[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 06 เมษายน 2565 12:41:54



หัวข้อ: ความเป็นมาของพระพุทธศาสนา พระธรรมเทศนาของพระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 เมษายน 2565 12:41:54
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46202489071422_278015494_1232982987109403_820.jpg)

พระธรรมเทศนาเรื่อง
ความเป็นมาของพระพุทธศาสนา
ของ พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)
ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมเมธาภรณ์ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑

ความว่า

“ความเป็นมาพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกับบรรพชิต คือ ผู้บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ประกาศพระพุทธศาสนา ในชั้นต้น ก็ทรงแสดงธรรมอันเป็นสัจจธรรมชั้นปรมัตถประโยชน์ ครั้นเมื่อมีผู้เลื่อมใสบวชขึ่นในพระพุทธศาสนามากเข้าและมีผู้ประพฤติไม่ดีไม่ชอบ ก็ทรงบัญญัติวินัยเป็นข้อห้ามไว้อีกส่วนหนึ่ง พระพุทธศาสนาจึงแยกออกเป็น ๒ คือ เป็นธรรม ๑ เป็นวินัย ๑  และเมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพพาน ก็ได้ตรัสว่า “โดยกาลล่วงไปแห่งรา ธรรมะและวินัยที่เราได้แสดงแล้ว ได้บัญญัติแล้ว เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย”

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ความทราบไปถึงสาวกที่อยู่ต่างถิ่น มีพระสาวกหมู่หนึ่งซึ่งรวมไปกับพระมหากัสสปได้ทราบการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็เศร้าโศกเสียใจร้องไห้ ส่วนพระที่เป็นพระอรหันต์ก็ได้ธรรมสังเวชคือความสลดใจเป็นไปตามธรรม แต่มีพระบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อ สุภัททะ กลับชอบใจ กล่าวห้ามปรามพระที่เศร้าโศกเสียใจว่า อย่าร้องไห้ อย่าเศร้าโศกเลย พระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียดีแล้ว พ้นทุกข์พ้นร้อน เพราะยังไม่ปรินิพพาน ทรงแสดงว่า สิ่งนั้นควรทำสิ่งนั้นไม่ควรทำ พวกเราต้องจำใจทำตามเป็นการลำบากใจ พระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ไม่มีใครว่ากล่าวเราละ ทำได้ตามชอบใจ
พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวแล้วก็เกิดสังเวชว่า เพียงพระศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วันเท่านั้น ยังมีภิกษุที่เป็นบาปกล่าวล่วงเกินถึงเช่นนั้น แต่เพราะยังไม่เป็นเวลาสมควรที่จะพูดขึ้น ท่านก็เป็นแต่เพียงสั่งสอนพระทั้งหลายไม่ให้เศร้าโศกเสียใจร้องไห้ และชวนกันเดินทางมาถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ครั้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว เมื่อพระมหาเถระประชุมกันอยู่ ท่านจึงเล่าเรื่องที่เป็นมาให้ฟังแล้วชักชวนกันทำสังคายนา

ในเรื่องสังคีติหรือสังคายนาแสดงว่า เมื่อทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปเป็นผู้ถวายพระวินัย พระอุบาลีเป็นผู้แก้ ด้วยถามว่าปฐมปาราชิก พระพุทธเจ้าบัญญัติที่ไหน และปรารภใคร เรื่องอะไร พระอุบาลีก็แก้ไปเป็นตอนๆ จนตลอดพระวินัย พระเถระที่ประชุมกันนั้นก็สวดขึ้นพร้อมๆ กัน ไปจนจบ เป็นอันท่องกันไปในเวลานั้น

ในส่วนพระธรรมซึ่งแยกเป็นพระสูตรและพระอภิธรรมหรือปรมัตถ์ ก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าพระอานนท์เป็นผู้ทรงธรรม พระมหากัสสปจึงนิมนต์ให้พระอานนท์เป็นผู้แสดง ตามเรื่องสังคีติหรือสังคายนาก็เล่าไว้เหมือนกัน คือ พระมหากัสสปถามว่าพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ไหน และปรารภใคร แสดงว่าอย่างไร พระอานนท์ก็แก้ แต่ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พระอานนท์แสดงพระสูตรตั้งแต่ต้น ท่านจะจับสูตรไหนก็ตาม แสดงไปตอนหนึ่งให้ฟัง พระที่ประชุมกันอยู่ ก็ฟังแล้วก็พิจารณากันว่าถูกหรือไม่ถูก ถ้าถูกก็ท่องตามกันไป ถ้าไม่ถูกก็สอบสวนถามกันว่าอย่างไรถูก เมื่อตกลงกันว่าอย่างไรถูก แล้วก็สวดพร้อมๆ กันไป ท่องกันไปในเวลานั้นทีเดียว จบตอนหนึ่งๆ ก็ท่องตอนหนึ่งๆ

