[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 27 มิถุนายน 2565 16:06:59



หัวข้อ: ความเพียร โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 มิถุนายน 2565 16:06:59
(https://www.panmai.com/wp-content/uploads/2021/04/พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้.jpg)

ความเพียร
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี


         เจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ที่ใคร่ในการรับฟังธรรมะก่อนนอน ซึ่งการรับฟังธรรมะก่อนนอนนั้นก็ถือว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเราตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้าเราก็ไปวุ่นอยู่กับการทำมาหากินไปวุ่นอยู่กับการที่เราจะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะฉะนั้นการที่เราจะมาให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนานั้น มันจึงหาได้ยากแต่โอกาสที่เรามีอยู่ในก่อนนอนนี้เราก็ถือว่าเราทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นมาแก่เราได้

          เพราะการที่เราทำมาหากินตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำนั้น ถือว่าเราทำเพื่อที่จะหาทรัพย์ภายนอก แต่ว่าเรามีจิตใจศรัทธาต่อการฟังธรรม เราตั้งใจฟังนี้ก็ถือว่าเรากำลังที่จะหาทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอกไม่สามารถที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้าได้ แต่ทรัพย์ภายในมีศรัทธา มีการฟังธรรม ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ ซึ่งเป็นบุญเป็นกุศลสิ่งเหล่านี้จะติดตามเราไปในสัมปรายภพได้

          เพราะฉะนั้นบุคลผู้ที่ฟังธรรมะก่อนนอนก็ถือว่าเป็นการหาทรัพย์ภายใน เป็นการรวบรวมเสบียงคือทรัพย์ภายใน เพื่อที่จะให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นเกิดความสุขสบายในภพหน้าชาติหน้า

          ซึ่งวันนี้อาตมภาพพระมหาชอบ พุทฺธสโร ก็จะได้น้อมนำธรรมะในเรื่องความเพียร มาบรรยายให้แก่ญาติโยมผู้ที่สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมได้รับฟังตามสมควรแก่เวลา ซึ่งคำว่าความเพียรนั้นมาจากภาษาบาลี มีใจความว่า วิริยะ คือ วิริยะนั้นแปลว่าความเพียร คือเราเพียรละบาปละอกุศลให้มันหมดไปจากจิตจากใจของเรา เราเพียรละความเกียจคร้านเพียรละสิ่งที่มันเป็นอกุศลนั้นให้มันเบาลง ให้มันลดลงให้มันหมดไป ในลักษณะนี้เรียกว่า เพียร

          และวิริยะนั้นยังแปลว่า ละชั่วกระทำดี คือ บุคคลผู้ที่จะละชั่วกระทำดีนั้นต้องมีความเพียร จึงสามารถที่จะละได้เรียกว่าถอนตนจากอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพราะอาศัยความเพียร อกุศลธรรมคือความเกียจคร้าน ถ้าบุคคลใดไม่มีความเพียรก็ไม่สามารถที่จะถอนตนออกได้ หรือว่าการประพฤติผิดศีลต่างๆ ตั้งแต่ปาณาติบาตเป็นต้น บุคคลผู้ที่ไม่มีความขยัน ไม่มีความอดทนต่ออกุศลธรรมเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในคุณงามความดีได้เพราะฉะนั้นวิริยะนั้นจึงแปลว่า ละชั่วกระทำดี แปลว่าถอนตนจากอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

          วิริยะนั้นยังแปลว่าธรรมเป็นที่ยังจิตและใจของบุคคลนั้นให้อาจหาญให้กล้าหาญ คือบุคคลผู้มีจิตใจประกอบไปด้วยความเพียรแล้วย่อมเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เพราะบุคคลผู้มีความเพียรนั้นย่อมไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ทำไมจึงไม่หวาดหวั่น เพราะว่าจิตใจของเขานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี อย่างเช่น เดินจงกรม นั่งภาวนาไม่หวาดหวั่นต่อหนาว ไม่หวาดหวั่นต่อร้อน ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ไม่หวาดหวั่นต่อความตาย เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจที่ประกอบไปด้วยความเพียร ประกอบไปด้วยคุณงามความดีนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่นอะไรทั้งสิ้น

          และความเพียรนี้ยังแปลว่า บุกเข้าไป รุกเข้าไป คือ บุกเข้าไปข้างหน้า รุกเข้าไปข้างหน้าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ยังศีลก็ดี ยังสมาธิก็ดี ยังปัญญาก็ดี คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็มเปี่ยมอยู่ในจิตในใจ วิริยะนั้นท่านยังแปลว่า เดชแปลว่า อำนาจแปลว่าปราศจากความครั่นคร้ามไม่เกรงกิเลสแม้แต่เล็กน้อย วิริยะนั้นท่านยังแปลว่า ยังบุคคลให้รุ่งเรืองคือบุคคลจะรุ่งเรืองทั้งทางโลกก็ดี ทั้งทางธรรมก็ดี จักขาดเสียจากวิริยธรรมคือความเพียรนั้นไม่ได้ บุคคลผู้ที่จะประสบความสำเร็จในทางโลกก็ต้องมีความขยัน มีความหมั่นเพียรจึงสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ บุคคลผู้ที่จะประความสำเร็จในทางธรรม มีการยังสมาธิให้เกิดขึ้นมา มีการยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา หรือว่าตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ดี ก็ต้องอาศัยความเพียร แต่ถ้าไม่มีความเพียรแล้วสิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นความเพียรนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ยังบุคคลให้รุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม

