[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 16 มิถุนายน 2565 11:14:55



หัวข้อ: ‘ขนมจีน’ หรือ ‘ขนมเส้น’
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 16 มิถุนายน 2565 11:14:55
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60652092802855_PT_2021_Copy_.jpg)

ขนมจีน’ หรือ ‘ขนมเส้น

เคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมขนมจีนถึงเรียกว่า “ขนมจีน” ทั้งที่หน้าตาอาหารก็ดูไม่เหมือนขนมหรืออาหารจีนเอาเสียเลย วันนี้ เชียงใหม่นิวส์ – ร้อยเรื่องเมืองล้านนา นำมาฝากครับ

“ขนมจีน” เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ขนมจีนนั้นเป็นอาหารที่พบเห็นกันได้ในแถบดินแดนสุวรรณภูมิ คนไทย คนมอญ คนพม่า คนลาว คนกัมพูชา และคนเวียดนาม ต่างก็มีขนมจีนเป็นอาหารที่กินกันในชีวิตประจำวัน จะต่างกันไปก็ตรงน้ำยาที่นำมาราดบนขนมจีนนั่นเอง ในประเทศไทยเองก็มีการกินขนมจีนกันทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกและนิยมวิธีรับประทานที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละท้องถิ่น เช่น

-ภาคเหนือ เรียกว่า “ขนมเส้น” หรือข้าวเส้น หรือข้าวหนมเส้น นิยมรับประทานร่วมกับน้ำเงี้ยวหรือน้ำงิ้วที่มีเกสรดอกงิ้วป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ รับประทานกับแคบหมูและข้าวกั้นจิ๊น (ข้าวเงี้ยว, จิ๊นส้มเงี้ยว) เป็นเครื่องเคียง

-ภาคกลาง เรียกว่า “ขนมจีน” นิยมรับประทานคู่กับน้ำยา น้ำพริก แกงเผ็ด และเครื่องเคียงเป็นผักสด ผักลวกต่างๆ  ที่เราคุ้นเคยกันดี

-ภาคอีสาน เรียกว่า “ข้าวปุ้น” อีสานใต้เรียกว่า “นมปั่นเจ๊าะ” คล้ายกับกัมพูชา นิยมรับประทานกับน้ำยาใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่รับประทานขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และนำขนมจีนมาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมขนมจีนแป้งหมัก

-ภาคใต้ เรียกว่า “โหน้มจีน” โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต รับประทานกับผักเหนาะชนิดต่าง ๆ ทางภูเก็ตนิยมรับประทานกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมรับประทานขนมจีนเป็นอาหารเย็น รับประทานกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราช รับประทานเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ารับประทานคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา

พิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหาร และวัฒนธรรมมอญ กล่าวว่า “จริงๆแล้วขนมจีนเป็นอาหารของชาวมอญหรือชาวรามัญ ชาวมอญเรียกขนมจีนว่า “คนอมจิน” โดยคำว่า “คนอม” แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่า “จิน” แปลว่าการทำให้สุก นอกจากนี้ “คนอม” นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย “เข้าหนม” ที่แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งต่อมาคำนี้ก็ได้เพี้ยนมาเป็น “ขนม” ดังนั้นคำว่าขนมในความหมายดั้งเดิม จึงไม่ได้แปลว่าของหวานอย่างที่เราใช้และเข้าใจกันในปัจจุบัน

ขนมหรือหนม (ภาษาเขมร) และคนอม (ภาษามอญ) ต่างก็หมายถึงอาหารที่ทำมาจากแป้ง คำว่าขนมจีนจึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า คนอมจิน ของชาวมอญนั่นเอง ทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่นๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล


ที่มา เชียงใหม่นิวส์