[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 05 ตุลาคม 2554 23:13:18



หัวข้อ: พุทธานุสสติ แห่งกฐินสามัคคี
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 05 ตุลาคม 2554 23:13:18
พุทธานุสสติ แห่งกฐินสามัคคี

(http://pics.manager.co.th/Images/554000013114701.JPEG)

ขออนุโมทนาในกุศลกิจของศรัทธาญาติโยมทุกคน ที่ต่างสามัคคีกันน้อมนำผ้ากฐิน มาถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอารามนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา บัดนี้กิจแห่งการถวายผ้ากฐินสัมฤทธิผลแล้ว อาตมาขอปรารภเหตุแห่งการถวายผ้ากฐินในวันนี้สักเล็กน้อย เพื่อเพิ่มพูน ศรัทธาปสาทะของญาติโยมให้มากขึ้น

เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา กำนันโตได้ปรารภกับกรรมการวัด ถึงพระบรมราโชวาทที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ความตอนหนึ่งว่า “..ความสุข ความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มั่นคง เป็นปกติสุข ความเจริญ มั่นคงนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น..” แล้วจึงปรึกษากันว่าปีนี้การถวายผ้ากฐินควรจัดแบบจุลกฐิน เพราะจะได้สอนชาวบ้านในตำบลนี้ให้เข้าใจ เข้าถึงนัยยะแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ปรากฏในพระบรมราโชวาท ซึ่งที่ประชุมมีฉันทานุมัติตามนั้น แล้วก็ระดมความคิดเพื่อบริหารจัดการงานจุลกฐินให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีของบุรพชน

เบื้องต้น กำหนดวันที่จะถวายผ้ากฐิน ซึ่งถ้าเป็นจุลกฐิน จะต้องเป็นวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง แต่ปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการไม่สะดวกต่อการจัดงาน จึงปรารภกันว่าน่าจะจัดถวายผ้ากฐินในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ แทน เพราะทุกคนสามารถที่จะมาร่วมงานได้ จึงนำความปรึกษาอาตมาเพื่อขอจองกฐิน ซึ่งทางวัดก็ไม่ขัดข้อง อนุโลมตามที่ปรารภกัน

จากนั้น กำนันโตก็แต่งตั้งให้ผู้ใหญ่ไก่เป็นผู้รับผิดชอบ ในการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกฝ้าย ซึ่งก็เป็นที่ดินของวัด ครั้นถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน วันพระ ๑๕ ค่ำ หลังฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ผู้ใหญ่ไก่ก็ระดมลูกบ้านมาเตรียมดินปลูกฝ้าย ช่วยกันเก็บวัชพืช ไถพรวนดินให้ร่วนซุย ที่ริมขอบแปลงก็ปลูกสมุนไพรที่ป้องกันแมลงไม่ให้มารบกวนต้นฝ้าย แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบแปลง

ก่อนวันเข้าพรรษา กำนันโตให้สำรวจสาวพรหมจรรย์ ในตำบล ว่ามีจำนวนเท่าไร แล้วถามความสมัครใจว่าจะเป็นสาวเก็บฝ้ายไหม ถ้าเต็มใจ ก็ต้องสมาทานรักษาศีลตลอดพรรษา สาวพรหมจรรย์ทุกคนสมัครใจทำหน้าที่นี้ด้วยความภูมิใจ บ้านไหนแม่เคยทำหน้าที่เก็บฝ้าย ลูกสาวก็อยากทำตามแม่ อีกประการหนึ่งงานจุลกฐินเป็นงานใหญ่ ไม่ได้จัดกันบ่อย จึงเป็นเหตุให้สาวพรหมจรรย์ในตำบลข้างเคียงมาสมัครเป็นสาวเก็บฝ้ายหลายคน

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม วันเข้าพรรษา หลังจบพระธรรมเทศนาแล้ว กำนันโตอาราธนาให้อาตมาปาฐกถาธรรมเรื่องการรักษาศีล การรักษาธรรม และการรักษาขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของชาติและท้องถิ่น ให้สาวเก็บฝ้ายและทายกทายิกาที่จะร่วมพิธีปลูกฝ้ายฟัง

