะนี้ เพราะเหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า ศีล ว่า วินัย ว่า ปฏิบัติ ดังนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:57:31


                  (http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRhvleUrNkgHoWVgXLcvLpQrkTmCfJlgnWmh8n7E8WRaRoEym72)

๒. อกุสะลา ธัมมา
    เบื้องหน้าแต่นี้จักได้แก้ไขในบทที่ ๒ ต่อไป อกุสะลา ธัมมา นี้สืบไป โดยพระบาลีว่า อกุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์แห่งจิต คือว่าทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นอกุศลกรรม อกุสะลา ธัมมา ถ้าชี้ตัวบุคคลก็แปลว่า ธรรมของบุคคลผู้ไม่ฉลาด หรือแปลว่า ไม่ตัดบาปกรรมออกไปจาก กาย วาจา ใจ ก็ได้ ความอธิบายว่า คนโง่ ไม่ระงับบาปที่จะถึงแก่ตน บางคนบาปยังไม่ทันมาถึงตนเลย ก็เที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนก่อนก็มี

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า คำว่าบาปที่จักมาถึงแก่ตนนั้นอย่างไรและที่ว่าบาปยังไม่ทันมาถึงตน ก็ไปเที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนก่อนนั้นอย่างไร ขอท่านปรวาทีฯ จงวิสัชนาความข้อนี้ให้เกิดเป็นสุตตมยปัญญาแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า?

 ท่านปรวาทีจึงอธิบายว่า บาปที่จะมาถึงแก่ตนนั้น ด้วยเหตุที่จักกระทำให้เดือดร้อนขึ้นก่อน เป็นต้นว่าไปได้ยินเสียงเขาลงอาญาหรือทุบตีด้วยไม้ ฆ้อน หรือก้อนดิน เป็นต้น บุคคลที่จะเกิดความเดือดร้อนนั้น เพราะไม่ปิดป้องกำบังไว้ให้ดี ปล่อยให้เสียงนั้นล่วงเข้ามากระทบหูหรือายตนะนั้นมาถึงตน บุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ตัดบาป ไม่ระวังบาปที่จักมาถึงแก่ตนฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่มีเรือนไฟไหม้ บุรุษนั้นเมื่อได้เห็นไฟไหม้มาแต่ไกลแล้ว ก็ไม่ระมัดระวังไฟและไม่ตัดเชื้อไฟเสียแต่ที่ต้นลม เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ระวังบาปที่จักมาถึงแก่ตน ดังนี้

    คำที่ว่าไปเที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนนั้น ได้แก่บุคคลที่เที่ยวปักขวากหลาวไว้และตักบ่วงข่ายไว้สำหรับจะให้สัตว์มาติดตายนั้นแล จักได้ชื่อว่าไปเที่ยวแสวงหาบาปมาใส่ตน ที่ว่าไม่ได้ตัดบาปเสียนั้น มีคำอธิบายว่า ยังมีต้นไม้ไทรอยู่ต้นหนึ่ง ไม่สู้โตนัก มีใบ กิ่ง ก้าน บริบูรณ์เป็นอันดีอยู่ในป่าหิมวันตประเทศ วันหนึ่งมีนกบินไปจับกินเถาวัลย์ ครั้งภายหลังก็บินมาจับที่ต้นไทรนั้นแล้วก็ถ่ายอุจจาระลงไป ครั้นถึงวสันตฤดู เมล็ดเถาวัลย์นั้นก็งอกงามขึ้นมาที่ใต้ต้นไทร ยังมีคนจำพวกหนึ่งได้เดินมาเห็นเถาวัลย์กำลังงอกขึ้นอยู่ใต้ต้นไทร แล้วบอกแก่ต้นไทรนั้นว่า หน่อเถาวัลย์นั้น ครั้นงอกงามขึ้นมานี้แล้ว ถ้าทิ้งไว้ให้มันเจริญใหญ่โตแล้ว ก็จักปกคลุมท่านให้ถึงแก่ความตายไปในที่สุด ต้นไทรจึงตอบขึ้นว่า มันคงไม่ทันที่จะงอกงามขึ้นมาคลุมเราได้ สัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกรเป็นต้น ก็จะมากัดกินเป็นอาหาร เถาวัลย์ก็จักถึงแก่ความตายไป ไม่ทันที่จะเลื้อยยาวขึ้นมาได้ ครั้นนานไปเถาวัลย์นั้นก็เจริญใหญ่โตขึ้นมา ไม่มีอันตรายจากสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกรเป็นต้น จนเถาวัลย์นั้นเลื้อยขึ้นไปถึงคาคบใหญ่ ยังมีคนจำพวกหนึ่งได้ตักเตือนต้นไทรนั้นว่า เหตุไฉนท่านจึงได้ให้โอกาสแก่เถาวัลย์นั้นเลื้อยขึ้นมาจนถึงเพียงน้เล่า ครั้นนานไปมันจักคลุมยอดของท่าน ท่านก็จักได้ความลำบาก ถึงแก่ความตายไป ครั้นต้นไทรได้ฟังแล้ว จึงตอบขึ้นว่า ท่านอย่าได้กลัวเลยว่าเถาวัลย์มันจักไม่ตาย ถ้าพวกตัดเสามาเขาเห็นเข้าแล้ว เขาก็จักตัดเอาไปทำเชือกลากเสา ต้นเถาวัลย์นั้นก็จักถึงแก่ความตายไป ครั้นนานมา ต้นเถาวัลย์นั้นก็เลื้อยขึ้นไปคลุมยอดแห่งต้นไทร จนต้นไทรนั้นถึงแก่ความตายหักลงไปอยู่เหนือปฐพี

    แสดงมาทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นความประมาทที่ไม่คิดตัดบาปทางกาย วาจา ใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องลำบากในภายหลัง ฉะนี้ฯ

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่ตัดบาปนั้น ครั้นตายแล้วได้ไปเสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้นนั้น จักได้แก่บุคคลจำพวกใด?

    ท่านปรวาทีจึงชักนิทานในคัมภีร์ธรรมบทมาแสดงให้เห็นปรากฏว่า ยังมีกุลบุตร ๔ คนพี่น้องกัน ครั้นได้ทัศนาการเห็นหญิงสวยผู้ภรรยาของท่านผู้อื่น แล้วเกิดความกำหนัดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ได้กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ครั้นพวกเขากระทำกาลกิริยาตายไปแล้ว ก็ไปตกอยู่ในนรกโลหะกุมภีนานประมาณหกหมื่นปีแล้ว จนน้ำนั้นเดือดขึ้นมาถึงปากหม้อกระทะทองแดงที่เดือดพล่าน แล้วก็ได้สติ มีความปรารถนาจะประกาศถึงบุพพกรรมของตนให้ปรากฏ แต่ก็กล่าวไม่ได้ตลอด ได้แต่เพียงคนละอักขระ คนที่หนึ่งว่า ทุ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าเป็นคนชั่ว ที่สองว่า สะ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในนรกนี้นานประมาณหกหมื่นปีแล้ว ที่สามว่า นะ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าไม่มีที่สุดว่าจักหมดกรรมเมื่อไร ที่นี่ว่า โส ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าจักไม่กระทำชั่วอีกต่อไปแล้ว ดังนี้ พอยังไม่ทันจะหมดเรื่องที่จักกล่าว ได้แต่คนละอักขระ ๆ เท่านั้น น้ำก็พัดหมุนลงก้นหม้ออย่างเดิม แล้วก็ได้เสวยทุกขเวทนา เผ็ด แสบ ร้อน อยู่ในนรกอีกต่อไปจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมเพราะโทษที่ตนไม่ได้ตัดบาปทาง ปวทาระกรรม (กระทำผิดในภรรยาของผู้อื่น) เปรตทั้ง ๔ ตนเหล่านี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ชื่อว่าเป็นคนโง่ คนไม่ฉลาด ไม่ตัดบาปกรรมเสีย เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นเปรต เสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลหะกุมภีฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 22:58:48


                (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTqhNEFPSc3_Ndp_xGa2-c3dg13dV72s4HSJbL7hWx-YjL5IbCA)   

๓. อัพยากะตา ธัมมา
    ในลำดับนี้จักได้วิสัชนาแก้ไขในบทที่ ๓ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า อัพยากะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็น อัพยากฤต ข้อนี้แปลว่า ธรรมอันพระพุทธองค์มิได้ทรงพยากรณ์ว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่โสมนัสโทมนัสนั้นแล ชื่อว่ อัพยากฤต เปรียบเหมือนหนึ่งว่า ใบบัวอันน้ำดีและน้ำชั่วตกถูกต้องแล้ว ก็ไหลไปไม่ขังอยู่ได้ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเสมือนเสาไม้แก่นอันบุคคลฝังไว้แล้วเหนือแผ่นดิน ผงเผ้าเถ้าธุลีจะปลิวมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่ติดอยู่ที่เสาได้ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น ถึงใคร ๆ จะบูชาดีก็ดี บูชาชั่วก็ดี ก็ไม่มีความยินดียินร้ายฉะนั้น

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงได้ขออุปมาอุปไมยขึ้นอีกว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีอาจารย์ ซึ่งท่านได้ชี้แจงแสดงมาก็ถูกต้องตามพระบาลีดีแล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังก็มีความยินดีชอบใจทุกประการแล้ว แต่ข้าพเจ้าขออุปมาอุปไมยอีกสักหน่อย ขอรับ

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงแสดงอุปมาอุปไมยว่า ดูกรท่านสกวาทีอาจารย์นครวาริกะ ปุริโสวิยะ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งนายทวาริกะคือบุรุษผู้เฝ้าประตูพระนคร จิตที่เป็นกุศลนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งชนที่เข้าไปในประตูพระนคร จิตที่เป็นอกุศลนั้นเปรียบเหมือนชนที่ออกไปจากประตูพระนคร นายทวาริกะผู้เฝ้าซึ่งประตูพระนครนั้นก็ไม่ได้ไต่ถามซึ่งชนที่เข้าออก เพียงแต่เห็นหาได้ถามชนที่เข้าออกนั้นไม่ เช่นนี้แลชื่อว่า อัพยากฤต

    ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งภาชนะที่ใส่น้ำเป็นต้น ภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำนั้น ถึงใคร ๆ จะเอาน้ำใส่ลงไปอีกสักเท่าใด ๆ ก็ดี น้ำในนั้นก็ย่อมไหลล้นออกไปจากภาชนะ ไม่สามารถขังอยู่ได้ ฉันใดก็ดี จิตที่เป็นอัพยากฤต ที่พระพุทธองค์มิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าเป็นบุญเป็นบาปนั้น ก็ชื่อว่าบุญบาปไม่มี ถึงบุญบาปจักมีมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะติดค้างอยู่ได้ มีอุปไมยดังภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำฉะนั้น

    จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ก็ย่อมมีแต่ในพระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้น หาได้มีแก่ปุถุชนไม่ ปุถุชนนั้นมีแต่จิตเป็นบุญเป็นบาปทั้งสองประการ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นหาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น จึงมิได้บังเกิดแก่ปุถุชน

   ท่านสกวาทีอาจารย์ได้ฟังก็ชอบใจ จึงไต่ถามต่อไปอีกว่า บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นกุศล ส่วนอกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นอกุศล ส่วนกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นอัพยากฤต ส่วนกุศลและอกุศลไม่มีเล่าขอรับ?

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงวิสัชนาว่า บุคคลที่มีจิตเป็นบาปเป็นอกุศลนั้น ก็ได้แก่นายพราน คิดแต่จะฆ่าเนื้อฆ่าปลาอยู่เป็นนิจ กุศลจิตและอัพยากฤตจิตนั้นไม่บังเกิดมีแก่นายพรานเลย ดังนี้ บุคคลที่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศลนั้น ได้แก่พระอริยะสัปบุรุษ ท่านคิดแต่การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา สดับฟังพระธรรมเทศนาเป็นนิจ อกุศลจิตและอัพยากฤตจิตก็ไม่บังเกิดมีแก่ท่านดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่า จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมบังเกิดมีแต่พระอรหันต์อย่างเดียว พระอรหันต์เมื่อเข้านิโรธสมาบัติแล้ว จิตที่เป็นบุญเป็นบาปนั้นไม่บังเกิดมีแก่ท่าน ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา พึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมาแก้ไขมาในปฐมมาติกา บทที่ ๓ โดยสังเขปก็ยุติลงแต่เพียงนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 23:01:22


              (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT_2c3NIjfVCyIXWOrIf2E7x-1z9RhEoL06YDbZwq_P54psJ1NfOw)         

๔. สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาบทที่ ๔ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่าธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิตอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา เวทนาแปลว่าเสวยอารมณ์ สุขายะ แปลว่าสุข โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยความเสวยอารมณ์เป็นสุขนั้น คือ จักขุโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่ได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ล้วนแต่เป็นที่รักที่เจริญใจ คือว่าไม่ยังใจให้เดือดร้อน มีแต่ความโสมนัสยินดีในเมื่อสัมผัสมาถูกต้องกับทวาร มีจักขุทวารเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมดวงนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสว่ สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา ฉะนี้

    พระสกวาทีอาจารย์จึงขอความอุปมาอุปไมยต่อไปว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีอาจารย์ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้พิศดารอีกสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า

    พระปรวาทีอาจารย์จึงวิสัชนาว่า คนหนาวได้ห่มผ้า คนร้อนได้อาบน้ำ คนหิวอาหารได้รับประทานอาหารบรรเทาเวทนาเก่าลงได้ และห้ามเวทนาใหม่ไม่ให้กำเริบขึ้นมาได้ ฉะนี้ ก็จักได้ชื่อว่าสัมผัสถูกต้องเวทนาที่เป็นสุข ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งคนยากจนเข็ญใจ เมื่อได้ลาภ ยศ ฐานนันดรอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความชื่นชมยินดีเป็นกำลัง ดังนายควาญช้าง เดิมทีก็เป็นคนยากจนอนาถา ครั้นได้รับจ้างเขาเลี้ยงช้าง แล้วก็ได้รับประทานอาหารเช้าเย็น ครั้นอยู่มาภายหลัง ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยแต่เวทนาที่เป็นสุขฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนหนึ่งพระเจ้าสักกมันธาตุราชกุมาร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ จะแสวงหาอาหารบริโภคแต่ละมื้อนั้นก็ทั้งยาก จนที่สุดแม้แต่ผ้าจะนุ่งจะห่มก็ไม่มี มีแต่นุ่งใบไม้ ครั้นภายหลังก็ได้เป็นบรมจักรพรรดิ แสนที่จะมีความสุขสบายดังนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2554 23:08:18


              (http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTMMJERIguFwNPuVUBqhQcaQinxcv3Z6bvHA7NslVD1Rb0rgZdC)         

๕. ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้วิสัชนาแก้ไขในบทที่ ๕ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่ ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยทุกขายะ เวทนายะ นามธรรมที่ได้เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตของบุคคลที่มีความลำบากนั้นก็ได้แก่คนที่ยากจนเข็ญใจและคนที่มีโรคาพยาธิเบียดเบียนต่าง ๆ และคนที่ต้องราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น เหล่านี้แลชื่อว่า ทุกขายะ เวทนายะ เป็นทุกขเวทนาอีกอย่างหนึ่ง คือทุกข์ของสัตว์ในนรก ทุกข์ของเปรต อสุรกาย ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ของสัตว์ที่จักเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ดังนี้แลชื่อว่า ทุกขเวทนา

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างที่ได้แสดงมานี้คือใคร ผู้ใดเป็นตัวอย่างขอรับ โปรดได้อัตตาธิบายให้แจ่มแจ้ง ขอรับ?

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงนำบุคคลยกขึ้นมาแสดงให้เห็นเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า นางสุปวาสา เป็นมารดาของพระสีวลีที่ทรงพระครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นภายหลัง นางสุปวาสา ผู้เป็นมารดานั้นจึงได้ชี้แจงแสดงเหตุให้ปรากฏว่า ตนประกอบไปด้วยความทุกข์เหลือที่จะอดทนพ้นที่จักพรรณนาเป็นต้นว่า ครรภ์นั้นได้ใหญ่เกินประมาณ จะนั่งก็เป็นทุกข์ จะนอนก็เป็นทุกข์ จะยืนก็เป็นทุกข์ จะเดินก็เป็นทุกข์ ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า ทุกขเวทนา ทุกข์นั้นแปลว่าลำบาก ลำบากนั้นแปลว่าความชั่ว ก็มาจากความชั่วที่ตนเองกระทำไว้ไม่ดี เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาว่า สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์ไม่ให้สัตว์กระทำบาป เพราะทรงพระกรุณาแก่สัตว์ จักไม่ให้ได้เสวยทุกขเวทนา ด้วยทรงหวังพระหฤทัยว่าจักให้สัตว์ได้เสวยแต่สุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปฉะนี้ฯ

มีต่อค่ะ
http://portal.in.th/i-dhamma/pages/10978/ (http://portal.in.th/i-dhamma/pages/10978/)



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 กันยายน 2554 14:21:16


           (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQGS1WM2WZNhzMS-id0REyB1k7VICc3GyCCACQAaAfNZBZ3-2NxyQ)

๖. อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จักได้แสดงในบทที่ ๖ อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา นี้ต่อไป ข้อนี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ โดยความอธิบายว่า ทุกข์ก็อาศัยแก่เบญจขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา วิจารณญาณเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน หรือเห็นว่าเป็นอย่างอื่น มิใช่เราและตัวตนของเราแล้ว อุปาทานก็ไม่เข้าไปใกล้ไปยึดถือปล่อยวางเฉย เพราะฉะนั้นจึงว่า สุขทุกข์ไม่มีดังนี้ ส่วนอารมณ์นั้นเล่าก็มีอุเบกขา อุเบกขานั้นแปลว่า เข้าไปเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับสูญไปสิ้นไป ส่วนความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เจือปนอยู่ด้วยเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เพราะเหตุนั้นจึงว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ฯ

    ท่านพระสกวาทีอาจาจารย์จึงถามสืบต่อไปว่า อารมณ์ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้นเป็นอย่างไร เป็นโลกีย์หรือเป็นโลกุตระ หรือเป็นประการใด?

