[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 29 ตุลาคม 2565 15:20:17



หัวข้อ: พระพิบูลย์ วัดพระแท่น พระท้องถิ่นอีสานที่ถูกสั่งคุมตัวจนมรณภาพ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 29 ตุลาคม 2565 15:20:17

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81982951859633_1_Copy_.jpg)
พระพิบูลย์ วัดพระแท่น จังหวัดอุดรธานี (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2556)

พระพิบูลย์ วัดพระแท่น พระท้องถิ่นอีสานที่ถูกสั่งคุมตัวจนมรณภาพ


ผู้เขียน - คนไกล วงนอก
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2565


ปัจจุบันชื่อของ พระพิบูลย์ วัดพระแท่น อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักอย่างแพร่ในฐานะพระนักพัฒนา, พระนักบุญ, พระเกจิชื่อดัง ฯลฯ หนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดอุดรธานี ทว่าในอดีตพระพิบูลย์เคยถูกทางการคุมตัวยาวนานด้วยข้อหามีพฤติกรรมที่เข้าลักษณะเป็นผู้มีบุญจนกระทั่งมรณภาพ ทั้งๆ ที่ผ่านมาในอดีต บรรดาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญของหัวเมืองอีสานทั้ง 9 กลุ่ม [1] ที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไม่มีชื่อพระพิบูลย์แห่งวัดพระแท่นแต่อย่างใด

เหตุใดพระพิบูลย์จึงต้องถูกทางการเข้าคุมตัว เหตุผลหรือข้อหาของการถูกคุมตัวคืออะไร


ประวัติพระพิบูลย์

พระพิบูลย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อพิบูลย์, หลวงปู่พิบูลย์ จากเอกสารต่างๆ ที่สืบค้น ไม่มีการบันทึกวันเดือนปีเกิด ทราบแต่เพียงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านพระเจ้า ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อนายสา แซ่ตัน เป็นชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในร้อยเอ็ด และแต่งงานอยู่กินกับนางโสภา จนมีบุตรคือเด็กชายพิบูลย์ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มนายพิบูลย์ก็ได้แต่งงานมีครอบครัว แต่ไม่มีลูกสืบสกุล จึงไปขอลูกสาวเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยมาเป็นลูกบุญธรรม เมื่อลูกสาวบุญธรรมเติบใหญ่ก็จัดแจงหาคู่ครองที่เหมาะสมพร้อมยกทรัพย์สมบัติให้สำหรับการตั้งตัว ต่อมานายพิบูลย์ก็ขอลาภรรยาออกบวช

ตั้งแต่การออกบวชเป็นต้นมา พระพิบูลย์ก็มีวัตรปฏิบัติอย่างพระสงฆ์ในท้องถิ่นอีสาน หรือที่เรียกกันว่า “พระครองลาว” นั่นคือการรับจารีตของพระสงฆ์ในด้านต่างๆ มาจากล้านช้าง เช่น การห่มผ้าจีวรอย่างเรียบง่ายถือเอาตามความสะดวก ในเวลาปกติคือการจับชายผ้าจีวรพาดๆ บนบ่า หรือกรณีเป็นทางการคือการรัดหน้าอกด้วยผ้าเหลือง รวมทั้งมีความเป็นกันเองใกล้ชิดกับชาวบ้าน

เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งก็ออกธุดงค์ไปร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมพร้อมกับพระรูปอื่นๆ จากอาจารย์ผู้วิเศษนานหลายปี ภายหลังการบรรลุวิชาอาจารย์มอบหมายให้พระพิบูลย์กลับมาสร้างวัดในพื้นตามที่อาจารย์ชี้แนะ พระพิบูลย์นำพาชาวบ้านพัฒนาและบูรณะปฏิสังขรณ์พื้นที่และสร้างวัดขึ้นมาเรียกว่า “วัดพระแท่น” ด้วยเหตุที่ค้นพบแท่นพระขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่

นอกจากนี้ พระพิบูลย์เป็นพระนักพัฒนา ผู้นำพาชาวบ้านตัดถนนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระแท่น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนและหมู่บ้านที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งนำชาวบ้านตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโค-กระบือ การซื้อจอบ-เสียมให้ชาวบ้านหยิบยืม และการชักชวนชาวบ้านให้นุ่งขาวห่มขาวเพื่อเข้าวัดถือศีล

พระพิบูลย์ยังมีชื่อในการใช้เวทมนต์คาถา และอภินิหารเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ทุกข์ยากมาตลอด มีคำเล่าลือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ด้านเวทมนต์คาถาของพระพิบูลย์แผ่กระจายออกไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง เช่น ปราบจระเข้ยักษ์ในลำน้ำปาว, ปราบอาคมขับไล่ภูตผีให้กับชาวบ้าน, ตามควายคืนให้กับชาวบ้าน, ใช้น้ำมนต์รักษาผู้เจ็บป่วย, ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าถูกต้อง ฯลฯ ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาเดินทางเพื่อเข้ากราบไหว้พระพิบูลย์อยู่ไม่ได้ขาด

