[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 มีนาคม 2566 18:40:51



หัวข้อ: ยักษ์ในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 มีนาคม 2566 18:40:51
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34696106157369__MG_0665_Copy_.JPG)
ภาพจาก : วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) กรุงเทพมหานคร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23032171775897__MG_0362_Copy_.JPG)

ยักษ์ในพุทธศาสนา

คติในศาสนาพุทธ กล่าวว่ายักษ์เป็นพวกสัตว์ที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย เป็นนักเลงชอบการสู้รบมีเจ้าผู้ปกครองยักษ์ คือ ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสวัณมหาราช เป็นผู้ทรงรัศมี มีฤทธิ์อานุภาพ และมียศ

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ท้าวมหาราชนี้เป็นพราหมณ์ ชื่อกุเวร ได้สร้างโรงหีบอ้อย ประกอบเครื่องยนต์ ๗ เครื่อง กุเวรพราหมณ์ได้ทำบุญแก่มหาชนด้วยผลกำไรจากโรงหีบอ้อยแห่งหนึ่ง ต่อมากุเวรพราหมณ์เลื่อมใสด้วยบุญนั้น จึงนำผลกำไรจากโรงหีบอ้อยทั้งหมด ให้ทานตลอดสองหมื่นปี เมื่อได้ถึงแก่กรรมได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกุเวร จัดเป็น ๑ ใน ๔ ท้าวมหาราช หรือโลกบาล ผู้รักษาทิศเหนือ บริวารของพระอินทร์ มีหน้าที่ดูแลรักษาโลก และอารักขาเทวโลกจากเหล่าอสูร ศัตรูของพวกเทวดา โดยพระอินทร์ได้ตั้งแนวอารักขารอบเขาพระสุเมรุ ที่ตั้งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๕ แห่ง นาคผู้มีกำลังในน้ำ อารักขาชั้นแรกของเขาพระสุเมรุ ครุฑอารักขาชั้นที่ ๒ กุมภัณฑ์ คือทานพและรากษส อารักขาชั้นที่ ๓ ยักษ์อารักขาชั้นที่ ๔ และท้าวมหาราชอารักขาชั้นที่ ๕

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ สถิตในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา (Catumaharajika) บนยอดเขายุคนธร (Yukonthorn) เขาวงแหวนชั้นในที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ (Sineru) ท้าวกุเวรทรงครองราชสมบัติในราชธานี ชื่อวิสาณะ จึงเรียกว่า ท้าวเวสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ทรงนิรมิตนครในอากาศ เป็นที่อาศัยของเทวดา ยักษ์ และอมนุษย์ ทั้งหลาย ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบเขาพระสุเมรุ เหล่ายักษ์จึงได้รับการอธิบายว่าเป็นเทวดาชาย-หญิง พวกหนึ่ง ที่อยู่ในระดับกึ่งกลางระหว่างมนุษย์และคนธรรพ์ ในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิก

นอกจากนี้ ยักษ์ยังจัดเป็นภุมมเทวดา ซึ่งอาศัยอยู่บนพื้นโลก ตามป่า เขา เนินดิน ใต้ดิน ภูเขาแม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู เป็นต้น ยักษ์โดยมากเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเคารพเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากอกุศลกรรม แต่พวกยักษ์มิได้งดเว้นจากกรรมเหล่านั้น พระพุทธองค์จึงไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเหล่ายักษ์ มักคอยเบียดเบียนสาวกผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ในที่สงัดให้ได้รับอันตราย ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับยังเขาคิชฌกูฏ นครราชคฤห์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงได้เข้าเฝ้า และท้าวเวสวัณมหาราชได้ถวายมนต์อาฏานาฏิยปริตร สำหรับป้องกันภัยจากอมนุษย์ ที่ไม่เชื่อฟังถ้อยคำท้าวมหาราช ให้ได้รับโทษทัณฑ์ตามที่ท้าวมหาราชทรงตั้งไว้ เพื่อความอยู่สำราญของพุทธบริษัท

ชาวพุทธนับถือว่าท้าวเวสวัณและเหล่าบริวารเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองรักษาพระศาสนา คนไทยจึงนิยมสร้างรูปท้าวเวสสุวัณ หรือรูปยักษ์ถืออาวุธ ไว้ที่ประตูทางเข้าวัด เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นทวารบาลหรือเขียนไว้ตามขาตู้พระไตรปิฎก แสดงถึงความเป็นผู้รักษาธรรม นอกจากนี้ ยังประดับตามฐานสถาปัตยกรรม หรือรูปจำลองสถาปัตยกรรม เช่น บัลลังก์ ธรรมมาสน์ ราชยาน ฯลฯ อันถือเป็นรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ อีกด้วย

ศิลปกรรมรูปยักษ์ในดินแดนไทยมักปะปนไปกับอมุษย์กลุ่มอื่นๆ เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยทวารวดี เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ หรือประมาณ ๑,๔๐๐-๑,๐๐๐ ปี มาแล้ว โดยประติมากรรมยักษ์ในระยะแรกได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ มีลักษณะอ้วนเตี้ยคล้ายกับคนแคระ หากสวมใส่มงกุฎและเครื่องประดับมาก อาจหมายถึง ท้าวกุเวร เจ้าแห่งยักษ์ โดยทั่วไปใบหน้าใกล้เคียงกับมนุษย์ แต่ทำคิ้วขมวด นัยตาพอง ปากแสยะ และบางครั้งก็มีเขี้ยวเล็กๆ ที่มุมปาก ทำด้วยดินเผาหรือปูนปั้น มักทำเป็นประติมากรรมติดกับฐานสถูปเจดีย์ เพื่อปกป้องพุทธสถาน หรืออำนวยให้เกิดความมั่งคั่ง เนื่องจากยักษ์เป็นผู้รักษาทรัพย์ในแผ่นดิน


กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร (ที่มาเรื่อง)