   ท่านพระปรวาทีอาจารย์จึงได้เฉลยวินิจฉัยว่า ความที่ว่าไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น ที่เป็นโลกีย์ก็มี ที่เป็นโลกุตรก็มี เปรียบเหมือนหนึ่งอารมณ์ที่ร้อนแล้ว แลมีความปรารถนาจักให้พ้นร้อนไปหาเย็น แต่ยังไปไม่ทันจะถึงความเย็นฉะนั้น

   แล้วท่านปรวาทีอาจารย์จึงย้อนถามท่านสกวาทีอาจารย์กลับคืนมาอีกว่า ท่านสกวาทีอาจารย์จักมีความเห็นเป็นอย่างไร เมื่อได้ออกจากความร้อนแต่ยังไม่ทันถึงความเย็น?

 ท่านสกวาทีฯ ตอบว่า อารมณ์นั้นร้อน
 ท่านปรวาทีอาจารย์จึงถามอีกว่า อารมณ์นั้นจักร้อนอย่างไร เมื่อได้หนีพ้นร้อนมากแล้ว?
 พระสกวาทีฯ จึงตอบว่า ถ้าพ้นอารมณ์ร้อนมาแล้ว อารมณ์นั้นก็เย็น
 พระปรวาทีฯ จึงว่า จะเย็นได้อย่างไรเพราะยังไม่ถึงความเย็น?
 พระสกวาทีฯ จึงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อารมณ์นั้นก็ไม่เย็นไม่ร้อน
 พระปรวาทีฯ จึงอนุโลมคล้อยตามว่า นั้นแลธรรมที่สัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข

    ท่านสกวาทีอาจารย์ยังมีความวิมุติกังขา คือ มีความสงสัย จึงไถ่ถามอีกว่า ธรรมที่เป็นโลกีย์นั้นคือใคร ผู้ใดกระทำได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าชี้บอกบุคคลที่เป็นโลกีย์มาแสดงในทีนี้ เพื่อให้เห็นเป็นแบบอย่างสักเรื่องหนึ่ง พอเป็นเครื่องเตือนสติให้สิ้นความสงสัย?

    ท่านปรวาทีฯ จึงนำบุคคลมาแสดงเพื่อให้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า เอโกเถโร ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ไปเจริญสมณธรรมอยู่ในอรัญราวป่า ท่านได้นั่งเจริญวิปัสสนา พิจารณาซึ่งสังขารธรรม คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนทุกข์ยากลำบาก อนัตตา ความมิใช่ตัวเราและของเรา หรือตัวตนของเรา จนอารมณ์นั้นไม่มีทุกข์ไม่มีสุข แต่เฉย ๆ อยู่ตลอดกาล ขณะนั้นยังมีเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่ง เข้ามาคาบเอาพระมหาเถระองค์นั้นไปบริโภคเป็นภักษาหาร เมื่อเดิมทีนั้นก็บริโภคตั้งแต่เท้าขึ้นไปจนถึงโคนเข่า พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ยังเป็นโลกีย์อยู่ คือท่านยังเป็นปุถุชน ยังไม่ได้สำเร็จอะไร เมื่อเสือโคร่งใหญ่นั้นบริโภคถึงจะเอวและท้องน้อย ท่านก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใด อารมณ์ของท่านนั้นก็ยังเฉย ๆ อยู่ ไม่ได้เดือดร้อนหวั่นไหว ครั้นบริโภคถึงดวงหฤทัยของท่านแล้ว ท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์พ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในปากเสือโคร่งใหญ่นั้น ฉะนี้ฯ

    อนึ่ง นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าในตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมารับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาบทที่ ๖ แต่ขอสังขิตนัยโดยย่นย่อพอสมควรแก่กาลเวลาเพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2554 20:44:45


                 (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSG02h3p0a-ex9Ex3INlLxD4_JR4Ds95RfPR92lPs4SYigObWm-)

๗. วิปากา ธัมมา

    ณ บัดนี้จักได้แก้ไขในติกมาติกาที่ ๗ ตามลำดับสืบไป โดยนัยพระบาลีว่า วิปากา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นสุขและทุกข์ต่าง ๆ กัน คือกรรมวิบากที่เป็นส่วนบุญนั้นเรียกว่า กุศลวิบาก ๑ กรรมวิบากที่เป็นส่วนบาปนั้นเรียกว่า อกุศลวิบาก ๑ ขันธวิบาก ๑ และปัญญาวิบาก ๑

    กรรมวิบากนั้นเป็นผลจาก ๒ ประการ คือ อกุศลวิบาก ได้แก่ผลทุจริต ๓ คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ทุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นฝ่ายอกุศลวิบาก กุศลวิบาก ได้แก่ผลสุจริต ๓ คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ สุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นฝ่ายกุศลวิบาก เมื่อเสวยแล้วก็มีผลต่าง ๆ กัน

    ทุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้โรคาพยาธิเบียดเบียนมาก และให้เป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญาและยังสัตว์ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ ฉะนี้ ชื่อว่าอกุศลวิบากทั้ง ๔

    ผลกรรมที่ ๒ คือ สุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยความสุขสนุกสบายต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้ปราศจากโรคาพยาธิและให้มั่งมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์มาก และยังสัตว์ให้เสวยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์เป็นต้นฉะนี้ ชื่อว่า กุศลวิบาก

    ขันธวิบากนั้นคือยังร่างกายของสัตว์ให้ได้โทษ ลดน้อยถอยกำลังลงไป และให้ฟันหัก ผมหงอก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง หูตึง ตามืดมัวไป ทั้งสรีระร่างกายนั้นไซร้ก็คดค้อมน้อมโค้งไปเบื้องหน้า ให้ทรมานทรกรรมด้วยโรคาพยาธิต่าง ๆ ฉะนี้ จึงชื่อว่า ขันธวิบาก

    ปัญญาวิบากนั้นยังสัตว์ให้รู้จักบาปรู้จักบุญ รู้จักคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริงได้ และให้มีปัญญาสามารถรู้จัก สัพพเญยยธรรม ที่เป็นโลกีย์และเป็นโลกุตรได้ฉะนั้น จึงชื่อว่า ปัญญาวิบาก

    ท่านพระสกวาทีฯ ได้เสวนาการฟังธรรมบรรยายแล้วก็ชอบใจชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงขอให้ท่านปรวาทีฯ ยกเอาบุคคลตัวอย่างต่อ เพื่อเป็นนิทัศนนัยอีก ๔ คนว่า อกุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด กุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขันธวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด และปัญญาวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขอรับ?

    ท่านพระปรวาทีฯ จึงได้เฉลยตอบต่อไปว่า อกุศลวิบากนั้นได้แก่อุบาสกที่ถูกตัดคอนั้นเอง กุศลวิบากนั้นก็ได้แก่ท้าวมหาชมพูบดีนั่นเอง ขันธวิบากนั้นก็ได้แก่พระปูติกติสสะเถระนั้นเอง ปัญญาวิบากนั้นได้แก่พระจุฬบันถกนั้นเองฯ แก้ไขในติกมาติกาบทที่ ๗ โดยสังเขปก็ยุติไว้แต่เพียงนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2554 20:45:24


                (http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTX6WSy-UDAd-0QLzYKOUAfOmY5TzjQ75ZICnBdUuOzOj3Xhqi4)

๘. วิปากะธัมมะ ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๘ ว่าด้วย วิปากะธัมมะ ธัมมา สืบไปต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายอันเกิดแห่งวิบาก ได้แก่ เหตุและปัจจัย เปรียบเหมือนหนึ่งผลมะพร้าวห้าว (แห้ง) ที่ควรจะงอกออกมาจากผลมะพร้าวได้ และมีบุคคลนำเอาไปปลูกไว้ในแผ่นดิน ต้นมะพร้าวนั้นก็งอกงาม เจริญใหญ่โตขึ้นมาจนถึงแก่ตกจั่น แล้วก็กลายเป็นมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวห้าว ต้นมะพร้าวที่งอกงามเจริญขึ้นนั้นได้แก่เหตุ บุคคลที่นำไปปลูกลงไว้นั้นได้แก่ปัจจัย ผลมะพร้าวอ่อนและผลมะพร้าวห้าวที่ควรจะบริโภคนั้นได้แก่วิบาก

    อีกนัยหนึ่งว่า อกุศลกรรมนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งต้นไม้ที่มีพิษสง เมื่อมีผลสุกแล้วก็ให้โทษแก่บุคคลผู้บริโภคฉะนั้น กุศลวิบากนั้นเปรียบดุจหนึ่งต้นไม้ที่ไม่มีพิษสง เมื่อมีผลอันสุกแล้ว ก็ย่อมนำประโยชน์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั่วไป โดยเหตุนี้จึงว่า บาปเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล บุญเป็นเหตุ สุขเป็นผล ดังนี้

    เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาไว้ว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องอุดหนุนของความสุขพิเศษ เปรียบเหมือนเครื่องบ่มผลไม้ทั้งปวง มีผลมะม่วงและกล้วยเป็นต้น อีกประการหนึ่ง ด้วยอวิชชานี้แลเป็นวิบากธรรม เพราะสังขาร วิญญาณ นามรูป จะบังเกิดได้ ก็ต้องอาศัยอวิชชาเป็นเดิมเหตุ ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องอาศัยแก่มูล ๖ คือ กุศลมูล ๓ และอกุศลมูล ๓ มูลทั้ง ๖ นี้เป็นเหตุให้บังเกิดบุญ เกิดบาป เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 13:15:14


(http://www.thaidphoto.com/forums/attachment.php?s=76ca273757f63181bf0bd712cafa1846&attachmentid=325839&stc=1&d=1235509188)

๙. เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงในบทที่ ๙ ว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา นี้สืบต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมิใช่เหตุ มิใช่วิบาก แปลว่าธรรมไม่มีวิบาก ไม่มีเหตุปัจจัยดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมที่ไม่มีทั้งเหตุทั้งผล เปรียบเหมือนบุคคลที่นอนหลับฝันไปว่า ได้บริโภคอาหารอิ่มหนำสำราญใจ ครั้งตื่นขึ้นมาแล้วอาหารและความอิ่มในฝันก็หายไปหมด อาหารนั้นได้แก่เหตุ ความอิ่มในอาหารนั้นได้แก่ผล บุคคลที่นอนหลับฝันไปนั้นก็ได้แก่ธรรม คือ เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ เมื่อตราบใดธรรมนั้นแสดงให้ตรงกับธรรมชื่อว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ก็คือพระนิพพานแล้ว เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพานตราบใด ธรรมดวงนั้นก็ต้องอาศัยบุญและบาปที่สัตว์กระทำอยู่ ครั้นถึงพระนิพพานแล้ว บุญและบาปก็สูญไปหมด ดังมีพระบาลีปรากฏว่า เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ธรรมดวงเดียวนี้แลเป็นธรรมของเก่า เป็นธรรมเครี่องยินดีของสัตตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน หรือแปลอีกนัยหนึ่งว่า เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้ข้ามไปแล้วจากกิเลส ฉะนี้ฯ

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ธรรมดวงเดียวนี้เป็นธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ข้าพเจ้ามีความสนใจมานานแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะเข้าใจโดยง่าย ๆ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาให้ท่านปรวาทีฯ จงแสดงอุปมาอุปไมยเพื่อให้เกิดสันนิษฐาน ณ กาลบัดนี้ด้วยเถิด ขอรับ?

    พระปรวาทีฯ จึงแสดงอุปมาว่า ธรรมดวงนี้เปรียบเสมือนหนึ่งบุคคลย้อมผ้าด้วยสีต่าง ๆ มีสีเหลือง ดำ แดง เป็นต้น บุคคลที่ย้อมผ้านั้นก็ได้แก่สังขารนั้นเอง สีต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่วิบากกรรม คือ ผลแห่งบุญและบาปนั้นเอง ผ้านั้นก็ได้แก่ธรรมชื่อว่า เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา นี้เอง เมื่อบุคคลย้อมผ้าและสีต่าง ๆ นั้นหายสูญจากไปจากผ้าแล้ว ผ้านั้นก็มีสีขาวบริสุทธิ์อย่างเดิม ปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร ได้แสดงมาในติกมาติกาบทที่ ๙ แต่โดยสังขิตกถาไว้เพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 13:17:33


                  (http://www.bloggang.com/data/t/trees/picture/1248942837.jpg)

๑๐. อุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

   ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาบทที่ ๑๐ สืบต่อไป ตามนัยพระบาลีว่า ปาทินนุปาทานิยา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ทรงไว้ซึ่งธรรมชาติอันเป็นเครื่องกำหนดในอุปทาน คือความเข้าไปถือเอาซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของถาวรมั่นคง หลงว่าเป็นของดีงาม ถือว่าเป็นของตนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงได้ถือว่าอุปาทานจักบังเกิดขึ้นได้ ก็อาศัยความไม่รู้จักว่าเป็นโทษ เห็นไปว่าเป็นคุณประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้นจึงได้หลงรักใคร่พอใจ ชอบใจ แต่อันที่จริงนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ ย่อมให้โทษหลายอย่างหลายประการ โทษของรูปนั้นเป็นต้นว่า หนาวก็เป็นทุกข์ ร้อนก็เป็นทุกข์ อยากข้าวอยากน้ำก็เป็นทุกข์

    ถ้าจะอุปมาให้เห็นชัดแล้ว บุคคลที่ถือรูปว่าเป็นของของตนนั้น ย่อมหลงกระทำแต่บาปกรรม เพื่อนำมาบำรุงซึ่งรูปของตนและรูปของท่านผู้อื่น ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น ก็เพราะเหตุที่เขาถือว่ารูปเป็นของของตนนี้เอง อุปมาเหมือนเวทนาบุคคลที่งูกัดตายฉะนั้น อีกประการหนึ่ง บุคคลที่ถือว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของของตนนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มิใช่ของของตนเพราะเป็น วิปริณามะธรรม รู้ยักย้ายกลับกลายไปต่าง ๆ ก็ยังขืนยึดถือไว้ว่าเป็นของของตน เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถือไว้ว่าเป็นของของตนนั้น ก็อยากให้มีแต่ความสุขสบาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นกลับกลายร่ำไป แต่บุคคลก็ยังขืนยึดถือเอาไว้ว่าเป็นของของตน เพราะฉะนั้นจึงได้ประสบแต่ความทุกข์ยากลำบากใจหลายอย่างหลายประการ เพราะอุปทานเข้าไปยึดถือไว้ไม่วาง ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 16:47:07


(http://s.myniceprofile.com/myspacepic/1233/123398.gif)

๑๑. อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

    จักได้แสดงในบทที่ ๑๑ สืบต่อไปว่า อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถือเอาซึ่งอารมณ์ที่ไม่พึงถือเอา ดังนี้ โดยความอธิบายว่า โลกธรรมทั้ง ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอิฏฐารมณ์ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์ ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๘ เหล่านี้เรียกว่า โลกธรรม เพราะโลกธรรมทั้ง ๘ นี้กระทำใจให้ขุ่นมัววุ่นวายไป ไม่ใช่เครื่องระงับ และกระทำใจให้เดือดร้อนไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสไว้ว่า อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันไม่ควรเข้าไปถือเอาเป็นอารมณ์ ดังนี้ เพราะเหตุว่าโลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้เปรียบเหมือนกงจักรสำหรับดักสัตว์ให้หมุนเวียนไป ให้ได้เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ ดังเปรตที่ต้องกงจักรตัดศรีษะ แต่สัตว์ทั้งหลายเห็นว่าโลกธรรมทั้ง ๘ เหล่านี้เป็นความสุข ก็เช่นเดียวกันกับโลกธรรมทั้ง ๘ ที่กระทำสัตว์ให้วุ่นวายเดือดร้อนไป เสวยแต่ความทุกขเวทนา ดังนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 17:37:26


                   (http://img382.imageshack.us/img382/6825/fullmoondp1.gif)

๑๒. อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา

   ในบทที่ ๑๒ ว่า อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกำหนดถึงธรรมที่ควรพึงถือเอาและธรรมที่ไม่ควรพึงถือเอา ดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมที่ควรจะพึงถือเอานั้นก็คือ พระอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนี้เอง ส่วนธรรมที่ไม่ควรพึงถือเอานั้นคือโลกธรรมทั้ง ๘ นั้นเอง โดยเนื้อความในพระบาลีว่า ไม่ถือซึ่งโลกธรรมทั้ง ๘ และถือเอาพระอริยมรรค ๘ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกา บทที่ ๑๒ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ

(http://www.romebe.com/wp-content/uploads/2009/02/9339.jpg)



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 18:01:51


                   (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/53/21053/images/Y6309708-3.jpg)

