[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 15:06:04



หัวข้อ: พระยาราชกปิตัน : บุคคล (ผู้หักร้างถางพงเกาะปีนังจนกลายเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 15:06:04
(http://asiaforvisitors.com/malaysia/peninsula/penang/DCP_1557.JPG)
รูปปั้น Captain Francis Light
(ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://asiaforvisitors.com)

พระยาราชกปิตัน -  Francis Light


พระยาราชกปิตัน – บุคคล

กัปตันเหล็ก หรือ กปิตันเหล็ก เป็นคำเรียกพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งเข้ามามีบทบาทในกิจการค้าขายในแถบหัวเมืองมลายู ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทำความดีความชอบด้วยการจัดหาอาวุธปืนมาถวายและขายแก่พระมหากษัตริย์ไทย  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระยาราชกปิตัน” บางครั้งเรียกเป็น “พระยาราชกปิตันเหล็ก

กัปตันเหล็กมีนามเดิมว่า ฟรานซิสไลท์ (Francis Light) เกิดเมื่อปี ค.ศ.๑๗๔๕ (พ.ศ.๒๒๘๘) ที่เมืองคัลลิงตัน (ดัลลิงโฮ) ในซัฟฟอร์ค เคยเป็นนักเรียนนายเรือประจำเรือ H.M.S. Arrogant สมรสกับสตรีลูกครึ่งโปรตุเกสไทย ชื่อ มาร์ติน่า โรเซลล์ เมื่อ ค.ศ.๑๗๗๒ (พ.ศ.๒๓๑๕) มีบุตร ๕ คน ชื่อ ซาร่าห์ วิลเลียม แมรี่ แอน และฟรานซิส ลานูน ไรท์ ตามลำดับ

กัปตันเหล็กหรือฟรานซิสไลท์ ยึดอาชีพค้าขายมาตั้งแต่อายุประมาณ ๓๐ ปี โดยเข้าร่วมหุ้นส่วนกับกัปตัน เจมส์ สก๊อต ประมาณปี ค.ศ.๑๗๗๑ (พ.ศ.๒๓๑๔) ได้มาตั้งบ้านเรือนทำการค้าขายอยู่ที่เกาะถลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะค้าข้าวเป็นสำคัญ บางครั้งก็รับหน้าที่ติดต่อซื้อขายอาวุธปืนให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย  ระหว่างที่อยู่เกาะถลางนี้ ได้รู้จักสนิทสนมกับพระยาถลางภักดีภูธรและคุณหญิงจันทร์ และยังเป็นที่รู้จักนับถือของชาวเมืองทั่วไปด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ.๑๗๘๐ (พ.ศ.๒๓๒๓) กัปตันเหล็กเกิดเรื่องราวขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการค้ากับพระยาถลาง ซึ่งเป็นผู้แทนจากเมืองหลวง ในที่สุดเขาก็ถูกขับไล่ไปจากเกาะถลางในปีนั้นเอง

หลังจากถูกขับไล่จากเกาะถลาง กัปตันเหล็กได้กลับไปอยู่ที่เมืองกัลกัตตา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับชาวพื้นเมืองแถบมลายู ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเมืองเป็นอย่างดี จึงได้รับติดต่อให้มีหน้าที่ดำเนินการให้อังกฤษได้มีอาณานิคมในแถบนั้น  ดินแดนที่อังกฤษสนใจคือเกาะถลางและเกาะหมาก (เกาะปีนัง) ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ได้รับมอบหมายหน้าที่นี้จาก เซอร์ เจมส์ แมคเฟอร์สัน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย แต่เนื่องจากกัปตันเหล็กมีความคุ้นเคยฉันท์มิตรกับพระยาถลางและคุณหญิงจันทร์มาก่อน ประกอบกับได้รับทราบถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของชาวเกาะถลางในการต่อสู้กับพม่าจนได้รับชัยชนะ ทำให้เกิดความยำเกรงที่จะดำเนินการเข้าครอบครองเกาะถลาง คงมีความสนใจเพียงเกาะปีนังแต่เพียงแห่งเดียว  กัปตันเหล็กได้เจรจากับสุลต่านแห่งไทรบุรีขอเช่าเกาะปีนังเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ความดีความชอบครั้งนี้ ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ขณะเดียวกันก็ยังดำเนินกิจการค้าขายร่วมกับกัปตัน เจมส์ สก๊อต ต่อไปในนามของบริษัท สก๊อตแอนโค (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทบราวน์แอนโค)

หลังจากได้หักร้างถางพงบุกเบิกเกาะปีนังร้างจนกลายเป็นเมืองการค้าที่สำคัญแล้ว กัปตันเหล็กได้ตั้งชื่อเกาะปีนังว่า เกาะปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales Islands) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายเวลส์แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๒๙ แล้วถือวันนี้เป็นวันตั้งอาณานิคมของอังกฤษบนเกาะนี้

กัปตันเหล็กหรือฟรานซิส ไลท์ ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกและสร้างสรรค์ความเจริญแก่เกาะปีนังจนกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้ามาจนถึงปัจจุบัน

กัปตันเหล็ก อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองปีนังได้ ๔ ปีก็ถึงแก่กรรมด้วยไข้มาเลเรียเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๗๔๙ (พ.ศ.๒๑๓๗)