หลังจากนั้นก็อาราธนาพระสงฆ์ไปสวดชัยมงคลคาถา ในการเริ่มต้นปลูกฝ้าย โดยกำนันโตนำชาวบ้านหยอดเมล็ดฝ้ายในหลุมที่ผู้ใหญ่ไก่และคณะได้จัดเตรียมไว้ ฝ่ายที่รับหน้าที่บริการอาหารเครื่องดื่มก็ทำงานกันเต็มที่ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แดดไม่ทันร้อนก็หยอดเมล็ดฝ้ายที่เตรียมไว้จนหมด ผู้ใหญ่ไก่และคณะรับภาระในการดูแลบำรุงรักษาให้ต้นฝ้ายเจริญงอกงามสมบูรณ์ ถ้ามีวัชพืชขึ้นมากเกินกำลังตน ก็ระดมบอกกล่าวกันให้มาช่วยกำจัดวัชพืช คอยระวังไม่ให้น้ำขังในแปลงฝ้าย แปลงฝ้ายจึงงอกงามไพบูลย์เป็นประจักษ์แห่งความสามัคคีของทุกคน

เมื่อวันตักบาตรเทโว วันที่ ๑๓ ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทำวัตรเช้าแล้ว กำนันโตได้จัดประชุมเตรียมงานจุลกฐิน ลงรายละเอียดถึงทุกฝ่าย กำหนดหน้าที่ให้ตรงตามความสามารถของแต่ละคน วางปฏิทินงานให้ทุกคนได้ทราบถึงเวลางานของฝ่ายตน แล้วซักซ้อมทำความเข้าใจในเนื้อหาของแต่ละฝ่ายโดยละเอียด ช่วยกันคิดถึงข้อบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไข กว่าจะเสร็จก็บ่ายโข มีข้อสังเกตที่ต้องขอชมเชยไว้สักหน่อยก็คือ ในการประชุมครั้งนี้ เห็นมีพูดปรึกษากันแต่เฉพาะคนที่รู้เรื่องราวในหน้าที่ความรับผิดชอบ ส่วนคนอื่นอาจเสนอความคิดเห็นได้บ้างตามทัศนคติของตน ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อวานนี้ส่วนเตรียมงานก็เข้ามาที่วัด เตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในการประชุม ร่วมแรงร่วมใจทำงานกันโดยเต็มใจ เวลา ๐๐.๐๐ น. กำนันโตก็ให้สาวพรหมจรรย์เก็บฝ้าย แล้วทยอยส่งมาให้ผู้เฒ่าผู้แก่คนหนุ่มสาวช่วยกันตีฝ้าย แล้วนำมาปั่นกรอเป็นเส้นด้าย งานนี้คนช่วยกันมาก ใช้เวลาไม่นานก็ได้เส้นด้ายสำหรับทอผ้าจำนวนมาก เมื่อสาวพรหมจรรย์เก็บฝ้ายเสร็จ หน่วยทอผ้าก็เริ่มงานทอผ้าไปแล้ว งานจึงดำเนินการไม่ขาดตอน

ครั้นได้ผ้าพอที่จะตัดเป็นไตรจีวรแล้วทิดช้างกับทิดแก้วซึ่งมีความชำนาญในการตัดไตรจีวรก็เข้ามากะเกณฑ์ตัดแบ่งผ้า มอบให้คณะช่างสอยเย็บเป็นผืน แล้วก็ย้อมสีกลัก รีดพับจนเรียบร้อย ทำงานกันไปเรื่อยๆ โดยมีเสียงเพลงพื้นบ้านขับกล่อมให้เพลินใจ งานก็เสร็จพร้อมกันเมื่อจวนเพล ได้ผ้าไตรเต็ม ๑ ไตร ผ้าขาวเป็นผ้ากฐิน ๑ ผืน ส่งให้กำนันโตไปมอบให้ผู้รับผิดชอบจัดกองกฐิน


หัวข้อ: Re: พุทธานุสสติ แห่งกฐินสามัคคี
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 05 ตุลาคม 2554 23:14:24
(http://pics.manager.co.th/Images/554000013114702.JPEG)