๑๓. สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา

   จักได้แสดงในติกมาติกาที่ ๑๓ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลบางจำพวกได้วิตกคิดไปถึงบุคคลที่ได้ฆ่าคน ที่ได้ลักของของตนไป ที่ได้กระทำล่วงเกินลูกเมียของตน ที่ได้หลอกลวงตน ดังนี้ เหตุ ๔ ประการนี้ย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งสิ้น เปรียบเหมือนหนึ่งเหตุ ๔ ประการนี้ย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งสิ้น เปรียบเหมือนหนึ่งตั๊กแตนที่ยินดีในไฟ ถูกร้อนเข้าจึงได้รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้สมกับพระบาลีว่า สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา ฉะนี้ แต่เดิมทีนั้นจิตก็เศร้าหมองอยู่แล้ว ยังไปคิดเอาอารมณ์เศร้าหมองมาประสมกันด้วยจิตที่เศร้าหมองนั้นอีก จิตก็ยิ่งเศร้าหมองทวีขึ้นไปฉะนี้ แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๓ มาพอสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2554 21:44:26


                    (http://farm6.static.flickr.com/5166/5238240838_f9e404f400.jpg)

๑๔. อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา

    จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ประกอบไปด้วยจิตอันเศร้าหมองแล้ว และไปคิดเอาแต่อารมณ์ที่ไม่เศร้าหมอง ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลบางจำพวกที่มีจิตอันเศร้าหมองแล้ว แต่ได้คิดถึงคุณพระรัตนตรัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ รัตนะนี้ ถ้าใครได้นับถือแล้ว อิจฉิตัง ปัตถิตัง ผู้นั้นจะปรารถนาสิ่งใดก็สามารถให้สำเร็จได้ทุกประการ โดยความอุปมาว่า บุคคลที่ว่ายน้ำไป ย่อมคิดถึงแต่ศีล ทาน การกุศลของตนให้เป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนอุปพุทธเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า อุปพุทธนั้นเดิมเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทั้งประกอบไปด้วยโรคาพยาธินั้นก็มาก ทั้งทุกข์ยากลำบากเหลือที่จะประมาณ แต่เขาได้ยึดคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นอารมณ์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นภายหลังได้บริโภคธัญญสมบัติ สรรพโรคาพยาธิก็หายไปหมด เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 14:40:38


                     (http://static.desktopnexus.com/thumbnails/23269-bigthumbnail.jpg) 

๑๕. อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา

    จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๕ สืบต่อไป โดยนับพระบาลีว่า อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา ดังนี้ แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันทรงไว้ซึ่งจิตที่ไม่เศร้าหมอง ความคิดนึกก็คิดนึกในธรรมที่ไม่เศร้าหมอง ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่เป็นกิริยาประกอบไปด้วยธรรม อันเป็นเครื่องถอนออกเสียซึ่งธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องเศร้าหมองอยู่ในสันดาน เปรียบเหมือนหนึ่งทารกไม่มีความยินดีในกามคุณแต่ไปบรรพชา บรรพชาก็เป็นเครื่องกำจัดเสียจากกามคุณ เพราะฉะนั้นจึงสมกับบาลีว่า อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา ซึ่งแปลว่า ธรรมก็ไม่เศร้าหมอง จิตก็ไม่เศร้าหมอง ความคิดนึกในธรรมารมณ์ก็ไม่เศร้าหมองฉะนี้ แก้ไขในบทติกมาติกาที่ ๑๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ


                  (http://static.desktopnexus.com/thumbnails/185033-thumbnail.jpg)     

๑๖. สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา

      ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๑๖ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปกับวิตกและวิจารณ์ วิตกและวิจารณ์ทั้ง ๒ นี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลที่มีวิจารณ์ตรึกตรองไปต่าง ๆ นั้น เปรียบเหมือนหนึ่งพระโสดาบันท่านวิจารณ์ไปว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามานขาดไปแล้ว ไม่มีอยู่ในสันดานของเราแล้ว จะคิดเป็นประการใดหนอ จึงจะสละกามฉันทะ พยาบาท ได้ฉะนี้ ความตรึกตรองไปเช่นนี้เรียกชื่อว่าวิจารณ์ แล้วท่านจึงวิตกไปว่า กามฉันทะ พยาบาท ก็ยังมีอยู่ในสันดานของเรา เราจะคิดเป็นประการใดหนอ เราจึงสละกามฉันทะ พยาบาทไปได้ ฉะนี้

    พระสกวาทีฯ จึงขออุปาอุปไมยต่อไปอีกว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีฯ ความข้อนี้ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ เพราะฉะนั้นขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงอุปมาอุปไมยอีกต่อไป

    พระปรวาทีฯ จึงได้แสดงอุปมาอุปไมยว่า เปรียบเหมือนหนึ่งพ่อค้าลงทุนหากำไร การค้าขายนั้นมีกำไรมากอยู่แล แต่ว่าวิตกไป กลัวบุคคลผู้อื่นเขาจะมาแบ่งซึ่งค้าขายฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนท่านทายก อุบาสก อุบาสิกาที่ได้โอกาสถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และพิจารณาทดลองของบริโภคเครื่องไทยทานของตนก็เห็นว่าดีแล้ว และคิดไปว่าพระท่านจะชอบหมดทุกองค์ หรือว่าจะไม่ชอบบ้างเป็นประการใด คอยตรวจตราแลดู เพิ่มเติมเปรี้ยวหวานมันเค็มเป็นต้นอยู่อย่างนี้ ฉะนี้แล เรียกว่าวิตกวิจารณ์ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 15:09:49


                (http://s.myniceprofile.com/myspacepic/943/94347.gif)

๑๗. อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา

    ในบทที่ ๑๗ ว่า อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องทรงไว้ซึ่งจิต มาตรว่ามีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มี ดังนี้ โดยความอธิบายว่าบุคคลที่กระทำกุศลสุจริต จิตไม่วอกแวกหวั่นไหวแลคิดไปว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้วก็ก้มหน้ากระทำไป มิได้เคลือบแคลงกินแหนงเมื่อภายหลัง ดังบุคคลผู้ชำนาญในการดูเงิน ที่ดีก็ว่าดี ที่แดงก็ว่าแดง เพราะเชื่อมือเชื่อตาของตนฉะนั้น

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลมีแต่วิจารณ์ไม่มีวิตกดังนี้ ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่า เมื่อบุคคลไม่มีวิตก แล้วจะเอาวิจารณ์มาแต่ไหนเล่า ขอพระผู้เป็นเจ้าแสดงอุปมาอุปไมย เพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกต่อไป

    พระปรวาทีฯ จึงได้แสดงอุปมาอุปไมยว่า บุคคลมีแต่วิจารณ์ วิตกไม่มีนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งหัวปลีแห่งกล้วย เมื่อเดิมทีนั้นเป็นหัวปลีอยู่ กล้วยหามีไม่ เมื่อปลีนั้นกลายเป็นกล้วยแล้ว เจ้าของกล้วยก็ตัดเอาปลีไปเสีย กล้วยก็แก่ไปทุกวัน เขาก็เรียกว่ากล้วย เขาหาได้เรียกว่าหัวปลีไม่ ดังโลกโวหารที่พูดกันอยู่ว่า บุคคลผู้นั้นกระทำสิ่งใด ๆ ไม่ได้ตรึกตรอง กระทำตามความชอบใจของตนดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 15:24:35


                 (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTU_Pq726m_nkCQLvm8g-t4m417zY0zokkgraUYuj63aRJ6aKAPiA)

๑๘. อะวิตักกาวิจารา ธัมมา

    ในบทที่ ๑๘ ว่า อะวิตักกาวิจารา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตอันไม่ตกวิจารณ์ ดังนี้ โดยความอธิบายว่า บุคคลจำพวกหนึ่งจะกระทำสิ่งไรก็ไม่ตรึกตรอง ไม่พิจารณา เมื่อเขาว่าดีก็ดีตาม มีแต่ความเชื่ออย่างเดียว
    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่มีวิตกวิจารณ์ มีแต่ความเชื่ออย่างเดียวนั้นคือใคร ผู้ใดเล่าเป็นตัวอย่าง?

    พระปรวาทีฯ จึงนำบุคคลมาแสดงเพื่อเป็นนิทัศนอุทธาหรณ์ว่า เมื่อพระอานันทะไปกระทำกายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาซึ่งอาการ ๓๒ เป็นอนุโลมปฏิโลม ครั้งนั้นก็ยังไม่สำเร็จอาสวักขัยไปได้เพราะวิตกไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเชื่อคำพยากรณ์ภาษิตที่พระพุทธองคทรงตรัสไว้ว่า อาตมาจะได้สำเร็จอาสวักขัยในวันนี้ ก็เหตุไฉนยังไม่สำเร็จเล่า อย่ากระนั้นเลยชะรอยว่าความเพียรจะกล้าไป จำอาตมาจะได้พักผ่อนเอนกายเสียสักหน่อยเถิด พอคิดว่าจะจำวัดเอนกายลง ก็หมดความวิจารณ์ถึงอาการ ๓๒ และหมดความวิตกถึงพระพุทธองค์ก็ได้บรรลุอาสวักขัย ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยมาตัดวิตกวิจารออกไปเสียได้ฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะวิตักกาวิจารา ธัมมา ซึ่งแปลว่า ธรรมอันหมดวิตกวิจารฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณก็พึงสันนิษฐานโดยสังเขปกถาพอป็นธรรมสวนานิสงส์แต่เพียงนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 15:39:48


(http://www.b.yimwhan.com/board/data_user/patana/photo/cate_1/r6_148.jpg)
ภาพพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนี ตอนตี 5 ซึ่งชาวเมืองมัณฑะเลย์จะทำพิธีทุกเช้า

๑๙. ปีติสะหะคะตา ธัมมา

    ณ บัดนี้ จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๑๙ เป็นปุญญานุสนธิสืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ปีติสะหะคะตา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันร่วมมาด้วยปีติ ปีตินั้นมีลักษณะ ๕ ประการ คือ ฆนิกาปีติ ๑ อุทกาปีติ ๑ โอกัณติกาปีติ ๑ อุเพงคาปีติ ๑ ผรณาปีติ ๑ ฆนิกาปีตินั้นบังเกิดเป็นขณะ เมื่อบังเกิดดุจหนึ่งว่าสายฟ้าแลบ อุทกาปีตินั้นบังเกิดน้อย เมื่อบังเกิดดุจหนึ่งคลื่นกระทบฝั่ง โอกัณติกาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นกระทำให้กายหวั่นไหว อุเพงคาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นก็กระทำให้ขนพองสยองเกล้า แล้วกระทำให้กายลอยไปบนอากาศได้ ผรณาปีตินั้น เมื่อบังเกิดขึ้นก็ทำให้ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้บริโภคโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ฉะนั้น ปีตินั้นแปลว่าอิ่มใจ เป็นที่ยินดีของสัตว์ที่เป็นโลกวิสัยนี้ทั่วไป

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ปีตินั้นแปลว่าอิ่ม บุคคลที่ได้บริโภคโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ก็อิ่ม ได้ลาภที่ชอบใจก็อิ่ม จิตที่ฟุ้งซ่านไปก็อิ่ม จิตที่ระงับก็อิ่ม เรียกว่าปีติ ปีติในที่นี้จะว่าอิ่มด้วยอะไร?

    พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า ปีติในที่นี้แปลว่าอิ่ม เพราะมิได้มีความกังวลอีกต่อไป ดังบุคคลที่หิวอาหารจัด ก็เที่ยวแสวงหาอาหารตามชอบใจของตน ครั้นได้บริโภคอาหารอิ่มแล้ว ก็สิ้นความกังวล ไม่ต้องแสวงหาอีกต่อไป เปรียบเหมือนหนึ่งพระวักลิภิกขุ มีความหวังตั้งใจจะดูพระพุทธเจ้าให้อิ่มใจ เมื่อไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็มีความโทมนัสเสียใจ ครั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจที่โทมนัสนั้นก็หายไป ความอิ่มอย่างนี้แลเรียกว่าปีติ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปีติสะหะคะตา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 17:58:30


              (http://www.b.yimwhan.com/board/data_user/patana/photo/cate_1/r6_119.jpg)

๒๐. สุขะสะหะคะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๐ ว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันร่วมมาแล้วด้วยความสุข ความสุขนั้นมี ๔ ประการ คือ ความสุขกาย ๑ ความสุขที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ๑ ความสุขใจที่ไม่เศร้าหมอง ๑ ความสุขที่สมเหตุที่คิด สมกิจที่กระทำ ๑ ยังมีความสุขอีกประเภทหนึ่งมีอยู่ ๔ ประการเช่นกัน คือ สุขมีอายุยืน ๑ สุขมีรูปงาม ๑ สุขมีกำลังกาย มีกำลังทรัพย์ มีกำลังปัญญา ๑ สุขในความหมดเวรหมดกรรม ๑ เมื่อจะว่าย่อ ๆ ก็มีอยู่ ๒ ประการคือ โลกียสุข ๑ โลกุตรสุข ๑

    โดยความอธิบายว่า ความที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนเรียกว่าความสบาย ความสบายเรียกว่า ความสุข สุขที่ประกอบไปด้วยกิเลสนั้นเรียกว่า โลกียสุข ความสุขที่ไม่มีกิเลสนั้นเรียกว่า โลกุตรสุข ความสุขทั้ง ๒ ประการนี้เมื่อจะอ้างบุคคลก็ได้แก่ สุขสามเณร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ ได้ถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แต่นั้นก็เป็นสุข สุขมาจนกระทั่งถึงศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสมณโคดม นี้เป็นเขตโลกียสุข ตั้งแต่วันได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนั้น เป็นเขตโลกุตรสุข สุโข วิเวโก ความเงียบสงัดจากกิเลส ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุโข พุทธานะมุปาโท ความบังเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สัทธัมมะเทศนา การที่ได้ฟังพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สังฆัสสะ สามัคคี การที่พร้อมเพรียงกันแห่งสงฆ์ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สมัคคานัง ตโป สุดข การกระทำกิเลสให้เร่าร้อน คือผ่อนผันบรรเทาให้เบาบางพ้นจากสันดานไปได้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง ความปฏิบัติความประพฤติเป็นไปในกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก วิเวกทั้ง ๓ นี้แลเรียกชื่อว่าความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 18:34:31


                 (http://www.b.yimwhan.com/board/data_user/patana/photo/cate_1/r6_149.jpg)

๒๑. อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๑ ว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็นอุเบกขา อุเบกขานั้นคือหมดปีติแลหมดสุข จึงจัดเป็นอุเบกขาไว้ที่นี้ อุเบกขานี้ก็บังเกิดขึ้นแต่สุข สุขนั้นก็บังเกิดขึ้นแต่ปีติ ต่อเมื่อหมดปีติแลหมดสุขแล้ว อุเบกขาจึงจะบังเกิดขึ้น โดยความอธิบายว่า หมดปีติแลหมดสุขแล้วจึงจะเป็นอุเบกขา ถ้าปีติและสุขยังมีอยู่แล้ว อุเบกขาก็ไม่บังเกิดขึ้นได้ อุเบกขาในทีนี้ประสงค์ความว่า ปีติกับสุขทั้งสองบังเกิดขึ้นแล้วแลหายไป ถ้าปีติและสุขทั้งสองยังมีอยู่ตราบใด ก็ไม่จัดเป็นอุเบกขาได้ ถ้าปีติและสุขทั้งสองไม่มีแต่เดิมมา อุเบกขาก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่อาจมีอุเบกขาได้เอง เปรียบเหมือนหนึ่งแสงสว่างอันบังเกิดแต่เปลวไฟ ไฟจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยแก่เชื้อฟาง ฟางก็ได้แก่ปีติ เปลวไฟก็ได้แก่ความสุข แสงสว่างก็ได้แก่อุเบกขา

    เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงประทานเทศนาว่า ปีติสุข อุเบกขา เป็นลำดับกันมา เหมือนอย่างสุขทั้ง ๓ ประการ สุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ และสุขในพระนิพพาน

    สุขในมนุษย์ไม่เท่าสุขในสวรรค์ สุขในสวรรค์ไม่เท่าสุขในพระนิพพาน เช่นนี้ ดังมีในเรื่องราวท้าวมหาชมพูเป็นตัวอย่างว่า เมื่อเดิมทีท้าวมหาชนพูนั้นได้เสวยสุขในสิริราชสมบัติในมนุษย์ แล้วไปยินดีในสวรรค์ว่าสุขยิ่งกว่าในมนุษย์ ครั้นได้เห็นสุขในพระนิพพานอันเป็นบรมสุขยิ่งกว่าสุขทั้งสองนั้นแล้ว ก็ทิ้งสุขทั้งสองนั้นเสีย

    ความสุขทั้ง ๓ นั้น คือ มนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนี้ ก็มีนัยเดียวกันกับธรรมทั้ง ๓ คือ ปีติ สุข อุเบกขา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกา บทที่ ๒๑ ก็ยุติลงเพียงนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 18:54:03


๒๒. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงติกมาติกาในบบที่ ๒๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะละกิเลสได้เพราะเหตุที่ได้เห็น ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ครั้นได้เห็นเข้าแล้ว ก็บังเกิดสังเวชสลดใจ จึงละกิเลสได้ เหมือนหนึ่งบัณฑิตสามเณร เมื่อได้เห็นผมของตัวแล้วก็บังเกิดปัญญาพิจารณาเป็นอสุภะ ว่าผมของเราไม่งาม ผมของผู้อื่นก็ไม่งามเหมือนกัน อรหัตตผลก็บังเกิดปรากฏขึ้น ดังนี้

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ละกิเลสได้เพราะได้เห็นนั้น ก็เห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก เหตุไฉนจึงละกิเลสไม่ได้ หรือการที่เห็นนั้นจะมีนัยต่างกันอย่างไร?

   พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า การเห็นนั้นมีนัยต่างกัน ที่เห็นให้เกิดกิเลสก็มี ที่เห็นให้ละกิเลสก็มี สุดแต่เหตุที่ได้เห็น ถ้าเห็นของที่งาม ที่ชอบใจ ก็ให้บังเกิดกิเลสได้ดังนี้ เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงตรัสสั่งสอนพุทธบริษัทว่า อสุภานุปัสสี วิหะระติ ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์จะให้อยู่ด้วยความเห็นซึ่งอารมณ์อันไม่งาม เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 19:07:02


๒๓. ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา

     ในบทที่ ๒๓ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละกิเลสได้เพราะการที่ภาวนานั้น ภาวนาก็มีอยู่ ๓ ประการ คือ บริกรรมภาวนาละกิเลสอย่างหยาบได้ ๑ อุปจารภาวนาละกิเลสอย่างกลางได้ ๑ อัปปนาภาวนาละกิเลสอย่างละเอียดได้ ๑ เมื่อจะชี้บุคคลที่ท่านละกิเลสให้หมดไปและยังธรรมวิเศษได้ ด้วยอำนาจแห่งภาวนา ๓ ประการนี้ ก็มีเป็นอเนกประการ เช่น ภิกษุที่ได้เห็นฟันของสตรี หรือนางรูปนันทาที่ได้เห็นนิมิตที่งามยิ่งกว่ารูปของตนหรือพระปัจเจกโพธิ์ทั้ง ๕๐๐ องค์ที่ได้เห็นดอกบัวร่วงลงฉะนี้ เรียกว่าภาวนา โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่หยาบก็ละกิเลสอย่างหยาบได้ ปัญญาอย่างกลางก็ละกิเลสอย่างกลางได้ ปัญญาอย่างละเอียดก็ละกิเลสอย่างละเอียดได้ ภาวนานั้นไซร้ประสงค์ความว่า ให้รู้จักดีชั่ว ละความชั่วให้หมดไป และกระทำคุณความดีให้บังเกิดขึ้นในตน ดังนี้ เรียกชื่อว่า ภาวนา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 กันยายน 2554 19:44:05


(http://www.valeofglamorgan.gov.uk/images/sun%20in%20sky.jpg)

๒๔. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา

   ในบทที่ ๒๔ ว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ใช่หนทางภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ละกิเลสได้ด้วยนิสัยเปรียบเหมือนทุกุลบัณฑิต เห็นก็ไม่ได้เห็น ภาวนาก็ไม่ได้เจริญ เป็นแต่กระทำความในใจไม่ยินดีในกามคุณ ดุจบุคคลผู้มีอารมณ์อันดี ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นแต่อยู่เฉย ๆ อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่าเป็นไปตามนิสัย บุคคลที่จะละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ได้ภาวนา เป็นแต่กระทำความไม่ยินดีในกามคุณเช่นกับทุกุลบัณฑิตนั้น ก็หาได้โดยยากยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ ได้แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๒๔ ก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 07 กันยายน 2554 15:33:20


                    (http://wallpaperswide.com/thumbs/flowing_water-t2.jpg)

ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๒๕ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุแล้วจึงละกิเลสได้เพราะความเห็น ดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนก่อน แล้วจึงละกิเลสได้ด้วยความเห็นนั้น ความเห็นนั้นก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้ก็มี เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้ก็มี

    ความที่เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้นั้น ก็ได้แก่บุคคลที่เห็นบุคคลอื่นเสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ แล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจ กลัวแต่ภัยอันนั้นจะมาถึงตน ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีสองคนพี่น้องกัน ผู้พี่สาวนั้นก็มีสามีก่อน ครั้นมีครรภ์ถึงกำหนดทศมาสแล้ว ก็คลอดบุตร ได้ความลำบากเวทนาแสนสาหัส ถึงแก่กระทำกาลกิริยาตายไป น้องสาวได้เห็นพี่สาวถึงแก่ความตายดังนั้น ก็บังเกิดความสลดสังเวชใจ จึงไม่มีสามีต่อไป กลัวแต่ภัยเช่นนี้จะบังเกิดมีแก่ตน ฉะนี้ ก็จัดได้ชื่อว่า ละกิเลสได้เพราะความเห็นด้วยตา ดังวิสัชนามาฉะนี้

    ความที่เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้นั้น โดยเนื้อความว่า บุคคลที่เห็นนามและรูป โดยพระไตรลักษณญาณว่า รูปและนามทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วแลเบื่อหน่ายจากขันธ์ทั้ง ๕ ดังนี้แลเรียกว่า ละกิเลสได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 07 กันยายน 2554 17:39:10


๒๖. ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา  (http://www.212cafe.com/boardvip/user_board/cm99/picture/01239_6.gif)

    ในบทที่ ๒๖ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนแก่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า โลกียธรรมเป็นปัจจัยเกื้อกูลโลกุตรธรรม ศีลเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่สมาธิ ศีลก็ได้แก่ ความสำรวมกาย วาจา และความอดใจ สมาธิก็ได้แก่ภาวนา เพราะฉะนั้น ธรรมบทนี้จึงได้ชื่อว่า โลกียธรรม โลกียธรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดภาวนา ศีลมีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียศีล ๑ โลกุตรศีล ๑ ภาวนาก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียภาวนา ๑ โลกุตรภาวนา ๑

     โลกียศีลนั้นก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ได้แก่โลกียภาวนาเท่านั้น จะไปเกื้อกูลโลกุตรภาวนานั้นไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า โลกียศีลนั้นระงับได้เป็นคราว ๆ ครั้งภายหลังกิเลสก็เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนหนึ่งศิลาทับหญ้า ธรรมดาว่าศิลาอันทับหญ้านั้น เมื่อศิลาทับอยู่ หญ้านั้นก็งอกขึ้นไม่ได้ ศิลานั้นก็ได้แก่ศีล หญ้านั้นก็ได้แก่กิเลส เอกบุคคลผู้ไม่ระวังรักษาองค์แห่งศีล และกระทำศีลให้ขาดไป กิเลสก็บังเกิดขึ้นได้อีกอย่างเดิม เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้ไซร้ ตัดต้นแต่ไม่ตัดรากด้วยแล้ว นานไปฝนตกลงมาก็กลับงอกงามขึ้นอีก ฉะนั้นจึงว่า บุคคลรักษาโลกียศีลนั้น ไม่มีความปรารถนาที่จะตัดกิเลส มีแต่ความปรารถนาที่จะให้ได้บุญได้กุศลอย่างเดียว เปรียบเหมือนรากไม้เกาะเกี่ยวอยู่กับแผ่นดิน ครั้นได้น้ำฝนตกลงมาถูกต้องแล้ว ก็กลับงอกขึ้นมาได้อีก ฉันใดก็ดี โลกียศีลก็มีอุปาทานเกี่ยวอยู่ กิเลสก็อาศัยอุปาทานบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุปาทานปัจจยาภโว เมื่อมีอุปทานเป็นปัจจัยแล้ว ภพก็อาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่า โลกียศีลนี้ กิเลสยังอาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ ศีลอันนั้นแลชื่อว่ โลกียศีล ดังนี้

    ในโลกุตรศีลนั้น โดยเนื้อความว่า ศีลอันใดไม่ยังกิเลสให้บังเกิดขึ้นได้ ศีลอันนั้นแลชื่อว่า โลกุตรศีล ดังนี้ โดยความอธิบายว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องระวังรักษา กิเลสบังเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้แล้วแล ขุดถอนรากเสียฉะนั้น ถึงฝนจะถูกต้องเป็นประการใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นมาได้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดยอดตาลและยอดมะพร้าว ธรรมดาว่ายอดตาลและยอดมะพร้าวอันบุคคลตัดแล้วนั้น ก็ไม่สามารถจะงอกขึ้นได้ โลกุตรศีลก็มีอุปไมยเหมือนกันฉะนั้น
 
    บุคคลที่รักษาโลกุตรศีลนั้น เพราะมีปัญญาพิจารณาเห็นว่า ปัญจขันธ์แลสรรพธรรมทั้งปวงแต่แล้วล้วนเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ได้รักไม่ได้ชัง กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ กิเลสจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะจิตที่รักที่ชังนี่เอง เมื่อจิตไม่รักไม่ชังแล้ว กิเลสก็จะบังเกิดขึ้นมาแต่ไหนเล่า อุปมาเหมือนหนึ่งไฟ ธรรมดาว่าไฟจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยเชื้อมีอยู่ แต่ถ้าเชื้อไม่มีแล้ว ไฟก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ใจของพระอริยสรรพบุรุษทั้งหลายนั้นย่อมไม่มีเชื้อ คือ อุปาทานที่แจ้งไปด้วยพระไตรลักษณญาณนั้นอยู่ในจิตสันดานเป็นนิจนิรันดร เมื่อเชื้อคืออุปาทานไม่มีแล้ว กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนหนึ่งเชื้อแห่งไฟฉะนั้น

    เพราะเหตุนั้นจึงว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องรักษา เป็นแต่ใช้ปัญญาดวงเดียวก็รู้กิเลสได้หมด เมื่อรู้กิเลสได้หมดแล้วก็เป็นโลกุตรศีล ไม่ต้องสมาทานรักษา โลกียภาวนานั้น เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เหมือนหนึ่งจิตที่เป็นเอกัคตาแล้ว ก็กลับมาเป็นวิตกวิจารณ์อีกต่อไปได้ฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ขึ้นต้นไม้ ครั้นเก็บเอาผลไม้แล้ว ก็กลับลงมากองไว้ใต้ต้นไม้ แล้วจึงขึ้นไปเก็บอีกฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุรุษที่ไปบวชในสำนักแห่งพระสารีบุตรแล้ว แลเรียนภาวนาได้สำเร็จฌาณโลกีย์เหาะไปได้ ครั้นภายหลังไปเห็นสตรี ก็มีจิตปฏิพัทธ์ยินดีชอบใจ อยากได้สตรีนั้นมาเป็นภรรยาของตน ภาวนั้นก็เสื่อมหายไป ครั้นภายหลังไปประพฤติโจรกรรม เขาจับตัวได้ ถึงแก่โทษประหารชีวิต พระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงไปเตือนสติให้ภาวนา บุรุษนั้นก็ระลึกได้ จึงบริกรรมภาวนา ก็เหาะหนีรอดความตายมาได้ฉะนั้น เหตุนี้จึงว่า โลกียภาวนานั้นไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็สูญหายไป เพราะเป็นของไม่เที่ยง รู้กำเริบได้ ไม่เหมือนโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นเป็นของถาวรมั่นคงเที่ยงแท้ ไม่รู้แปรผันวิปริตกลับกลอกเหมือนหนึ่งโลกียภาวนา

    โลกุตรภาวนานั้น เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ว่ายน้ำไปในที่น้ำพัดให้กลายกลับกลอกไปมา ครั้นถึงฝั่งฟากแล้วก็พ้นจากนั้นไม่มีคลื่นฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ภาวนาให้บังเกิดขึ้นแล้วแลไม่หายไม่สูญไป ฉะนั้นแลชื่อว่าโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นอุปมาเหมือนบุคคลที่เข้าถ้ำจนค่ำมืด มืดนั้นก็ได้แก่บุคคลที่แรกเจริญภาวนา บุคคลที่แรกเจริญภาวนานั้นก็ยังมืดอยู่ ครั้นภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่ความสว่างขึ้น ไม่มืดต่อไป บุรุษผู้เข้าป่าในเวลาค่ำมืดนั้น ครั้นแสงพระจันทร์ส่องสว่างลงมาแล้ว ย่อมได้แสงจันทร์เป็นที่ดำเนินไป บุรุษนั้นก็ได้เห็นพระจันทร์แล้ว บุรุษนั้นเดินไปสถานที่ใด ๆ จะให้พ้นพระจันทร์ไปนั้นไม่ได้ เมื่อบุรุษนั้นจะเดินไปสู่ประเทศที่ใด ๆ พระจันทร์ก็ตามไปในประเทศที่นั้น ๆ ฉันใดก็ดี ท่านที่ได้เจริญโลกุตรภาวนานั้น เมื่อโลกุตรภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมติดตามผู้นั้นไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานฉะนั้น เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ดังนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 07 กันยายน 2554 18:43:40


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/river_across-t2.jpg)

๒๗. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๗ ว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา นี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่ธรรมที่พึงละกิเลส เพราะเหตุที่ไม่ได้เห็นแลไม่ได้ภาวนานั้น ความอธิบายว่า ในเบื้องต้นที่หนึ่งว่าละกิเลสได้เพราะเห็น บทที่สองนั้นว่าละกิเลสได้เพราะภาวนา ดังนี้ ในบทที่สามนั้นว่าไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนา ละกิเลสได้ด้วยภาวะของตนเอง เปรียบเหมือนหนึ่งต้นไม้ที่มีผลเป็นต้น ธรรมดาว่าผลไม้นั้น บางทีหล่นลงเองก็มี บางทีหล่นด้วยพายุพัดก็มี บางทีหล่นด้วยคนสอยก็มี บางทีหล่นด้วยสัตว์ทั้งหลายมีค้างคาวเป็นต้น แต่พระธรรมบทนี้หล่นลงโดยสภาวะของตนเอง จะได้ลงด้วยคนสอยและลมพายุพัดและสัตว์จำพวกใดกระทำหามิได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีฯ ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ท่านที่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษต่าง ๆ นั้น ก็เพราะได้เห็น ได้เจริญภาวนาดังที่ท่านได้เห็นฟองน้ำและพยับแดดเป็นฉะนี้ ในพระกรรมฐาน ๔๐ แลวิปัสสนา ๑๐ นั้นก็ดี ท่านแสดงไว้ว่าได้สำเร็จเพราะเหตุที่ได้เห็น และเหตุที่ได้เจริญภาวนา ดังนี้ ก็แลคำที่ท่านว่าไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนานั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ขอพระปรวาทีฯ จงแสดงอ้างบุคคลพอเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกต่อไป

    พระปรวาทีฯ จึงนำเอาเรื่องพระอานนท์มาแสดงเพื่อให้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ดูก่อนท่านสกวาทยาจารย์ เพื่อพระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปถึงเมืองกุสินารา ครั้งนั้น พระอานนท์ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าสู่พระนิพพานก็มีความเศร้าโศกอาลัยไปต่าง ๆ พระองค์จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า มา โสจะยิ ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เมื่อเราผู้ตถาคตนิพพานไปแล้วพระมหาอริยะกัสสะปะจะยกพระวินัยสุตตันตอภิธรรมขึ้นสู่สังคายนา ในกาลครั้งนั้นท่านจะได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ดังนี้

    ครั้นถึงวันประชุมสังคายนา พระสงฆ์ทั้งหลายจึงตักเตือนพระอานนท์ เสวะสันนิปาโต วันพรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์จะประชุมกระทำสังคายนา ตวัง เสโข ตัวท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ท่านหาสมควรที่จะเข้าประชุมสันนิบาตไม่ อัปปะมัตโต โหติ ฉะนั้นท่านจงอย่าได้ประมาทเลย ดังนี้ เมื่อพระอานนท์ได้ฟังซึ่งคำแห่งสงฆ์ตักเตือน ดังนั้น จึงเข้าไปสู่ที่สงัดกระทำสมณธรรมปลงปัญญาลงความเห็นชัดว่า เราคงได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษพระอรหันต์เป็นแน่ พระองค์ทรงตรัสไว้แล้วไม่เป็นคำสอง ดังนี้ ดูก่อนท่านสกวาทีฯ พระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใดเพราะเหตุที่ได้เห็นนั้น

    ครั้นภายหลัง พระอานนท์ก็ได้เจริญกายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาซึ่งอาการ ๓๒ โดยพระไตรลักษณญาณ จนคืนยันรุ่งพระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลวิเศษอันใด เพราะเหตุนั้น พระอานนท์จึงวิตกไปว่า ก็เหตุใดหนอเราจึงไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สังขาระสะมัตโถ ชะรอยว่าเราจะทำความเพียรกล้าหนักไป จำเราจะระงับสังขารเสียสักหน่อยให้สบาย แล้วจึงจะภาวนาใหม่ต่อไป ฉะนี้ พระอานนท์ก็ละความเห็นและภาวนานั้นแล้วจึงเอนกายลง พระเศียรยังไม่ถึงพระเขนย พระบาทยังไม่พ้นพื้น พระอานนท์ก็ได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ปฏิปสัมภิทาในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น  โดยความอธิบายว่า พระอานนท์เป็นผู้เกื้อกูลแก่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนา ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้ ปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณก็พึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมารับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาที่ ๒๗ นี้โดยสังเขปกถา ก็ยุติลงเพียงนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 09 กันยายน 2554 14:27:59


                (http://wallpaperswide.com/thumbs/river_nature_18-t2.jpg)

๒๘. อาจะยะคามิโน ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงในติกมาติกาที่ ๒๘ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อาจะยะคามิโน ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยความสุข เพราะการสร้างสมซึ่งบุญนั้น ธรรมดาว่าบุคคลไปสู่หนทางอันไกล ก็ต้องอาศัยสะสมเสบียงอาหารให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะมีความสุขความสบายในหนทางฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนหนึ่งแม่ทัพที่จะยกพลนิกายเข้าสู่ยุทธสงคราม ก็ต้องตระเตรียมเสบียงอาหารและเครื่องศาสตราวุธให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะยกเข้าสู่ยุทธสงครามนั้นได้ ฉันใดก็ดี บุคคลที่จะได้ประสบซึ่งความสุขนั้น ก็ต้องอาศัยสะสมซึ่งการบุญการกุศลเหมือนกัน ดังมีในราชเทวตาสังยุตพุทธภาษิตว่า ปุญญัสสะ อุจจะโย เมื่อบุคคลผู้ใดสะสมซึ่งบุญ บุญนั้นก็จะนำมาซึ่งความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อาจะยะคามิโน ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 09 กันยายน 2554 15:15:23