พระพิบูลย์จึงถูกพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในมณฑลอุดรจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีพฤติการณ์คล้ายกับผู้มีบุญที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอุบลราชธานี และมีการคุมตัวพระพิบูลย์ในที่สุด


งานปฏิรูปงานคณะสงฆ์หัวเมืองอีสาน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ขึ้น เพื่อปกครอง ควบคุม และแก้ไขบรรดากฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน และประเพณีทางศาสนาในท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับแบบแผนของรัฐสยามที่กรุงเทพฯ รวมถึงการส่งพระสงฆ์ที่ผ่านการฝึกฝนด้วยจารีตอย่างกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนออกไปปกครองและบริหารงานคณะสงฆ์ในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดความปั่นป่วน และการต่อต้านขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น กรณีของครูบาศรีวิชัย ในหัวเมืองเหนือ, กรณีกบฏผีบุญระหว่าง พ.ศ.2444-2445 ที่มีพระสงฆ์ท้องถิ่นในอีสานเข้าไปร่วมกับกลุ่มผีบุญในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ

สำหรับการบริหารงานคณะสงฆ์ในหัวเมืองอีสาน รัฐสยามได้จัดส่งพระท้องถิ่นเข้าไปเรียนวัตรปฎิบัติของสงฆ์ที่กรุงเทพฯ จากนั้นจึงค่อยส่งกลับไปเป็นผู้ปกครองดูแลในพื้นที่ เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) จากอุบลฯ ได้เป็นผู้ปกครองและดูแลทั้งที่มณฑลอุบล และมณฑลนครราชสีมา ส่วนในมณฑลอุดรที่พระพิบูลย์อยู่นั้น พระสงฆ์ท้องถิ่นในมณฑลนี้ได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติและจารีตสงฆ์อย่างกรุงเทพฯ ล่าช้ากว่ามาก

ใน พ.ศ.2464 เมื่อมีการแต่งตั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” รัฐสยามจึงมีการแต่งตั้ง พระเทพเมธี (อ้วน ติสฺโส) ขึ้นเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะมณฑลอุดรใน พ.ศ.2465 และแต่งตั้งให้ พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (วัดที่ต่อมาเป็นสถานที่กักตัวพระพิบูลย์ยาวนานถึง 15 ปี) อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลเพื่อเรียนรู้งานไปด้วย หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา จึงได้รับตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอย่างเป็นทางการ


พระพิบูลย์ถูกคุมตัว

หลักฐานการคุมตัวพระพิบูลย์ มาจากเรื่องราวในฉบับใบลานของพระหนู ซึ่งให้ข้อมูลว่า พระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าคณะแขวงหนองหาน (ขณะนั้นวัดพระแท่นอยู่ในเขตปกครองอำเภอหนองหาน) พร้อมกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจำนวนหนึ่งได้คุมตัวพระพิบูลย์ขึ้นเกวียนเดินทางมุ่งสู่วัดโพธิสมภรณ์ อันเป็นวัดสำหรับเจ้าคณะมณฑลอุดร โดยขณะนั้นเจ้าคณะมณฑลอุดรคือ “พระครูสังฆวุฒิกร” (จูม พนฺธุโล)

เรื่องราวของพระพิบูลย์ถัดจากนี้เป็นเรื่องที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และหลายเหตุการณ์ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ เริ่มจากความสับสนในประเด็นว่า พระพิบูลย์ถูกคุมตัวกี่ครั้ง? ถูกคุมตัวด้วยข้อหาใด? และถูกจับไปถ่วงน้ำจริงหรือไม่? อย่างไร? เพราะการมีเอกสารหลักฐานเพียงเล็กน้อย

