[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 23 กันยายน 2565 17:01:31



หัวข้อ: คำว่า “สาธุ” และวิธีใช้
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 กันยายน 2565 17:01:31
(https://shantideva.net/wp-content/uploads/2019/04/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B5.jpg)

ความเป็นมาของ สาธุ

นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย

ขอโอกาสพระเถรานุเถระเพื่อนสหธรรมมิกกล่าวธรรมวินัย เจริญธรรมน้องเณร และเจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน อาตมาภาพในนามตัวแทนของคณะสงฆ์วัดจากแดง ขออนุโมทนากับเจ้าภาพทุกท่าน ที่มาร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุสามเณรที่่านกำลังทำหน้าที่ของท่าน คือ คันถธุระ หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ทรงจำ แล้วกล่าวเทศน์บรรยายต่อไป เพื่อเป็นการสืบทอดอายุของพระพุทธศาสนา

โอกาสต่อจากนี้ไปพวกเราทั้งหลาย จะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน โดยอาตมาในฐานะที่เป็นผู้พูดจะได้ทำบุญโดยการให้ธรรมะเป็นทาน เรียกว่า ธรรมเทศนามัย และญาติโยมทั้งหลายในฐานะที่เป็นผู้ฟังก็จะได้ทำบุญโดยการฟังธรรมที่เรียกว่า ธรรมสวนมัยต่อไป

วันนี้อาตมาจะนำเอาความหมายของคำว่า “สาธุ” และวิธีใช้มากล่าวให้ญาติโยมทั้งหลายได้ฟังกัน เพราะเราท่านทั้งหลาย เมื่อมาทำบุญถวายภัตตาหารในศาลาหอฉันแห่งนี้แล้ว พระสงฆ์ท่านก็จะกล่าวรายชื่อเจ้าภาพให้เราท่านทั้งหลายได้อนุโมทนากัน และในการอนุโมทนานั้น เราก็จะกล่าวกันว่า สาธุๆ กัน ฉะนั้นในวันนี้อาตมาจึงอยากจะอธิบายขยายความเนื้อหาของคำว่า สาธุ ให้ญาติโยมได้เข้าใจยิ่งขึ้นอีก เพื่อที่จะทำให้เมื่อเรากล่าว สาธุ แล้ว จะได้ตื้นตันใจ มีปีติสุขใจเพิ่มมากขึ้น

คำว่าสาธุนั้น เป็นภาษาบาลี มาจากสาธธาตุในอรรถสสิทฺธิย ํ  ํแปลว่ าดีงามสวยน่าชอบใจ หรือลงในอรรถว่า สาธเน ในความสำเร็จก็ได้ ลงอุปัจจัยสำเร็จรูปคำเป็นสาธุ มีรูปวิเคราะห์หรือคำจำกัดความว่าสกตฺถปรตฺถํ สาเธตีติ สาธุแปลว่า ผู้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จชื่อว่า สาธุ

คำว่าสาธุนั้น ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านกล่าวไว้ถึง ๑๑ ความหมาย อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ท่านได้รวบรวมสงเคราะห์เข้าด้วยกัน เหลือ ๖ ความหมาย ดังในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๗๙๐ ว่า สุนฺทเร ทฬฺหิกมฺเม จา ยาจเน สมฺปฏิจฺฉเน สชฺชเน สมฺปหํสายํ สาธุวาภิเธยฺย ลิงฺคิกํ

สาธุ ศัพท์มีอรรถ ๖ อย่าง คือ ดีงาม (สุนฺทร) ย้ำให้หนักแน่น (ทฬฺหีกมฺม) อ้อนวอน (อายาจน) ตอบรับ (สมฺปฏิจฺฉน) สัตบุรุษ (สชฺชน) เบิกบานใจ (สมฺปหํสา)

ความหมายที่ ๑ ใช้ในอรรถว่า สุนฺทร (ดีงาม) พระองค์ได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกายธรรมบทว่า
       สาธุ ธมฺมรุจิ ราชา สาธุ ปญฺญาณวา นโร
       สาธุ มิตฺตานมทฺทุพฺโภ ปาปสฺสากรณํ สุขํ


พระราชาผู้ยินดีในธรรม เป็นผู้ดีงาม นรชนผู้มีปัญญา เป็นผู้ดีงาม การไม่ประทุษร้ายมิตร เป็นสิ่งดีงาม การไม่ทำบาป เป็นความสุข คำว ่าสิ่งดีงามนั้น พระองค์ใช้ศัพท์ว่า สาธุแทนทั้ง ๓ คำ

ความหมายที่ ๒ ใช้แสดงการย้ำให้หนักแน่น (ทฬฺหีกมฺม) เช่น เตน หิ โทณ สุโณหิ สาธุกํ มนสิกโรหิ, ภาสิสฺสามิ  ดูก่อนโทณะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงตั้งใจอย่างดี เราจักกล่าว คำว่า สาธุกํ ในที่นี้แสดงการย้ำว่า ควรตั้งใจให้แน่วแน่จริงๆ