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/mountain_creek_27-t2.jpg)

๒๙. อะปะจะยะคามิโน ธัมมา

    ในบทที่ ๒๙ ว่า อะปะจะยะคามิโน ธัมมา นั้น แปลความว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยซึ่งความทุกข์ เพราะไม่ได้สั่งสมขึ้นซึ่งการบุญการกุศล โดยความอธิบายว่า บุคคลจะถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจเพราะไม่มีเครื่องใช้สอยต่าง ๆ มีเงินทองผ้านุ่งห่มเป็นต้นนั้น ก็เพราะไม่ได้สั่งสมการบุญการกุศล เปรียบเหมือนหนึ่งคนยากจนอนาถาเที่ยวขอทานท่านผู้อื่นเลี้ยงอัตภาพ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ วันที่ขอเขาไม่ได้นั้นแลมากกว่าวันที่ได้ เพราะของของตนไม่มี จึงต้องถึงซึ่งความลำบากดังนี้ ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่ง ชื่อ อานันทเศรษฐี ผู้นี้ไม่ได้กระทำบุญให้ทานแก่ใคร ๆ ครั้นตายไปก็ได้บังเกิดในครรภ์จันฑาล ตั้งแต่ทารกนั้นมาปฏิสนธิการตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็กระทำให้บิดามารดาทั้งสองถึงความยาก เที่ยวขอทานเขาได้โดยลำบาก ครั้นคลอดออกมาพอรู้เดินได้แล้ว มารดาบิดาพาไปเที่ยวขอทาน ก็เลยไม่ได้สิ่งอันใด ถ้าไม่พาไป ไปแต่ตนผู้เดียว ก็ได้มาพอเป็นยาปรมัตถ์เลี้ยงกันไป เพราะเหตุนั้นมารดาจึงพาไปปล่อยทิ้งเสียให้ไกลพ้นจากบ้านของตนแล้ว ก็เที่ยวขอทานเขากินได้โดยความสะดวกดี

    ฝ่ายทารกนั้นก็เที่ยวขอทานเขาไป เมื่อทารกทั้งหลายได้เห็นแล้ว ก็พากันไล่ทุบตีให้ถึงแก่ความตาย แล้วจึงพากันเอาไปโยนทิ้งไว้เหนือกองหยากเยื่อในที่แห่งหนึ่ง เพลาเช้าวันนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเสด็จไปโคจรภิกขาจารบิณฑบาต ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้นนอนตายอยู่บนกองหยากเยื่อนั้นแล้ว จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ทารกที่นอนตายอยู่บนกองหยากเยื่อนี้ก็คืออานันทเศรษฐีนั้นเอง เพราะตนไม่ได้บำเพ็ญกุศลไว้ จึงต้องถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเห็นสภาวะปานฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะปะจะยะคามิโน ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 09 กันยายน 2554 15:30:04


                (http://wallpaperswide.com/thumbs/foggy_winter-t2.jpg)

๓๐. เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา

    ในบทที่ ๓๐ นั้นมีพระบาลีว่า เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้ถึงซึ่งความสุข ด้วยการสะสมก็ไม่ใช่ ด้วยการไม่สะสมก็ไม่ใช่ โดยความอธิบายว่า สะสมแต่การบุญ ไม่สะสมการบาป แต่ธรรมบทนี้แปลว่าไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป เปรียบเหมือนหนึ่งคนนอนหลับไม่สุขไม่ทุกข์ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนคนที่หนีร้อนไปหาเย็น หนีร้อนออกไปพ้นจากร้อนแล้วแต่ยังไม่ทันถึงความเย็น ยังอยู่ในระหว่างกลาง ๆ ฉะนี้ เมื่อจะชี้บุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์แล้ว ก็ได้แก่พระมหาเถรที่บอกแก่นายช่างแก้วมณีว่า โทษยังมีแก่บุคคลในโลกฉะนี้ เพราะตัวของท่านนั้นไม่สุขไม่ทุกข์ ท่านอยู่ในระหว่างกลางไม่ร้อนไม่เย็น โดยเหตุนี้ก็ย่อมพิสดารอยู่ในคัมภีร์พระธรรมบทนี้ แล้วนำมาแสดงในที่นี้แต่โดยสังเขปกถาให้สมกับพระบาลีว่า เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 10 กันยายน 2554 11:34:15


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/peaceful_forest-t2.jpg)

๓๑. เสกขา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แสดงในติกมาติกาที่ ๓๑ สืบต่อไป โดยนับพระบาลีว่า เสกขา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่จำจะต้องศึกษาดังนี้ ธรรมที่จำจะต้องศึกษานั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ เป็นธรรม ๓ ประการฉะนี้

    พระสกาวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้จะต้องศึกษาอย่างไรจึงจะเรียกว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาได้ พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า ในสิกขาทั้ง ๓ นั้นก็คือ ศีลกล้า ๑ ศีลยิ่ง ๑ ศึกษาให้จิตยิ่ง ๑ ศึกษาให้ปัญญายิ่ง ๑ โดยความอธิบายว่า ศีลนั้นก็มีอยู่ ๓ สถาน คือ ศีลอย่างต่ำ ๑ ศีลอย่างกลาง ๑ ศีลอย่างยิ่ง ๑ ผู้รักษาศีลนั้น บางคนก็เปล่งอุบายวาจาว่าจะรักษาศีล ไม่กระทำบาปด้วยกายวาจา ครั้นบาปมาถึงแก่ตนเข้าแล้ว ก็ไม่มีเจตนาจะรักษาศีลนั้นไว้ได้ ขืนกระทำบาปลงไปด้วยกาย วาจา ดังนี้ เรียกชื่อว่าศีลอย่างต่ำ บุคคลผู้รักษาศีลนั้นบางคนก็ตั้งเจตนาไว้ว่าจะรักษาศีล ไม่ควรกระทำบาปด้วยกายวาจา ครั้นบาปมาถึงแก่ตนเข้าแล้ว ก็คิดได้ว่าเรารักษาศีล ไม่ควรกระทำบาปด้วยกายวาจา ดังนี้ เรียกชื่อว่าศีลอย่างกลาง บุคคลผู้รักษาศีลนั้นบางคนก็รักษาพร้อมด้วยกายวาจา ไม่กระทำบาปจริง ๆ จนเห็นพระอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ดังนี้ เรียกชื่อว่าศีลอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่ง บุคคลที่เป็นสัตตบุรุษมารักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ดีแล้วก็ยังไม่พอแก่ศรัทธา จึงรักษาศีล ๑๐ ให้ยิ่งขึ้นไป จนได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ดังนี้ เรียกว่าศึกษาในศีลชื่ออธิศีลสิกขา

    พระสกาวาทีฯ จึงขออุปมากับพระปรวาทีฯ อีกต่อไป พระปรวาทีฯ จึงได้อุปมาต่อไปว่า ธรรมดาว่าบุคคลที่ปลูกต้นไม้หวังผลแล้ว ก็ย่อมระวังรักษา หมั่นรดน้ำพรวนดิน ไม่ให้ต้นไม้นั้นเหี่ยวแห้งตายไป คอยระวังรักษาอยู่ทุกทิวาราตรีมิได้ขาด จนต้นไม้นั้นงอกงามเจริญขึ้น มีดอกออกผลสมความประสงค์ของตนฉันใดก็ดี บุคคลผู้มีวิรัติเจตนามารักษาสีลหวังต่อความสุขแล้วนั้น ก็ย่อมตั้งเจตนาระวังรักษาไม่ให้อุปกิเลสเข้ามาท่วมทับศีลได้ และยังศีลของตนให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนบุคคลที่ปลูกต้นไม้ฉะนั้นฯ

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แก้ไขในอธิจิตสิกขาต่อไป บุคคลที่จะกระทำจิตให้ยิ่งนั้นก็พึงคิดว่าเราจะให้ทานตามได้ตามมี ครั้นเห็นทานมีผลแล้ว ก็พึงคิดว่าเราจะรักษาศีลต่อไป ครั้นเห็นศีลมีผลมากกว่าทานแล้ว ก็พึงคิดว่าเราจะเจริญภาวนาต่อไป ครั้นเห็นอานิสงส์ในการฟังพระธรรมเทศนานั้นว่ามีผลมากยิ่งกว่าทาน ศีล ภาวนานั้นแล้ว ก็อุตสาหะฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ ด้วยหวังตั้งจิตว่าจะรับเอาข้ออันเป็นแก่นสาร ดังนี้เรียกว่าศึกษาให้จิตยิ่ง ชื่อว่าอธิจิตสิกขา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แก้ไขในอธิปัญญาสิกขาสืบต่อไป บุคคลผู้กระทำปัญญาให้ยิ่งนั้น ก็พึงให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แลสดับฟังพระธรรมเทศนาเหมือนอย่างอธิศีล อธิจิตฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นสามัญลักษณ์ คือรู้ว่าสังขารธรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามัญปัญญานี้แลเรียกว่าพระปริยัติ เมื่อรู้จักพระปริยัติโดยลักษณะสามัญฉะนี้แล้ว ก็บังเกิดนิพพิทาญาณหยั่งรู้หยั่งเห็นในทางปฏิบัติ ว่าปฏิบัตินั้นยิ่งกว่าพระปริยัติ คือความเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง เมื่อรู้ว่าจิตของตนมีความเบื่อหน่ายแล้ว ก็ได้รู้ว่าความปฏิบัติอย่างนี้ เป็นความปฏิบัติยิ่งกว่าพระปริยัติ ปัญญาเป็นนิพพิทาญาณนี้แลเรียกว่าปฏิบัติ เมื่อมากำหนดรู้จักปฏิบัติโดยมีนิพพิทาญาณฉะนี้แล้ว ก็บังเกิดมุญจิตุกามยตาญาณ หยั่งรู้หยั่งเห็นในทางปฏิเวธ ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เสกขา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 13:55:22


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/river_nature_28-t2.jpg)

๓๒. อะเสกขา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แสดงในติกมาติกาที่ ๓๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อะเสกขา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันไม่ศึกษา โดยความอธิบายว่า ธรรมที่ไม่ศึกษานั้น ก็ได้แก่ความเกียจคร้านกระทำในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญานั้น เสื่อมทรุดไปทุกทิวาราตรีกาล เปรียบปานประหนึ่งว่า บุคคลปลูกต้นไม้หวังผลแลเป็นคนเกียจคร้าน ไม่หมั่นระวังรักษา รดน้ำพรวนดิน แล้วต้นไม้นั้นก็มีแต่เศร้าโศกเหี่ยวแห้งตายไป เปรียบสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ สัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ นั้น เมื่อเดิมทีก็เป็นมนุษย์นี้เอง แต่มนุษย์ที่ปราศจากศีล สมาธิ ปัญญาที่ดีชอบ จึงต้องทนทุกขเวทนาเห็นสภาวะปานนี้ เพราะอะไรเป็นเดิมเหตุ ก็เพราะความที่ไม่ศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง

    พระสกาวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า การที่ไม่ศึกษานั้นจะมีโทษอย่างไร จะได้แก่บุคคลจำพวกใด?

    พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาแก้ว่า บุคคลผู้มีความประมาท เกียจคร้าน ไม่ศึกษาในหนทางศีล สมาธิ ปัญญา และไม่แสวงหาซึ่งความสุขแก่ตนนั้น ย่อมมีโทษมากหลายประการ เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคล ๒ จำพวก เดินทางไกลกันดารด้วยน้ำ จำพวกหนึ่งเกียจคร้านไม่เพียรเดินไป จำพวกหนึ่งมีมานะเพียรเดินไป ครั้นเดิน ๆ ก็กระหายน้ำเป็นกำลัง คนเกียจคร้านนั้นจึงบอกกับเพื่อนกันว่า เราเห็นจะเดินไปไม่ไหว ขี้เกียจเต็มทีแล้ว เพื่อนที่มีมานะถึงตักเตือนขึ้นว่า ท่านจงอุตสาหะเดินไปอีกสักหน่อย ก็จะพบต้นมะขามป้อม กินแก้กระหายน้ำ ถัดต้นมะขามป้อมนั้นไปก็จะพบต้นมะเฟือง ถัดต้นมะเฟืองนั้นไปก็จะพบสระน้ำ ได้อาบกินตามความสบายใจ คนเกียจคร้านนั้นจึงบอกว่า เราเดินไปไม่ไหว เราอดน้ำมาสามวันแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะเข้าอาศัยพักอยู่ในสถานที่นี้ พวกมีมานะไม่เกียจคร้านอุตสาหะเดินไป ก็ถึงต้นมะขามป้อม ได้กินผลมะขามป้อมแล้วก็มีกำลังเดินต่อไป ก้ได้ถึงต้นมะเฟือง ได้กินผลมะเฟืองก็มีกำลังเดินต่อไป ก็ได้บรรลุถึงสระน้ำ ก็ได้อาบได้กินโดยความสบายใจ จนได้บรรลุความสุขสันต์ภิรมย์ สมดังมโนประสงค์ของตน บุคคลเกียจคร้านนั้นก็ถึงแก่ความตายไปในสถานที่นั้น

    เพราะเหตุนั้นจึงว่า บุคคลที่ไม่ศึกษานั้นย่อมประกอบไปด้วยโทษคือความตาย เกิดอยู่ในสังขารทุกข์ ไม่มีกำหนดชาติ ทั้งกันดารลำบากเดือดร้อนต่าง ๆ ฉะนี้ ดังมีนัยพระพุทธฎีกาว่า อิธะ ตัปปะติ อิธะ โมหะติ เปจจะโมหะติ โดยเนื้อความว่า บุคคลจะได้ความเดือดร้อนในโลกนี้แล้ว มิหนำซ้ำไปเดือดร้อนในอบายภูมิทั้ง ๔ อีกนั้น ก็เพราะตนไม่ได้บำเพ็ญกุศลสุจริตไว้ และไม่ได้ศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นที่พึ่งแก่ตนในกาลก่อน เพราะฉะนั้นจึงได้ประสบแต่อนิฏฐารมณ์ คือความเดือดร้อน ทั้งในอิธโลกและปรโลกฉะนี้ บุคคลที่ไม่เดือดร้อนย่อมมีแต่ความชื่นชมในโลกนี้แล้ว มิหนำซ้ำไปชื่นชมในปรโลกอีกนั้น ก็เพราะท่านได้บำเพ็ญสุจริตไว้ แลได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้เป็นที่พึ่งแก่ตนแต่ในกาลก่อน เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ประสบแต่อิฏฐารมณ์ คือความชื่นชมยินดีทั้งในอิธโลกและปรโลกฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 15:03:40


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/forest_river_1-t2.jpg)

๓๓. เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้แสดงในบบที่ ๓๓ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายจะศึกษาก็ไม่ใช่ จะไม่ศึกษาก็ไม่ใช่ โดยความอธิบายว่า ไม่ต้องศึกษาก็ได้สำเร็จ เป็นขึ้นได้เองตามภูมิที่ ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า พระศรีธาตุราชกุมารไม่ต้องศึกษาก็สำเร็จวิชาการได้หมด ไม่ว่าสรรพวิชาสิ่งใด ๆ ก็ได้สำเร็จได้ทุกประการฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหตุต้นไม้ไม่มีคนปลูก ขึ้นเอง แต่ไม่ขึ้นทั่วไป เฉพาะขึ้นได้แต่ดินที่อันควร ฉันใดก็ดี มรรคผลธรรมวิเศษจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยภูมิอันควร มีกิเลสก็ไม่บังเกิด ไม่มีกิเลสก็ไม่บังเกิด เฉพาะบังเกิดขึ้นได้แต่ท่านที่มีบารมีแก่กล้า

ฉะนั้น โดยเนื้อความว่าธรรมในที่นี้ ประสงค์บุคคลที่มีอุปนิสัยเคยได้กระทำมาแต่ในกาลก่อน เพราะเหตุนั้นจึงแปลว่าศึกษาก็ไม่ใช่ ไม่ศึกษาก็ไม่ใช่ ฉะนี้ ดังมีบุคคลเป็นนิทัศน์ตัวอย่าง เมื่อพระกุมารกัสสปได้ฟังพยากรณ์ภาษิต ๑๕ ข้อ ซึ่งมีในธัมมิกปัญหาสูตรนั้น ก็อุตสาหะทรงจำไว้ได้แม่นยำ บริกรรมภาวนามาสิ้นกาลนานแล้ว ก็ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลอันใด ครั้นมาภายหลัง ท้าวมหาพรหมจึงมาถามปัญหาอันนั้นแก่กุมารกัสสป กุมารกัสสปจึงนำปัญหานั้นไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงพยากรณ์ภาษิตปัญหา ๑๕ ข้อตั้งแต่ต้นจนอวสานที่สุด พระกุมารกัสสปก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาปรากฏในพุทธศาสนาดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 15:45:40


                  (http://wallpaperswide.com/thumbs/river_nature_16-t2.jpg)