เห็นญาติโยมพร้อมเพรียงกันตัดเย็บย้อมผ้าเป็นไตรจีวร ทำให้ระลึกถึงเรื่อง พระอนุรุทธะตัดจีวร ซึ่งมีพรรณนาไว้ว่า เมื่อจีวรของท่านเก่าแล้ว ท่านจึงแสวงหาผ้าในที่ต่างๆ มาเพื่อเย็บเป็นจีวร ในกาลนั้น ภรรยาเก่าในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระ ซึ่งเกิดเป็นเทพธิดาชื่อ ชาลินี สถิต ณ ดาวดึงส์ นางรู้ข่าวของพระเถระโดยทิพยญาณ นางจึงถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก ลงจากวิมานเพื่อจะนำผ้ามาถวายท่าน แต่นางได้คิดว่า “ถ้าเราจักถวายผ้าแก่ท่านโดยตรง พระเถระจะไม่รับ” นางจึงวางผ้าไว้ในกองหยากเยื่อที่อยู่ข้างทางที่พระอนุรุทธเถระ จะเดินผ่าน โดยให้ชายผ้าพ้นออกมา

เมื่อพระอนุรุทธเถระเดินมาเห็นชายผ้านั้น ท่านก็จับที่ชายผ้านั้นและดึงออกมา พิจารณาทราบโดยญาณว่า เป็นผ้าทิพย์ จึงถือเอาด้วยคิดว่า “ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ” แล้วก็กลับอาราม

(http://pics.manager.co.th/Images/554000013114703.JPEG)

ครั้นถึงวันที่พระอนุรุทธเถระจะทำจีวร พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปประทับนั่ง ณ ที่นั้น โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูปไปนั่งอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน อาทิพระมหากัสสปเถระ พระสารีบุตรเถระ พระอานนทเถระเพื่อช่วยเย็บจีวร เหล่าภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายเข้ารูเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระช่วยจัดหาทุกสิ่งที่จำเป็นมาให้

เมื่อนางชาลินีเทพธิดาเห็นดังนั้นก็นิรมิตกายเข้าไปภายในหมู่บ้าน ชักชวนทายกว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ อันพระอสีติมหาสาวกแวดล้อม ประทับนั่งอยู่ในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป พวกท่านจงถือข้าวยาคูเป็นต้น ไปวิหาร”

แม้พระมหาโมคคัลลานเถระนำชิ้นชมพู่ใหญ่มาแล้วในระหว่างภัต ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจเพื่อขบฉันให้หมดได้ ท้าวสักกะทรงทำการประพรมในที่อันเป็นที่กระทำจีวร พื้นแผ่นดินเป็นราวกะว่าย้อมด้วยน้ำครั่งกองใหญ่แห่งข้าวยาคู ของควรเคี้ยวและภัตอันภิกษุทั้งหลายฉันเหลือได้มีแล้ว

นี้ล่ะเป็นมหากุศลที่ปรากฏเป็นพุทธานุสสติแห่งสามัคคีแก่ชาวเราทั้งหลายในบัดนี้ ขออนุโมทนาในความขวนขวายทำกุศลกิจของท่านทั้งหลาย ที่บำเพ็ญตนตามรอยพุทธบาท สมกับที่บรรพชนได้สั่งสอนมาเป็นอย่างดี

เวลา ๑๕.๐๐ น. เผดียงสงฆ์ลงประชุมที่โรงอุโบสถ กำนันโตนำศรัทธาญาติโยมประกอบพิธีถวายผ้ากฐิน เมื่อสงฆ์ทำสังฆกิจเสร็จแล้ว ก็มอบให้พระที่ชำนาญการตัดเย็บจีวร นำผ้ากฐินไปตัดเย็บเป็นสบง กำนันโตก็ให้คนไปขึ้นธงจระเข้ เพื่อประกาศให้ชาวบ้านได้รู้ว่าพระสงฆ์ที่วัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว

ปรารภจุลกฐินมาโดยสังเขป ก็เพื่อให้เราทั้งหลายได้ระลึกถึงความสุขใจในการถวายผ้ากฐินในปีนี้ แม้งานจะดูเหมือนมาก แต่เมื่อเราร่วมแรงกายแรงใจเป็นสามัคคีธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวนั้นก็เป็นพลังอำนวยผลให้งานได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์ บ่งชี้ถึงการบำเพ็ญตนตามพระบรมราโชวาทที่ได้นำมากล่าวไว้ ณ เบื้องต้น เชื่อว่าเมื่อทุกคนได้เข้าใจถึงนัยยะที่สำคัญแห่งพระบรมราโชวาทนี้ ก็จะน้อมนำตนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น สุขอันเกิดจากปฏิบัติตนเช่นนี้ ก็จะเป็นกำลังให้สามารถนำตนไปสู่ความสำเร็จที่ตนปรารถนา ทั้งยังอำนวยผลให้สังคมมีแต่ความวัฒนาสถาพร อันจักส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสุข ความสวัสดี ได้เป็นนิตยกาล

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำกิจการงานใดๆ ที่เป็นบุญเป็นกุศล ย่อมเป็นความพร้อมเพรียงกันที่ก่อให้เกิดสามัคคีธรรมในชุมชน อันนำให้เกิดความสุขสวัสดิ์ ที่เสมอกันทุกคน สมดังพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุที่พระเชตวันวิหารว่า “...ความสุขนี้แม้ทั้งหมด นับเนื่องด้วยทุกข์ในวัฏฏะทั้งนั้น แต่เหตุนี้เท่านั้น คือ ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเป็นผู้ปรองดองกัน เป็นสุขในโลกนี้” แล้วตรัสพระคาถาว่า :-

สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท สุขา สทฺธมฺมเทสนา
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข

ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมา การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุนำสุขมา ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมา ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำสุขมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการบริหารราชการแผ่นดินให้ประเทศ มีความวัฒนาสถาพรตลอดไป พระองค์ทรงโปรดให้จารึก พุทธศาสนสุภาษิตความว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข ไว้ในตราแผ่นดิน น่าเสียดายที่คนไทยในภายหลังไม่ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในส่วนนี้ จึงมุ่งแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาด้วยความโลภ อยากได้ในจิตใจ ก่อให้เกิดมหันตภัยขึ้นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

(http://pics.manager.co.th/Images/554000013114704.JPEG)

วันนี้ญาติโยมทั้งหลายได้มาประพฤติตนให้พระราชประสงค์ที่ตราไว้ในตราแผ่นดินเป็นจริงขึ้น แม้จะเป็นเพียงงานจุลกฐิน แต่ก็เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีในจิตใจของตน ให้ผู้อื่นได้ประจักษ์ และอาจจะนำให้เขาผู้หลงมืดด้วยความเขลา ได้รับพุทธิปัญญา นำตนให้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่ประเทศไทยสืบต่อไป

ขอปรารภถึงปฐมเหตุแห่งการถวายผ้ากฐินให้ได้ทราบ ทั่วกันว่า สมัยพุทธกาล ครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนปฏิบัติในอารัญญิกธุดงค์บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ ได้ตั้งใจเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเหล่านั้นไม่สามารถจะเดินทางเฝ้าได้ทันในวันเข้าพรรษา จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ที่อยู่ห่างจากพระนครสาวัตถีเพียง ๖ โยชน์ ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยความไม่สงบใจ ด้วยความปรารถนา ที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อได้สดับพระธรรมเทศนา ครั้นถึงออกพรรษา ภิกษุเหล่านั้นทำปวารณาเสร็จแล้ว ก็เร่งเดินทางด้วยความลำบากกายฝ่าฝนที่ยังตกชุก พื้นดินเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน จนไปถึงพระนครสาวัตถี แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาถึงความทุกข์ยาก ในการเดินทางของภิกษุเหล่านั้นแล้ว และด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระหฤทัย พระองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน เพื่อให้คณะสงฆ์ได้มอบผ้ากฐินถวายแด่พระสงฆ์ที่มีจีวรคร่ำคร่า

ในกาลนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย นางจึงขอเป็นผู้ถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์เป็นปฐม ทำให้พระพุทธองค์ทรงกำหนดสังฆกรรมเรื่องกฐินแก่พระภิกษุไว้เป็นแบบอย่างสืบมา

การถวายผ้ากฐิน จัดเป็นสังฆทานที่กำหนดกาล คือมีระยะเวลาเพียง ๑ เดือน หลังออกพรรษา เป็นกิจกรรมที่ปรารภความสามัคคีเป็นเบื้องต้น คือในส่วนทายกผู้ขวนขวายจะถวายผ้ากฐิน ก็ต้องพร้อมเพรียงกันจัดดำเนินการหาผ้ากฐินให้พรักพร้อม แล้วน้อมนำมาถวายแด่สงฆ์ เมื่อสงฆ์รับแล้วก็เป็นเสร็จกิจแห่งกฐินของโยม รับอานิสงส์แห่งกุศลสังฆทานนี้ไปตามควรแก่ตน

ในส่วนของพระสงฆ์ผู้รับผ้ากฐิน ต้องอยู่จำพรรษาในอารามนั้นถ้วนไตรมาส ๓ เดือน และต้องมีพระสงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างน้อย ๕ รูป เมื่อรับถวายผ้ากฐินแล้ว ก็ต้องปรึกษาหารือกันเลือกพระสงฆ์ที่ควรแก่การรับผ้ากฐิน โดยทุกรูปมีอิสระในการพิจารณา เมื่อได้พระสงฆ์ผู้ควรรับผ้ากฐินแล้ว ก็ต้องช่วยกันตัดเย็บย้อมผ้านั้นให้เป็นสบง หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิ ให้เสร็จภายในวันนั้น เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องร่วมกันอนุโมทนาผ้ากฐินนั้น จึงเป็นเสร็จกิจแห่งกฐิน รับอานิสงส์ได้ตามพระพุทธานุญาต

ได้พรรณนาถึงการถวายผ้ากฐินที่ทุกคนได้ร่วมกันจัดทำ แล้วน้อมนำมาถวายแด่สงฆ์ในกาลนี้ด้วยตนเอง พอเป็นทางแห่งความเจริญสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ทุกท่านแล้ว จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจระลึกถึงกุศลผลบุญแห่งการถวายผ้ากฐินนี้ ให้เป็นตบะเดชะแห่งสุขในจิตใจของตน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจแห่งบุญนี้ จงอำนวยผลให้ตนและครอบครัวเกิดสุขสวัสดิมงคลทุกเมื่อ แล้วตั้งใจน้อมนำกุศลนี้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ แห่งเราทั้งหลาย

ขออำนาจแห่งบุญนี้จงอำนวยอิฏฐวิบุลมนุญผลให้พระองค์ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ ขอพระพลานามัยจงแข็งแรง และขอให้พระองค์ทรงสัมฤทธิผลในพระราชกิจที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยปรารถนาทุกประการ ขอให้ประเทศไทยและพระพุทธศาสนาได้วัฒนาสถาพรสืบไปจนชั่วลูกหลานด้วยเทอญ

อาตมภาพก็ขอให้ทุกท่านจงได้รับผลานิสงส์ในการถวายผ้ากฐินนี้ตามปรารถนาทุกประการ ขอยุติธรรมีกถาแต่เพียงนี้ เจริญพร

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


หัวข้อ: Re: พุทธานุสสติ แห่งกฐินสามัคคี
เริ่มหัวข้อโดย: 【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ ที่ 05 ตุลาคม 2554 23:18:21
กฐินเนี่ยนับว่าอานิสงส์แรงนัก เพราะต้องทำให้เสร็จในวันเดียว (ในอดีตถือว่ายากมาก)
แล้วถ้าพระที่มาเข้าร่วม พลาดไปเข้าข้อห้ามของกฐินละก็ ถือว่ากฐินเดาะกันเลย
แทนที่จะได้อานิสงส์กฐิน ก็กลายเป็นผ้าป่าไป
 (o0!)