ความหมายที่ ๓ ใช้ในการแสดงการอ้อนวอน (อายาจน) เช่น สาธุ เม ภนฺเต ภควา สํขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมแก่ ข้าพระองค์โดยสังเขปเถิด ในที่นี้สาธุ แสดงการอ้อนวอน จึงแปลว่า “ขอประทานวโรกาส”

ความหมายที่ ๔ ใช้เป็นคำตอบรับ (สมฺปฏิจฺฉน) เช่น สาธุ ภนฺเตติ โข โส ภิกฺขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวา ภิกษุนั้น กล่าวชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “ชอบแล้วพระเจ้าข้า” พระภิกษุรับคำของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำว่า สาธุ ในที่นี้จึงแปลว่า ชอบแล้ว

ความหมายที่ ๕ ใช้ในอรรถ สัตบุรุษ (สชฺชน) เช่น อตฺตโน ปเรสญฺจ หิตํ สาเธตีติ สาธุ, สมฺมาปฏิปนฺโน บุคคลใดยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่าสัตบุรุษ คือ ผู้ปฏิบัติชอบ

ความหมายที่ ๖ ใช้ในอรรถเบิกบานใจ (สมฺปหํสน) เช่น สาธุ สาธุ สารีปุตฺต, สาธุ โข ตฺวํ สารีปุตฺต ภิกฺขูนํ สงฺคีติปริยายํ อภาสิ ดีแล้ว ดีแล้ว สารีบุตร เธอได้กล่าวสังคีติเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นการดีแล้ว
 
สารีบุตร ในที่นี้สาธุ ศัพท์แสดงความเบิกบานพระทัยของพระพุทธเจ้า จึงแปลว ่า “ดีแล้ว ดีแล้ว”

การใช้สาธุ ศัพท์ทั้ง ๖ ความหมายนั้น ๕ อย่างแรกมักจะกล่าวเพียงครั้งเดียว ส่วนอย่างที่ ๖ มักกล่าว ๒ ถึง ๓ ครั้งติดต่อกัน ดังที่ได้ยกตัวอย่างสมัยพุทธกาลมา


ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล  ต่อไปจะนำเอาเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ภิกษุทั้งหลายกล่าวคำสาธุ มาให้ญาติโยมฟังเพิ่มเติมอีก

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วกล่าวสอนว่า ถ้าหากมีใครที่พูดว ่าตนได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อหรืออย่าพึ่งคัดค้าน ให้สอบถามสภาวะอย่างนี้ๆ ถ้าหากพระรูปนั้นตอบถูกตามสภาวะ ให้เธอทั้งหลายกล่าวคำว่า สาธุนี่คือตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุให้กล่าวสาธุกัน และอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ทรงกล่าวสาธุการเอง เมื่อครั้งมีพระรูปหนึ่งท่านกลับมาจากป่า หลังจากได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหันต์ แต่พระภิกษุผู้ที่เป็นเพื่อนไม่เชื่อเพราะคิดว่าไม่ได้เรียนอะไร บวชแล้วก็เข้าป่าเลยจะสำเร็จอรหันต์ได้อย่างไรจึงคิดจะถามปัญหาพระรูปนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกรงว ่า ถ้าหากพระรูปนี้เบียดเบียนพระอรหันต์ ด้วยการถามปัญหาจะทำให้เป็นบาปหนัก พระองค์จึงเสด็จมาถามปัญหาเอง พระองค์ทรงถามปัญหาตั้งแต่ในวิสัยพระโสดาบัน ไล่ไปจนถึงพระอรหันต์ พระรูปนั้นก็ตอบได้ทุกข้อ และทุกๆ ข้อที่พระอรหันต์รูปนั้นตอบ พระองค์จะกล่าวคำว่าสาธุทุกครั้ง  นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะที่พระองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นก็ได้ตรัสคำว่า สาธุ อยู่บ่อยๆ อย่างตอนทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปะเห็นพระอานนท์ซึ่งบรรลุพระอรหันต์แล้วเดินมา ท่านคิดว ่า พระอานนท์ผู้บรรลุอรหันต์แล้ว งดงามจริงหนอ ถ้าพระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่จะต้องกล่าว สาธุการ แก่พระอานนท์แน่แท้  เอาเถิด ในเวลานี้เราจะกล่าวสาธุการให้พระอานนท์แทนพระศาสดาเอง แล้วท่านก็กล่าวสาธุการ ๓ ครั้ง นี่เป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้กล่าว และทำให้ดูบ่อยๆ พระอัครสาวกทั้งหลายก็ได้ทำตาม

อานิสงส์ของการกล่าวสาธุ
เมื่อเรารู้ความเป็นมาของการสาธุแล้ว ทีนี้เรามาฟังอานิสงส์ของการกล่าวสาธุกัน เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่เมืองสาวัตถีแคว้นโกศล มีชายคนหนึ่งได้ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้วเห็นโทษในการอยู่ครองเรือน จึงขออนุญาตภรรยาออกบวช  ภรรยาถึงแม้ยังรักอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะห้ามความต้องการของสามีได้ จึงให้สามีออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเห็นภรรยาของภิกษุนั้นจึงเกิดความสงสาร และได้รับสั่งให้นำหญิงนั้นเข้ามาเลี้ยงในพระราชวัง ให้เป็นนางสนมกำนัล

วันหนึ่งมีราชบุรุษนำดอกบัวนิลุบลมาถวายกำมือหนึ่ง จึงได้รับไว้แล้วให้นางกำนัลคนละดอก หญิงที่สามีไปบวชนั้น เมื่อได้ดอกบัวก็ยิ้มด้วยความดีใจ แต่พอดมแล้ว นางก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ต้องร้องไห้ออกมา ฝ่ายพระราชาเห็นจึงถามว่า ทำไมจึงยิ้มแล้วร้องไห้ นางตอบว่าทีแรกดีใจที่ได้ดอกไม้แต่พอดมแล้ว มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นปากของสามีที่หนีไปบวช จึงร้องไห้เพราะคิดถึง

พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากจะพิสูจน์ความจริง จึงให้ประดับดอกไม้ของหอมไว้ทั่วพระราชวัง เว้นไว้แต่ดอกบัวนิลุบล แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งหมู่สงฆ์มาฉันภัตตาหารในพระราชวัง ช่วงที่พระกำลังฉันภัตตาหารอยู่ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ถามหญิงที่สามีไปบวชว่าภิกษุรูปไหนคืออดีตสามีของเธอ เธอจึงชี้มือไปที่ภิกษุรูปหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นภัตตกิจแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้กราบทูลขอพระพุทธเจ้าให้พระรูปนั้นทำการอนุโมทนากถา เมื่อพระรูปนั้นทำการกล่าวอนุโมทนากถา กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกบัวนิลุบลจากปากของพระภิกษุนั้นได้ฟุ้งกลบกลิ่นของหอมและดอกไม้ไปทั่วพระราชวัง ทำให้คนทั้งหลายในวังและพระเจ้าปเสนทิโกศลโสมนัสยิ่งนัก หลังสิ้นการกล่าวอนุโมทนา ท่านก็กลับวัดไป

พอวันรุ่งเช้า พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่วิหารแล้วกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เหตุใดปากของพระเถระจึงหอมนักหนา ท่านได้สร้างกุศลใดมา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่าเพราะชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้เคยฟังพระสัทธรรม อันไพเราะจับใจ จึงตื้นตันด้วยปีติยินดีกล่าววาจาว่า สาธุ เท่านั้น

นี้เป็น อานิสงส์ของการกล่าวคำสาธุ การกล่าวคำว่าสาธุนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่กล่าวขึ้นมาลอยๆ เฉยๆ อย่างตัวอย่างที่ได้นำมาเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังนี้อดีตของภิกษุรูปนั้นท่านได้ฟังธรรมจนเกิดความปีติตื้นตันใจ แล้วกล่าวสาธุ ทำให้ได้อานิสงส์มาก

หรือการกล่าวอนุโมทนาก็ดีการกล่าวอนุโมทนานี้ก็จัดเป็นปัตตานุโมทนามัยคือบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา ฉะนั้น เราต้องยินดีกับบุคคลคนนั้นจริงๆ แล้วกล่าวอนุโมทนากับเขา ก็จะทำให้การกล่าวสาธุนั้น มีอานิสงส์เพิ่มมากขึ้น เพราะการกล่าวนั้น ไม่ได้ออกมาแค่ปาก แต่การกล่าวสาธุนั้น ต้องออกมาจากใจ

การที่อาตมาได้ชี้แจงแสดงธรรมมาแล้วนั้นก็สมควรแก่เวลาแล้ว ท้ายสุดแห่งการกล่าวสัมโมทนียกถานี้ขออานุภาพแห่งคุณของพระศรีรัตนตรัย กล่าวคือ คุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์จงปกปักรักษาคุ้มครองให้ญาติโยมคณะศรัทธาสาธุชนทุกท่านจงปราศจากอุปัทวันตราย ประสบแต่จตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการคืออายุ วัณณ ะสุขะ พละ ปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใด อันเป็นไปในทางที่ชอบ ประกอบด้วยธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ประสบสันติสุขแล้วไซร้ขอความปรารถนานั้นๆ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จด้วยกันทุกท่าน เทอญ...เจริญพร


ที่มา : วารสารโพธิยาลัย ฉบับที่ ๔๒ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