          และความเพียรนั้นท่านยังแปลว่า เป็นกำลัง คือ เป็นกำลังที่จะทำให้ศรัทธาของเรานั้นมีกำลัง อย่างเช่นท่านตรัสไว้ในกำลัง ๕ ประการคือศรัทธาพละ  กำลังคือศรัทธา วิริยพละ กำลังคือความเพียร สติพละ กำลังคือสติ  สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา

          เพราะฉะนั้นความเพียรนั้นจึงถือว่าเป็นกำลังที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คุณงามความดี  ทางโลกก็ดีทางธรรมก็ดีให้สำเร็จตามเป้าหมายได้

          และวิริยะนั้นท่านยังแปลว่า อุตสาหะ คือ บุคคลผู้มีความเพียรแล้วจึงมีความอุตสาหะถึงมันจะเหนื่อยยากขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องมีความอุตสาหะมีความพยายามทำเรื่อยไป ทำให้ติดต่อ ทำให้ไม่ขาดระยะ ไม่ทิ้งเสียในระหว่างไม่ถอยหลัง นี้เป็นลักษณะของความเพียร

          และความเพียรนั้นท่านยังแปลว่า เป็นบ่อเกิดแห่งไตรสิกขา คือ ศีลก็ดีสมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยความเพียรถ้าไม่มีความเพียรแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเพียรแล้วก็ไม่สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจได้ ถ้าไม่มีความเพียรแล้วก็ไม่สามารถที่จะยังปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยปัญญาและโลกุตรปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะความเพียรนั้นแหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไตรสิกขาสมบูรณ์

          เพราะฉะนั้นความเพียรจึงเป็นบ่อเกิดแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา และความเพียรนั้นท่านยังถือว่าเป็นหนทางที่ทำให้บุคคลนั้น ถึงความพ้นทุกข์ได้ ดังที่พุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า  “วิริเยน ทุกขมจฺเจติ” คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คือบุคคลที่จะถึงความพ้นทุกข์ได้ คือ พระนิพพานนั้น ก็ต้องอาศัยความเพียร และความเพียรก็ถือว่าเป็นความเพียรชั้นสุดยอด คือ ความเพียรจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณมันเกิด จึงสามารถที่จะพ้นทุกข์ได้

          แต่ถ้าวิปัสสนาญาณมันไม่เกิดขึ้นมา เราเดินจงกรมทั้งวัน นั่งภาวนาทั้งวัน ทำบุญทำทานทั้งวัน รักษาศีลทั้งวัน เราก็ไม่สามารถที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา เราก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ความเพียรที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลพ้นทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นความเพียรที่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นรู้จักทุกข์ ว่ารูปนามนั้นมันเป็นทุกข์อย่างไรก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความอยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปจากนาม

          เมื่อจิตใจมันอยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปจากนาม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจนั้นเข้มแข็งขึ้นมา เด็ดเดี่ยวขึ้นมา เอาจริงเอาจังขึ้นมา เมื่อจิตใจมันเอาจริงเอาจังขึ้นมาเด็ดเดี่ยวขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันวางเฉยต่อความยินดีในรูปก็ดี ในเสียงก็ดี ในกลิ่นในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ คือมันวางเฉย

          เมื่อจิตใจวางเฉยมันก็เกิดปัญญาขึ้นมา เมื่อจิตใจมันเกิดปัญญาขึ้นมาไม่เอียงไปด้วยอำนาจของความโลภ ไม่เอียงไปด้วยอำนาจของความโกรธ ไม่เอียงไปด้วยอำนาจของความหลง เป็นปัญญาบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อนุโลมญาณมันเกิดขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โคตรภูญาณมันเกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิตและมรรคญาณเกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิตแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผลญาณเกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้างตามลักษณะของมันธบุคคล หรือว่าติกขบุคคล บุคคลผู้มีปัญญาอ่อน บุคคลผู้มีปัญญากล้า จากนั้นจึงเป็นปัจจเวกขณญาณ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ที่ทำความเพียรสุดยอด จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน

          และก็องค์ของผู้ที่มีความเพียรนั้นท่านยังกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้ที่จะมีความเพียรนั้นต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา คือ ต้องเป็นผู้ที่ชอบคิด ชอบค้นคว้าในธรรม ชอบที่จะน้อมจิตน้อมใจของตนเองนั้นแหละมาสู่ความเพียรประจำ ไม่ว่าจะยืนก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี จิตใจต้องประกอบไปด้วยความเพียรตลอดเวลา จึงจะชื่อว่าเป็นภิกษุผู้ประกอบไปด้วยความเพียร เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาประกอบไปด้วยความเพียร องค์ของผู้มีความเพียรนั้นท่านกล่าวไว้ว่า

