[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2566 18:08:49



หัวข้อ: วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ : “ซะบิ” (寂) ความหยาบกร้านที่งดงาม
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2566 18:08:49
(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/OG-Facebook-13.png)

วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ ตอนที่ 2 : “ซะบิ” (寂) ความหยาบกร้านที่งดงาม

ซะบิ (寂) ความหมายนัยตรงคือ ความหยาบ

ผิวสัมผัสที่กร้านเหมือนโลหะขึ้นสนิม นี่คือคุณลักษณะของเครื่องเคลือบสมัยซ่งแบบ เจี้ยนเย่า (建窯) และ จี๋โจวเย่า (吉州窯) นั่นเอง เพียงแต่เมื่อผสมกับความเป็นเซนที่ต้องถ่อมตนในคุณค่า ปรมาจารย์ชาในญี่ปุ่นไม่เพียงเลือกเครื่องเคลือบที่มีผิวแบบซะบิ แต่ยังเลือกชิ้นที่มีคุณค่าแบบซะบิ คือราคาถูกจนไร้ความหมายในแง่ศิลปะด้วย

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_001-768x768.jpg)
เครื่องเคลือบแบบ เจี้ยนเย่า (建窯) (Photo: invaluable.com)

เช่นกรณีของ เครื่องเคลือบ จูโคจะวัง (珠光茶碗) เป็นอุปกรณ์ชงชาของ มุราตะ จูโค ปรมาจารย์คนแรกๆ ของสำนักชงชาแบบซ่ง ซึ่งนิยมใช้ของที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมจากอาณาจักรซ่ง ที่มีราคาถูก และหยาบกร้าน

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_murata-joko.png)
มุราตะ จูโค

ในสมัยโบราณ วัดวาอารามในญี่ปุ่นโดยเฉพาะยุคพุทธศาสนาหกนิกาย จะออกแบบตามสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์ถัง แต่เมื่อนิกายเซนแพร่หลาย สถาปัตยกรรรมวัดวาในญี่ปุ่น ออกแบบตามศิลปะสมัยซ่ง โดยเฉพาะซ่งตอนใต้ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่กังนั้ม (หรือ “เจียงหนาน” ในภาษาจีนกลาง) ตัวเรือนเป็นน้ำปูนสีขาวสะอาด เนื้อไม้ถูกเปลือยให้เห็นสีธรรมชาติ กระเบื้องสีเทา แวดล้อมด้วยป่าไผ่ ไม้ดัด และสวนศิลา ต่างจากวัดสมัยถังและสมัยนาระที่ลงสีจัดจ้าน จัดวางอย่างโอ่อ่า ราวกับวังหลวง

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_002-768x576.jpg)
วัดโทฟุคุจิ เมืองเกียวโต (Photo: kyotofreeguide.blogspot.com)

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_007-768x512.jpg)
วัดกินคะคุจิ หรือ “วัดเงินแห่งเกียวโต” (Photo: discoverkyoto.com)

วัดเซนแบบญี่ปุ่นจึงเป็นภาพสะท้อนของวัดในกังนั้ม ในกังนั้มนิยมจัดสวน วัดเซนก็จัดสวนแบบกังนั้ม เมื่อญี่ปุ่นพัฒนากระบวนพิธีชงชา จึงรับสุนทรียะของการจัดสวนในวัดเซนมาด้วย และมีตำราจัดสวนแบบสมัยถังและซ่งเรียกว่า ตำราซะกุเทกิ (作庭記) ซึ่งช่วยบันทึกวิธีจัดสวนแบบถังและซ่งที่สาบสูญไปในจีน

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_003-768x1195.jpg)
หนังสือการจัดสวนแบบซะกุเทกิแบบร่วมสมัย ตีพิมพ์เมื่อปี 2008

พิธีชงชาในสมัยเซนรุ่งเรืองจัดกันในสวน เรียกว่า โรจิ (露地) หรือแผ่นดินหยาดน้ำค้าง เป็นการเลียนแบบสวนในวัด และชื่อโรจิยังมาจากเนื้อความในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าการชงชาเชื่อโยงกับพุทธศาสนา