๓๔. ปะริตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แก้ไขในติกมาติกาบทที่ ๓๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ปะริตตา ธัมมา แปลว่า ธรรมมีประมาณน้อย โดยความอธิบายว่า บุคคลผู้มีสติปัญญาน้อยจะเจริญธรรมที่มากก็ไม่ได้ ไม่เป็นผลสำเร็จ พาให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ ดังมีในชาดกว่า พระจุฬบัณถกมีสติปัญญาน้อย ไปเรียนวิชาอยู่ในสำนักแห่งทิศาปาโมขก์อาจารย์ ก็จำอะไรไม่ได้ จำได้แต่ ฆเฏสิ กิงกะระณา อะหังปิ ตัง ชานามิ เท่านั้น ก็ยังเกิดผลให้สำเร็จได้และเป็นนิสัยติดตามมา ครั้นถึงศาสนาของสมเด็จพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าสมณโคดม โดยความหวังตั้งจิตก็ได้ไปบวชอยู่ในสำนักแห่งมหาบัณถกผู้เป็นพี่ชาย จะเล่าเรียนอะไรก็ไม่ได้ ให้บังเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ จึงหนีไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า

โดยความหวังตั้งใจว่าจะลาสิกขา ครั้นไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงทราบด้วยพระปัญญาญาณว่า จะได้สำเร็จแก่พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณแต่ธรรมมีประมาณน้อย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงผูกพระคาถาให้เจริญบริกรรม ๑๐ อักขระว่า ระโช หะระณัง ระชัง หะระติ ดังนี้ พระจุฬบันถกก็จำได้ อุตสาหะเจริญบริกรรมไป ก็เป็นผลได้สำเร็จพระอรหันต์ได้ เพราะธรรมมีประมาณน้อย แลมีนิสัยน้อยพอควรแก่อารมณ์ ฉะนี้ อีกประการหนึ่ง เมื่อจะได้สำเร็จนั้นก็เพราะจิตที่น้อยลง ๆ ธรรมที่น้อยนั้น ก็เฉพาะมีอารมณ์น้อยลง ๆ เหมือนกัน เปรียบเหมือนสูปังและพยัญชนังที่มีรสอันอร่อยดี ถึงจะมีน้อยก็เป็นที่บริโภคมีกำลัง เพราะรสนั้นถูกต้องกันกับอัธยาศัยของผู้ที่บริโภค เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปะริตตา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 16:16:22


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/above_clouds-t2.jpg)

๓๕. มะหัคคะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๓๕ นั้น พระบาลีว่า มะหัคคะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเลิศใหญ่ โดยความอธิบายว่า ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสเทศนาเป็นอุเทสวารนั้นชื่อว่าธรรมอันเลิศ ครั้นพระองค์ทรงจำแนกออกไปให้มากเป็นนิเทศวารนั้น ชื่อว่า ธรรมอันมาก เพราะฉะนั้นจึงได้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเลิศใหญ่ฉะนี้ เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงอธิบายให้มากออกไปตามวิสัยของบุคคลผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ เช่น อย่างพระสารีบุตรได้ฟังแต่พระคาถาบทหนึ่งว่า เย ธัมมา เหตุปัปภะวา เท่านี้ ก็ได้ตรัสรู้แทงตลอดไปได้ถึง ๑,๐๐๐ นัย แลทะลุไปในพระอริยสัจทั้ง ๔ ฉะนี้ เพราะสติปัญญาของท่านมาก เป็นวิสัยของพระอัครสาวกเบื้องขวา เพราะฉะนั้นจึงจะสามารถจะตรัสรู้แทงตลอดถึงมหัคคตธรรมนั้นได้ มหัคคตธรรมกับปริตตธรรมเป็นของคู่กัน เพราะมีธรรมน้อยก่อนแล้วบังเกิดธรรมมาก เช่นพระจุลบันถกได้เรียนคาถาว่า ระโช หะระณัง ระชัง หะระติ และพระสารีบุตรได้ฟังคาถาว่า เย ธัมมา เหตุปัปภะวา เท่านี้ แล้วก็สามารถตรัสรู้แทงตลอดไปในธรรมที่มากนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า มะหัคคะตา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 16:39:03


                  (http://wallpaperswide.com/thumbs/nature_landscape_sun_and_sky_66-t2.jpg)

๓๖. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๓๖ นั้น พระบาลีว่า อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่มีประมาณ ญาณปัญญาที่พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมนั้นก็ไม่มีประมาณ เมื่อจะมีอุปมาเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า แลพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วนั้น แลยังจะมาในเบื้องหน้านั้นก็ประมาณไม่ได้ ฉันใดก็ดี ธรรมที่แสดงมาทั้งนี้ก็มีอุปไมยเหมือนกันฉะนั้น ที่ท่านประมาณไว้ว่าแปดหมื่นสี่พันพระรรมขันธ์ดังนี้ ก็ประมาณได้โดยสังขิตนัย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายที่ได้แสดงมา ตั้งแต่กุสลาเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อจะแจกออกไปแต่บทใดบทหนึ่ง ก็ไม่มีที่จะจบลงไปได้ ที่ได้แสดงมาทั้งนี้แต่โดยสังขิตนัย พอควรแก่ความเข้าใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะทรงตรัสเทศนาเป็นอุเทสวารแต่โดยย่อ ๆ ฉะนี้ ก็กำหนดได้ถึงสี่หมื่นสองพันพระธรรมขันธ์ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 กันยายน 2554 18:06:52


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/nature_landscape_sun_and_sky_129-t2.jpg)

๓๗. ปะริตตารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๓๗ นั้น พระบาลีว่า ปะริตตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์น้อย โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายกระทำความยินดีให้น้อยลง หรือกระทำความยินดีให้หมดไป ไม่มีอารมณ์คือว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านดังนี้

   พระสกาวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายอย่างไรที่ว่ากระทำให้อารมณ์น้อยลง ไม่กระทำให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไป ขอท่านจงได้แสดงเพื่อให้เกิดความเลื่อมใสต่อไป ณ กาลบัดนี้

   พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า มรณธรรรมนี้แลเป็นธรรมที่ยังอารมณ์ให้น้อยลง แลไม่กระทำอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านไป อารมณ์จะฟุ้งซ่านไปก็เพราะเหตุที่ได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น เพราะฉะนั้นอารมณ์จึงฟุ้งซ่านไป เมื่อบุคคลผู้ใดมีธรรมเป็นอารมณ์อยู่ในสันดานแล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีความยินดีน้อย จัดได้ชื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแลมีอารมณ์อันน้อยลง เป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาไปในอารมณ์ต่าง ๆ ฉะนี้ ดังมีในพระอัปปมาทธรรมที่พระองค์ทรงตรัสถามภิกขุบริษัทว่า ท่านทั้งหลายคิดถึงมรณธรรมวันละเท่าใด ภิกขุองค์หนึ่งจึงทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงความตายในเวลาเมื่อไปบิณฑบาตว่า เรายังไม่ทันจะกลับจากบิณฑบาต ก็จะตายเสียในระหว่างที่เดินไปบิณฑบาตฉะนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะก็ทรงตรัสติเตียนว่า ยังมีความประมาทอยู่ ฉะนี้

ภิกขุองค์หนึ่งจึงทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงมรณธรรมในเวลาเมื่อจะฉันจังหันว่า เรายังไม่ทันจะกลืนอาหารลงไปในลำคอ ก็จะตายเสียในระหว่างกลางที่จะกลืนคำอาหารลงไปดังนี้ สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสติเตียนว่า ยังมีความประมาทมากอยู่ ฉะนี้ ภิกขุองค์หนึ่งจึงทูลว่า ข้าพระองค์คิดถึงมรณธรรมตามลมอัสสาสะปัสสาวะว่า เราหายใจออกไปแล้วไม่หายใจกลับเข้ามาก็จะตายเสียในระหว่างลมอัสสาวะปัสสาวะนั้น ดังนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะก็ทรงตรัสสรรเสริญว่า ดูก่อนภิกขุผู้เห็นภัยในชาติ ถ้าท่านปรารถนาจะยังความยินดีให้น้อยลง ก็จงมนสิการกำหนดถึงมรณธรรมตามลมอัสสาสะปัสสานะนี้เถิด ก็จะบังเกิดความสังเวช สลดใจได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในพระคุณรัตนะทั้ง ๓ ประการ อันเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัยทั้งปวง อันจะเกิดมีมาถึงแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งภายในแลภายนอก

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้เห็นภัยในชาติ เมื่อพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายองค์ใดมาระลึกถึงมรณธรรมอยู่เป็นนิตย์อย่างนี้แล้ว พระโยคาวจรเจ้าองค์นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท และกระทำอารมณ์ให้น้อยลง ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปะริตตารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 กันยายน 2554 15:53:38


                  (http://wallpaperswide.com/thumbs/sunlight-t2.jpg)

๓๘. มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๓๘ นั้น โดยพระบาลีว่า มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์มาก ยังอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านมากดังนี้ โดยความอธิบายว่า ความยินดีในรูปก็มีมาก ความยินดีในเสียงก็มีมาก ความยินดีในกลิ่นก็มีมาก ความยินดีในรสก็มีมาก ความยินดีในสัมผัสก็มีมาก ความยินดีในธรรมก็มีมาก เมื่อบุคคลผู้ใดมีความยินดีมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านี้แล้ว บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีอารมณ์มากฉะนี้

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลมีความยินดีมากในกามคุณทั้ง ๕ จะมีโทษอย่างไร จะได้แก่บุคคลผู้ใด?
 
    พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า บุคคลมากไปด้วยกามคุณทั้ง ๕ นั้น ย่อมมีโทษเมื่อภายหลัง ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า พระบรมโพธิสัตว์ของเราได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสักกมันธาตุราช ในกาลครั้งนั้นมีความปรารถนาจะเรียนวิชาให้สำเร็จ ด้วยหวังพระทัยว่าจะหานางแก้ว ครั้นได้นางแก้วตามความประสงค์แล้ว ก็ปรารถนาเป้นพระบรมจักรพรรดิราชสืบต่อไป ครั้นได้เป็นพระบรมจักรพรรดิราชดังความประสงค์แล้ว ก็ปรารถนาเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ในทวีปทั้งสี่สืบต่อไป ครั้นได้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ในทวีปทั้งสี่สมความประสงค์แล้ว ก็ปรารถนาเป็นใหญ่กว่าเทวดาต่อไป ครั้นได้เป็นใหญ่กว่าเทวดาสำเร็จดังความประสงค์แล้ว ก็ปรารถนาเป็นใหญ่กว่าพระอินทร์ต่อไป แต่ไม่สมความประสงค์ กลับตกลงมาจากสวรรค์ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 กันยายน 2554 15:56:18


                  (http://wallpaperswide.com/thumbs/tropical_beach_3-t2.jpg)

๓๙. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา

 ในลำดับนี้จะได้แสดงในบทที่ ๓๙ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์ไม่มีประมาณ กระทำความยินดีมากไม่มีสิ้นสุด โดยความอธิบายว่า จิตของปุถุชนนั้น อารมณ์ไม่มีประมาณ ยินดีในลาภไม่มีประมาณ ยินดีในยศไม่มีประมาณ ยินดีในความสรรเสริญก็ไม่มีประมาณ ยินดีในความสุขก็ไม่มีประมาณ เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงตรัสว่า อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ เมื่อจะชี้ตัวอย่างให้เป็นพยาน ก็ได้แก่นิทานสุนัขจิ้งจอกที่ลักมนต์ของพราหมณ์ไป ก็ปรารถนาเป็นใหญ่กว่าสัตว์ในป่าหิมพานต์ ครั้นได้สำเร็จดังความประสงค์ของตนแล้ว ก็ปรารถนาจะเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ ก็หาได้สำเร็จดังความปรารถนานั้นไม่ เพราะตนเป็นสัตว์เดียรัจฉานไม่รู้จักประมาณตน จนแก้วหูแตกตายไปฉะนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าจิตของปุถุชนไม่มีประมาณ สมกับพระบาลีว่า อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๓๙ ก็ยุติลงแต่เพียงนี้ฯ
   


หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 กันยายน 2554 15:59:07


                 (http://wallpaperswide.com/thumbs/shomal_mr-t2.jpg)

๔๐. หีนา ธัมมา

     ในลำดับนี้จะได้แสดงในติกมาติกาบทที่ ๔๐ ต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า หีนา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายยังอารมณ์ให้เลวต่ำช้า โดยความอธิบายว่า กามคุณทั้ง ๕ เป็นธรรมอย่างต่ำ กระทำให้สัตว์เลวทราบต่ำช้า สมดังพระบาลีว่า หีโน คาโม โปถุชชะชิโก อะนะริโย แปลว่า ความประกอบในความสุข หีโน เป็นธรรมอันต่ำช้าเลวทราม คาโม เป็นธรรมของชาวบ้าน โปถุชชะนิโก เป็นธรรมของปุถุชน อะนะริโย ไม่ใช่ธรรมของพระอริยเจ้า ดังนี้ โดยความอธิบายว่า กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้ เมื่อบุคคลผู้ใดประพฤติให้เป็นไปมากอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้ เมื่อบุคคลผู้ใดประพฤติให้เป็นไปมากอยู่ในจิตสันดานแล้ว ก็กระทำให้บุคคลผู้นั้นตกต่ำอยู่ในโลก คือกระทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสามไม่มีกำหนดชาติ ไม่สามารถจะยกตนให้พ้นจากสังสารทุกข์นี้ได้เพราะเป็นโลกียธรรม ยังสัตว์ให้หมุนเวียนไปต่าง ๆ ไม่อาจจะยังตนให้พ้นจากสังสารทุกข์นี้ได้ ดังบุรุษที่มีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในภรรยาซึ่งเป็นชู้กับบุรุษผู้เป็นน้องชาย ครั้นน้องชายฆ่าให้ตายแล้วก็ไปบังเกิดเป็นงูเหลือม ครั้นตายจากงูเหลือมแล้วก็ไปบังเกิดเป็นสุนัข ครั้นตายจากสุนัขแล้วก็ไปบังเกิดเป็นโค เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเรือนแห่งภรรยานั้น เพราะโทษแห่งกามคุณ ด้วยเหตุฉะนี้จึงเรียกชื่อว่า หีนาธรรม เป็นธรรมอันพระอริยเจ้าทั้งหลาย อันมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน ไม่ได้สรรเสริญว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า หีนา ธัมมา ฉะนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 กันยายน 2554 16:04:53


                   (http://wallpaperswide.com/thumbs/sweet_peas-t2.jpg)

๔๒. ปะณีตา ธัมมา

    ในบทที่ ๔๒ นั้นมีพระบาลีว่า ปะณีตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายประณีต โดยความอธิบายว่า บุคคลที่ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ อันเป็นไปกับด้วยพระไตรสรณคมน์นั้น ประณีตกว่าบุคคลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ อันเป็นไปกับด้วยพระไตรสรณคมน์ พระสกิทาคาประณีตกว่าพระโสดาบัน พระอนาคาประณีตกว่าพระสกิทาคา พระอรหันต์ประณีตกว่าพระอนาคา พระอัครสาวกประณีตกว่าพระปกติสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้าประณีตกว่าพระอัครสาวกทั้งปวง พระพุทธเจ้าประณีตกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ปณีตธรรม เป็นธรรมละเอียดกว่ามัชฌิมาธรรม มัชฌิมาธรรมละเอียดกว่าหีนาธรรม โดยความอธิบายว่า คนหยาบกับคนละเอียดต่างกัน ธรรมที่ชื่อว่าปณีตธรรมนั้น ได้แก่ธรรมของบุคคลผู้มีสติ ดังเรื่องฉัตตาปาณิอุบาสก ขณะกำลังเข้าเฝ้าและฟังธรรมพระบรมศาดาอยู่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมายังที่ประทับของพระพุทธองค์ ฉัตตปาณิอุบาสกจึงคิดว่าเราควรลุกขึ้นต้อนรับพระราชาหรือไม่หนอ หากเราไม่ลุกขึ้นต้อนรับ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาจจะทรงกริ้ว แต่หากเราลุกขึ้นต้อนรับ ก็จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้ความเคารพพระราชา แต่หาได้เคารพพระบรมศาสดาและพระสัทธรรม (ซึ่งเป็นธรรมอันประณีตกว่า) ไม่ ครั้นคิดแล้วดังนี้ จึงตัดสินใจไม่ลุกขึ้นต้อนรับพระราชา นั่งฟังธรรมในที่อันควรข้างหนึ่งต่อไป แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๔๒ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 กันยายน 2554 16:07:23


                  (http://wallpaperswide.com/thumbs/fallen_leaf-t2.jpg)

๔๓. มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา

 ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๔๓ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีทิฏฐิอันผิด เป็นธรรมอันเที่ยงที่จะไปสู่ทุคติ โดยความอธิบายว่า ทิฏฐิอันเห็นผิดนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ อุฉเฉททิฏฐิ ๑ สัสสตทิฏฐิ ๑ อกิริยาทิฏฐิ ๑ ความเห็นว่าบุญบาปไม่มี หรือเห็นว่าตายแล้วไม่เกิดสูญไป ทั้งนี้เรียกว่า อุฉเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นของเที่ยงไม่กลับกลอกยักย้ายแปรผันเช่นว่าเดียรัจฉานก็เป็นเดียรัจฉาน เดียรัจฉานไม่กลับเป็นมนุษย์ ความเห็นเช่นนี้เรียกชื่อว่า สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่ต้องบำเพ็ญบุญกุศล สิ่งใดถึงกำหนดแล้วก็สำเร็จไปเอง ความเห็นเช่นนี้เรียกชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ ทิฏฐิทั้งสามประการเหล่านี้เที่ยงที่จะไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา ดังนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2554 15:51:16


