[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 30 พฤษภาคม 2566 15:40:28



หัวข้อ: พระอินทร์ เทพแห่งพายุฝน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 พฤษภาคม 2566 15:40:28
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/62369562975234_1094626_img.t80utm.1huop.jpg)
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จำลองมาจากภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
หรือสมเด็จครู  ซึ่งทรงวาดถวายรัชกาลที่ ๖


พระอินทร์ เทพแห่งพายุฝน

ในวัฒนธรรมของโลกตะวันออก ”เทพแห่งพายุฝน” ถือเป็นเทพเจ้าเก่าแก่กลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการสักการบูชา เนื่องจากมนุษย์เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์และอำนาจในการดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่โลกมนุษย์และจักรวาล ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ยังคงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกและทำการเกษตรโดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก

เทพแห่งพายุฝนองค์แรกๆ ที่ถูกกล่าวถึงในสมัยพระเวทอันเป็นยุคสมัยที่เรียนขานตามชื่อคัมภีร์พระเวทที่เป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู นั้น คือ ”พระอินทร์” โดยพบว่าในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของพระเวทมีบทสดุดีสรรเสริญพระอินทร์โดยลำพังอยู่มากถึง ๒๕๐ บท ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสี่ส่วนของคัมภีร์

ตามเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท พระอินทร์เป็นเทพเจ้าสำคัญจัดอยู่ในกลุ่มเทพที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ เป็นผู้ปกครองสวรรค์และเป็นประมุขของเหล่าทวยเทพ ทั้งเป็นผู้อภิบาลมนุษย์โลก มีหน้าที่สำคัญคือการปราบอสูรวฤตระหรืออสูรแห่งความแห้งแล้งและความมืด เพื่อยังให้เกิดน้ำและแสงสว่างแก่โลก

เทวลักษณะของพระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวทนั้น มีพระวรกายเป็นสีทองอำพัน มีศัตราวุธประจำพระองค์ ได้แก่ วัชระ ลูกธนูกับคันศร อังกุศะ และชาละ มีช้างเอาราวันเป็นเทพพาหนะ ซึ่งทั้งศัตราวุธและเทพพาหนะล้วนมีนัยแห่งรูปลักษณ์และอานุภาพที่เชื่อมโยงกับท้องฟ้าและพายุฝนทั้งสิ้น



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26710183959868_1.jpg)
ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ  จังหวัดสมุทรปราการ


ศัตราวุธและเทพพาหนะของพระอินทร์

วัชระ หรือ สายฟ้า มีชื่อเรียกว่า “วชิราวุธ” เป็นศัตราวุธที่มีลักษณะเป็นแฉกคมกล้าดั่งเพชรและทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ดุจเดียวกับสายฟ้าที่พาดผ่านโลก

ลูกธนู และ คันศร เป็นศัตราวุธที่เชื่อมโยงกับท้องฟ้า

กล่าวกันว่าคันศรของพระอินทร์เปรียบได้กับสายรุ้ง ส่วนลูกธนูที่ยิงออกจากมหาคันศรนั้นมีอานุภาพและรังสีร้อนแรงดุจแสงอาทิตย์ ทั้งยังยิงออกกระจายได้ดั่งสายฝน

อุงกุศะ หรือ ขอสับช้าง เป็นศัตราวุธที่พระอินทร์ใช้เพื่อประทานความมั่งคั่งให้แก่ผู้เซ่นสรวงบูชาพระองค์ และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับ ช้างเอราวัณ เทพพาหนะของพระอินทร์ ซึ่งเป็นช้างที่มี ๓๓ เศียร ทั้งนี้ในวัฒนธรรมอินเดียเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ให้น้ำ เนื่องจากมีผิวสีเทาเหมือนสีของเมฆฝน และมีงวงคล้ายกับนาคที่สามารถพ่นน้ำได้ ช้างจึงเป็นสัตว์มงคลที่ใช้แทนสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการที่พระอินทร์มีอังกุศะเป็นศัตราวุธนี้ปรากฏในคัมภีร์อาถรรพ์เวท โดยเปรียบเทียบอากาศว่าเป็นดั่งข่ายของพระอินทร์

นอกจากนี้ในคัมภีร์อื่นๆ เช่น คัมภีร์มหาภารตะ ได้กล่าวถึงศัตราวุธชนิดอื่นของพระอินทร์ เช่น ปาศะ (บ่วงบาศ) ใช้ต่อสู้กับท้าวพลิ ดาบ และ เกราะ ใช้ต่อสู้กับเหล่าอสูร และ สังข์เทวทัตตะ ซึ่งพระอินทร์นำมาใช้สอนอรชุน

ต่อมาในช่วงสมัยหลัง พระอินทร์ไม่ได้รับการสรรเสริญบูชาในฐานะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อีกต่อไป ทั้งยังมีบทบาทรองจากเทพตรีมูรติ กระทั่งชื่อของพระอินทร์ก็กลายเป็นเพียงชื่อตำแหน่งของเทพเจ้าองค์หนึ่งเท่านั้น  ครั้นเมื่อศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มาถึงดินแดนไทย  พระอินทร์ได้ถูกกล่าวถึงในนามท้าวสักกเทวราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนา และเป็นเทพประจำทิศตะวันออก  ลักษณะเด่น คือ มีพระวรกายสีขาวและทรงช้างเอราวัณ

อย่างไรก็ดี พระอินทร์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อสังคมวัฒนธรรมไทย ในฐานะท้าวสักกเทวราช และยังคงเป็นเทวดาที่มีอิทธิฤทธิ์ในการดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สืบทอดมาจากความเป็นเทพแห่งพายุฝนในสมัยพระเวท หากแต่บทบาทสำคัญที่โดดเด่นกลับเป็นบทบาทในการบำรุงพระพุทธศาสนาและผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มากกว่า ดังเห็นได้จากการประกอบพระราชพิธีพรุณศาสตร์ซึ่งเป็นพระราชพิธีขอฝนอย่างโบราณที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่แม้จะมีการบูชาพระอินทร์และเทพยดาองค์อื่นๆ ที่ดลบันดาลให้เกิดฝน แต่กลับสรรเสริญและให้ความสำคัญกับพระสุภูตมหาเถรเจ้าซึ่งเป็นผู้อาราธนาขอฝน ขณะที่ชาวบ้านและเกษตรกรในชนบทจะนิยมขอฝนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พญาแถน หรือสวดบูชาสัตว์ให้น้ำ เช่น พญานาค พญาคันคาก หรือปลาช่อน ฯลฯ ตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น มากกว่าการบูชาพระอินทร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ให้ฝนในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

ส่วนช้างเอราวัณ เทพพาหนะของพระอินทร์ก็ได้รับการสักการะในฐานะเทพที่ดลบันดาลให้เกิดความมั่งมีแทนที่การเป็นสัญลักษณ์ของเมฆฝน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะแนวคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนจากความต้องการให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลไปเป็นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเดิมเคยดำรงอยู่ในฐานะเทพแห่งพายุฝน จึงถูกบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยที่ให้เงินทอง ให้หวย และให้โชคลาภแทนนั่นเอง



ที่มาข้อมูล : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์