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_004-768x384.jpg)
สวนแบบโรจิ (Photo: japanesegarden.org)

ว่ากันตามตรงแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มพิธีชงชามาตั้งแต่สมัยนาระ โดยมีกระบวนพิธีอันโอ่อ่าแบบสมัยถัง ส่วนผู้ที่เริ่มการชงชาตามสไตล์ซ่งอันเรียบง่ายในสวนหยาดน้ำค้าง คือ มุราตะ จูโค ซึ่งเรียนการชงชามาจาก โนอะมิ ศิลปินทางโลก และเรียนปรัชญาการชงชาจาก ท่านอิกคิวโซจุน (ที่เรารู้จักกันในชื่อ “อิกคิวซัง”)


(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_ikku.png)
อิกคิวโซจุน

ท่านอิกคิว เป็นพระเซนที่อยู่นอกกรอบ เป็นพหูสูตร เป็นโพธิสัตว์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ ท่านสอนมุราตะ จูโค ว่าพุทธธรรมก็เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีแห่งชา และมอบ ‘ลิปิศิลป์’ หรือภาพเขียนลายมือที่นำเข้ามาจากจีนให้กับมุราตะ จูโค เป็นเครื่องยืนยันความเป็นศิษย์ทางธรรม

มุราตะ จูโค เป็นผู้บุกเบิกสำนักชงชาแบบซ่งและสุนทรียะแบบวะบิ เรียกกันว่า วะบิฉะ (侘茶) และการใช้อุปกรณ์ชงชาราคาถูกจากเมืองจีนแต่อุปโลกน์เป็นของราคาค่าควรเมือง จะเป็นรากฐานของค่านิยมของใช้แบบ ซะบิ (寂)

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_005-768x512.jpg)

สุนทรียะแบบ “วะบิ-ซะบิ” จะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในยุคของ เซนโนะริคิว ปรมาจารย์วิถีแห่งชาผู้มีนามอันลือลั่น เขาเป็นผู้ซื้อหาอุปกรณ์ชงชาของมุราตะ จูโคมาใช้ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของสุนทรียะที่พร่องและหยาบแต่งาม เขายังให้กำเนิดเครื่องชาชาแบบใหม่ที่เรียกว่า เครื่องเคลือบระคุ (楽焼) ที่หยาบและไม่เป็นรูปทรงยิ่งกว่าเดิม แต่เป็นที่นิยมว่างามล้ำเลิศ  ด้วยชื่อเสียงของเซนโนะริคิว ทำให้สินค้าที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในจีนและประดิษฐ์ของใหม่ที่บิดๆ เบี้ยวๆ กลายเป็นของล้ำค่าในวงการชงชา  พิธีกรรมที่เรียบง่ายแบบวะบิฉะ กลายเป็นค่านิยมหรูหราของคนชั้นสูง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “วะบิ-ซะบิ” เป็นสุนทรียะอันสำคัญของญี่ปุ่น

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_006-768x576.jpg)
เครื่องเคลือบระคุ (楽焼) ที่หยาบและไม่เป็นรูปทรง แต่นิยมว่างามล้ำเลิศ (Photo: letao.com.tw)

แต่เมื่อถึงจุดนี้ ต้องยอมรับว่า วะบิ-ซะบิ แทบจะสิ้นเยื้อใยจากจิตวิญญาณความเรียบง่ายในยุคต้นแล้ว เพราะมันถูกการกำหนดคุณค่าทางรูปธรรม ชี้นำความสำเร็จทางจิตวิญญาณ

