[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 30 สิงหาคม 2565 20:20:29



หัวข้อ: สักการะพระเจ้าทันใจ วัดหนองเต่า ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 สิงหาคม 2565 20:20:29
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/61604354737533_302017908_173376728552571_4514.jpg)

วัดหนองเต่า
หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร


วัดหนองเต่า เป็นวัดราษฎร์มหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติการก่อสร้างวัด ที่ตั้งวัดอยู่ติดถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดกำแพงเพชร - (พิจิตร) พิษณุโลก  เราขับรถไปเส้นทางดังกล่าวต้องสะดุดตากับ หลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวองค์ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในลานกว้าง ผินพระพักตร์ที่งดงามผ่องใสมาทางด้านหน้าวัดที่มียวดยานสัญจรไปมา ทำให้อดไม่ได้ที่ต้องแวะเวียนเข้าไปสักการะบูชา

พระเจ้าทันใจเป็นชื่อของพระพุทธรูปที่มักจะพบตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ตามความเชื่อของล้านนา เชื่อว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่สามารถดลบันดาลในสิ่งที่ตนอธิษฐานได้เป็นผลสำเร็จรวดเร็วทันใจ

ในการสร้างพระเจ้าทันใจนั้น มีธรรมเนียมในการสร้างว่า ต้องสร้างโดยบุคคลเพียงคนเดียว หมู่คณะ หรือทั้งหมู่บ้านก็ได้แล้วแต่จะสร้าง และให้เสร็จภายใน ๑ วัน  ถ้าเป็นบุคคลเดียวเป็นผู้สร้าง องค์พระมักมีขนาดเล็กกว่าที่ศรัทธาทั้งวัดรวมกันสร้าง  โดยทั่วไปมักจะนิยมสร้างด้วยไม้หรือปูนปั้น พุทธลักษณะของพระเจ้าทันใจจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่ฝีมือคนสร้าง บางคนศรัทธาแกะสลักด้วยตนเองแม้ไม่ใช่ช่างก็มี พระพุทธรูปที่สร้างอาจไม่ประณีตสวยงาม เพราะทำในเวลารวดเร็วภายในหนึ่งวันดังกล่าว

ในประวัติวัดหม้อคำตวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงพระเจ้าทันใจว่า แต่เดิมพระเจ้าทันใจมี ๓ องค์ในเมืองแหง อำเภอเชียงดาว ในเขตติดต่อระหว่างพม่ากับไทย ใกล้กับเมืองแหง ในตำนานกล่าวว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งไปยกยอหาปลาในหนองน้ำแห่งหนึ่งที่เมืองแหง นางยกยอได้พระเจ้าทันใจทีละองค์เป็นจำนวน ๓ องค์ จึงนำพระพุทธรูปนั้นกลับมาถึงบ้าน เมื่อถึงตอนกลางคืนปรากฏเห็นแสงเรืองออกมาจากองค์พระพุทธรูปทั้งสามองค์ นางจึงได้บอกให้เพื่อนบ้านมาดู ชาวบ้านจึงนำพระเจ้าทันใจไปประดิษฐานที่วัดและจัดงานฉลองในวันรุ่งขึ้น นับแต่นั้นมาพระเจ้าทันใจก็ประดิษฐานที่เมืองแหง

ต่อเมื่อเมื่อพระเจ้ากาวิละได้ยกกองทัพไปต่อสู้กับพม่าที่เมืองแหง จึงกวาดต้อนผู้คนเข้ามาเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านที่อพยพมาจึงนำพระเจ้าทันใจองค์นี้มาประดิษฐานที่วัดหม้อคำตวง  วันหนึงมีหญิงชราคนหนึ่งมาบูชาพระเจ้าทันใจ นางได้อธิษฐานว่าขอให้นางหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าหายโดยเร็วนางจะถวายผลไม้ ๕ ชนิด นางกราบเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน อีกสองสามวันต่อมาอาการป่วยของนางได้หายดีขึ้นเป็นปกติ นางจึงได้กลับมาถวายผลไม้ ๕ ชนิดตามที่บนไว้ ชาวบ้านเชื่อว่าพระเจ้าทันใจมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงนับว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่มีผู้เคารพบูชาอยู่ไม่น้อย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99385337448782_301810283_173376758552568_3620.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35934807525740_301958349_173376851885892_2604.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33217520059810_301644998_173376791885898_1453.jpg)
สิ่งสำคัญในวัด - ศาลาเก่าแก่ภายในวัดหนองเต่า ปัจจุบันหาชมยาก มีไม่กี่วัดที่สงวนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92146310789717_301528070_173376878552556_9382.jpg)


ที่มา "ประวัติพระเจ้าทันใจ" - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ มูลสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่ (สรุปความจาก วัดในล้านนา ของ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ อัลเบิร์ต ลิเซค.๒๕๓๕)