[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2566 14:55:52



หัวข้อ: เจ้ามหาพรหมเชิญพระสิหิงค์ไปเชียงราย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2566 14:55:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70946012768480_1_Copy_.jpg)
ภาพวาด - ครูเหม เวชกร

เจ้ามหาพรหมเชิญพระสิหิงค์ไปเชียงราย

ในสมัยสุโขทัย มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง มีนามว่า พระสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์นี้มีเรื่องพัวพันอยู่ในพงศาวดารมาก เรื่องของพระพุทธสิหิงค์มีเป็นตำนาน เรียกว่า สิหิงคนิทาน ตามตำนานว่าเมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๗๐๐ ปี มีพระราชาชาวสิงหฬ (ลังกา) อยากเห็นองค์พระพุทธเจ้า พระยานาคตนหนึ่งเคยเห็น ก็นิรมิตองค์พระพุทธเจ้าให้พระราชานั้นได้เห็น พระราชาบังเกิดความเลื่อมใส จึงโปรดให้ช่างหล่อหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้น แล้วถวายพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์ พระนามสิหิงค์ หมายถึงว่า รูปร่างพระพุทธเจ้าละม้ายเหมือนกับราชสีห์  พระราชาที่โปรดให้หล่อพระสิหิงค์นี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะเป็นกษัตริย์ลังกาที่ทรงพระนามว่า ปรักกรมพาหุ เพราะกษัตริย์พระองค์นี้นับกันว่าเป็นมหาราช และทรงบำรุงพระพุทธศาสนามาก ว่าถึงพงศาวดารลังกา ปรากฏว่า กษัตริย์ที่มีนาม "ปรักกรมพาหุ" มี ๒ องค์ พระเจ้าปรักกรมพาหุองค์ที่ ๑ ทรงราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๗๐๗ ถึง พ.ศ.๑๗๔๐ องค์นี้รบชนะพวกทมิฬ และจัดการคณะสงฆ์ที่แตกแยกกันให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเจ้าปรักกรมพาหุองค์ที่ ๒ ทรงราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๗๖๘ ถึง พ.ศ.๑๘๐๓ องค์นี้ว่าพระเจ้ากรุงตามพรลิงค์ (คือนครศรีธรรมราช) ยกกองทัพไปตีลังกา ๒ ครั้งใน พ.ศ.๑๗๗๙ กับ พ.ศ.๑๗๙๙ แต่แพ้กลับมา ศักราชองค์ที่ ๒ อยู่ในสมัยเริ่มต้นกรุงสุโขทัย ถ้าพระพุทธสิหิงค์สร้างในสมัยพระเจ้าปรักกรมพาหุ ก็คงจะเป็นองค์ที่ ๑

ตามตำนานสิหิงคนิทานมีต่อไปว่า เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๑๕๐๐ ปี มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ไสยรงค์ หรือ สุรงควรราช ครองกรุงสุโขทัย เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงลังกามีพระพุทธรูปงาม ชื่อ พระพุทธสิหิงค์ จึงให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตไปขอมา พระเจ้าไสยรงค์ก็อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้กรุงสุโขทัย พระเจ้าไสยรงค์นี้สันนิษฐานกันว่าคือพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ตำนานสิหิงค์กล่าวต่อไปว่า ในแผ่นดินพระเจ้าอัฏฐกลิไทยครองกรุงสุโขทัย พระเจ้ารามาธิบดีกษัตริย์กรุงศรีอยุธยายกกองทัพไปยึดทวิสาขะนคร หรือเมืองสองแคว คือเมืองพิษณุโลก แล้วตีกรุงสุโขทัยได้โปรดให้พระเจ้าอัฏฐกลิไทยครองเมืองพิษณุโลก พระเจ้าอัฏฐกลิไทยได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้เมืองพิษณุโลก อยู่จนสิ้นรัชกาลแล้ว พระเจ้ารามาธิบดีจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้กรุงศรีอยุธยา เรื่องตามตำนานสิหิงคนิทานนี้ ไม่ตรงกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแท้ทีเดียว ตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในระยะนี้สันนิษฐานกันว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้เข้ายึดเมืองไชยนาทของพระเจ้าลิไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ไว้ แล้วก็สงบสงครามเป็นไมตรีกัน ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช จึงไปตีได้กรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพระเจ้าไสยลือไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดให้พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ครองเมืองพิษณุโลก และให้พระยาญาณดิศครองเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้มารดาพระยาญานดิศเป็นพระมเหสี ในการได้อาณาจักรสุโขทัยคราวนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชคงจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้กรุงศรีอยุธยาด้วย

