[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เพลงไทยเดิม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 เมษายน 2565 12:49:45



หัวข้อ: องค์ความรู้ : รำหน้าพาทย์บาทสกุณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 เมษายน 2565 12:49:45
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18232920558916_91363266_241582693896297_49300.jpg)
ภาพ : พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น  พึ่งบุญ) แสดงท่ารำตัวพระในท่า “ผาลา”
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

รำหน้าพาทย์บาทสกุณี


เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี หรือเพลงหน้าพาทย์เสมอตีนนก เป็นเพลงหน้าพาทย์เพลงหนึ่งที่เหล่าดุริยางคศิลปินและนาฏศิลปินต่างให้ความเคารพ ถือกันว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง

เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี หากนำไปใช้ในพิธีกรรมก็จะอยู่ในพิธีไหว้ครู โดยจะบรรเลงเพลงนี้เมื่อประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูกล่าวนำบทอัญเชิญเทพเจ้า จบ  วงปี่พาทย์ก็จะทำหน้าพาทย์เพลงบาทสกุณี แต่หากนำไปใช้ในการแสดง เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณีจะถูกนำไปใช้สำหรับประกอบอากัปกิริยาการไปมาของตัวละครที่สูงศักดิ์ เช่น พระนารายณ์ พระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ อิเหนา ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับการรำเพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี  ออกจะมีปัญหาอยู่นิดหน่อยด้วยเหตุผลที่ว่าเพลงหน้าพาทย์บาทสกุณีในทางดุริยางคศิลป์ไทยมีอยู่ ๒ รูปแบบ คือ เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี ๑๔ ไม้เดิน และเพลงหน้าพาทย์บาทสกุณี ๑๖ ไม้เดิน ทั้ง ๒ รูปแบบนี้มีความสั้นยาวของเพลงที่ไม่เท่ากัน ปัญหาในข้อนี้หากบรรเลงเพียงอย่างเดียวก็ดูจะไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก แต่เมื่อนำเพลงนี้มาประกอบการแสดง ปี่พาทย์บางวงบรรเลง ๑๔ ไม้เดินบ้าง บางวงบรรเลง ๑๖ ไม้เดินบ้าง จึงอาจส่งผลให้นาฏศิลปินรำไม่ลงจังหวะ  ซึ่งปัญหาในข้อนี้ไม่ได้มีแต่เพลงหน้าพาทย์บาทสกุณีเท่านั้น

ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อยู่ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ถึงเรื่องนี้ความว่า

“...อันท่าละครกับเพลงปี่พาทย์นั้นท่านปรับกันไว้ทุกท่าทุกเพลง ในข้อนี้เล่นเอาครูคุ้ม (พระราม) ต้องหัดตีฆ้อง เพราะแกรำบาทสกุณีไม่ลงกับปี่พาทย์ ลางทีท่ารำของแกหมดแล้วแต่ปี่พาทย์ยังไม่หมด ลางทีปี่พาทย์หมดแล้วแต่ท่ารำของแกยังไม่หมด นั่นเป็นด้วยรำไม่ลงกับลูกปี่พาทย์ จึงลากเอาครูคุ้มเข้าหัดตีฆ้องเพื่อให้รู้เพลง ฝ่าพระบาทจะทรงสังเกตได้ในที่ง่าย ๆ เช่นละครรำมาในท่าเพลงเร็วเมื่อมาย่ำเท้าอยู่ก็ทำให้ปี่พาทย์รู้ว่าถึงแล้วควรทำลา แต่เขาก็ทำไปจนเพลงลงท่อนจึงบากออกลา ละครก็ต้องย่ำเท้าคอยอยู่ก่อน จนกระทั่งปี่พาทย์ออกลาจึงควักขี้ตาทิ้ง ที่สุดก็ม้วนต้วนลงนั่งไหว้ แต่พอไหว้แล้วลดมือลงถึงอกก็พอปี่พาทย์หมดพอดี แปลว่าละครรู้เนื้อลาดีแล้ว เพลงเชิดก็เหมือนกัน ละครต้องย่ำเท้าคอยอยู่ก่อนจนปี่พาทย์ลงลาก็ยกมือป้องหน้าจึงจะถูก แต่ครูละครเข้าใจว่าละครเป็นนายป้องหน้าเมื่อไหร่ปี่พาทย์ก็ต้องหยุด อย่างเดียวกับสังฆการีตีกังสดาลห้ามปี่พาทย์กฐินฉะนั้น จึงเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิดไปมาก...”


ที่มา เพจโบร่ำโบราณ