[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2565 20:20:10



หัวข้อ: มหาชาติคำหลวง : วรรณคดีแห่งชาติ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2565 20:20:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86087792242566_11_Copy_.jpg)
ภาพ : ครูเหม เวชกร (มูลนิธิเหม เวชกร)

มหาชาติคำหลวง : วรรณคดีแห่งชาติ

มหาชาติคำหลวงหรือเวสสันดรชาดก เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา มีที่มาจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดก นับถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีอย่างเอก เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญบารมีครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตร่วมกันแปลแต่งขึ้นจากเรื่องเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นภาษาบาลีในพระไตรปิฎก เป็นคำประพันธ์ภาษาไทย เมื่อ จ.ศ.๘๔๔ (พุทธศักราช ๒๐๒๕) แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๓ กัณฑ์ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่าย โคลง ฉันท์ และกาพย์อันไพเราะงดงามยิ่ง

มหาชาติคำหลวงเป็นต้นแบบการแปลวรรณคดีพระพุทธศาสนาเรื่องอื่นๆ และเป็นต้นแบบการแต่งคำประพันธ์ในสมัยหลัง จึงเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญที่ทรงคุณค่า ทั้งยังให้ความรู้เกี่ยวกับสังคมประเพณีวัฒนธรรมไทย รวมถึงคติความเชื่อโดยเฉพาะเรื่องการให้ทาน

คำว่า “มหาชาติ” เป็นเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีที่มาจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดก มีอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เรียกว่า นิบาตชาดก เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวสสันดรชาดก เป็นเรื่องใหญ่จัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดก รวมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่องที่เรียกกันว่า ทศชาติ แต่อีก ๙ เรื่อง ไม่เรียกว่ามหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวว่า มหาชาติ ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดประทานอธิบายว่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ บารมี

ในสิบชาติ หรือทศชาติ เวสสันดรชาดกเป็นชาติสุดท้าย ซึ่งต่อจากนั้นก็มาเป็นชาติที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ทศชาติหรือสิบชาติ พระพุทธเจ้ากำเนิดเป็นพระโพธิสัตว์ ดังนี้


 ๑. เตมิยชาดก เสวยพระชาติเป็นโอรสกษัตริย์ มีนามว่า พระเตมิยกุมาร
 ๒. มหาชนกชาดก เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร
 ๓. สุวรรณสามชาดก เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ฤๅษี
 ๔. เนมิราชชาดก เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช
 ๕. มโหสถชาดก เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต
 ๖. ภูริทัตชาดกเสวยพระชาติเป็นนาค ชื่อภูริทัต
 ๗. จันทชาดก เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร
 ๘. พรหมนารทชาดก     เสวยพระชาติเป็นพรหม ชื่อนารท
 ๙. วิธุรชาดก เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต
๑๐. เวสสันตรชาดก เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร


สิบชาตินี้มีคำย่อสำหรับเรียกให้จำได้ว่า เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว  ชาติที่เป็นพระเวสสันดรถือกันว่าเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ อย่างครบบริบูรณ์ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี นับเป็นสิ่งประเสริฐสุด จึงได้เรียกชาตินี้ว่า มหาชาติ และถือกันมาแต่โบราณว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วก็ได้ผลานิสงส์มาก ไทยเราจึงมีประเพณีมีเทศน์มหาชาติทุกปี และประเพณีนี้คงจะมีมาแต่สมัยสุโขทัย

มีเรื่องเกี่ยวกับเทศน์มหาชาติสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ เรียกว่า "มาลัยสูตร" เรื่องมีว่า มีพระเถระองค์หนึ่งชื่อ มาลัย เกิดในเกาะลังกา สำเร็จพระอรหันต์ มีฤทธิ์เชี่ยวชาญเหาะเหินเดินอากาศและสามารถลงไปในเมืองนรก ดับไฟนรก ทุบหม้อทองแดง ฯลฯ ช่วยสัตว์นรกให้พ้นจากทนทุกข์ทรมานได้ แต่เมื่อพระมาลัยกลับขึ้นมาแล้ว นรกก็กลับเป็นอย่างเดิม สัตว์นรกก็ทนทุกข์ทรมานต่อไป วันหนึ่งพระมาลัยกำลังยืนอยู่ มีคนเข็ญใจเก็บดอกบัวได้ ๘ ดอกนำมาถวาย พระมาลัยจึงเหาะขึ้นไปเมืองสวรรค์ เอาดอกบัวนั้นบูชาพระเจดีย์จุฬามณี พอดีพระศรีอาริย์ซึ่งอยู่ในเมืองสวรรค์ เหาะมานมัสการพระจุฬามณี ก็ได้พบกับพระมาลัยได้สนทนากัน พระมาลัยบอกว่าชาวเมืองมนุษย์ร่ำร้องอยากเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์กันทั่วไป พระศรีอาริย์จึงสั่งพระมาลัยให้มาบอกชาวโลกมนุษย์ มีใจความสำคัญว่า ให้หมั่นทำบุญให้ทานรักษาศีล

ความตอนหนึ่งมีกล่าวในสมุดมาลัยว่า


"ถ้าผู้ใดจะใคร่ชม     สมเด็จองค์พระศรีอารย์
ให้ตั้งใจชื่นบาน         ฟังนิทานพระเวสสันดร
ถ้าผู้ใดจะใคร่ไหว้    เมื่อท่านได้เป็นพระบวร
ให้ฟังนิทานพระเวสสันดร       ในวันเดียวจบทั้งพัน
พระบาลีเทศนา        ฟังคาถาถ้วนทั้งพัน
เข้าบิณฑ์ขนมนั้น      ทุกสิ่งพันจงมากมี
ดอกบัวหลวงดอกบัวขาว   ดอกสามหาวจงกลณี  
ดอกอุบลอันมีสี             นิลุบลดอกมณฑา
ดอกไม้ขาวใสสุด        ดอกสัตบุศอันรจนา
สิ่งละพันถวายบูชา   มหาชาติเวสสันดร