          ๑. สมมุติว่าเราจะเดินทางไกล เราก็คิดเสียว่าขณะที่เราเดินทางไกลเราคงจะไม่มีเวลาเดินจงกรม ไม่มีเวลานั่งภาวนา ไม่มีโอกาสไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ก่อนที่เราจะเดินทางไกลนั้นแหละเรามาทำคุณงามความดี คือไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาเสียก่อน

          ๒. เมื่อเราเดินทางไกลถึงที่แล้ว เราก็มาคิดเสียว่าในขณะที่เดินทางไกลนั้นแหละ เราไม่มีโอกาสให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เมื่อเราเดินทางถึงที่แล้วเรามีโอกาสดี เราก็ควรที่จะไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา

          ๓. เมื่อเราประสบกับความหนาวก็ให้เราคิดเสียว่า หนาวนี้มันเพียงเล็กน้อย เรายังพูดได้อยู่เรายังเดินได้อยู่เรายังลุกได้อยู่เรายังนั่งได้อยู่ แต่ถ้ามันหนาวมากกว่านี้เราก็ไม่สามารถที่จะทำความเพียรได้เรามาทำความเพียรเสียเดี๋ยวนี้เถิด อันนี้องค์ของผู้ทำความเพียร

              ๔. เมื่อประสบกับความร้อน เราก็คิดเสียว่าความร้อนที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้เป็นความร้อนเล็กน้อยเรายังพอพูดได้อยู่ เดินได้อยู่ ยังนั่งได้อยู่ เรายังพอที่จะทำกิจการงานได้อยู่ แต่ถ้ามันเป็นความร้อนเช่น ความร้อนในอบายภูมิ เราก็ไม่สามารถที่จะทนได้ เพราะว่าความร้อนในอบายภูมินั้นเป็นความร้อนที่ไม่มีเวลาที่จะว่างเว้นจากสัตว์นรกได้ ความสุขแค่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือว่าความสุขแค่กระพริบตาก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ

          เมื่อมีความทุกข์อย่างนั้นแหละ จิตใจของสัตว์นรกนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะคิดถึงบุญถึงกุศล ไม่มีโอกาสที่จะคิดถึงคุณงามความดี บุญกุศลก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ผล เพราะฉะนั้นเมื่อเราประสพกับความร้อนเราก็คิดว่าความร้อนนั้นเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เป็นความร้อนที่เราจะต้องอดทนสร้างคุณงามความดีต่อไป ในที่สุดเราก็สามารถที่จะให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาได้

          ๕. เมื่อเราประสบกับอากาศพอดีๆ สบาย เราก็คิดว่าอากาศนี้พอดีสบาย สัปปายะแก่การไหว้พระสวดมนต์ สัปปายะแก่การเดินจงกรม สัปปายะแก่การนั่งภาวนา เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาเสียเดียวนี้ อันนี้ผู้มีความเพียรจะคิดอย่างนี้

          ๖. เมื่อได้อาหารน้อย เราก็คิดเสียว่าทุกวันๆ อาหารนั้นมันมีมากไม่รู้ว่าจะฉันอะไรดี ไม่รู้ว่าจะทานอะไรดี เดี๋ยวก็ทานนี้หน่อย เดี๋ยวก็ทานนี้นิด ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันอิ่มมาก เมื่ออิ่มมากความง่วงมันก็ครอบงำ ถีนมิทธะ คือ ความง่วง เหงา หาวนอนมันก็ครอบคลุมจิตใจ

          เมื่อถูกถีนมิทธะควบคุมจิตใจ สติมันก็ไม่แจ่มใส ปัญญามันก็หดหู่ ในที่สุดเราก็มีจิตใจหดหู่ สมาธิก็ไม่เกิด วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด ปัญญามันก็ไม่เกิด ในที่สุดการประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

          แต่วันนี้โชคดีแล้วหนอที่เราได้รับอาหารน้อยได้ฉันอาหารน้อยร่างกายของเรามันเบาดี เดินจงกรมก็กระปรี้กระเปร่า การกำหนดก็กระฉับกระเฉง การกำหนดรูปนามอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง รู้สึกว่ามันเห็นอาการต้นยก กลางยก สุดยก อาการต้นพอง กลางพอง สุดพอง รู้สึกว่าสมาธิมันก่อตัว ตัวของเรามันเบาดี เกิดปีติขึ้นมาขนพองน้ำตาไหล เกิดปีติซู่ซ่าไปทั่วสรรพางค์กาย ในลักษณะนี้เราบริโภคอาหารพอดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สมาธิก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรามันก้าวหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้อาหารน้อยเราก็คิดไปในทางที่จะปรารภความเพียร

          ๗. เมื่อได้อาหารมากเราก็คิดว่าร่างกายของเราวันนี้อิ่มหนำสำราญดี มีร่างกายแข็งแรงดี เหมาะแก่การทำความเพียรได้นาน แล้วเราก็รีบลงมือทำ

          ๘. เมื่อมีอาพาธน้อย เช่นปวดหัวตัวร้อนนิดๆ หน่อยๆ เราก็คิดเสียว่าถ้าอาพาธมันมากกว่านี้ เราคงจะทำความเพียรไม่ได้ แต่ในขณะนี้อาพาธมันนิดหน่อยเราพอเดินจงกรมได้ เราพอนั่งภาวนาได้ เราสามารถที่จะข่มอาพาธนี้ยังสมาธิให้เกิดขึ้นมา ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาให้ได้ แล้วก็รีบลงมือทำความเพียร ในลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของภิกษุผู้ปรารภความเพียร หรือว่าบุคคลผู้ปรารภความเพียร

