[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 กันยายน 2565 16:40:36



หัวข้อ: งานปั้นหุ่นต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กันยายน 2565 16:40:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93602365917629_1_Copy_.jpg)

งานปั้นหุ่นต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

อย่างที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนักรบทรงม้านำทหารในการสงครามและกอบกู้ประเทศชาติบ้านเมือง ดังนั้นเมื่อจะมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ ข้อสำคัญคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องทรงม้า

กว่าจะมาเป็นรูปปั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงม้าศึก ซึ่งเป็นม้าที่มีลักษณะกล้ามเนื้อชัด กำยำ แต่ไม่สูงใหญ่มากนัก อยู่ในท่วงท่าพร้อมรบ มีที่มาอย่างไร วันนี้จะชวนมาอ่านเรื่องราวของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี กับงานปั้นหุ่นต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นำเสนอจากเอกสารจดหมายเหตุรายการที่ ๓ คือ เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร รหัส ศธ.๐๗๐๑.๔๕/๔ เรื่อง การปั้นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี [พ.ศ.๒๔๙๒-๒๔๙๓] [๑๕๖ แผ่น]

เมื่อกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ออกแบบและดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ปฏิมากร กรมศิลปากร (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ซึ่งรับหน้าที่ผู้ปั้นและอำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ จึงได้สเก็ตซ์ภาพให้คณะกรรมการพิจารณา จำนวน ๘ แบบ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๐ คณะกรรมการมีมติให้นำภาพเหล่านั้นไปจัดแสดงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยชักชวนให้ประชาชนลงคะแนน ผลปรากฏว่าแบบที่ได้รับเลือก คือ ภาพสเก็ตซ์แบบที่ ๑ ซึ่งเป็นพระบรมรูปทรงม้า ถือพระแสงดาบ ประดิษฐานอยู่บนฐานหิน ที่ฐานมีรูปปั้นนักรบไทย ๒ นาย

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และคณะ จึงได้เริ่มเสาะหาและพบม้าที่เหมาะจะเป็นแบบปั้น จำนวน ๒ตัว ตัวแรกอยู่ที่กรมการสัตว์พาหนะทหารบก เป็นม้าพันธุ์อาหรับซึ่งมีอยู่ตัวเดียว ราคาราว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตัวที่สองอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ เป็นม้าพันธุ์ไทย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้เลือกม้าพันธุ์ไทยและให้ความเห็นเกี่ยวกับการยืมม้ามาเป็นแบบสำหรับปั้น ความว่า

“...ข้าพเจ้าไปดูลักษณะของม้าทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่าที่กองพันทหารม้าที่ ๑ มีลักษณะดีอยู่ตัวหนึ่งพอจะดูเปนแบบปั้นได้ จึงหยากได้ม้าตัวนั้นมาเปนแบบปั้นด้วย จึงให้นายพิมาน มูลประมุข ไปติดต่อกับ ผ.บ.ม.พัน ๑ ด้วยวาจา ขอยืมม้าตัวนั้นและพร้อมทั้งขอคนมากำกับดูแลม้าด้วย โดยตอนเช้านำมาที่กรมศิลปากร และตอนเย็นนำกลับที่เดิม เปนประจำวัน ประมาณ ๗ วัน ส่วนค่าอาหารม้าและค่าเบี้ยเลี้ยงคนที่มากำกับดูแลม้านั้นทางกรมศิลปากรจะจ่ายให้ ผ.บ.ม.พัน ๑ บอกว่าไม่ขัดข้อง ขอให้มีหนังสือแจ้งไปเปนทางการ มีความยินดีช่วยเหลือใหความสะดวก จะจัดมอบม้านั้นมาพร้อมด้วยคนกำกับดูแล...”

“...บัดนี้มีความจำเป็นที่จะต้องได้ดูลักษณะของคนที่กำลังนั่งอยู่บนหลังม้าพันธ์ไทย เพื่อประกอบในการปั้นอนุสสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายพิมาน มูลประมุข ช่าง มาติดต่อ หากไม่ขัดข้องประการใดโปรดอนุญาตให้ช่างถ่ายรูปคนกำลังขี่ม้าพันธุ์ไทยตัวที่เคยยืมนั้น...”

นอกจากนี้ ในส่วนฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีมติให้ปั้นรูปนายทหาร ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เห็นว่าเมื่อประดิษฐานพระบรมรูปแล้วจะทำให้พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งอยู่สูงกว่าดูเล็กมาก ไม่เหมาะสม จึงนำเสนอรูปปั้นนูนต่ำจำลอง ๔ รูป ให้คณะกรรมการพิจารณาเพิ่มเติม รูปปั้นนูนต่ำ ๔ รูป เป็นเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ ภาพคนไทยแสดงอาการหดหู่ โศกเศร้าเสียใจเพราะเสียกรุง ภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปลุกใจให้ทุกคนร่วมกันต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของประเทศชาติ ภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงต่อสู้ การรบของทัพไทยจนชนะ และภาพภายหลังการกอบกู้อิสรภาพได้ ชาวบ้านประกอบกิจวัตรประจำวันอย่างมีความสุข

ภายหลังจากหล่อพระบรมรูปแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายม้าทรงออกจากโรงหล่อของกรมศิลปากรไปยังวงเวียนใหญ่ ธนบุรี เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ส่วนพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้อัญเชิญเพื่อประดิษฐานบนพระแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗

หมายเหตุ : การสะกดคำยึดการสะกดคำตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความ จะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้นๆ



เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี กับงานปั้นหุ่นต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สืบค้นและเรียบเรียง : น.ส. ดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93602365917629_1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60173389522565_2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15423060001598_3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19290076278977_.3_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11569577000207_4_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/64303532863656_5_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11722392671637_6_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/86254709503716_7_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15927473165922_8_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82108941757016_9_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57204827500714_10_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93617735182245_11_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88602214141024_12_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96597627260618_13_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68600951756040_14_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31535604720314_15_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/50948682799935_16_Copy_.jpg)

ขอขอบคุณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ที่มาข้อมูล/ภาพ)