เริ่มจากเรื่องพระพิบูลย์ถูกคุมตัว โดยทั่วไปกล่าวว่าพระพิบูลย์ถูกทางการคุมตัว 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ วัดของเจ้าคณะมณฑลอุดร ก่อนถูกคุมตัวไปไต่สวนต่อที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ระบุว่าถูกนำตัวไปไต่สวนที่วัดใด หรือที่หน่วยงานใด ต่อมาถูกนำตัวไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง เมื่อไม่มรณภาพเจ้าหน้าที่ที่คุมตัวจึงปล่อยพระพิบูลย์เพราะเลื่อมใส และการคุมตัวครั้งนี้ไม่สามารถระบุเวลาปีได้แน่นอน แต่คาดว่าคงจะปลายทศวรรษ 2460 เพราะใน พ.ศ.2466 ได้มีการปฏิรูปงานคณะสงฆ์ในมณฑลอุดรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งที่ 2 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ โดยเจ้าคณะมณฑลอุดรจัดให้พระพิบูลย์จำพรรษาที่กุฏิด้านท้ายวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกจนมรณภาพ รวมเวลานานถึง 15 ปี แม้มรณภาพแต่ศพของพระพิบูลย์ก็ต้องถูกเก็บไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ต่ออีกเกือบ 4 ปี จึงสามารถนำศพท่านไปบำเพ็ญกุศล การคุมตัวพระพิบูลย์ในครั้งนี้สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาได้ว่าคงจะเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2474 เพราะจากหลักฐานบอกว่าพระพิบูลย์มรณภาพ พ.ศ.2489 และ พ.ศ.2493 คือปีที่สามารถนำศพพระพิบูลย์กลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพระแท่นได้ จากนั้นอีก 11 ปี (พ.ศ.2504) จึงมีการฌาปนกิจศพพระพิบูลย์ที่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ตรงข้ามกับวัดพระแท่น

หากข้อมูลจากการสอบถามพระครูมัญจาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระแท่น และเจ้าคณะอำเภอพิบูลรักษ์ (ผู้ซึ่งถือเป็นผู้สืบปณิธานพระพิบูลย์ในการพัฒนาสังคมชุมชนรอบๆ วัดพระแท่นและใกล้เคียง) พระพิบูลย์ถูกคุมตัวถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และก็ปล่อยตัวกลับวัดพระแท่นในระยะเวลาไม่นานนัก ครั้งที่ 2 ถูกคุมตัวไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ก่อนจับไปถ่วงน้ำที่เกาะสีชัง (โดยรายละเอียดเช่นดังที่กล่าวข้างต้น) และครั้งที่ 3 พระพิบูลย์ถูกคุมตัว/กักตัวไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์จนมรณภาพ


เหตุแห่งการคุมตัว

แล้วพระพิบูลย์ถูกคุมตัวด้วยข้อหาใด ผลจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและการเก็บข้อมูลในพื้นที่ พอสรุปได้เป็น 2 ประเด็น

1. บทบาทของพระพิบูลย์คล้ายกับพระสงฆ์เมืองยโสธรที่ถูกกล่าวหาว่ามีไปเข้าร่วมกับ “กลุ่มมีผู้บุญ” เมืองอุบลราชธานี นั่นคือพระครูอิน พระครูวิมล และพระครูอนันตนิคมเขต จึงถูกเพ่งเล็งจากคณะสงฆ์ในมณฑลอุดร แต่เหตุที่จะชี้ไม่ชัดเจนจนสามารถลงโทษขั้นรุนแรงระดับเป็น “กบฏผู้มีบุญ” เพราะไม่ได้มีการซ่องสุมกำลังคนเพื่อเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถานที่ราชการ, ไม่ได้การหลอกลวงเพื่อให้ผู้คนงมงายแล้วแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นแต่มีการกระทำที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากนิยม จึงทำได้เพียงการตักเตือนในการคุมตัวครั้งแรก และคุมตัวไว้อย่างถาวรในครั้งที่สอง เพื่อไม่ให้พระพิบูลย์กลับไปดำเนินบทบาทในลักษณะเช่นเดิมได้อีก เพราะถือว่ามีการว่ากล่าวตักเตือนแล้วแต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ดังเดิม

2. ความหมายของ “การสำรวมในความเป็นสมณเพศ” สำหรับพระพิบูลย์กับพระในมุมของรัฐสยามแตกต่างกันสิ้นเชิง พระพิบูลย์มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายตามอย่างครูอาจารย์อย่าง “พระครองลาว” ไม่ว่าการครองผ้าจีวรอย่างง่ายตามความสะดวก, การช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยาก, การนำชาวบ้านพัฒนาชุมชนรอบวัด ฯลฯ แต่สำหรับพระในมุมของรัฐ หรือเจ้าคณะมณฑลอุดร ต้องครองผ้าจีวรอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกโอกาส, วางตนเหมาะสมกับคฤหัสถ์, มีหน้าที่หลักพระสงฆ์คือศึกษาพระธรรมวินัย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระพิบูลย์ได้ถูกนำกลับมาฉายซ้ำ และขยายการรับรู้อย่างกว้างขวาง ใน พ.ศ.2540 อันเป็นปีที่มีการตั้ง “อำเภอพิบูลยรักษ์” ซึ่งมีมาจากชื่อของ “พระพิบูลย์” ในฐานะพระนักพัฒนารุ่นบุกเบิก, พระนักบุญ, พระเกจิชื่อดัง หนึ่งในความภาคภูมิใจของจังหวัดอุดรธานี