                   (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/667/7667/images/winter/winter.jpg)

๔๔. สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๔๔ นั้นมีพระบาลีว่า สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีทิฏฐิอันชอบ แลเป็นธรรมอันเที่ยงที่จะไปสู่นิพพาน โดยความอธิบายว่าทิฏฐิอันชอบมีอยู่ ๔ ประการ ทุกขเยยญาณัง ความเห็นในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นทุกข์ ๑ ทุกขสมุททเยยญาณัง ความเห็นในตนว่าเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ๑ ทุกขนิโรธเยยญาณัง ความเห็นในธรรมว่าเป็นเครื่องดับทุกข์ได้จริง ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเยยญาณัง ความเห็นในพระนิพพานว่าเป็นหนทางดับทุกข์ได้ ๑ ความเห็นทั้ง ๔ ประการนี้แล ท่านเรียกชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นแปลว่า ความเห็นดี เห็นชอบ ความเห็นดีเห็นชอบนี้แลเที่ยงที่จะไปสู่สุคติ โดยความอธิบายว่า ความเห็นธรรมของจริงเป็นความเห็นชอบ ความเห็นชอบนั้นก็คือ ความเห็นสมมุติว่าเป็นธรรมไม่จริง ธรรมที่โลกสมมุติตามใจนั้นแล เป็นธรรมไม่จริง เมื่อเห็นตามสมมุติ ถอนสมมุติเสียได้แล้วเรียกว่า วิมุติธรรม ที่เป็นวิมุตติธรรมนี้แล เรียกว่า ความเห็นจริงเห็นชอบ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา ดังนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:07:27


                     (http://www.bloggang.com/data/tilltomorrow/picture/1286980951.jpg)

๔๕. อะนิยะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๔๕ นั้นมีพระบาลีว่า อะนิยะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง บุญก็ไม่เที่ยง บาปก็ไม่เที่ยง โดยความอธิบายว่า ปุถุชนนั้น บุญก็กระทำ บาปก็สร้าง แต่ไม่เที่ยงที่จะไปสู่สวรรค์ และไม่เที่ยงที่จะไปสู่นรก เพราะไม่เป็นใหญ่เมื่อเวลาใกล้จะตาย ถ้าบุญส่งให้ก็ไปสวรรค์ ถ้าบาปส่งให้ก็ไปนรก เพราะเหตุฉะนี้จึงแปลว่า เป็นธรรมไม่เที่ยง ในเวลาอสัญกรรมใกล้จะตาย เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะนิยะตา ธัมมา ฉะนี้ฯ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๔๕ ก็ยุติแต่เพียงเท่านี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:24:53


                      (http://farm4.static.flickr.com/3385/3525830397_de9e7fbe80.jpg) 

๔๖. มัคคารัมมะณา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๔๖ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า มัคคารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีพระอริยมรรคเป็นอารมณ์ โดยความอธิบายว่า ธรรมดาว่าพระอริยเจ้าก็ย่อมยินดีแต่ในหนทางของพระอริยเจ้า เหมือนหนึ่งพระโสดาบันท่านก็ยินดีในธรรมที่ท่านละไว้แล้ว ๓ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ ความถือตัวถือตน ๑ วิจิกิจฉา ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ๑ สีลัพตปรามาส ความลูบคลำในวัตรปฏิบัติอย่างอื่น ๆ ๑ การละธรรมทั้งสามประการนี้เป็นอารมณ์แห่งพระโสดาบันบุคคล พระสกิทาคาก็มีอารมณ์ ๕ พระอนาคาก็มีอารมณ์ ๗ พระอรหันต์ก็มีอารมณ์ ๑๐ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า มัคคารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:33:16


                   (http://farm4.static.flickr.com/3389/3236777922_9d02749ac2.jpg)

๔๗. มัคคะเหตุกา ธัมมา

    ในบทที่ ๔๗ นั้นมีพระบาลีว่า มัคคะเหตุกา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องอุดหนุนแก่พระอริยมรรค โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรคนั้น มีอยู่ ๓ ประการ ธรรมทั้ง ๓ ประการนั้นก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นแปลว่า ละเสียจากบาป สมาธินั้นแปลว่า จิตถอนจากบาป ตั้งอยู่ในที่ชอบ ไม่ตกไปในบาป ปัญญานั้นแปลว่า รู้จักกิเลส เครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิต จิตไม่ตกไปในกิเลส ความที่รู้ว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิต ดังนี้ เรียกชื่อว่า ปัญญา ธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้แล เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรค หรืออีกประการหนึ่ง ความเห็นเป็นพระไตรลักษณญาณก็จัดว่าปัญญาในที่นี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า มัคคะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:36:04


                   (http://farm4.static.flickr.com/3569/3397700735_84c5e7fa00.jpg)

๔๘. มัคคาธิปะติโน ธัมมา   

    ในบทที่ ๔๘ นั้นมีพระบาลีว่า มัคคาธิปะติโน ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นใหญ่ในทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานนั้นก็ได้แก่นิสัยที่แก่กล้า จึงจะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้ ถ้านิสัยไม่แก่กล้าแล้ว ก็ดำเนินไปไม่ได้ ธรรมที่เป็นใหญ่ในที่นี้ก็ได้แก่ที่นิสัยอย่างต่ำเพียงแสนมหากัปป์ อย่างยิ่งเพียง ๑๖ อสงไขย ถ้ายังไม่ครบก็ยังเป็นไปไม่ได้ บุคคลที่มีบารมีอ่อนแอ มีนิสัยอ่อนแออยู่นั้น ก็ได้แก่พระจุลกาลได้บรรพชาแล้วก็ต้องสึกออกไปเป็นฆราวาสอีก ดังนี้ บุคคลผู้มีนิสัยบารมีเป็นใหญ่ในที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้นั้น ก็ได้แก่พระมหากาลผู้พี่ชายของจุลกาล ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๔๘ ก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:38:39


                      (http://farm4.static.flickr.com/3229/3367796682_13aae66bb6.jpg)

๔๙. อุปปันนา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๔๙ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อุปปันนา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นสมมติกิจหรือวิมุตติกิจ ถ้าบังเกิดขึ้นแล้วก็เรียกว่าชื่ออุปันนา ธัมมา ทั้งสิ้น

 พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า อย่างไรจึงเรียกว่าสมมติธรรม อย่างไรจึงเรียกว่าวิมุตติ?
    พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าเป็นธรรมสมมติทั้งสิ้น ธรรมเหล่าใดที่เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าเป็นวิมุตติทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่ง โลกเรียกว่า สมมติ พระนิพพานเรียกว่าวิมุตติ ฉะนี้

    พระสกาวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า สมมตินั้นบังเกิดขึ้นแก่ใคร วิมุตตินั้นบังเกิดขึ้นแก่ใคร?
    พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า สมมตินั้นก็เกิดขึ้นแก่นันทมาณพที่ไปกระทำสมัครสังวาสกับนางอุบลวรรณาเถรี จนธรณีสูบเอาไปดังนี้ จึงชื่อว่าสมมติบังเกิดขึ้นแล้ว วิมุตตินั้นก็บังเกิดขึ้นแก่พระยสกุลบุตรเมื่อเวลาไปดูอาการฟ้อนรำแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ฉะนั้น แสดงมาทั้งนี้โดยย่อ ๆ พอให้สมกับพระบาลีว่า อุปปันนา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:43:01


                    (http://1.bp.blogspot.com/_v8jtai7Y5bI/TLkQHqS9iYI/AAAAAAAACZU/_UUCGF2kq7E/s400/012.JPG)

๕๐. อะนุปปันนา ธัมมา   

    ในบทที่ ๕๐ นั้นมีพระบาลีว่า อะนุปปันนา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่บังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า บุคคลที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม แล้วธรรมที่จะนำความสุขมาให้นั้น ก็ไม่บังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น ครั้นดับขันธ์ลงก็คงไปบังเกิดในนรก เช่นอย่างนายจุนทสุกรเป็นต้น ฉะนั้นอีกนัยหนึ่งโดยพุทธประสงค์ว่า อนันตริยกรรม ๕ และ นิวรณธรรม ๕ อย่างนี้ ถ้ามีอยู่ในบุคคลผู้ใดแล้ว มรรคผลธรรมวิเศษสิ่งใด ก็ไม่บังเกิดแก่บุคคลผู้นั้น จัดเป็นสัคคาวรณ์ มรรคาวรณ์ไปดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะนุปปันนา ธัมมา ดังนี้
 


หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 18 กันยายน 2554 16:46:13


                  (http://farm4.static.flickr.com/3457/3208503953_07d9bdf2a2.jpg)

๕๑. อุปปาทิโน ธัมมา

    ในบทที่ ๕๑ นั้น โดยนัยพระบาลีว่า อุปปาทิโน ธัมมา แปลว่าธรรมทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นแล้ว โดยความอธิบายว่า อุปปาทินธรรม นี้ เป็นธรรมของพระอริยเจ้า เมื่อบังเกิดในบุคคลผู้ใด ก็ยังบุคคลผู้นั้นให้เป็นพระอริยเจ้า ธรรมของพระอริยเจ้านั้นก็คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ธรรมทั้ง ๙ เหล่านี้ ถ้าบังเกิดขึ้นแล้วก็เป็นของแท้ของจริง และเป็นของไม่เสื่อมสิ้นไป อีกนัยหนึ่งท่านประสงค์ว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ก็เรียกชื่อว่า อุปปาทิโน ธัมมา สุดแต่เป็นธรรมบังเกิดขึ้นแล้ว ก็จัดได้ชื่อว่า อุปปาทินธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุปปาทิโน ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๕๑ โดยสังขิตกถาเพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2554 09:12:01


                  (http://www.design-warez.ru/uploads/posts/2010-02/1265195724_70fd954780c4.gif)

๕๒. อะตีตา ธัมมา

ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๕๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อะตีตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ที่จัดเป็นกุสลา กุศลก็ดี หรือร่างกายที่จัดเป็นธาตุทั้ง ๔ หรือจัดเป็นอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ที่เกิดขึ้นแล้ว และดับสูญไปนั้นก็ดี เรียกชื่อว่า อะตีตา ธัมมา ทั้งสิ้น



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2554 09:13:31


                       (http://hilight.kapook.com/admin_hilight/spaw2/newimg/other/ATT20181.gif)

๕๓. อะนาคะตา ธัมมา

 ในบทที่ ๕๓ นั้น พระบาลีว่า อะนาคะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ยังมาไม่ถึง โดยความอธิบายว่า บุญก็ดี บาปก็ดี ที่บุคคลได้กระทำโดยกายวาจาใจแล้วแลยังไม่เห็นผลนั้น ก็ชื่อว่าอนาคตธรรม หรืออีกนัยหนึ่งว่า สัตว์ที่บังเกิดแล้วและยังไม่ถึงแก่ความตายนั้น ก็เรียกชื่อว่าอนาคตธรรม หรืออีกประการหนึ่ง บุคคลที่สร้างบารมียังไม่เต็มที่และมรรคผลธรรมวิเศษก็ยังไม่เกิดมีนั้น ก็เรียกชื่อว่าอนาคตธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะนาคะตา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2554 09:15:34


                    (http://4.bp.blogspot.com/_5-9pSyTiM_U/SRwGn67-qVI/AAAAAAAAFyo/_fn6JilZ3ik/s400/most_beautiful_beaches_15.jpg)

๕๔. ปัจจุปปันนา ธัมมา

   ในบบที่ ๕๔ นั้น โดยพระบาลีว่า ปัจจุปปันนา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยความอธิบายว่า ธรรมที่เป็นปัจจุบันนั้นก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เห็นอยู่เฉพาะหน้านี้แลชื่อว่า ปัจจุบันธรรม โดยความเป็นจริงก็คือไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดาและเป็นทุกข์เหลือที่จะทน จนตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับไป ไม่มีวิสัยที่จะฝ่าฝืน และไม่เป็นไปตามอำนาจของท่านผู้ใด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แลเป็นปัจจุบันธรรม แลเป็นวิปัสสนาปัญญา เป็นธรรมที่คงทนต่อความเพียร เมื่อบุคคลผู้ใดเห็นปัจจุบันธรรมคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ให้แจ้งชัดแล้ว บุคคลผู้นั้นก็จัดเป็นผู้สามารถจะยังศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นในตนได้ เพราะอารมณ์ของปัจจุบันธรรมนั้นน้อย  ย่อมเป็นอารมณ์อันสะดวกดี

ปัจจุบันธรรมนี้ เมื่อบุคคลผู้ใดมารู้แจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไรแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ไม่ฝ่าฝืนและไม่ต้องแก้ไขยักย้าย เมื่อเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามเห็นตามไปอย่างนั้น ก็เป็นทางสัมมาทิฏฐิปฏิบัติอยู่เอง เพราะมารู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างไร ย่อมถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ซึ่งพระองค์ทรงบัณฑูรเทศนาไว้ว่า อะสังหิรัง อะสังกุปปัง แปลว่า ธรรมไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน และเป็นธรรมไม่กำเริบจลาจล เป็นธรรมทนต่อความเพียรจริงดังนี้ ปัจจุบันธรรมนี้แล เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หนทางปฏิบัติอย่างกลาง เมื่อจะสันนิษฐานตามนัยพระสุตตันตโวหารแลวินัยบัญญัติ ปรมัตถ์ ๔ ธรรมทั้ง ๓ ปิฎก ที่พระองค์ทรงตรัสสอนพระปัญจวัคคีย์ภิกขุนั้น ก็มีพระพุทธประสงค์จะให้เห็นตามความที่เป็นจริง โดยสภาพอันเป็นปัจจุบันนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปัจจุปปันนา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกาติกาบทที่ ๕๔ ก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ
 


หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2554 09:16:52


                    (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/107/6107/images/353.gif)

๕๕. อะตีตารัมมะณา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๕๕ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อะตีตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอดีตเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า บุคคลมาระลึกถึงทานศีลที่ตนได้บำเพ็ญไว้แล้วให้เป็นอารมณ์ว่า ทานที่เราได้ให้แล้วด้วยตัดรากมัจฉริยตระหนี่เสียได้ แลจิตของเราก็เป็นจิตบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากโลภมัจฉริยธรรมแล้ว แลจัดเป็นจาคานุสสติ แปลว่าระลึกถึงกิเลสที่ตนละได้แล้ว ดังนี้ก็ดี หรือสีลานุสติ แปลว่าระลึกถึงศีลที่รักษาแล้ว ด้วยละโลภะ โทสะ โมหะ เสียได้ แลจิตของเราก็เป็นจิตผ่องใส สะอาด ปราศจากอภิชาพยาบาทได้แล้วดังนี้ก็ดี บุคคลมาระลึกถึงคุณแห่งทาน ศีล เป็นต้น ที่ตนได้บำเพ็ญไว้แล้วก็ดี ก็จัดได้ชื่อว่าอตีตารมณ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะตีตารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 ตุลาคม 2554 18:56:38


                    (http://farm4.static.flickr.com/3075/3086990743_07edb0e18d.jpg)

๕๖. อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๕๖ นี้มีพระบาลีว่า อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีอนาคตเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า บุคคลมาคิดถึงตนว่า นัตถิ ญาณัง อะปัญญัสสะ คุณะสัมปัตติ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นต้นว่าญาณหรือปัญญาก็ดียังไม่มีแก่เรา เราก็ยังไม่ได้ไม่ถึงซึ่งคุณธรรมอะไร ยัมหิ ญาณัญจะ ถ้าเรามีญาณมีปัญญาแล้วไซร้ นิพพานัง สันติเก ก็จะได้ชื่อว่า เราเป็นผู้นั่งใกล้กับพระนิพพาน ดังนี้ เมื่อบุคคลมาคิดถึงแต่ความโง่ของตนขึ้นแล้ว แลมาอุตสาหะบำเพ็ญฌาณสมบัติ แลวิมุตติญาณทัสสนะ คือความรู้แจ้งเห็นชัดในพระนิพพานธรรม เพื่อจะให้บังเกิดในตน ดังนี้ ก็จัดได้ชื่อว่า อนาคตารมณ์ สมกับพระบาลีว่า อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 ตุลาคม 2554 18:58:41


(http://i80.photobucket.com/albums/j199/grippini/walking/DSC05124.jpg)

๕๗. ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๕๗ นั้น โดยนัยพระบาลีว่า ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจุบันเป็นอารมณ์แห่งจิต โดยเนื้อความว่า บุคคลผู้มาพิจารณาตนว่า ในเวลานี้เรามีความสุขเพราะกุศลวิบาก คือผลแห่งสุจริตทั้ง ๓ ในเวลานี้เรามีความทุกข์เพราะอกุศลวิบาก คือผลแห่งทุจริตทั้ง ๓ ดังนี้ โดยความอธิบายว่าบุคคลผู้มีสติไม่เผลอไปในเวลาเมื่อได้เสวยสุขทุกข์อันบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว เอาวิบากแห่งสุจริตนั้นให้เป็นอารมณ์ ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นไกล โดยพระพุทธประสงค์นั้นก็คือ ให้พิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเอง เรียกชื่อว่า ปัจจุปปันนารัมมะณะธรรม เพราะเป็นธรรมบังเกิดอยู่ที่เฉพาะหน้า ตามอิริยาบถทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๕๗ แต่โดยสังขิตกถาเพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 ตุลาคม 2554 19:33:13


