[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 29 สิงหาคม 2565 20:12:52



หัวข้อ: เสาชิงช้า : พิธีโล้ชิงช้า
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 สิงหาคม 2565 20:12:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14108770920170_75407797_3121849611175342_4904.jpg)
พิธีโล้ชิงช้า เชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลก วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
และเมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่นๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์
พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์จะแกะรูปสัญลักษณ์ของเทวดาแต่ละองค์เป็นเทวรูปลงในไม้กระดาน
สามแผ่นเพื่อทำการบูชาในเทวสถาน แล้วจากนั้นจะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้า
หาตำแหน่งที่มีพระยายืนชิงช้านั่ง เรียกว่า “กระดานลงหลุม” ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่

เสาชิงช้า : พิธีโล้ชิงช้า

จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างเสาชิงช้าในพระนครขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อวันพุธ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง ต่อมาย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันบริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่

ลักษณะเป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง ๒๑.๑๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐.๕๐ ม. ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได ๒ ขั้น ทั้งสองด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ ๒ คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

“เสาชิงช้า” เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวายมาตั้งแต่สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอยู่คู่กับกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙

ส่วนพระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวายนั้น เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของพวกพราหมณ์ เป็นการต้อนรับการเสด็จมาเยี่ยมโลกของพระอิศวรและพระนารายณ์ ตรงกับวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ (ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก ๑๐ วัน) ในตำนานพระราชพิธีตรียัมปวาย พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น “ต้นพุทรา” ช่วงระหว่างเสาคือ “แม่น้ำ” นาลิวันผู้โล้ชิงช้าคือ “พญานาค” โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
 
ซึ่งพระยายืนชิงช้าในสมัยนั้นมักแต่งตั้งจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพลเทพซึ่งอยู่ในตำแหน่งเกษตราธิบดีแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงว่า ถ้าเจ้าพระยาพลเทพจะต้องแห่ทุกปีอาจทำให้ขบวนแห่ดูจืดชืด ไม่ครึกครื้นเท่าที่ควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง (พระยาพานทอง) ได้มีโอกาสแห่แหนเป็นเกียรติยศกันคนละครั้ง หมุนเวียนไปทุกปี และได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบมา

พระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) ขณะเป็นพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายในปีมะแม พ.ศ.๒๔๗๔ เนื่องจากพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80704543118675_77052671_3121849031175400_2033.jpg)
(ภาพจากหนังสือ พระราชพิธี ๑๒ เดือน : ปฏิทินชีวิตของชาวสยาม)

ในนิราศรำพึงของพระอยู่ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ที่ปรากฏใน “เล่าเรื่องบางกอก”
ของ ส.พลายน้อย ได้สะท้อนให้เห็นว่า งานโล้ชิงช้าสมัยก่อนสนุกสนานเพียงใด


แล้วคิดไปเดือนยี่พิธีไสย      มีงานใหญ่ชิงช้าเมื่อหน้าหนาว
พวกหญิงชายมาดูกันกรูกราว      ทั้งเจ๊กลาวแขกฝรั่งทั้งญวนมอญ”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49728286473287_74912299_3121850074508629_2033.jpg)

ก่อนเริ่มพิธีโล้ชิงช้าในวันแรก ตอนเช้าจะมีการจัดริ้วขบวนแห่งพระยายืนชิงช้าออกจากวัด ซึ่งแล้วแต่จะกำหนดว่าเป็นวัดใด จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนเข้าสู่ปะรำพิธี พระยาจะจุดเทียนชัยส่งไปบูชาที่เทวสถาน ต่อจากนั้นพระยายืนชิงช้าก็จะนั่งเป็นประธานดูนาลิวัน (นักบวชพรามหณ์) ขึ้นโล้ชิงช้าจนครบ ๓ กระดาน แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับเข้าวัดเป็นอันเสร็จพิธี และในวันสุดท้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับวันแรกทุกประการ

ในภาพเป็นภาพพลายมงคลแต่งตัวเป็นช้างเอราวัณ (มี ๓ หัว) เข้ากระบวนแห่พระราชพิธีโล้ชิงช้า พ.ศ.๒๔๓๗ ช้างแสนรู้ชื่อพลายมงคลเป็นช้างที่พระเจ้าเชียงใหม่ส่งมาถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเพื่อเป็นบรรณาการในงานพระราชพิธีโสกันต์ พ.ศ.๒๔๓๓



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93399711532725_76193633_3121850751175228_2307.jpg)

สำหรับผู้ที่ขึ้นไปทำหน้าที่โล้ชิงช้านั้นเรียกว่า “นาลิวัน” โดยจะเลือกจากพราหมณ์หนุ่มที่มีอายุระหว่าง ๑๘-๒๐ มีร่างกายแข็งแรงและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

สำหรับแผ่นไม้กระดานนั้นจะขึงโยงลงมาจากคานบนของเสาด้วยเชือก ๘ เส้น ตัวเชือกทำด้วยหนังวัวเผือก โดยถือเคล็ดว่าวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร ที่แผ่นกระดานมีรูสำหรับร้อยเชือก ๘ รู มีช่วงระยะห่างเท่าๆ กัน เชือกทั้ง ๘ เส้นนี้ นอกจากจะใช้ผูกติดกระดานแล้ว ยังช่วยยึดเหนี่ยวในขณะโยกตัวมิให้ร่วงหล่นซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ การโล้ชิงช้าจะแบ่งเป็น ๓ ชุด หรือเรียกว่า ๓ กระดาน คือ กระดานเอก มีเงินรางวัลสูงสุดถึง ๑๒ บาท กระดานโท ๑๐ บาท และกระดานตรี ๘ บาท ในแต่ละกระดานจะมี “นาลิวัน” ขึ้นไปโล้โลดโผนถึงครั้งละ ๔ คน ส่วนเงินรางวัลจะบรรจุในถุงซึ่งแขวนอยู่บนยอดเสาไม้ไผ่ที่ปักไว้ข้างเสาชิงช้า โดยมีกฎเกณฑ์ว่าห้ามใช้มือเอื้อมหยิบ ต้องใช้ปากคาบอย่างเดียว


ขอขอบคุณ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ (ที่มาข้อมูล/ภาพประกอบ)