ต่อมาครั้งที่ ๒ พระวัชชีบุตร เกิดลดพระวินัยลงมาหาคน ที่ท่านอ้างว่าแสดงวัตถุ ๑๐ หย่อนวินัยลงมาให้พอประพฤติได้สะดวกมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า วัตถุ ๑๐ อยากจะรู้ไปดูในสังคีติได้เพราะพระธรรมและวินัยท่านจำได้ด้วยปากจนขึ้นใจ เมื่อมีพวกที่หย่อนต่อพระวินัย อดพระวินัยลงมาหาคนเสีย ก็หย่อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าปล่อยลงไปเช่นนั้น ก็จะหย่อนลงไปอีก แต่พระเถระครั้งกระนั้น มีพระยสเถระกากัณฑกบุตรเป็นต้น ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมทำตามพวกที่หย่อนวินัยลงมาหาคน จึงชักชวนพระพวกที่เคร่งครัด ให้รวมกันเข้าทำสังคายนาอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือให้ท่านผู้ชำนาญวินัย แสดงวินัยเป็นตอนๆ แล้วพระที่ประชุมกันว่าตามกันเป็นตอนๆ ไปจนจบพระวินัย แล้วให้แสดงธรรมเป็นตอนๆ ว่าตามกันไปจนจบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า พระวินัยที่พระวัชชีบุตรหย่อนลงมาหาคน ผิดพระบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ใช้ไม่ได้ ท่านจึงกำจัดพระวัชชีบุตรออกจากหมู่จากพวก

ต่อมาก็ถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ มีเรื่องแสดงว่าเดียรถีย์ปลอมบวชแยกออกเป็น ๒ ชนิด คือ เข้ามาบวชในหมู่ภิกษุนั่นเอง แต่ว่าเมื่อบวชแล้วไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติไปตามลัทธิเดิมของตัวบ้างเข้ามาปลอมตัวนุ่งห่มอย่างภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วปฏิบัติตามลัทธิเดิมของตัวบ้าง พระโมคคัลลีบุตรเถระเป็นผู้เคร่งครัดในเวลานั้น เห็นไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ถูก จึงชักชวนพระเถระซึ่งเป็นผู้หนักอยู่ในธรรมวินัยให้ทำสังคายนาอีกคราวหนึ่ง วิธีทำก็ทำชนิดที่กล่าวมาแล้ว

ต่อจากตติยสังคายนา คือ สังคายนาครั้งที่ ๓ ออกไปทำที่ลังกา มีเรื่องที่ท่านเล่าไว้ว่า พระมหินท์ที่พระโมคคัลลีบุตรส่งออกไปประกาศศาสนาที่ลังกาไปบวชคนชาวลังกาได้มาก พระลังกาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาจนถึงจำพระพุทธศาสนาได้ด้วยกันเป็นอันมาก ท่านจึงชักชวนกันให้ทำสังคายนาในลังกาให้ท่านองค์หนึ่งที่ทรงจำเป็นผู้ว่านำขึ้นแล้วพระองค์อื่นที่ประชุมกันก็ว่าตาม สังคายนาครั้งนี้ไม่มีเรื่องอะไร แต่ว่าท่านได้ทำสังคายนา ก็เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาว่า ตั้งมั่นแล้วที่ลังกาเพราะมีพระลังกาสามารถ จำพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายพระวินัย ทั้งฝ่ายธรรมจนถึงสามารถทำสังคายนาได้ นี่เรียกว่า สังคายนาครั้งที่ ๔ หรือจตุตถสังคายนา

ต่อจากนั้นไป พระเถระในรุ่นหลัง เห็นความทรงจำของคนเสื่อมทรามลง และประเทศลังกาเองก็ถูกข้าศึกรุกราน พวกทมิฬข้ามฟากมารบบ้าง เกิดกบฏในประเทศบ้าง เมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยลงคราวหนึ่ง ท่านก็ชวนกันจารึกพระพุทธศาสนา ลงเป็นตัวหนังสือในใบลาน แต่เมื่อพิจารณาดูก่อนที่จะจารลงไปเป็นตัวหนังสือในใบลาน ก็ต้องทำสังคายนา คือ ประชุมกันให้ท่านผู้ชำนาญว่านำขึ้น และพิจารณาสอบสวนจนเห็นว่าถูกต้องแล้ว ก็ว่าตามเป็นตอนๆ จนจบแล้วจึงจารลงเป็นตัวหนังสือ เรียกว่า สังคายนาครั้งที่ ๕ หรือปัญจมสังคายนา

ต่อจากนั้น สังคายนาไม่มี เพราะพุทธศาสนาปรากฏเป็นตัวหนังสือแล้ว ในประเทศไทยปรากฏพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงให้ชำระพระไตรปิฎก ก็เป็นแต่เอาหนังสือมาพิจารณาสอบสวนแล้วก็จารลงไป จนถึงในกระดาษเป็นหนังสือพิมพ์ นี่ไม่ใช่สังคายนาเป็นเพียงชำระหนังสือเท่านั้น กว่าจะจารึกพระพุทธศาสนาลงเป็นตัวหนังสือ พระพุทธศาสนาก็ล่วงไปกว่า ๔๕๐ ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะมีเรื่องที่มิใช่พระพุทธศาสนาปลอมเข้ามาอยู่ด้วย เช่น สูตรที่แสดงว่า พระราหูอมพระอาทิตย์ อมพระจันทร์ นี่มีในพระไตรปิฎกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรมชนิดนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าปลอมเข้ามา แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังดีกว่าที่จะไม่จารึกลงไว้ ถ้าไม่จารึกลงไว้ จะเสื่อมสูญไปเท่าไรก็ไม่รู้”


ขอขอบคุณ เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ (ที่มาขอมูล/ภาพ)