[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 19:30:04



หัวข้อ: ลูกสวาด–ลูกสวาดสียาตรา” วัตถุอาถรรพ์มหาเสน่ห์ และเรื่องรัก-ลับหลังชายผ้าเหลือง
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 19:30:04

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29466771086056__696x364_Copy_.jpg)
พระชั้นผู้ใหญ่และเหล่าลูกสวาท
(ภาพจากประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2548)
ผู้เขียน   พร่างพนานต์ ช่วงพิทักษ์

“ลูกสวาด–ลูกสวาดสียาตรา” วัตถุอาถรรพ์มหาเสน่ห์ และเรื่องรัก-เรื่องลับหลังชายผ้าเหลือง

เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

ลูกสวาด” หรือ “ลูกสวาดสียาตรา” วัตถุอาถรรพ์มหาเสน่ห์ และเรื่องรัก-เรื่องลับหลังชายผ้าเหลือง

สวาดต้นคนต้องแล้วร้องอุ๊ย      ด้วยรุกรุยรกเรื้อรังเสือสาง
จนชั้นลูกถูกต้องเป็นกองกลาง   เปรียบเหมือนอย่างลูกสวาดศรียาตรา

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นความบางส่วนที่คัดมาจาก ‘นิราศพระประธม’ หนึ่งในผลงานนิราศของ ‘สุนทรภู่’ ความส่วนที่ยกมานี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ามีการกล่าวถึง “ลูกสวาด” และ “ลูกสวาดสียาตรา” หรือ “ลูกสวาทสียะตรา” ไว้ด้วย

โดย “สวาด” ที่ปรากฏเป็นคำแรกมีความหมายถึงพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เมื่อออกผล ผู้คนมักนิยมนำเมล็ดไปทำพิธีจนกลายเป็นวัตถุอาถรรพ์มีฤทธิ์ในด้านเสน่ห์เมตตามหานิยม หรือที่มักเรียกกันว่า “ลูกสวาด”

ส่วน “ลูกสวาดสียาตรา” นั้น มิใช่พันธุ์ไม้แต่ประการใด แต่มีความหมายอ้างอิงถึง เด็กผู้ชายที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่นิยมอุปการะไว้เพื่อโอ้อวดบารมี ผ่านเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่ลูกสวาทใส่ ทั้งยังรวมไปถึงการอุปการะไว้เพื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพระผู้อุปการะและเด็กชายด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63586611466275__1_Copy__tn.jpg)
ลูกสวาด
(ภาพจากเว็บไซต์ https://www.youtube.com/watch?v=dObwVbDhbRQ)

ลูกสวาด : วัตถุอาถรรพ์มหาเสน่ห์
ลูกสวาด เป็นเมล็ดที่อยู่ภายในผลของต้นสวาด สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยมักพบได้ตามป่าละเมาะใกล้ทะเล ผลของต้นสวาดจะมีลักษณะเป็นฝักรูปรี หรือขอบขนานแกมรูปรี มีขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนาม ภายในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ 2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นเมล็ดกลมเปลือกแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร สีเทาแกมเขียว

คนสมัยโบราณนิยมพกลูกสวาดติดตัวไว้ เพราะเชื่อว่าจะให้ผลด้านเสน่ห์ เมตตามหานิยม มีแต่คนรักใคร่ เนื่องด้วยลูกสวาดนั้นมีชื่อพ้องเสียงกับคำว่า ‘สวาท’ [สะหฺวาด] ที่มีความหมายว่า ความรัก ความพอใจหรือความยินดีในทางกามารมณ์

นอกจากนี้ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่เชื่อว่าลูกสวาดเป็นวัตถุอาถรรพ์มีฤทธิ์ในตัวอยู่แล้วหากนำไปให้อาจารย์ผู้มีวิชาอาคมปลุกเสกหรือลงอาคมก็จะยิ่งทำให้ลูกสวาดเหล่านั้นมีฤทธิ์ในทางมหาเสน่ห์มากยิ่งขึ้นแก่ผู้ครอบครองอีกทั้งในความเชื่อด้านไสยศาสตร์การทำเสน่ห์บางวิธียังมีการใช้ลูกสวาดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบประกอบพิธีกรรมอีกด้วยหากแต่ข้อเท็จจริงของผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ล้วนขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล

ลูกสวาดสียาตรา : เรื่องรัก เรื่องลับ หลังชายผ้าเหลือง
ลูกสวาดสียาตราหรือลูกสวาทสียะตรา เป็นคำที่ใช้เรียกเด็กชายที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ หรือพระนอกรีตบางรูปนำมาอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งลูกสวาทเหล่านี้จะมีลักษณะต่างจากเด็กวัดทั่วไปคือ จะได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีการแต่งตัว ใส่เครื่องประดับให้แก่ลูกสวาท เพื่อโอ้อวดบารมีแข่งขันกันในหมู่พระที่เลี้ยงลูกสวาท