          ๙. เมื่อประสบกับอาพาธหนัก เราก็คิดว่าขณะนี้เราถูกอาพาธมันครอบงำหนักมากเวทนามันกล้ามากเราก็ควรที่จะทำความเพียร เพราะถ้าเราไม่ทำความเพียรเกิดเราตายเสียในระหว่างนี้โอกาสที่เราจะทำความเพียรมันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะทำความเพียรในบัดนี้ในขณะนี้แล้วก็ลงมือทำความเพียร ลงมือกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน อันนี้เป็นองค์ของภิกษุผู้ปรารภความเพียร

          แล้วก็องค์ของภิกษุผู้ปรารภทำความเพียรนั้น ท่านยังกล่าวไว้อีกประการหนึ่งว่าให้พิจารณาถึงชาติทุกข์ ว่าเราเกิดมานั้นมันยากขนาดไหนเราอยู่ในท้องของมารดาตั้ง ๙ เดือน มารดารับประทานอาหารร้อนเราก็ได้รับความทุกข์ทรมาน คือ มีกายร้อนเหมือนกับถูกน้ำร้อนลวก ถ้ามารดาดื่มน้ำเย็นเข้าไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเหมือนอยู่ในห้องเย็น ก็ได้รับความทุกข์ทรมาน

          หรือว่าร่างกายของมารดาถูกกระทบกระเทือนหกล้ม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุตรในท้องนั้นเกิดความทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นขณะที่เราอยู่ในท้อง ชาติทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นมาแล้วขณะที่เราคลอดออกจากท้องของมารดานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ทรมานมาก ท่านกล่าวไว้ว่าขณะที่แม่จะคลอดนั้น ลมกัมมชวาตมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อลมกัมมชวาตมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ขับทารกออกจากท้องของมารดาขณะที่ขับออกจากท้องนั่นแหละ หมอตำแยหรือว่านางพยาบาลนั้นเขาจะกลับหัวของเด็ก ตามธรรมดานั้นเด็กจะนั่งทูลอาหารเก่าของแม่อยู่ในท่านั่งยองๆ แต่ถ้าลมกัมมชวาตเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เด็กนั้นมันหันหัวกลับลงสู่ช่องคลอด แต่ถ้าเด็กไม่หันกลับ นางพยาบาลก็ดี หมอตำแยก็ดี ต้องหมุน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ขณะที่ออกจากช่องคลอดของมารดานั้นก็เหมือนกับถูกภูเขา ๒ ลูกบีบ ดูสิเด็กมีร่างกายอ่อนๆ ถูกภูเขาทั้ง ๒ ลูกบีบ ได้รับความทุกข์ทรมาน กว่าจะออกมาได้บางครั้งแม่ก็ตายไป หรือว่าลูกก็ตายไปก็มี คนที่มีชีวิตอยู่ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ถือว่าเป็นโชคดี เพราะฉะนั้นชาติทุกข์นั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำความลำบากให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

          และเมื่อเราเกิดมาแล้วก็ต้องทุกข์ ทุกข์ด้วยการเลี้ยงชีวิตของตนเอง ด้วยการแสวงหาอาหาร ทุกข์ด้วยการศึกษาหาความรู้ ทุกข์ด้วยภัย มีอุทกภัย วาตภัย เป็นต้น มันเกิดขึ้นมารบกวนเรา และเมื่อเราเติบโตขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรามันแก่ไปด้วยก็ถูกพยาธิ คือ โรคภัยไข้เจ็บมันเบียดเบียน หรือไม่ก็ถูกมรณะมันครอบงำในที่สุดทนไม่ไหวก็ต้องตายไป อันนี้ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มันเป็นทุกข์อย่างนี้

          แล้วก็ท่านให้พิจารณาถึงทุกข์ในอบายภูมิ จะเป็นทุกข์ในนรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี มันเป็นทุกข์มากขนาดไหน ถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างเกิดเป็นวัวชาติหนึ่ง เกิดเป็นควายชาติหนึ่ง รู้สึกว่ามันลำบากมาก เกิดเป็นแมวก็ดี เกิดเป็นหมาก็ดี สักชาติหนึ่งรู้สึกว่ามันลำบากมาก อย่างเช่นเกิดเป็นวัว หนาวก็ไม่มีเสื้อผ้าห่ม ยุงกัดก็ไม่สามารถที่จะไล่ได้มีแต่หางกับขาเท่านั้นเอง

          เพราะฉะนั้นสัตว์เดรัจฉานจึงเกิดมาเพื่อที่จะรับผลกรรมอย่างเดียว เกิดมาเพื่อที่จะชดใช้กรรม ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะบำเพ็ญบารมีอย่างมนุษย์ เพราะฉะนั้นการเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาเราก็ควรพิจารณาถึงชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณะทุกข์ เพื่อที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการบำเพ็ญคุณงามความดี แล้วก็จะเกิดความเพียร อุตสาหะในการทำความดีขึ้นมา