ตามตำนานสิหิงคนิทานกล่าวต่อไปว่า พระยาญานดิศที่ครองเมืองวชิรปราการ (คือเมืองกำแพงเพชร) ใคร่จะได้พระพุทธสิหิงค์ จึงให้พระมารดาซึ่งเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของสมเด็จพระบรมราชาธิราชทูลขอ โดยอุบายว่า จะขอพระราชทานพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งในหอพระของหลวง ส่งไปให้พระยาญาณดิศผู้บุตร สมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่ทรงทราบในอุบายก็อนุญาตให้พระมเหสีเลือก พระมเหสีให้สินบนขุนพุทธบาลผู้รักษาให้รู้ว่า องค์ไหนเป็นพระพุทธสิหิงค์แล้ว ก็จัดส่งไป ต่อมาความทราบถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ทรงพระพิโรธ พระมเหสีกราบทูลแก้ว่า ไม่ทราบว่าพระพุทธรูปที่ส่งไปนั้นเป็นพระพุทธสิหิงค์ และเมื่อส่งผิดไปแล้วก็ขอให้พระยาญานดิศจำลองรูปไว้ แล้วจะให้ส่งกลับคืนมา ตำนานสิหิงคนิทานว่าด้วยเหตุนี้ พระพุทธสิหิงค์จึงได้ตกไปอยู่เมืองกำแพงเพชร ถือตามตำนานสิหิงคนิทาน ก็เป็นอันว่า ในระยะนี้พระพุทธสิหิงค์ได้ไปอยู่เมืองกำแพงเพชรตั้งแต่หลังจากปี พ.ศ.๑๙๒๑ แล้ว

ทีนี้จะกล่าวถึงพงศาวดารศรีอยุธยาต่อไป ปี พ.ศ.๑๙๒๙ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพไปตีเชียงใหม่ เรื่องราวทางเชียงใหม่แคว้นลานนา พระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเป็นไมตรีกับพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ได้ครองเมืองเชียงใหม่สิ้นรัชกาลแล้ว มีกษัตริย์สืบต่อมา ๙ องค์ ถึงพระเจ้ากือนา ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๙ มีโอรสชื่อเจ้าแสนเมืองมา มีอนุชาชื่อเจ้ามหาพรหม ได้ครองเมืองเชียงราย ถึง พ.ศ.๑๙๓๐ พระเจ้ากือนาสวรรคต เจ้าแสนเมืองมาได้ครองราชสมบัติ พงศาวดารและตำนานต่างๆ ตอนนี้สับสนมาก ว่าตามพงศาวดารโยนกว่า เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาได้ราชสมบัติแล้ว เจ้ามหาพรหมผู้เป็นอาที่ครองเมืองเชียงรายคิดจะแย่งราชสมบัติ จึงยกทัพมาตั้งทัพอยู่ที่หนองพะชี แล้วให้คนไปบอกแสนผานองผู้เป็นเสนาบดีว่า จะขอเข้าไปถวายบังคมพระศพพระเจ้ากือนา แสนผานองรู้เท่า จึงตอบว่าจะไปรับให้สมพระเกียรติยศ ระหว่างนั้นก็เตรียมป้องกันเมือง และยกทหารออกมาตั้งอยู่นอกเมือง เจ้ามหาพรหมเห็นชาวเชียงใหม่เตรียมรบก็ถอยทัพลงมาทางใต้ แสนผานองคุมพลออกตาม ตีทัพเจ้ามหาพรหมแตกกระจัดกระจาย เจ้ามหาพรหมหนีลงมากรุงศรีอยุธยา แสนผานองยกทัพกลับเชียงใหม่ จัดเตรียมป้องกันเมือง แล้วให้เจ้าหมื่นโลกนครมารักษาเมืองเขลางค์ คือลำปาง ฝ่ายเจ้ามหาพรหมมาอยู่กรุงศรีอยุธยาได้สองเดือนเศษก็นำกองทัพไทยขึ้นไปทางเมืองลำปาง เจ้าหมื่นโลกนครแต่งทัพช้างออกมาตั้งรับ ชายาเจ้าหมื่นโลกนครชื่อ นางเมือง กำลังตั้งครรภ์ก็แต่งตัวเป็นชายขี่ช้างออกช่วยสามีรบ ได้รบกันเป็นสามารถ กองทัพไทยถอยมาทางเมืองลี้ ที่ตำบลซึ่งรบกันได้ชื่อว่า ตำบลแสนสนุก และนางเมืองเมื่อประสูติเป็นบุตรชาย จึงได้ชื่อว่า เจ้าหาญแต่ท้อง คือกล้าหาญแต่อยู่ในครรภ์ ตามพงศาวดารว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพไปตีเชียงใหม่ คงจะเป็นตอนนี้ คือทางเชียงใหม่เกิดแย่งราชสมบัติกัน สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายเขตแดนขึ้นไปในแคว้นลานนา จึงยกไปตีเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ

จากศึกเชียงใหม่มา ๒ ปี ถึง พ.ศ.๑๙๓๑ พงศาวดารว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพไปเอาเมืองชากังราว เมืองนี้คือเมืองกำแพงเพชรที่พระยาญานดิศครอง สาเหตุที่เสด็จยกทัพไปไม่ปรากฏ แต่มีเรื่องในตำนานสิหิงคนครว่า ในรัชสมัยพระเจ้ากือนาครองเชียงใหม่ เจ้ามหาพรหมที่ครองเชียงรายได้เห็นรูปพระพุทธสิหิงค์ที่ปั้นด้วยขี้ผึ้งแข็ง ที่พระภิกษุองค์หนึ่งนำไปเมืองเชียงรายก็อยากได้ จึงทูลพระเจ้ากือนาขอกองทัพไปช่วยรบเมืองกำแพงเพชร พระเจ้ากือนาประทานกองทัพให้ เจ้ามหาพรหมก็ยกมาล้อมเมืองกำแพงเพชร พระยาญานดิศเจ้าเมืองกำแพงเพชรเห็นจะต่อสู้ไม่ได้ จึงแต่งทูตให้ไปถามว่า ยกกองทัพมาล้อมเมืองเพื่อประสงค์อันใด เจ้ามหาพรหมตอบว่า ต้องการพระพุทธสิหิงค์ พระยาญานดิศก็ยอมถวาย เจ้ามหาพรหมอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเมืองเชียงใหม่ แล้วขออนุญาตนำไปเมืองเชียงรายเพื่อจำลองด้วยทองคำ พระพุทธสิหิงค์ไปอยู่เมืองเชียงราย ต่อมาพระเจ้ากือนาสวรรคต พระเจ้าแสนเมืองมาได้ราชสมบัติ เกิดอริกับเจ้ามหาพรหม ในที่สุดก็ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้แล้ว อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาไว้เมืองเชียงใหม่ เรื่องตอนนี้สับสนดังกล่าวแล้ว แต่ก็เข้าใจกันว่า ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชยกทัพไปเมืองกำแพงเพชรคราวนี้ คงจะมีสาเหตุเนื่องมาจากพระพุทธสิหิงค์ คือ เจ้ามหาพรหมอาจจะกลับไปคืนดีกับพระเจ้าแสนเมืองมา แล้วยกมากำแพงเพชรเพื่อต้องการพระพุทธสิหิงค์ พระยาญาณดิศบอกมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงเสด็จยกทัพไปเมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ.๑๙๓๑ แต่ไปไม่ทัน พระยาญานดิศยอมให้พระพุทธสิหิงค์แก่เจ้ามหาพรหมไปเสียก่อน

เรื่องจะสับสนไขว้เขวอย่างไรก็ตาม แต่ก็ยุติได้ว่าพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญได้มาจากลังกาในสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราชตั้งแต่สมัยสุโขทัย ได้มาอยู่เมืองกำแพงเพชรสมัยพระยาญาณดิศ แล้วเจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงรายมาได้ไป แล้วตกไปอยู่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้น ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปเมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ.๑๙๓๑ นี้ พอเสด็จยกทัพกลับ ก็มาประชวรสวรรคตกลางทาง


ที่มา - มูลนิธิเหม เวชกร (ประวัติ เเละวรรณคดีไทย) ชัยพฤกษ์ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๕ ออก ๑ มีนาคม ๒๕๐๙ – ต้นฉบับของครูวิน เลขะธรรม
เรื่อง - ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
ภาพวาด - ครูเหม เวชกร
เรียบเรียง  Niramol Niramol