[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 08 กันยายน 2565 17:38:11



หัวข้อ: “ไล่เรือ” พิธีขอขมาผีน้ำผีดิน ขอให้น้ำลดด้วยการเห่กล่อมมวลน้ำลงบาดาล ณ บางปะอิน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 08 กันยายน 2565 17:38:11
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99208789856897__1_Copy_.jpg)
ไพร่ฝีพายเรือของเจ้านายและขุนนางสมัยอยุธยา ลายเส้นจากหนังสือจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์

“ไล่เรือ” พิธีขอขมาผีน้ำผีดิน ขอให้น้ำลดด้วยการเห่กล่อมมวลน้ำลงบาดาล ณ บางปะอิน

เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพฤหัสที่ 8 กันยายน พ.ศ.2565

พิธีขอขมาผีน้ำผีดิน “ไล่เรือ” ให้น้ำลดด้วยการเห่กล่อมขอมวลน้ำลงบาดาล ณ บางปะอิน คัดลอกข้อความบางส่วนจาก เอกสารประกอบรายการทอดน่องท่องเที่ยว ตอน อำนาจของนาฏกรรม อยุธยา “ไล่เรือ” ไปบางปะอิน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ รายการออนแอร์เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 (ชมรายการเลื่อนลงด้านล่าง)

ขอขมาผีน้ำผีดิน
ขอขมาผีน้ำผีดิน เป็นประเพณีพิธีกรรมประจำปี ได้แก่ แข่งเรือ, จองเปรียงลดชุดลอยโคมส่งน้ำ, ไล่เรือ โดยต้องทำต่อเนื่องนาน 3 เดือน ตั้งแต่ราวเดือน 11 (กันยายน-ตุลาคม) ถึงราวเดือน 12 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) บางทีถึงเดือน 1 หรือเดือนอ้าย (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ดังนี้ แข่งเรือ เดือน 11 เพื่อผลักดันมวลน้ำให้ลดตามฤดูกาล จองเปรียงลดชุดลอยโคมส่งน้ำ เดือน 12 เพื่อขอขมาผีน้ำและผีดิน ไล่เรือ (พิธีจร) เพื่อวิงวอนร้องขอมวลน้ำลงบาดาลให้ลดจากการท่วมข้าวที่กำลังแตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว

ผี, พุทธ, พราหมณ์ พิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำและดินมีต้นตอจากความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผีสมัยดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียก็ปรับเข้ากับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้พิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำและดินเป็นประเพณีผี, พุทธ, พราหมณ์ ผสมกลมกลืนเข้าด้วยกันจนแยกไม่ได้

เซ่นผีน้ำผีดิน น้ำกับดินเป็นแหล่งกำเนิดอาหาร ที่คนเชื่อว่ามีผีสิงสู่เรียก “เจ้าแม่” ซึ่งเฮี้ยน ด้วยเหตุดังนั้นสมัยโบราณหลายพันปีเมื่อยังอ่อนแอทางเทคโนโลยี จึงต้องมีพิธีกรรมเซ่นผีน้ำและผีดินเมื่อถึงช่วงเวลาสิ้นฤดูกาลเก่า ขึ้นฤดูกาลใหม่ เพื่อขอความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชน แล้วเป็นประเพณีทำสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

นาฏกรรมแห่งรัฐ
ประเพณีพิธีกรรมขอขมาผีน้ำผีดิน สิ้นฤดูกาลเก่า ขึ้นฤดูกาลใหม่ เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ หรือละครโรงใหญ่มหึมาที่ต้องมีทุกปี

แสดงว่าพระราชาไม่มีอำนาจมากล้นจริงจังในสมัยรัฐโบราณอุษาคเนย์ เพราะพระราชาต้องประนีประนอมด้วยกับบรรดาข้าราชบริพารที่ปฏิบัติราชการตามพระราชโองการ ซึ่งเป็นลูกท่านหลานเธอ หรือผู้มาจากตระกูลที่มีอำนาจในตัวเอง

อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดงหรือเป็นเชิงสัญลักษณ์ และหนึ่งในการแสดงเชิงอำนาจที่สำคัญ คือ พระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมเป็นประจำเกือบทุกเดือน (ดังมีในกฎมณเฑียรบาล) อย่างเคร่งครัดในธรรมเนียมจารีตโบราณราชประเพณี ที่แสดงชนชั้นหรือความไม่เสมอภาค ซึ่งจะขาดเสียมิได้

ห้ามชมพระบารมี ประชาชนต้องหมอบก้มหน้าตลอดหนทางเสด็จ เป็นฉากสำคัญที่ขาดมิได้ของ “ละคร” นาฏกรรมแห่งรัฐ เมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้วก็เงยหน้าขึ้นชมได้ หรือขณะเสด็จอาจแอบซ่อนชมบ้างก็ได้ (ต้องไม่ให้นายตระเวนเห็น)

ขบวนเสด็จทางชลมารคอยู่ห่างฝั่งและอยู่ห่างเรือนแพริมแม่น้ำ เพราะแม่น้ำกว้างมาก ประชาชนจะแอบชมพระบารมีย่อมทำได้ [สรุปจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 1-7 มิถุนายน 2555 หน้า 30]

ขบวนเรือจากเกาะเมืองล่องลงไปบางปะอิน ทำพิธีให้น้ำลดเพื่อชาวนาเก็บเกี่ยวด้วยการเห่กล่อมขอน้ำไหลลงตาน้ำส่งกลับบาดาล

เมื่อทำพิธีทุกอย่างแล้วน้ำไม่ลด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือไปกลางน้ำ ถือพระแสงดาบฟันน้ำ เพื่อบงการให้น้ำลด เป็นคำบอกเล่าในคำให้การฯ แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีจริง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77104389543334__Copy_.jpg)
พยุหยาตราทางชลมารคกระบวนใหญ่สุดของกรุงศรีอยุธยา ในพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำและดินเป็นประจำทุกปี
เพื่อขอให้ไพร่บ้านพลเมืองอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ภาพพิมพ์โดยนักทำแผนที่ชาวฮอลันดา
พ.ศ.2262 ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ [ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ในหนังสือ
กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง สำนักพิมพ์มติชน 2549]


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35988165313998__696x607_Copy_.jpg)
ขบวนเรือพระราชพิธีมากกว่า 500 ปีมาแล้ว เคลื่อนจากเกาะเมืองอยุธยาตามแม่น้ำลงไปบางปะอิน
เพื่อทำพิธีไล่น้ำท่วมข้าวลงบาดาล (ในภาพ) เกาะเมืองอยุธยา และแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงทางทิศใต้
เป็นเส้นทางขบวนเรือพระราชพิธีเคลื่อนลงไปบางปะอิน
[ถ่ายจากเครื่องบินโดย เอนก สีหามาตย์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ.2561]