เมื่อญี่ปุ่นเข้าสุ่ยุคเซนโคกุ หรือยุคแห่งการแย่งชิงอำนาจในศตวรรษที่ 15 – 17 บรรดาขุนศึกคนสำคัญยังคงอาศัยการปฏิบัติเซนผ่านการชงชาและจัดดอกไม้ เพื่อบรรเทาความกลัดกลุ้มในใจ พฤติกรรมเช่นนี้ยังนับว่าเป็นวะบิที่แท้ แต่อุปกรณ์ชงชาของบรรดาขุนศึกมีราคาสูงลิ่ว ถึงกับใช้อุปกรณ์ชงชาเป็นส่วนหนึ่งของการชิงแผ่นดิน นี่ทำให้ซะบิ ห่างไกลจากตัวตนเดิมของมัน

เมื่อสิ้นยุคขุนศึก แผ่นดินสงบราบคาบ ปรัชญาเซนถดถอย วะบิ-ซะบิ กลายเป็นของเล่นของชนชั้นสูงอย่างเต็มตัว

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_010-768x516.jpg)
ภาพวาดพิธีชงชา (Photo: Wikimedia Commons)

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_008.jpg)
การจัดดอกไม้แบบอิเคะบานะ (Photo: wolvestable.com)

ในดินแดนกังนั้มทุกวันนี้ มิได้นิยมการจัดสวนแบบสมัยซ่งอีกแล้ว แต่นิยมสวนแบบหมิง-ชิง ทว่า เค้ารางสุนทรียะแบบซ่งยังคงเหลืออยู่ตามอารามป่าเขา กังนั้มยังเป็นดินแดนของนิกายฉานอันเรียบง่าย พระสงฆ์ยังครองจีวรปุปะ พักในเรือนกรรมฐานที่สมถะ ผนังสีขาวกับไม้สีเปลือย กระเบื้องสีเทา เก็บยอดชาทีละยอดเพื่อคั่วเบาๆ และจิบด้วยความสุขุมเพื่อดำรงฌานในทุกอิริยาบถ ท่ามกลางภาพทัศน์ราวกับภาพวาดในสมัยซ่ง อุปกรณ์ชงชาในวัดฉานที่แท้คืออุปกรณ์ที่ใช้ประจำวันนั่นเอง เฉกเช่นวิถีชงชาในสมัยของมุราตะ จูโค

เซนในญี่ปุ่นตัดขาดจากรากฐานของการปฏิบัติธรรม และเมื่อแพร่ไปยังโลกตะวันตก ยังมีการผสมปนเปพุทธธรรมแบบเซนเข้ากับสุนทรียะ “วะบิ-ซะบิ” ที่กลายพันธุ์แล้วด้วยน้ำมือของชนชั้นสูงในยุคเอโดะ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เซนคือการจัดดอกไม้ จัดสวน ชงชา

(https://becommon.co/wp-content/uploads/2019/01/wabi-sabi-B_009-768x923.jpg)

แท้จริงแล้วเซนคือการปฏิบัติกรรมฐาน ส่วนการจัดดอกไม้ จัดสวน ชงชา หรือแม้แต่วิถีแห่งธนูและดาบ เป็นเพียงสันทนาการทางโลกที่ต้องอาศัย “กรรมฐาน” เพื่อบรรลุความเป็นเลิศ

เซนไม่ต้องการสันทนาการทางโลก แต่กิจกรรมทางโลกต้องการเซน

วะบิ-ซะบิ ยังมีเค้าลางของความเป็นกังนั้มและเซนยุคแรกเริ่ม เพียงแต่มันเลิกร้างจากรากเหง้าเดิมที่ถ่อมตน มัธยัสถ์ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

และการเข้าใจสิ่งรอบตัวด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายไปเสียแล้ว.

_____

*ทำความรู้จักคุณค่าแบบ “วะบิ” (侘) ต่อได้ที่ วะบิ-ซะบิ รอยตำหนิแห่งสุนทรียะ ตอนที่ 1 : “วะบิ” (侘) ความเรียบง่ายจาก ‘ซ่ง’ ถึง ‘เซน’

https://becommon.co/culture/wabi-sabi-wabi-simply/

จาก https://becommon.co/culture/wabi-sabi-sabi-esthetic/