ความว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรซึ่งมีคาถาอยู่พันคาถา ให้จบในวันเดียว และถวายเครื่องกัณฑ์ต่างๆ อย่างละพัน กับดอกบัวต่างๆ อย่างละพัน ก็จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ พระมาลัยก็จำคำพระศรีอาริย์มาบอกแก่ชาวโลกมนุษย์ให้ทราบ คัมภีร์มาลัยสูตรนี้ เป็นที่นับถือกันมากมาแต่โบราณ  

พระมาลัยคำหลวง รู้จักกันในท้องถิ่นว่า พระมาลัยกลอนสวด เป็นวรรณคดีศาสนาพุทธ ที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ก็ทรงพระนิพนธ์ เรียกว่า "พระมาลัยคำหลวง"  ดังนี้ ประเพณีมีเทศน์มหาชาติก็อาจจะถือตามคัมภีร์มาลัยสูตรนี้ก็ได้อีกทางหนึ่ง

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงบำรุงพระพุทธศาสนาไว้มาก ในปี พ.ศ.๒๐๐๑ พงศาวดารว่า ทรงให้บูรณะพระศาสนาบริบูรณ์ มีการหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ นี้ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น งานนี้คงจะทำอยู่ถึง ๒ ปี จึงได้มีการฉลองใหญ่ในปี พ.ศ.๒๐๐๓ ถึงปี พ.ศ.๒๐๐๗ ทรงสร้างวัดจุฬามณี ชื่อวัดนี้เป็นชื่อเดียวกับพระเจดีย์จุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ ที่พระมาลัยกับพระศรีอาริย์ไปนมัสการ รุ่งขึ้นปี พ.ศ.๒๐๐๘ ก็ออกทรงผนวชที่วัดจุฬามณีเป็นเวลา ๘ เดือน จึงได้ลาผนวชกลับขึ้นครองราชสมบัติ ในระยะต่อมาก็คงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ การปฏิสังขรณ์คงจะกินเวลานาน ถึงปี พ.ศ.๒๐๒๕ จึงได้มีงานฉลองใหญ่ และในปีเดียวกันนี้เอง ได้ทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวงด้วย พระราชกรณียกิจทางบำรุงพระพุทธศาสนาของพระองค์ ดูมีเค้าพัวพันอยู่กับคัมภีร์มาลัยสูตร เช่น หล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ สร้างวัดจุฬามณีและทรงผนวช แล้วทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวง และมหาชาติคำหลวงนี้ก็ปรากฏว่าทรงพระราชนิพนธ์สำหรับสวด คือให้นักสวด สวดเวลาราษฎรไปประชุมกันทำการกุศลที่วัด คัมภีร์มาลัยสูตรก็เป็นหนังสือสำหรับสวดเหมือนกัน คงจะแต่งเป็นหนังสือสวดมาแต่ครั้งโบราณนานไกล

มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกมีคาถา ๑๐๐๐ คาถา แบ่งออกเป็นกัณฑ์ ๑๓ กัณฑ์ คือ ทศพร (๑๙ คาถา) หิมพานต์ (๑๓๔ คาถา) ทานกัณฑ์ (๒๐๙ คาถา) วันประเวศน์ (๕๗ คาถา) ชูชก (๗๙ คาถา) จุลพล (๓๕ คาถา) มหาพน (๘๐ คาถา) กุมาร (๑๐๑ คาถา) มัทรี (๙๐ คาถา) สักกบรรพ (๔๓ คาถา) มหาราช (๖๙ คาถา) ฉกษัตริย์ (๓๖ คาถา) และนครกัณฑ์ (๔๘ คาถา)

พระราชนิพนธ์ครั้งนั้น นัยว่ามีนักปราชญ์หลายท่านร่วมแต่งด้วย วิธีแต่งเอาภาษามคธเดิมตั้งบาทหนึ่ง แปลความแต่งเป็นกาพย์ภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ภาษาไทยแต่งเป็นฉันท์บ้าง เป็นโคลงบ้าง ต่างๆ กัน ขอยกเอากัณฑ์มหาพนมาเป็นตัวอย่างดังนี้

"ปฏิคฺคหิตํ ยํ ทินฺนํ โภนฺโต ข้าข้อยแต่ ฤๅษี
ยํ ทินฺนํ ใดดี แกล่แกล้ง
สพฺพสฺส อคฺฆิยํ กตํ อาหารเครื่องกินมี เอมโอช
อนิโภชนหวานแจ้งข้า ขอบไหว้เหนือหวว"
................   .................  ...............
"เอส เสโล มหาพฺรหฺเม ฟงงแฮทชีพราหมณ์ เขาขยวงาม ท้งงแท่งทงัน
 ไม้ไล่ช่อแชรงกัน ต่างต่างพรรณไขขจร
ปพฺพโต คนฺธมาทโน มีนามแต่อาทิ์ คันธมาทน์ศิขร
ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชา ที่ใดท่านภูธร แพศยันดรราชา
สห ปุตฺเตหิ สมฺมติ เสด็จด้วยสองกุมาร ลูกสุดสงสาร โสภา
ธาเรนฺโต พฺราหฺมณวณฺณํ ทรงบรรพชา สาธรในพนาไลย"


อ้างอิง :-
- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวง / มูลนิธิเหม เวชกร
- มหาชาติคำหลวง / นามานุกรมวรรณคดีไทย
- มหาชาติคำหลวงเป็นวรรณคดีแห่งชาติ / กรมศิลปากร
- วิกิพีเดีย