          แล้วบุคคลที่มีความเพียรนั้นต้องพินิจพิจารณาถึงภัยต่างๆ ถึงทุพภิกขภัย ภัยจากความยากเย็นยากจนเข็ญใจ ภัยจากภัยแล้งต่างๆ อาหารหามาลำบาก เศรษฐกิจมันแพง อันนี้ก็ถือว่าเป็นทุพภิกขภัย หรือว่าอัคคีภัย ทุกข์เพราะไฟไหม้ ทุกข์เพราะน้ำท่วม ทุกข์เพราะโจร ทุกข์เพราะลม เป็นต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้

          อีกประการหนึ่งคือ ให้เราพิจารณาถึงอานิสงส์แห่งความเพียร ความเพียรนี้เมื่อเราทำให้มีในจิตในใจของเราแล้ว เราก็สามารถที่จะยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นทั้งทางโลกทางธรรม เป็นการเรียนชั้นประถมก็ดี มัธยมก็ดี ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกก็ดีก็ต้องใช้ความเพียร จะประกอบการงานเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ เป็นพ่อค้า เป็นประชาชนธรรมดา ก็ต้องอาศัยความเพียรจึงจะสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นๆ ของตนได้

          ถ้าปรารถนาทางธรรม จะเรียนปริยัติธรรมก็ต้องอาศัยความเพียร เรียนนักธรรมตรี โท เอก ก็ต้องใช้ความเพียรมาก จะเรียนบาลีประโยค ๑-๒ เปรียญธรรม ๓,๔,๕,๖,๗,๘,๙ ก็ต้องใช้ความเพียรมาก จะยังสมาธิ ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดก็ต้องใช้ความเพียรมาก อยากบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องใช้ความเพียรมากขึ้นตามลำดับๆ เพราะฉะนั้นความเพียรนั้นถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จทั้งทางโลกทางธรรม

          และบุคคลผู้ที่จะทำความเพียรให้ตั้งอยู่ในจิตในใจได้นานๆ นั้นต้องคิดถึงบุคคลผู้ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเรา ว่าก่อนที่จะมาเป็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อของเรานั้น กว่าที่จะมาสอนพวกเราได้นั้น ท่านต้องอดทน บำเพ็ญบารมี ทำความเพียรหามรุ่งหามค่ำ จะเป็นความเพียรที่จะช่วยสังคมก็ดี ความเพียรส่วนตัวเองคือ การเดินจงกรม นั่งภาวนาก็ดี พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านทำความเพียรมาก อดอาหารมากจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขนร่วงหามส่งโรงพยาบาล กว่าที่จะได้ธรรมมาสอนลูกศิษย์ลูกหาก็ถือว่าได้มาโดยยากแสนยาก หรืออยู่ในประวัติของหลวงพ่อชาก็ดี

          บุคคลใดเคยอ่านประวัติหลวงพ่อชาจะรู้ว่าหลวงพ่อชานั้นเป็นผู้ที่มีความเพียรมาก ถ้าอยากออก อยากหนี อยากพ้น ไปจากทุกข์แล้ว ได้น้ำใส่กระติกน้ำ ได้กลด ได้บาตรแล้วก็ปีนขึ้นภูเขา แล้วก็เดินจงกรมนั่งภาวนา ไม่ลงมาบิณฑบาต น้ำอยู่กระติกนั้นก็หมด เมื่อน้ำกระติกหมดก็เยี่ยวใส่ภาชนะไว้ เมื่อหิวน้ำก็ดื่มน้ำเยี่ยวตัวเอง เพราะอะไร เพราะไม่อยากจะมาคลุกคลี ไม่อยากจะเสียเวลา อยากจะเดินจงกรมภาวนาให้ได้มากๆ เพื่อที่จะบรรลุธรรมเร็วๆ เพื่อที่จะพ้นทุกข์เร็วๆ อันนี้ความเพียรมากจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีชื่อเสียง ทั้งในประเทศและทั่วโลก เพราะอะไร เพราะว่าหลวงพ่อชานั้นท่านมีความเพียรมาก อันนี้เมื่อเราคิดถึงประวัติของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเราก็ดี หลวงพ่อชาก็ดี ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีใจกระปรี้กระเปร่าที่จะทำคุณงามความดีปรารภความเพียรขึ้นมา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะทำความเพียรให้เกิดขึ้นมาแล้วต้องเป็นผู้ที่ใคร่ครวญธรรมะอยู่ตลอดเวลา

          แล้วก็บุคคลผู้ที่จะมีความเพียรนั้นต้องให้พิจารณาถึงพระวิริยะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ต้องทำความเพียรมาก วิริยบารมีก็ดี วิริยอุปะปารมีก็ดี วิริยปรมัตถปารมี พระองค์ทรงบำเพ็ญมามาก ตั้ง ๔ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป บำเพ็ญบารมีตั้ง ๓๐ ทัศ จึงสามารถที่จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้

          ก่อนที่จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้นพระองค์ก็ทำความเพียรมาก ไม่ใช่ทำความเพียรน้อย ทำความเพียรจนถึงกับสลบ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง กว่าที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก่อนพระพุทธศาสนา ๔๕ ปีที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นการอุบัติขึ้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

         พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ คือการอุบัติเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เกิดขึ้นมาด้วยความเพียรจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราก็ต้องถือเนติแบบอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ไม่ใช่พ้นทุกข์ด้วยความเกียจคร้าน เราเป็นพุทธสาวก พุทธบริษัท เราก็ควรที่จะประกอบไปด้วยความเพียรทั้งทางโลกทางธรรม เพื่อที่จะพ้นทุกข์จากทางโลก และพ้นทุกข์จากทางธรรม

          และบุคคลผู้มีความเพียรนั้นต้องให้พิจารณาอาหารที่รับประทานว่าอาหารที่รับประทานก็ดี ที่ฉันก็ดี แต่ละวันๆ นี้ ถ้าเป็นญาติโยมก็หามาได้แสนยาก แต่ถ้าเป็นพระก็ถือว่ายิ่งยากอีก เพราะว่าพระจะฉันแต่ละครั้งแต่ละทีนั้นก็ต้องอาศัยญาติโยม เรียกว่าชีวิตของนักบวชนั้นเนื่องด้วยบุคคลอื่น เขาจะถวายทานก็ดีเขาก็ต้องยกใส่หัว เขาจะถวายค่าน้ำ ค่าไฟก็ดี เขาก็ต้องยกใส่หัว ยกใส่หัวตั้งความปรารถนาเสียก่อน เพราะฉะนั้นพระก็ถือว่าเป็นผู้ที่กินอยู่บนหัวของญาติของโยม ใช้อยู่บนหัวของญาติของโยม เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ควรประมาท หมั่นบำเพ็ญคุณงามความดี จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผล เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นบ่อเกิดแห่งบุญของชาวโลก เป็นบ่อเกิดแห่งบุญของพุทธบริษัททั้งหลายต่อไป

          แล้วก็บุคคลผู้ที่จะประกอบไปด้วยความเพียร ถ้าเป็นบรรพชิตก็ให้พิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้ต่างจากคฤหัสถ์ อาการของกายก็ดี วาจาก็ดี ที่จะทำให้กว่านี้ยังมีอยู่อีกมิใช่มีเพียงเท่านี้ คือให้เราพิจารณาดูว่า ความสำรวมกายของเราแค่นี้ สำรวมวาจาของเราแค่นี้ สำรวมใจของเราแค่นี้ ยังสมาธิให้เกิดขึ้นมาไหม เราสำรวมแค่นี้สมาธิของเรามันเกิดขึ้นมาหรือยัง วิปัสสนาญาณของเรามันเกิดขึ้นมาหรือยัง การบรรลุมรรคผลนิพพานของเรามันถึงที่สุดหรือยัง ถ้ายังไม่ถึงเราก็ต้องทำให้มันยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ ให้เราพิจารณาอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียรขึ้นมา

          แล้วก็ต้องพิจารณาว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ไม่ว่าจะเป็นลูกก็ดี เป็นเมียก็ดี เป็นสามีก็ดี หรือว่าเป็นพ่อก็ดี เป็นแม่ก็ดี เป็นบ้านเรือนก็ดี เป็นรถยนต์ก็ดี เป็นเรือกสวนไร่นาก็ดี เป็นแก้วแหวนเงินทองก็ดี รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการก็ดี สิ่งเหล่านี้เราต้องพรากไปหมด เราจะเอาไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นสมบัติของโลก มันจะอยู่กับโลก มันไม่สามารถที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพ

          เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้เราก็จะรู้ว่าสิ่งใดเล่าที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพ ก็คือบุญกุศลเท่านั้นที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพ เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรานั้นอย่าหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ พยายามที่จะหาเวลา ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เพื่อที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดบุญเกิดกุศล และเป็นทรัพย์ภายในติดตามเราไปในภพหน้าได้

          และบุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นต้องให้พิจารณาอยู่เป็นประจำว่าเรานั้นมีกรรมเป็นของของตนเอง เราทำกรรมดีจักดี เราทำกรรมชั่วจักได้ดีชั่ว เหมือนกับบุคคลผู้หว่านพืช ถ้าพืชที่เราหว่านลงไปคือข้าวเหนียว เวลามันออกรวงมาก็ต้องเป็นข้าวเหนียว เวลาเราหว่านไปเป็นข้าวจ้าว เวลามันออกรวงมาก็เป็นข้าวจ้าว พืชที่เราปลูกลงไปเป็นพันธุ์เมล็ดของมะม่วง มันก็เติบโตเป็นต้นมะม่วง เราปลูกต้นมะขามลงไปมันก็เติบโตเป็นต้นมะขาม เรียกว่า เราหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น เราทำกรรมดี ความดีนั้นก็ย่อมตอบสนองเราให้ไปเกิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าเราทำความชั่ว มีการทำบาปทางกายวาจาเป็นต้น ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเดือดร้อนแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิ อันนี้เมื่อเราพิจารณาเราก็จะเว้นจากความชั่ว คือมีความเพียรที่จะละชั่วประพฤติดี ความชั่วที่ยังไม่เกิดเราก็ไม่ให้เกิดขึ้น ความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วเราก็เพียรที่จะละมัน