การเลี้ยงดูลูกสวาทนั้นนอกจากจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ในการโอ้อวดบารมีแล้วยังอาจเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของพระผู้อุปการะได้เช่นกันดังที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้มีการตรากฎพระสงฆ์ 10 ข้อเพื่อจัดระเบียบพระสงฆ์ก็ได้มีการกล่าวถึงกรณีการเลี้ยงลูกสวาทในหมู่พระภิกษุสงฆ์ไว้ว่า

“…ลางเหล่าเหนเด็กชายลูกข้าราชการอาณาประชาราษฎรรูปร่างหมดหน้าก็พูดจาเกลี้ยกล่อม ชักชวนไปไว้ แล้วกอดจูบหลับนอนเคล้าคลึง ไปไหนเอาไปด้วย แต่งตัวเด็กโอ่อวดประกวดกันเรียกว่าลูกสวาศ ลูกสุดใจก็มีบ้างที่ช่วงชิงลูกสวาศ เกิดความหึงษาพยาบาทจนเกิดวิวาทตีรันกันตายด้วยไม้กระบองซั่น พิจารณาได้ตัวมารับเปนสัตยได้ไม้กระบองซั่นเปนหลายอัน…”  กฎให้ไว้ ณ วันอังคาร เดือนเจ็ด แรมสิบสามค่ำ จุลศักราช 1163 ปีรกา นักษัตรตรีศก

แล้วตัวละครสียะตราในอิเหนาเกี่ยวข้องอย่างไรกับลูกสวาท?
ในส่วนที่มาของชื่อเรียก “ลูกสวาดสียาตรา” “ลูกสวาทสียะตรา” นั้น เป็นชื่อที่นำมาจากตัวละครหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” โดยตัวละครสียะตรา มีบทบาทในเรื่องเป็นพระโอรสอันเกิดแต่ท้าวดาหากับประไหมสุหรี ทั้งยังมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของนางบุษบา

ส่วนสาเหตุที่มีการนำชื่อ สียะตรา มาใช้นั้น คาดว่าน่าจะมีที่มาจากพฤติกรรมของ ‘อิเหนา’ ที่กระทำต่อ ‘สียะตรา’ ในเชิงลวนลาม และยังเป็นการลวนลามระหว่างผู้ชายด้วยกันอีกด้วย คือมีการกอด จูบ ลูบ แต่ไม่ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน ดังตัวอย่างที่ยกมานี้

      ๏ ครั้นพระกุมารหลับสนิท     พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา
โลมเล้าลูบไล้ไปมา                  สำคัญว่าบุษบานารี
พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย    พิศทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี
พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี       รัศมีสีเนื้อละกลกัน
ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา         ละม้ายแม้นบุษบาทุกสิ่งสรรพ์
พระกอดจูบลูบไล้เกี่ยวพัน           จนบรรทมหลับสนิทไป ฯ

แม้กระทั่งพฤติกรรมการปรนเปรอเอาใจสียะตราของอิเหนาที่มีการหาของเล่นมาให้จำนวนมากหรือพาไปเที่ยวเล่นชมนกชมไม้ก็มีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของพระเถระที่เอาใจลูกสวาทโดยการให้เครื่องแต่งตัวเครื่องประดับต่างๆ

     ๏ ครั้นถึงจึ่งวางเหนือตัก   แสนรักสนิทเสนหา
แล้วบัญชาสั่งเสนา             เร่งจัดเครื่องเล่นมาทุกสิ่งอัน
โล่ดั้งดาบเขนหอกคู่            ง้าวทวนธนูกั้นหยั่น
กริชกระบี่เสน่าเกาทัณฑ์       ให้สมกันกับองค์พระกุมาร

กระทั่งพฤติกรรมหวงสียะตราของอิเหนาเมื่อครั้งที่จรกาอุ้มสียะตรามาชมโฉมอิเหนาเห็นเช่นนั้นจึงบังเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมหึงหวงลูกสวาทระหว่างพระสงฆ์ผู้เลี้ยงดูลูกสวาทเหล่านั้นดังนี้

     ๏ เมื่อนั้น            อิเหนาแค้นขัดสหัสสา
พิศเพ่งเขม็งนัยนา        ให้สบเนตรสียะตราผู้ร่วมใจ ฯ
    ๏เมื่อนั้น              สียะตรารู้แจ้งอัชฌาสัย
จึงกลับมากอดเชษฐาไว้   เห็นพระเมินพักตร์ไปก็โศกา
แต่แรกเรียกน้องก็ไม่จร    ภูธรขืนขับให้ไปหา
แล้วพระมากริ้วโกรธา      โทษาน้องผิดสิ่งใด ฯ

แม้ว่าพฤติกรรมที่อิเหนากระทำในข้างต้นจะมีเหตุผลเนื่องด้วยเห็นสียะตราเป็นตัวแทนของบุษบาก็จริงแต่การกระทำเหล่านั้นอย่างไรเสียก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับสียะตราไม่ใช่นางบุษบาอีกทั้งการกระทำเหล่านั้นยังมีความคล้ายคลึงสอดคล้องกับพฤติกรรมของพระเถระที่กระทำกับลูกสวาทจึงเป็นเหตุให้ลูกสวาทเหล่านั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ลูกสวาทสียะตรา’