[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 19 เมษายน 2565 13:13:19



หัวข้อ: ธุรกิจสิ่งพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงใช้อะไร? เมื่อไม่มีคอมพิวเตอร์-เครื่องพิมพ์ดิจิทัล
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 19 เมษายน 2565 13:13:19
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87217042926284_7_Copy_.jpg)

เล่าปี่-กวนอู-เตียวหุย สาบานเป็นพี่น้องในสวนท้อ ฉากสำคัญใน "สามก๊ก" วรรณกรรรมประเภทนิยายที่พิมพ์สมัยราชวงศ์หมิง

ธุรกิจสิ่งพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงใช้อะไร?
เมื่อไม่มีคอมพิวเตอร์-เครื่องพิมพ์ดิจิทัล ฯลฯ


ผู้เขียน - วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2565


ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) หรือประมาณ 650 ปีก่อน ยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโปรแกรมกราฟิกสำหรับจัดหน้า ไม่มีเครื่องพิมพ์ดิจิตอล 4 สี่ ไม่มี… ฯลฯ แน่นอนเทคโนโลยีการพิมพ์ย่อมเทียบไม่ได้กับปัจจุบัน แต่นั่นก็ประเด็นที่น่าติดตาม

บนเงื่อนไขที่ปัจจุบันคิดว่า “จำกัด” แล้วสมัยหมิงเขาทำเช่นไร จึงสามารถพิมพ์ “สามก๊ก” วรรณกรรมขนาดยาวขึ้นได้เป็นครั้งแรก

รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง อธิบายประเด็นต่างๆ ไว้ในบทความชื่อ“นิยายกับธุรกิจการพิมพ์ในสมัยราชวงศ์หมิง” (เหตุเกิดในราชวงศ์หมิง, สนพ.ชวนอ่าน) ขอสรุปข้อมูลมานำเสนอพอสังเขป

ช่วงต้นราชวงศ์หมิง เทคโนโลยีการพิมพ์ยังล้าสมัย แหล่งผลิตหนังสือหลักของประเทศ เป็นโรงพิมพ์ของทางการที่มณฑลฮกเกี้ยน หนังสือที่พิมพ์ก็จำกัดอยู่เฉพาะคัมภีร์ในสำนักขงจื่อ นิยายชั้นเยี่ยมอย่าง สามก๊ก, ซ้องกั๋ง ก็ยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ช่วงกลางราชวงศ์ประมาณ ค.ศ.1506-1620 ศูนย์กลางการพิมพ์นิยายเปลี่ยนมาสู่ภาคเอกชน มีรวบรวมรายชื่อหนังสือนิยายที่มีนิยายที่พิมพ์ในราชวงศ์หมิง 225 รายการ ในจำนวนดังกล่าวมี 120 รายการที่พิมพ์ในยุคกลางของราชวงศ์หมิง ซึ่งมีความพร้อมในทุกด้าน

ตั้งแต่ “กระดาษ” ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น กระดาษที่ผลิตจากไม้ไผ่พัฒนาสมัยหมิง เนื้อกระดาษหนาขึ้น, มีความทนทาน และน้ำหนักเบา ส่วน “หมึก” นิยมใช้กิ่งสนเผาให้เป็นเถ้าผสมกับกาว แต่การพิมพ์นิยายมักใช้หมึกจากถ่าน ที่สำคัญคือ ทั้งกระดาษและหมึกสมัยหมิงนั้น ราคาถูกกว่าในยุคก่อน เพราะทางการต้องการสนับสนุนการศึกษา จึงไม่มีการเก็บภาษี

ส่วน “แม่พิมพ์” นั้น ใช้ไม้เนื้ออ่อนมาแกะสลัก ด้านการ “จัดหน้าเรียงพิมพ์” การพิมพ์นิยายพยายามประหยัดต้นทุนกระดาษ ด้วยการพิมพ์ตัวอักษรติดกันโดยมีช่องห่างน้อย ตัวอย่าง สามก๊ก ที่ตีพิมพ์ในเวลาต่างกัน พบว่า หน้าหนึ่งพิมพ์ 9 แถว ๆ ละ 17 อักษร ความจุ 153 อักษร, หน้าหนึ่งพิมพ์ 10 แถว ๆ ละ 20 อักษร ความจุ 200 อักษร, หน้าหนึ่งพิมพ์ 16 แถว ๆ ละ 27 อักษร ความจุ 432 อักษร ฯลฯ และหากไม่มีรูปประกอบ จะมีความจุถึง 510 อักษรต่อหน้ากระดาษ

นอกจากเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เอื้ออำนวยแล้ว “สามก๊ก” หนังสือที่ทำให้โรงพิมพ์ก้าวเข้าสู่ยุคทองของการพิมพ์นิยาย

รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง กล่าวว่า “ปีแรกของรัชกาลจยาจิ้ง (ค.ศ.1552) ถือเป็นจุดสำคัญของพัฒนาการนิยายจีน เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการตีพิมพ์นิยายเรื่องยาว คือ สามก๊ก ออกเผยแพร่และผู้พิมพ์เผยแพร่นั้นคือซือหลี่เจียน (司礼监) ซึ่งมีโรงพิมพ์ในสังกัดสำหรับพิมพ์คัมภีร์และตำราต่าง ๆ โรงพิมพ์นั้นเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ มีคนงานกว่าพันคนต่อจากนั้นไม่นานก็มีการพิมพ์ สามก๊ก และ ซ้องกั๋ง”

แต่งานพิมพ์จะเกิดขึ้นได้ต้องมี “ต้นฉบับ” การจัดหาต้นฉบับก็มีตั้งแต่ การขอซื้อต้นฉบับ-เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการคัดลอก เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม หรือผู้เขียนเป็นคนชั้นสูง, ประกาศให้เสนอต้นฉบับ-ซึ่งสำนักพิมพ์จะทำใบแทรกในหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่าย, จ้างผลิต-โรงพิมพ์จะติดต่อปัญญาชน (ครูประจำบ้าน, บัณฑิตที่สอบเข้ารับราชการไม่ได้ ฯลฯ) ผลิตงานตามคำสั่งของโรงพิมพ์ เป็นต้น

นอกจากเนื้อหาแล้ว “ภาพประกอบ” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น การแทรกภาพประกอบในนิยายมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน การแทรกภาพประกอบได้รับความนิยมสูงมากในรัชกาลวั่นลี่ โดยโรงพิมพ์ที่ให้ความสำคัญกับภาพประกอบมักเป็นโรงพิมพ์ในอำเภอเจี้ยนหยัง เมืองเจี้ยนหนิง นิยายที่มีภาพประกอบมากที่สุดได้แก่ ซ้องกั๋ง ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ซวงเฟิงถัง มีภาพประกอบกว่า 1,200 ภาพ

การพิมพ์นิยายในสมัยราชวงศ์หมิงก็ไม่แตกต่างกับปัจจุบัน คือผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ สภาพโดยในยุคนั้นจึงมีการ “พิมพ์ซ้ำ” สำหรับเล่มที่ได้รับความนิยม ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก และกำไรงามสำหรับโรงพิมพ์เพราะมีแม่พิมพ์อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น แอบอ้างชื่อนักเขียนดังหวังสร้างยอดขาย จนถึงกับลักลอบพิมพ์แบบดื้อ ๆ ก็มี

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสิ่งพิมพ์สมัยหมิงจะเฟื่องฟูไม่ได้เลยถ้าขาด “ผู้อ่าน” บทความของรศ.ดร. กนกพร ส่วนหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนในขณะนั้น “รักการอ่าน” สังคมมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง ผู้คนจึงกล้าใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือนิยายอ่านหาความเพลิดเพลิน

ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ผศ.ถาวร สิกขโกศล กล่าวไว้ว่า “นิยายจำพวกนี้มีราคาถูก ชาวบ้านสามารถซื้อหามาอ่านได้ คนจนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยุธยา ก็มีนิยายจำพวกนี้ติดตัวมาด้วย เพราะราคาถูกน้ำหนักเบา เมื่อเข้ามาในสังคมสยามก็เกิดการแปลนิยายจีนเหล่านี้ขึ้นจนเป็นที่นิยม อ่านแพร่หลายไปทั่ว…”