          แล้วก็บุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นต้องพิจารณาอยู่เป็นประจำว่า วันคืนล่วงไปๆๆ นั้น บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เรามัวแต่หาทรัพย์ภายนอก เราคิดถึงทรัพย์ภายในบ้างไหม บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่ตายมีไหม เพราะบุคคลที่เกิดขึ้นมาไม่ตายไม่มี บุคคลที่ตายไปแล้วเขาเอาทรัพย์สมบัติที่เขาหามาได้ไปด้วยมีไหม เขาเอาลูกไปด้วยมีไหม เอาเมียไปด้วยมีไหม เอารถเอาบ้านไปด้วยมีไหม ไม่มี เมื่อไม่มีเราก็ควรที่จะเป็นผู้ฉลาด ตริตรองทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมั่นทำทรัพย์ภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ทำทรัพย์ที่ไม่สามารถติดตามไปในสัมปรายภพให้เป็นทรัพย์ที่ติดตามไปในสัมปรายภพได้

          แล้วก็บุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นต้องเป็นผู้ที่หมั่นพินิจพิจารณา คิดว่าคุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ในขณะนี้ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิต หรือเพื่อนนักบวชถาม เราจะไม่เก้อเขินในภายหลัง คือนักบวชที่บวชเข้ามาสละเพศฆราวาส เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา อาศัยอาหารของบุคคลอื่นเลี้ยงชีวิตนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เปรียบเสมือน ปรทัตตูปชีวิเปรต เป็นเปรตที่มีชีวิตเนื่องด้วยบุคคลอื่น คืออาศัยอาหารของบุคคลอื่นนั้นแหละเลี้ยงชีวิต

          ภิกษุก็เหมือนกับ  คือมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้ว เราก็พิจารณาว่าคุณธรรมของเรานั้นมีอยู่หรือเปล่า ที่เราจะไม่เก้อเขิน ในเมื่อเพื่อนบรรพชิตถามก็ดี ญาติโยมถามก็ดี เราจะไม่อาย หรือว่าก่อนที่เราจะมรณภาพ มีลูกศิษย์ลูกหาไปถามว่า “อาจารย์ ท่านประพฤติปฏิบัติธรรมมา สอนกรรมฐานมาบวชมานานมากขนาดนี้แล้ว ท่านมีคุณธรรมถึงชั้นไหนบ้าง ท่านได้เป็นพระโสดาบันหรือยัง” เราก็เก้อเขิน เราก็ไม่สามารถที่จะบอกลูกศิษย์ลูกหาบอกญาติบอกโยมได้ ก็เกิดความคิดวิปปฏิสารขึ้นมา เมื่อเราคิดในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความเพียรขึ้นมา

          แล้วก็บุคคลผู้ที่จะเกิดความเพียรนั้นต้องเป็นผู้รู้จักคบบุคคล คือให้คบแต่คนที่ขยันอย่าคบกับคนเกียจคร้าน ให้เว้นจากคนเกียจคร้าน แล้วก็ให้น้อมใจตนนั้นแหละไปในความเพียรในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เราจะเดินอยู่เราก็น้อมใจเราไปสู่ความเพียร เราจะนั่งอยู่เราก็น้อมใจเราไปในความเพียร เราจะกินอยู่ เราจะพูดอยู่ จะอาบน้ำ สรงน้ำก็ดี เราก็ต้องน้อมใจเราไปสู่ความเพียรตลอดเวลา อย่าปล่อยให้กิเลสคือความเกียจคร้านมันเข้าครอบงำจิตใจของเรา

        


หัวข้อ: Re: ความเพียร โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 มิถุนายน 2565 16:08:23

ความเพียร
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี

          เราต้องพยายามผลักดันความเกียจคร้านของเราออกไปจากจิตจากใจอยู่เสมอ เมื่อเราผลักดันความเกียจคร้านออกไปจากจิตจากใจของเราได้เสมอ จิตใจของเราก็จะมีความเพียรอยู่เป็นประจำ ความเพียรนี้ก็จะเป็นอุปนิสัยของเรา จะเป็นสันดานของเรา จะเป็นสิ่งที่เราทำ จะเป็นสมบัติติดตัวเราไปตลอด เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เราก็มีความเพียรอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความเพียรนั้นจึงเป็นสิ่งที่ ผู้ที่อยู่ในพุทธศาสนาถ้ายังไม่เกิด เป็นโยมก็ดี เป็นพระก็ดี ก็ต้องทำให้เกิด

          เพียรในที่นี้คือ เพียรในการทำคุณงามความดี ถ้ามันยังไม่เกิดก็ต้องทำให้เกิด ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องรักษาไว้ แล้วก็ทำให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะบุคคลนั้นจะล่วงทุกข์ได้ก็ต้องอาศัยความเพียร บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วต้องพิจารณาว่าเวลา ๒๔ ชั่วโมงนั้น เราเอาเป็นเวลาของตัวเองที่จะสะสมบุญกุศลนั้นกี่นาที กี่ชั่วโมงให้เราพิจารณาอย่างน้อยๆ เราก็ทำความดีสัก ๕ นาที สัก ๑๐ นาที ๓๐ นาที หรือว่า ๑ ชั่วโมง มีการนั่งฟังเทศน์ธรรมะก่อนนอน กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่ากำหนดว่า “เสียงหนอๆ” จากวิทยุก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิได้วิปัสสนาญาณเหมือนกัน