(http://www.bloggang.com/data/t/tilltomorrow/picture/1286981462.jpg)

๕๘. อัชฌัตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๕๘ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อัชฌัตตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นภายใน โดยเนื้อความว่า ธรรมที่เป็นภายในนั้น ท่านประสงค์ธรรม ๒ ประการ คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ๑ ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ๑

    ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลนั้นคือฌาณทั้ง ๕ ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลนั้นคือนิวรณ์ ๕ ธรรมทั้งสองนี้ ก็จัดเป็นอัชฌัตตธรรม บังเกิดขึ้นในภายในอย่างหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งอาการ ๓๒ ซึ่งจัดเป็นดิน ๒๐ น้ำ ๑๒ ลม ๖ ไฟ ๔ เหล่านี้ก็ดี หรือจัดเป็นอายตนะ ๖ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ เหล่านี้ก็ดี จะเรียกว่าชื่อ อัชฌัตติกธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัชฌัตตา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 06 ตุลาคม 2554 19:59:03


(http://fc07.deviantart.net/fs47/p/2009/172/f/f7388039eeefe557ee048df4f9bcfb4b.jpg)

๕๙. พะหิทธา ธัมมา

    ในบทที่ ๕๙ นั้นมีพระบาลีว่า พะหิทธา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม อันเป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์ทั่วไป อันเป็นตะวันดวงพระอาทิตย์ก็ดี จะเรียกว่า เตโชธาตุก็ดี หรือพื้นแผ่นดิน เรียกว่า ปฐวีธาตุก็ดี หรือลมพัดทั่วไปให้ใบไม้ไหว แลลมพายุใหญ่พัดให้ต้นไม้หักล้มลง หรือลมพายุพัดให้น้ำฝนตกลงมาที่เรียกว่า วาโยธาตุก็ดี หรือน้ำทั่วไปซึ่งมีในบึงบางห้วยหนอง เป็นต้น ที่เรียกว่า อาโปธาตุก็ดี หรืออายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้ก็จัดเป็น พาหิระกะธรรม ทั้งสิ้น ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า พะหิทธา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 ตุลาคม 2554 10:57:47


                     (http://www.bloggang.com/data/s/sdayoo/picture/1261567330.jpg) 

๖๐. อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา   

    ในบทที่ ๖๐ นั้นมีพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีทั้งภายในและภายนอก โดยเนื้อความว่า ธรรมที่จัดเป็นภายในภายนอกนั้น ก็เป็นเหตุอาศัยซึ่งกันและกันไป ธรรมภายในก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายนอกได้ ธรรมภายนอกก็เป็นเหตุให้ละกิเลสภายในได้ เปรียบเหมือนหนึ่งพระปทุมกุมารได้ทัศนาการเห็นดอกปทุมชาติบัวหลวงแล้ว ก็บังเกิดโยนิโสมนสิการ พิจารณาเห็นโดยพระไตรลักษณญาณแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยอำนาจพระไตรลักษณญาณ แต่ต้องอาศัยธรรมภายนอก คือดอกปทุมชาติบัวหลวงเป็นเหตุก่อน จึงสำเร็จได้ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา ดังนี้
 
    อีกประการหนึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็จัดเป็น พาหิระกะธรรม เพราะเป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องอาศัยเหตุภายนอกคือมารดาบิดาก่อน จึงจะบังเกิดขึ้นได้ วิญญาณนั้นไซร้เป็นธรรมภายใน มารดาบิดาเป็นธรรมภายนอก ความแก่นั้นก็มี ๒ ประการ คือ ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ภายใน ๑ อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ภายนอก ๑ พยาธิ ความเจ็บกายไม่สบายใจก็มีอยู่ ๒ คือ ความเจ็บปวดบังเกิดขึ้น ความไม่สบายในใจ เจ็บใจ แค้นใจ จัดเป็นอัชฌัตติกธรรมภายใน ความตายเป็นพาหิรกธรรมภายนอก ความตายก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ ตายด้วยโรคบังเกิดขึ้นภายในกาย เรียกว่า อัชฌัตตมรณธรรมภายใน ๑ ตายด้วยเครื่องศาสตราวุธ เป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยความเพียรของท่านผู้อื่น เรียกว่า พาหิรกมรณธรรมภายนอก ๑ เพราะเหตุนั้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเหล่านี้ เมื่อจะกล่าวถึงโศกปริเทวทุกข์ต่าง ๆ นั้นแล้ว ก็มีนัยเช่นเดียวอย่างเดียวกัน บางทีบังเกิดแต่เหตุภายในอาศัยเหตุภายนอกก็มี บางทีบังเกิดแต่เหตุภายนอกอาศัยเหตุภายในก็มี เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา นี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๖๐ แต่โดยสังเขปเพียงเท่านี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 ตุลาคม 2554 11:49:39


                     (http://thaipoem.com/forever/img/storymember/5658-23601.jpg)

๖๑. อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๖๑ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีอารมณ์เป็นภายใน โดยเนื้อความว่า พระโยคาวจรเจ้าผู้แสวงหาซึ่งความสุขสำราญใจ แลมาเจริญญาณสมาบัติให้บังเกิดขึ้นในตน เพราะฌาณสมาบัตินั้นเป็นธรรมบังเกิดขึ้นในภายใน ท่านทั้งหลายเหล่านี้ย่อมแสวงหาแต่ความระงับ เพ่งเอาแต่สมาบัติให้เป็นอารมณ์ เช่นเดียวกับสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร เมื่อเวลาเขาจะเอาไปฆ่า พระสารีบุตรจึงไปเตือนให้สติ ก็ระลึกถึงฌาณที่ตนเคยได้เจริญนั้นได้ ก็เพ่งฌาณความระงับนั้นให้เป็นอารมณ์แล้ว ก็เหาะหนีรอดความตายไปได้

    โดยความอธิบายว่า ก็ได้แก่ธรรมที่เย็นใจ ความบริสุทธิ์ใจเย็นใจนี้แล เป็นธรรมภายในแผ่ซ่านออกไปให้เป็นอารมณ์ในภายนอก บุคคลจะได้ประสบซึ่งความสุขกายสบายจิตทั้งภายในแลภายนอกนั้น ก็ต้องอาศัยธรรมภายในดวงเดียว มีความบริสุทธิ์ใจแผ่ซ่านออกไปเป็นอารมณ์ภายนอก ธรรมภายนคือความบริสุทธิ์ภายในใจดวงเดียวนี้แล ย่อมสามารถจะยังสรรพทุกข์ภัยอุปัทวันตรายทั้งปวงให้เข้าไประงับดับเสียได้ สมดังนัยพระพุทธสุภาษิตว่าปะริตตัง พุทธมันตานัง ปะวะรัง สัพพะมันตานัง อัชฌัตติกะพาหิเรชาตัง อันตะยายัง วิสาสะนัง ปะริตตา นุภาเวนะ ละภันติ สัพพะมังคะลัง ดังนี้

    โดยความอธิบายว่า ธรรมภายในคือใจบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์นั้นเรียกว่าธรรมมีประมาณน้อย ปะริตตัง แปลว่า พระนิพพาน เป็นธรรมมีประมาณน้อย ธรรมน้อยดวงเดียวนี้แล พุทธะมันตานัง เป็นมนต์ของพระพุทธเจ้า ปะวะรัง สัพพะมันตานัง และเป็นมนต์อันประเสริฐกว่ามนต์ทั้งปวง อัชฌัตติกะพาหิเรชาตัง อันตะรายัง วิสาสะนัง อันตรายอันหนึ่งอันใดซึ่งบังเกิดมีภายในแลภายนอก ก็ย่อมเสื่อมสูญไปโดยอำนาจแห่งพระปริตต์ คือพระนิพพานเป็นธรรมมีประมาณน้อยนี่เอง ปะริตตา นุภาเวนะ ละภันติ สัพพะมังคะลัง สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ประสบซึ่งความสุขสำราญใจก็ได้เพราะอานุภาพแห่งพระปริตต์อันเป็นธรรมมีอารมณ์ภายในอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ฯ



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 13 ตุลาคม 2554 12:41:36


                     (http://img244.imageshack.us/img244/2891/copyrightedimagereuseprid8.jpg)

๖๒. พะหิทธารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๖๒ นั้นมีพระบาลีว่า พะหิทธารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันมีอารมณ์เป็นภายนอก โดยเนื้อความว่า บุคคลทั้งหลายเมื่อได้ประสบซึ่งเวทนาอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเอารูปเป็นอารมณ์ เพราะรูปนั้นเป็นพาหิรกธรรมภายนอก ส่วนเวทนานั้นก็หาได้ระงับลงไม่ กลับได้เสวยซึ่งเวทนากล้ายิ่ง ๆ ยิ่งขึ้นไป เปรียบเหมือนจันทคหาบัณฑิต ที่ได้ประสบซึ่งความทุกขเวทนาแล้ว แลเพ่งเอารูปภายนอกเป็นอารมณ์ จนถึงแก่ความตายไปด้วยพวกโจรนั้น

    โดยความอธิบายว่า ความไม่สงบระงับใจ คือความเดือดร้อนขึ้นในใจ แต่ใจนั้นก็เป็นธรรมชาติดิ้นรนเดือดร้อนอยู่โดยปกติธรรมดาของตนแล้ว มิหนำซ้ำยังเอาธรรมภายนอก ซึ่งมิใช่ธรรมเครื่องระงับเข้ามาเป็นอารมณ์อีกเล่า ก็ยิ่งร้อนหนักทวีขึ้นไป เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนแก่พุทธบริษัททั่วไปว่า ธรรมภายนอกไม่ใช่ธรรมเครื่องระงับ และไม่ใช่ธรรมของเราตถาคต ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า พะหิทธารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2555 16:36:07


            (http://uqmg0q.bay.livefilestore.com/y1pNPxvtfexjjUMMsYSFs_oGLoP3cP7SO5cFMWXeH7FCDZLWIDxdcltSA7GLqgEHnJyeHvtrppcnps?PARTNER=WRITER)

๖๓. อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา

    ในบทที่ ๖๓ นั้นโดยนัยพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีภายในแลภายนอกเป็นอารมณ์ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมีอารมณ์เป็น ๒ บังเกิดขึ้นพร้อมกันแล้วแลถือเอาเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา ดังนี้ เมื่อจะชี้บุคคลที่ได้สำเร้จมรรคผลธรรมวิเศษให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วยอำนาจแห่งธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ก็มีที่มามากเป็นอเนกประการ

    ดังพระภิกษุ ๓๐ รูปได้เห็นพยับแดดแล้ว ก็นึกเปรียบเทียบกับกายของตนว่า ธรรมในกายของเรานี้ก็เช่นเดียวกับพยับแดดฉะนี้ ในทันใดนั้น สมเด็จพระศาสดาก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปให้ต้องกายของพระภิกษุ ๓๐ รูปนั้น แล้วจึงทรงตรัสเทศนาว่า เอสะธัมโม สนันตะโน ธรรมดวงเดียวนี้แลเป็นธรรมของเก่า เป็นธรรมของพระอริยเจ้า ธรรมดวงเดียวเป็นธรรมของเก่านั้นคือพระนิพพานนี้เอง พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นก็ได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เหาะลอยมาสู่สำนักสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วจึงกล่าวสรรเสริญซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย โดยความอธิบายว่า พระอริยเจ้าท่านเอาธรรมภายนอกเปรียบกับธรรมภายใน เอาธรรมภายในออกเป็นอารมณ์ภายนอกดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา ฉะนี้ แสดงมาในติกมาติกา บทที่ ๖๓ แต่โดยสังเขปกถาก็ยุติลงเพียงเท่านี้ฯ

(https://encrypted-tbn0.google.com/images?q=tbn:ANd9GcR44uhrpjlyMYb9Gm2KR7Te-y_Ipt797b8E2Qo3LY0TOH1fS4_T)



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2555 16:45:10

                    (http://cosmographica.com/gallery/portfolio2007/content/bin/images/large/118_TitanDawn.jpg)

๖๔. สะนิทัสสนะสัปปะฏิฆา ธัมมา

 ในลำดับนี้จะได้วิสัชนาในติกมาติกาบทที่ ๖๔ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า สะนิทัสสนะสัปปะฏิฆา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปกับด้วยความคับแค้นนั้น ก็เพราะความที่ได้เห็นซึ่งอนิฏฐารมณ์ อันไม่เป็นที่รักที่ปรารถนาของตน เป็นต้นว่า ได้เห็นโจรผู้ร้ายหรือได้เห็นสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ มี เสือ หมี เป็นต้น หรือบางทีได้เห็นบุคคลต่าง ๆ มีเจ้าหนี้และบุคคลผู้ประทุษร้ายแก่ตน เป็นต้น เช่นกับพระอานนท์ถึงซึ่งความคับแค้นขึ้นในใจ เพราะได้เห็นช้างนาฬิคิรีวิ่งเข้ามาจะประทุษร้ายแก่ตนกับพระพุทธเจ้า ในกาลครั้งนั้น พระอานนท์ก็บังเกิดความเดือดร้อนคับแค้นขึ้นในใจ เพราะความที่ได้เห็นฉะนี้ฯ

(https://encrypted-tbn2.google.com/images?q=tbn:ANd9GcRwGyxzlOnWluEqZmDlJOzlgNfJ2fc5v7Y0A-MtRAupFoXEkcqtEg)



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กันยายน 2555 18:06:00


(http://www.degrootphotography.com.au/cms/wp-content/uploads/2008/12/pre-dawn_blue.jpg)

๖๕. อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา

    ในบทที่ ๖๕ นั้นมีพระบาลีว่า อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายบังเกิดคับแค้นขึ้นในใจเพราะความที่ไม่ได้เห็น โดยเนื้อความว่าบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อเวลาได้ประสบซึ่งความพลัดพรากจากสัตว์แลสังขารอันเป็นที่รักที่เจริญใจ หรือเวลาทรัพย์แลสมบัติฉิบหายไปด้วยภัยอันใดอันหนึ่งก็ดี ย่อมบังเกิดความคับแค้นขึ้นในใจเพราะความที่ไม่ได้เห็น

    ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งไปเรียนมนต์ปลาอยู่ในสำนักของอาจารย์แห่งหนึ่ง ครั้งจำได้จนชำนิชำนาญแล้ว จึงลาอาจารย์ไปกระทำบริกรรมอยู่ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ตั้วความเพียรในบริกรรมไป ๆ ก็ไม่เห็นปลามา ตัวเองบังเกิดความคับแค้นขึ้นในใจ ครั้นรู้ถึงอาจารย์ อาจารย์จึงบอกว่า ท่านอย่าบริกรรมลืมตาขึ้น ปลามันกลัว บุรุษนั้นก็กระทำตามลัทธิของอาจารย์นั่งหลับตาบริกรรมไป อาจารย์ก็จับปลามาใส่ลงในบ่อที่บุรุษนั้นบริกรรมอยู่ ครั้นบุรุษนั้นลืมตาขึ้นก็ได้เห็นปลา ก็บังเกิดความดีใจ สิ้นความคับแค้นในใจ ดังนี้ เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่า อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา ฉะนี้ฯ

(https://encrypted-tbn0.google.com/images?q=tbn:ANd9GcRJiVf17_KvEMuF3A_tpBkPqYcZ3DuMTFVT4xJH4-hJxDhUxZkg)



หัวข้อ: Re: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 พฤศจิกายน 2555 15:28:12


๖๖. อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา  (http://sphotos-b.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/c67.0.403.403/p403x403/396641_386824591396402_146880720_n.jpg)

    ในบทที่ ๖๖ นั้น โดยมีนัยพระบาลีว่า อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายจะมีความคับแค้นในใจก็ไม่ใช่ จะไม่เห็นก็ไม่ใช่ แต่ดับกิเลสได้ โดยอาศัยอำนาจของตนเอง โดยเนื้อความ อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา นี้ก็ได้แก่ นิโรธธรรม ด้วยอรรถว่าด้วยความเห็นและความไม่เห็น ได้แก่เมื่อนิโรธธรรมบังเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ก็ดับไป โอวาทคำสั่งสอนอันใดอันหนึ่งก็ดับไป วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข ก็ไม่มีในนิโรธธรรม เพราะฉะนั้นจึงแปลว่า จะคับแค้นก็ไม่ใช่ จะเห็นก็ไม่ใช่ แต่ละกิเลสได้ด้วยความไม่ต้องเห็นนั้นก็ได้แก่พระอริยมรรค ไม่เห็นก็จริงอยู่ แต่รู้ว่าตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มี

เปรียบเหมือนบุคคลนอนหลับฝันไปได้เห็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีเสือและช้างเป็นต้น บุคคลนอนหลับแลฝันไปนั้น จะเห็นก็ไม่ใช่ ถ้าจะว่าเห็นหรือ เสือช้างก็ไม่มี ถ้าจะว่าไม่เห็นหรือ ก็เห็นในฝันไปแล้ว ฉันใดก็ดี พระธรรมที่ชื่อว่า อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา ก็มีอุปมาอุปไมยเหมือนกันกับบุคคลที่นอนหลับฝันไป ฉะนั้นฯ

                 (http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2012/06/lotus4.jpg)

ฟังเป็นพิธี
เราทุกวันนี้ การที่ฟัง ๆ กันทุกวัน แต่ไม่ปรากฏจะได้สำเร็จมรรค สำเร็จผล
คือเราเป็นแต่ฟังเป็นพิธี มิได้ฟังถึงธรรม ถึงวินัย ถึงข้อปฏิบัติ
:http://portal.in.th/i-dhamma/pages/11118/