[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 กรกฎาคม 2565 16:25:00



หัวข้อ: วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 กรกฎาคม 2565 16:25:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/61247968922058_1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25245237888561_2_Copy_.jpg)

วัดบ้านกร่าง
ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี


ประวัติวัดบ้านกร่าง

วัดบ้านกร่าง เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี  ปัจจุบันมีพื้นที่ธรณีสงฆ์ ๒๙ ไร่ สันนิษฐานว่ามีอายุราว ๔๐๐-๕๐๐ ปี ได้รับพระราชทานวิสุงความสีมา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๙ เมตร ยาว ๔๙ เมตร ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖

ชื่อบ้านกร่างปรากฏในผลงานกวีนิพนธ์ของพระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในนิราศสุพรรณ  ซึ่งได้เดินทางเยือนเมืองสุพรรณบุรี โดยทางเรือมาทางแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ปี พ.ศ.๒๓๘๔ ได้แต่งโคลงนิราศสุพรรณ มีความยาวถึง ๔๖๓ บท เมื่อเดินทางถึงวัดบ้านกร่าง ได้แต่งกลอนตอนหนึ่งกล่าวถึงวัดบ้านกร่าง ว่า


ถึงย่านบ้านกร่างเวิ้ง      วาริน
เกิดแก่งแหล่งเหวหิน     . ฮ่วงคุ้ง
ปล่องน้ำท่ำภุมริน พวกเงือก เลือกแฮ
ยามเปลี่ยวเสียวทรวงสะดุ้ง     ด่วนพ้น วนวัง ฯ

นอกจากนี้ ยังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ครั้งเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ว่า “พลับพลาที่พักนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์ ๑ เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่ข้างว่าเขื่อง เป็นที่ราษฎรมาประชุมกันไหว้พระในงานวันเพ็ญเดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ของทุกปี”

ปูชนียวัตถุ - ปูชนียสถาน – สิ่งน่าสนใจภายในวัด
อุโบสถ
อุโบสถ สร้างราว พ.ศ.๒๔๗๔ แล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง มีพระนามว่า “หลวงพ่ออู่ทอง” ปัจจุบันภายในอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย

วิหาร
มีวิหารเก่าสมัยอยุธยาที่ยังรักษามาจนถึงปัจจุบัน มีอายุราว ๔๕๐ ปี ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและใบเสมาเก่า พระประธานในวิหารนั้นมีพระนามว่า “หลวงพ่อแก้ว”

สิ่งน่าสนใจภายในวัด
กรุพระขุนแผน
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัด คือ กรุพระขุนแผน เป็นกรุบรรจุพระพิมพ์ พระบูชา สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้สร้างขึ้นหลังจากมีชัชชนะพระมหาอุปราชาที่บ้านหนองสาหร่าย ในสงครามศึกยุทธหัตถี อำเภอดอนเจดีย์ ปี พ.ศ.๒๑๓๕ โดยมี สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งศรีอโยธยาเป็นองค์ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกแล้วนำมาประจุไว้ในพระสถูปวัดบ้านกร่าง เพื่อเป็นพุทธบูชา ซึ่งพระพิมพ์นั้น ในวงการพระเครื่อง นิยมเรียกว่า “พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง” พระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง (พระขุนแผน)

พระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง เป็นพระเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สร้างขึ้น ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ มีมากพิมพ์หลายแบบนับได้ถึง ๔๑ พิมพ์ แยกเป็น พระพิมพ์บ้านกร่างเดี่ยว ๒๗ พิมพ์ พระพิมพ์บ้านกร่างคู่ ๑๔ พิมพ์ และพระพิมพ์บ้านกร่างคู่ (พระพลายเพ็ชรพลายบัว) เป็นพระที่มีความหมายเพื่อสมมติเป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

ต่อมาเจดีย์สมัยอยุธยาองค์เดิมซึ่งเป็นกรุบรรจุพระเครื่องนั้นพังทลายลงราวร้อยปีแล้ว  พระครูอาภัสศีลคุณ (พระปลัดทวี อาภสฺสโร) อดีตเจ้าอาวาส จึงสร้างแจดีย์ขนาดเล็กครอบบริเวณกรุพระ พร้อมทั้งนำพระพิมพ์ขุนแผนซึ่งท่านสร้างขึ้นใหม่ด้วยส่วนผสมของพระพิมพ์ขุนแผนเก่าที่ชำรุด นิยมเรียกขานกันว่า “พระขุนแฟน รุ่นพระปลัดทวี” บรรจุลงไปจำนวนหนึ่ง

พระขุนแผนวัดบ้านกร่างองค์ใหญ่ องค์จำลองจากพระกรุ มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐

พระพุทธบาท สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ปัจจุบันประดิษฐานที่ศาลารายซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังวิหาร

มณฑป สร้างสมัยพระเมธีธรรมสารเป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนพระครูอาภัสศีลคุณ

มณฑปพระเมธีธรรมสาร (ไสว ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าอาวาส ผู้สร้างโรงเรียน วัด สาธารณูปการในหลายพื้นที่ เป็นทั้งพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน  หลวงปู่นวม วัดโพธิ์ศรีเจริญ  หลวงปู่นาม วัดน้อยชมภู่  หลวงปู่สิริ วัดละหาร  หลวงพ่อวสันต์ วัดพยัคฆาราม  หลวงพ่อสงวน วัดไผ่พันมือ ฯลฯ  รูปเหมือนสร้างสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘

เจดีย์กลางน้ำ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๔) แต่เดิมเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำ ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยน เป็นเหตุให้เจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำในปัจจุบัน ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณ มีพระราชหัตถเลขากล่าวถึงเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ดังข้อความข้างต้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65128205758002_3_Copy_.jpg)
หลวงพ่ออู่ทอง พระประธานในอุโบสถ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54659417313006_5_Copy_.jpg)
พระบรมสารีริกธาตุ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44261970039870_4_Copy_.jpg)
มณฑปสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในอุโบสถ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42807093469632_11_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28551164848936_6_Copy_.jpg)
หลวงพ่อแก้ว พระประธาน และหมู่พระพุทธรูปเก่าแก่ ประดิษฐานในวิหารเก่าแก่อายุมากกว่า ๔๕๐ ปี
สภาพทั่วไปขณะนี้ชำรุดทรุดโทรม ต้องเร่งดำเนินการบูรณะ แต่ยังขาดปัจจัยอีกจำนวนมาก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82007640682988_7_Copy_.jpg)
สภาพของหลังคาวิหาร (วัดใช้พลาสติกใสคลุมทับหลังคา กันฝนรั่วไว้ชั่วคราว)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82007640682988_7_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26226319993535_9_Copy_.jpg)
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อทำนุบำรุงศาสนสถานให้มีความมั่นคงแข็งแรงสืบต่อไป

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57943311623401_10_Copy_.jpg)
พระขุนแผนวัดบ้านกร่างองค์ใหญ่ องค์จำลองจากพระกรุ มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82981234788894_12_Copy_.jpg)
ใบเสมาอุโบสถวัดบ้านกร่าง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22601515716976_13_Copy_.jpg)
ได้ไปยืนพิจารณาแล้ว เห็นว่าท่าน้ำหน้าวัดบ้านกร่าง มีลักษณะเป็นเวิ้ง หรือคุ้งน้ำ เว้าโค้งเข้าฝั่ง
โดยสภาพน่าจะมีความใกล้เคียงกับบทกวีของท่านสุนทรภู่ ที่กล่าวไว้ว่า


ถึงย่านบ้านกร่างเวิ้ง      วาริน
เกิดแก่งแหล่งเหวหิน     . ฮ่วงคุ้ง
ปล่องน้ำท่ำภุมริน พวกเงือก เลือกแฮ
ยามเปลี่ยวเสียวทรวงสะดุ้ง     ด่วนพ้น วนวัง ฯ

อธิบายว่า แม่น้ำที่บริเวณบ้านกร่าง มีลักษณะเป็นเวิ้ง หรือคุ้งน้ำ เว้าโค้งเข้าฝั่ง ที่เต็มไปด้วยแก่งหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่
บางแห่งมีลักษณะเป็นหลืบหินคล้ายถ้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกเงือก (เงือกในที่นี้ ท่านกวีน่าจะหมายถึง "จระเข้")
กระแสน้ำไหลเชี่ยวแรง เมื่อเดินทางยามเปลี่ยว ให้เป็นที่สะดุ้งหวาดกลัว ต้องรีบไปเสียให้พ้นห้วงน้ำแห่งนี้

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11839610917700_14_Copy_.jpg)
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๔)
แต่เดิมเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำ ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง เป็นเหตุให้ปัจจุบันเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45259043325980_15_Copy_.jpg)
วัดบ้านกร่าง เป็นวัดที่เงียบสงบ สะอาด ร่มรื่น เหมาะแก่ผู้แสวงหาความสงบสุขทางจิตใจ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53107527767618_25_Copy_.jpg)
แพขนาดใหญ่ตรงข้ามวัดกร่าง ซึ่งโดยรอบมีปลาสวายอาศัยอยู่จำนวนมาก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72220559169848_28_Copy_.jpg)
บ้านเรือนราษฎรริมฝั่งตรงข้ามวัดกร่าง