          แต่ให้เราสังเกตว่ามันจะดับลงไปตอนไหน ดับลงไปตอนฟังถึงเรื่องอะไร พระท่านพูดถึงเรื่องอะไร ท่านพูดถึงคำไหน แล้วก็ดับลงไปเลย หรือว่าท่านเทศน์ไปเราภาวนา “พองหนอ” ท่านเทศน์ถึงนี้แล้วก็ดับลงไปเลย ในลักษณะอย่างนี้ขอให้เราจำให้ได้ ถ้าเราจำได้แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์มาก ถ้าจำได้ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า แม้จะเอาสมบัติของมนุษย์ทั้งหมดโลกมารวมกัน เอาสมบัติของเทวดาทั้งหมดมารวมกัน เอาสมบัติของพรหมโลกหมดพรหมโลกมารวมกัน อานิสงส์ก็ไม่เท่ากับเราจำอาการพองอาการยุบว่ามันดับลงไปตอนไหน

          หรือว่าขณะที่เรากำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” มันดับลงไปตอนไหน สู้อานิสงส์เราจำอาการดับลงไปครั้งเดียวไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าการจำได้นั้นแหละ ถ้ามันดับไปด้วยอำนาจของฌานวิถีก็เป็นฌานไป ถ้ามันดับด้วยอำนาจของมรรควิถีก็เป็นมรรคไป คือถ้ามันดับด้วยอำนาจของมรรควิถี บุคคลนั้นชื่อว่า ไม่ไปสู่อบายภูมิ ประตูอบายภูมิปิดสนิทแล้ว จะเกิดอีกอย่างมากก็ ๗ ชาติ เพราะฉะนั้นสมบัติของมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่สามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้ แต่การจำอาการพองอาการยุบว่ามันดับลงไปตอนไหน เสียงมันดับลงไปตอนไหน สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ เพราะฉะนั้นจึงมีค่ามากกว่าสมบัติของมนุษย์ เทวดา พรหม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ที่จะเป็นโยมก็ดี จะเป็นพระก็ดี ถ้ายังมีกิเลสอยู่ในจิตในใจ ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังไม่สามารถทำจิตของตนให้ถึงปฐมมรรคนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลเหล่านั้นนอนทับกิเลสของตัวเอง นั่งทับกิเลสของตัวเอง ยืนทับกิเลสของตัวเอง เหมือนกับหมูนอนทับขี้ของตัวเอง เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลผู้ที่มีกิเลสอยู่นั้นแหละไม่ทำความเพียร นอนทับกิเลสของตัวเองอยู่ เมื่อตายไปก็ย่อมไปสู่อบายภูมิ เมื่อตายไปแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในภพภูมิที่หวาดกลัว

          เพราะว่าบุคคลผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น การท่องเที่ยวไปในอบายภูมินั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว เป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่น ไม่รู้ว่าชาติหน้าของเราจะไปเกิดในภพใดชาติใด ถ้าเราไปด้วยอำนาจของอกุศลกรรมก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รับทุกข์ทรมาน แต่ถ้าเราไปด้วยอำนาจของบุญบ้างก็พอที่จะทำคุณงามความดีได้

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่มีกิเลสอยู่ ถ้าปราศจากความเพียรแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับหมูที่มันนอนทับมูตรนอนทับขี้ของตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน เป็นสิ่งที่บุคคลผู้มีปัญญานั้นควรที่จะสังเวช เพราะฉะนั้นการที่เรามาฟัง อดทนต่อการฟังธรรมะก่อนนอนนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เรานั้นเตรียมตัวก่อนตายแล้ว เป็นสิ่งที่เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายผู้ที่สนใจสดับรับฟังธรรมะก่อนนอนในวันนี้ ก็ขอให้เป็นผู้ที่อดทนฟังเรื่อยไป เป็นอุปนิสัยของตนเองไป เพื่อที่จะทำใจของตนเองนั้นให้เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดแสงสว่างแห่งธรรมะนั้นมันโพลงขึ้นมาในจิตในใจ แล้วจิตใจของเราก็จะผูกพันกับธรรมะ จิตใจของเราก็จะละอกุศลไปโดยลำดับ เรียกว่าละอกุศลโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตใจของเราละอกุศลโดยอัตโนมัติ จิตใจของเราก็จะเริ่มสะอาดขึ้น ขาวขึ้น ในที่สุดจิตใจของเราก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงเป็นผู้ที่อดทน แล้วก็มีความแข็งใจที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีฟังธรรมะก่อนนอนอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่

          ในท้ายที่สุดนี้อาตมภาพบรรยายธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายผู้ที่สนใจฟังธรรมะก่อนนอนนี้ ขอให้เป็นผู้ที่เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิททิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ แล้วก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงโชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป ความคิดใดปรารถนาใดที่มันเป็นไปด้วยชอบประกอบไปด้วยกุศลธรรม ขอความคิดความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จ ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอให้ญาติโยมจงมีโอกาสมาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมนำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานจงด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ.