[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 29 กันยายน 2565 15:50:30



หัวข้อ: บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา - องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 กันยายน 2565 15:50:30

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48390719998213_309437948_457104256450597_3087.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94022900445593_309825457_457104226450600_7910.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41648070638378_309645202_457104166450606_5989.jpg)

องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ
บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา

ตั้งแต่ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมมาหลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยที่มากับธรรมชาติ ประสบกับปัญหาแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียไร่นาเกษตรกรรม หรือแม้นแต่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบภัยธรรมชาติเหล่านี้อย่างหลีกเลียงมิได้ โดยเฉพาะเหตุอุทกภัย ดังได้มีการบันทึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตของพะเยาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียที่มากับภัยของธรรมชาติ

บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ความโดยสรุปว่า วันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (เดือนเกี๋ยงเหนือ) เวลากลางคืน มหาเมฆตั้งขึ้นร้องคราง เสียงดังน่าอัศจรรย์มาก ฝนตกลงมาห่าใหญ่น่ากลัวมาก ตกอยู่ตลอดคืนไม่มีขาด จนทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองพะเยา น้ำท่วมทะลุบ้านแม่นาเรือ เรือนโค่นลงสองหลัง นางติ๊บกับลูกสาวคนหนึ่งเสียชีวิต น้ำกว๊านเอ่อขึ้นท่วมถึงปลายนิ้วมือพระเจ้าตนหลวง และน้ำเอ่อขึ้นถึงชายคาพระวิหารหลวงซดหน้า (มุขหน้า) ตรงที่น้ำบ่อประตูเหล็กหยั่งลงไม่ถึง ข้าวในนาชาวบ้านตุ่น บ้านบัวน้ำท่วมคนหายไป ๗ คน ภูเขาพังลงมาปิดร่องน้ำแม่ตุ่น น้ำป่าทะลุเอาไม้ หินทรายมาทับถมบ้านคนเสียชีวิต ๑๖ คน บ้านเหล่า ๔ คน บ้านสางเหล่า ๑๒ คน

อีกหนึ่งบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ที่ถูกบันทึกโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง) ว่า “ระยะห่างกัน ๒๑ ปี เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ครั้งนั้นข้าพเจ้าย้ายมาอยู่วัดศรีโคมคำแล้ว จึงมาประสบกับน้ำท่วมดังรายละเอียดต่อไปนี้

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตรงกับวันพุธแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เหนือ ปีฉลู ก่อนหน้านี้ ๒ วัน เมฆฝนตั้งขึ้นปกคลุมทั้งป่าเขา ทุ่งนาและหมู่บ้าน มองไปทางไหนมืดครึ้มทั้งวันทั้งคืน จากนั้นฝนก็ตกลงมาไม่ขาดสายตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำให้น้ำป่าไหลลงมาจากภูเขา ลงสู่หมู่บ้าน ทุ่งนาลงกว๊านพะเยาเอ่อท่วมขึ้นถนนหนทางจากห้าแยกประตูเหล็กถึงวัดศรีโคมคำ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ

ในบริเวณวัดศรีโคมคำ ในพระวิหารลึก ๑.๒๐ เมตร ข้างนอกลึก ๑.๕๐ เมตร ขึ้นองค์พระประธานพระเจ้าตนหลวง ๘๐ เซนติเมตร ทำให้องค์พระเจ้าตนหลวงทรุดลงเอนหลังไปเกือบติดฝาผนัง เสนาสนะอื่นทรุดโทรมไปหลายแห่ง จะหาทางป้องกันก็ไม่ทัน เพราะน้ำบ่าเข้าท่วมวัด เวลา ๐๕.๐๐ น. พอสว่างพระเณรเตรียมสิ่งของเพราะเป็นวันพระ แรม ๘ ค่ำ ศรัทธาจะมาตักบาตร ดูน้ำไหลบ่าเข้าประตูศาลา เข้าไปดูพระวิหารน้ำเข้าท่วมเต็มหมด จึงย้ายการทำบุญไปยังศาลาบาตรด้านเหนือตรงมุมโค้ง พอตักบาตรเสร็จก็ต้องรีบขนเสื่อเครื่องทำบุญออกจากศาลา ทันใดน้ำก็ท่วมศาลาอีก มองในวัดเหมือนกับกว๊าน ถึงเวลาเย็นประชาชนไม่รู้มาจากไหนต่างก็มาจับปลากันถึงในวัดเต็มไปหมด

หันไปมองชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลที่อยู่ติดกับชายกว๊านถูกน้ำท่วมหมด ไร่นาทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงต่างๆ ล้มตายจมน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านแม่ต๋ำทั้ง ๔ หมู่บ้าน จมอยู่ใต้น้ำ ที่ลำบากที่สุดหมู่บ้านแม่ต๋ำภูมินทร์ และแม่ต๋ำเมืองชุม เพราะท่วมจนมิดหลังคาบ้านก็มี การท่วมคราวนั้นท่วมอยู่นาน เพราะทางบ้านเมืองสร้างถนนไฮเวย์ขึ้นสูงถึง ๒.๕๐ เมตร แต่ท่อระบายน้ำไม่เพียงพอ มีสะพานเพียงแห่งเดียว มีท่อระบายน้ำอีกแห่ง นอกจากนี้ก็มีประตูน้ำ-ประมง แต่ระบายไม่ทัน ทำให้น้ำขังอยู่นานเกือบ ๒ เดือน น้ำแห้งขาดจากในวัดศรีโคมคำ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ น้ำท่วมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้แต่งค่าวไว้อยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า ค่าวน้ำท่วมพะเยา”  

จากบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมพะเยาทั้งสองครั้ง นอกจากจะสะท้อนความเสียหายของภัยที่มากับธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เหตุการณ์ยิ่งเก่ายิ่งสืบค้นหาข้อมูลเทียบเคียงอ้างอิงยาก บันทึกเหล่านี้มีประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป


ทีมา : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ผู้เรียบเรียง :  นางสาวอรทัย ปานจันทร์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
ข้อมูลอ้างอิง :
 - วัดศรีโคมคำ. อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมฺมปญฺโญ) วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา. ๒๕๕๐. หน้า  ๒๕๔-๒๕๙.
 - พระมหาโยธิน ฐานิสฺสโร. บันทึกวัดศรีโคมคำ. เชียงราย:อินเตอร์พริ้นท์, ๒๕๕๒. หน้า ๓๐, ๓๙-๔๒.
 - พระธรรมวิมลโมลี. บันทึกสถิติน้ำท่วมเมืองพะเยาและค่าวน้ำท่วม. พิมพ์แจกในงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศ , เชียงราย: หจก.เชียงรายไพศาลการพิมพ์, ๒๕๓๘ หน้า ๑-๑๕ (เอกสารสำเนา).
 - สารานุกรมกว๊านพะเยา. บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา
ภาพถ่าย :
 ๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. ภ พย (อ) ๖/๑๐ น้ำท่วมวัดพระเจ้าตนหลวง, ๒๕๑๖.
 ๒. ภาพชุดจัดทำนิทรรศการ “บันทึกน้ำท่วมพะเยา” มีนาคม ๒๕๕๕, วัดศรีโคมคำ


หัวข้อ: Re: โถยาคู - องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 ตุลาคม 2565 16:31:45

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56060960599117_312415977_435235842063608_1175.jpg)
แบบโถยาคูของเก่า ซึ่งสันนิษฐานว่าลวดลายเป็นศิลปฝรั่งสมัย EARLY VICTORIAN
(ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐) รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๓


โถยาคู
-----------------------------------

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว่า ‘ยาคู’ ไว้ว่า “(๑) น. ข้าวต้ม (ป.). (2๒ น. เรียกขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวอ่อน ว่า ข้าวยาคุ หรือ ข้าวยาคู

คำว่า ยาคู มาจากภาษาบาลีว่า ยาคุ ข้าวยาคูมีลักษณะแบบเดียวกับข้าวต้ม ในสมัยพุทธกาลใช้ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นแช่ในน้ำในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑๖ จนเปลือกธัญพืชเหล่านี้อ่อนตัว แล้วเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว มักเป็นอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่หิวกระหายดื่ม ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย (อ่านว่า อัง-คุด-ตะ–ระ-นิ-กาย) กล่าวว่าข้าวยาคูมีประโยชน์ ๕ ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร

ตามพุทธประวัติ กล่าวว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งหุงข้าวยาคูและทำขนมหวานถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉัน ขนมที่พราหมณ์ทำเป็นขนมหวาน ส่วนข้าวยาคูไม่มีรสหวาน”

เอกสารจดหมายเหตุที่จะนำเสนอเป็นรายการที่ ๗ คือ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๗ กระทรวงวัง รหัส ร.๗ ว ๕.๒/๒๖ เรื่อง พิธีสารท, ถวายโถยาคู [๒๗ ก.ค. – ๑๕ ก.ย.๒๔๗๐] [๙๓ แผ่น] ใจความกล่าวถึงการพระราชพิธีสารท ใน พ.ศ.๒๔๗๐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้จัดขึ้น เนื่องจากเป็นราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ภายหลังได้งดและว่างเว้นไปนาน และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน รับรวงข้าวอ่อนไปทำเป็นยาคูบรรจุโถ เรียกว่า “โถยาคู” ทำด้วยฟักเหลือง ประดับประดาให้วิจิตรสวยงาม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายแบบโถยาคูของเก่าซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบโถยาคูในสมัยรัชกาลที่ ๒ เนื่องจากสมัยนั้นนิยมเลียนแบบลายเส้นหรือลวดลายฝรั่ง เพื่อทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบกลับ ความว่า “ทราบแล้ว รูปโถยาคูเปนลายฝรั่งสมัย Early Victorian หรือก่อนนั้นนิดหน่อย คือ พวก Yearage Ⅲ หรือ แปลกดี แต่ไม่เห็นงาม”

พระราชพิธีสารท ใน พ.ศ.๒๔๗๐ จัดขึ้น ๒ วัน คือ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ ตอนเย็นอาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธีสารท พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำสาวพรหมจารีที่เป็นราชอนุวงศ์ จำนวน ๑๖ พระองค์ เช่น หม่อมเจ้าไตรทิพย์สุดา พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ หม่อมเจ้าเกษมเสาวภา พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หม่อมเจ้าดวงจิตร พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ฯลฯ ทรงผ้าเยียรบับขาวจีบ สะพักตาดเครื่องขาว สวมมงคล กวนข้าวทิพย์ปายาส ณ สวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเถาะ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรโถยาคู ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมหาราชวัง ทรงเลือกปักธงชื่อพระสงฆ์ตามพระราชประสงค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายโถยาคูและข้าวทิพย์ปายาสแด่พระสงฆ์ หลังเสร็จการพระราชพิธีเจ้าพนักงานจึงแจกข้าวทิพย์ปายาสพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยทั่วกัน


หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความ จะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้นๆ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/16751020525892_311699555_435235838730275_3184.jpg)
รูปแบบโถยาคู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒
(ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐) รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๒


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15748796653416_312005228_435235802063612_5558.jpg)
รูปแบบโถยาคู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒
(ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐) รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๒


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54064427730109_312611484_435236178730241_7760.jpg)
ปแบบโถยาคู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒
(ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐) รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๒




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97122839796874_311838589_435235722063620_4731.jpg)
รูปแบบโถยาคู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๒


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52955677360296_312592108_435235658730293_6894.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/65558489329285_312547295_435235905396935_2496.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/25799959359897_311777550_435235895396936_3357.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92090978432032_311780741_435236075396918_7840.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43341927727063_311694177_435236285396897_7683.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/98118742472595_311704210_435235928730266_5424.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36179650492138_311737074_435235678730291_1905.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41769998355044_311811887_435236102063582_3952.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42750528247819_311825554_435236308730228_9118.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/55230569673909_311884307_435236165396909_7011.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69696585502889_312554525_435236128730246_7034.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83645280864503_312562829_435235755396950_9595.jpg)
การตกแต่งโถยาคูในพิธีสารท พ.ศ.๒๔๗๐ ของเจ้านายและขุนนาง
รหัสเอกสาร (๒) ภ ๐๐๔ หวญ ๔๗/๑


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38432401584254_312574903_435236052063587_1243.jpg)
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชธิดา (ซ้าย-ขวา)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี,
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา,
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
ในพิธีกวนข้าวทิพย์ พ.ศ.๒๔๕๑
รหัสเอกสาร 29M00057


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41310290702515_311849062_435235975396928_2013.jpg)
สาวพรหมจารีกวนข้าวทิพย์ พ.ศ.๒๔๗๓
รหัสเอกสาร ภ ๐๐๔ หวญ ๘/๑ (๓)


ที่มา (ข้อมูล/ภาพ) : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สืบค้นและเรียบเรียง : นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