[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 02 พฤษภาคม 2565 09:32:19



หัวข้อ: “ส้มตำ” เมนูยอดฮิต เข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ คนกรุงสมัยก่อนกินส้มตำที่ไหน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 02 พฤษภาคม 2565 09:32:19
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/5/5a/Som_tam_pu.jpg/800px-Som_tam_pu.jpg)

สืบที่มา “ส้มตำ” เมนูยอดฮิต
เข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ คนกรุงสมัยก่อนกินส้มตำที่ไหน


ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2555
ผู้เขียน - ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2565


ส้มตำ เป็นสุดยอดอาหารโปรดของคนไทย โดยเฉพาะบรรดาคุณสุภาพสตรี ส้มตำเป็นอาหารที่มีรสชาติปานกลางประกอบด้วย เผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว ครบทุกรส เมื่อรับประทานคู่กับไก่ย่าง ข้าวเหนียวและผักสด แล้วก็ถือว่าเป็นมื้ออาหารที่มีคุณภาพดี ถึงขั้นดีมาก

ส้มตำประกอบด้วย มะละกอดิบสับเป็นเส้น พริกขี้หนู กระเทียม มะเขือเทศ มะนาว น้ำตาลปี๊บ น้ำปลาดี เท่านี้ก็อร่อยแล้ว ถ้าเพิ่มปูเค็มหรือปลาร้าอย่างดีก็จะเป็นที่ถูกปากยิ่งขึ้น ส่วนการปรุงนั้นก็แล้วแต่รสมือของคนทำเพราะลูกค้าบางคนก็เน้นเผ็ดนำ บางคนขอหวานมากหน่อย หลายคนก็ต้องมีเปรี้ยวโดดๆ ฉะนั้นรสปากใครก็รสปากคนนั้น

เมื่อสืบสาวราวเรื่องถึงประวัติความเป็นมาของส้มตำก็มาจนด้วยปัญญา เพราะเราจะพบกับชุดคำตอบว่า ก็ทำมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดแล้ว จึงต้องมีการสืบเสาะ แสวงหาข้อเท็จจริงมาประมวลและเรียบเรียงให้ได้เรื่องสักครั้งหนึ่งก่อน ส่วนผู้อ่านท่านใดจะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิด ความเห็นก็เชิญตามสะดวก

ต้องเริ่มที่มะละกอก่อน กล่าวกันว่ามะละกอเป็นพืชที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทวีปอเมริกากลาง และได้แพร่หลายเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว เพราะท่านราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า พบผลมะละกอ แต่ชาวสยามเรียกว่าแตงไทย (melon)

มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในราว พ.ศ.2475-79 รัฐบาลสยามได้สนับสนุนให้ชาวไร่ชาวนาปลูกมะละกอเพื่อนำมาสกัดเอายางมะละกอสำหรับส่งขายต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศศรีลังกาว่าสามารถขายยางมะละกอได้ปีละ 300,000 กว่าบาท โดยส่งออกไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับทำ “หมากฝรั่ง” ในตอนนั้นจึงมีการส่งเสริมปลูกกันมาก และมีการนำเข้ามะละกอพันธุ์ฮาไวเอียนมาเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์โดยใช้โรงเรียนกสิกรรม ตำบลทับกวาง เป็นสถานีทดลอง

เมื่อทราบว่ามะละกอปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ทำไมจึงนำมาผนวกเข้ากับการปรุงอาหารแบบไทยๆ ได้ ก็ควรจะต้องสอบสวนตำราอาหารของคนไทยในยุคต่างๆ ว่ามีการขีดเขียนบันทึกไว้หรือไม่?

ตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2451 (ในสมัยรัชกาลที่ 5) ไม่ปรากฏว่ามีสูตรอาหารที่ชื่อว่าส้มตำเลยมีเพียงอาหารที่ใกล้เคียงกัน แต่พอจะนับเนื่องได้ว่าคล้ายส้มตำ โดยใช้มะขามเป็นส่วนผสมหลักในชื่อว่า ปูตำ ปรากฏอยู่ในเล่มที่ 3 น. 98

แล้วคนไทยมีอาหารที่เรียกว่าส้มตำรับประทานกันบ้างหรือไม่ ในอดีตเราก็มีตำราอาหารที่เรียกว่าข้าวมันส้มตำ ปรากฏอยู่ในตำราอาหารเก่าๆ เช่น ตำหรับเยาวภา ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือข้าวมันหุงด้วยกะทิ และส้มตำซึ่งใช้มะละกอเป็นหลักแต่มีส่วนผสมที่มากกว่าสูตรของคนอีสานคือมีกุ้งแห้งกับถั่วลิสงป่น และปรุงรสชาติแบบนุ่มนวลไม่จัดจ้าน ค่อนข้างไปทางหวานนำ

เมื่อคราวไปสำรวจโบราณสถานศรีเทพกับสมาคมประวัติศาสตร์ฯ พ.ศ.2552 นั้นได้พบกับ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อายุ 92 ปี (เกิด 21 มีนาคม 2461) ท่านได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อท่านอายุได้ 10 ขวบ อาศัยอยู่ที่แพร่ ท่านได้เงินวันละ 2 สตางค์ ไปโรงเรียนและได้ซื้อตำส้มมารับประทานจานละ 1 สตางค์ ท่านเล่าว่าก็เป็นส้มตำแบบปัจจุบันนั่นเอง มีมะละกอสับเป็นส่วนประกอบหลัก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17669470028744_3_6_Copy_.jpg)
“ข้าวมันส้มตำ” ใน “ตำหรับเยาวภา”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48371334208382_2_6_Copy_.jpg)
“ปูตำ” ใน “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์”