[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:42:56



หัวข้อ: ว่าด้วย.. ปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:42:56


(http://i170.photobucket.com/albums/u277/saviska/prism.jpg)

ว่าด้วย.. ปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

การตีความปฏิจจสมุปบาท มีการตีความหมายไปในรูปแบบข้ามภพข้ามชาติในภายภาคหน้า หรือการเกิดในชาติหน้า เป็นไปอย่างแพร่หลายต่อเนื่องยาวนานนับพันปี อันเนื่องมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยท่านพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ พระภิกษุชาวอินเดียได้นิพนธ์ขึ้นเมื่อประมาณ พศ. ๙๐๐ เศษ เมื่อคราวที่ท่านจาริกเพื่อรวบรวมพระธรรมต่างๆจากประเทศศรีลังกา อันเนื่องจากการสูญหายไปบางส่วนจากประเทศอินเดีย อันได้ตีความไว้เป็นเรื่องข้ามภพข้ามชาติดั่งนั้น ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญยิ่งที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในวงการศึกษาพระพุทธศาสนามาจนตราบถึงปัจจุบันนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อคราวที่ท่านกล่าวถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น เป็นเรื่องเดียวที่ท่านยังไม่มีความมั่นใจในความถูกต้อง ท่านจึงได้กล่าวออกตัวหรือกล่าวแสดงไว้อย่างชัดแจ้งก่อนพรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาทในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ความว่าไว้ดั่งนี้

“การอธิบายความแห่งปฏิจจสมุปบาททำได้ยาก.....วันนี้ใคร่จะกล่าวพรรณนาปัจจยาการ ทั้งที่ยังหาที่อาศัยไม่ได้ เหมือนดังก้าวลงสู่สาครยังไม่มีที่เหยียบยัน ก็แต่ว่า คำสอนปฏิจจสมุปบาทนี้ ประดับประดาไปด้วยนัยแห่งเทศนาต่างๆ อีกทั้งแนวทางของบูรพาจารย์ก็ยังเป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะอาศัยหลักสองอย่างนั้น ลงมือพรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาท” (วิสุทธิมรรค. 3/114, ตรงกับ วิภงค.อ. 118)

ซึ่งถ้าแปลกันออกมาง่ายๆแล้วก้พอได้ความดังนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องยาก อุปมาเหมือนดั่งบุรุษที่ก้าวเท้าลงสู่ห้วงสมุทร ย่อมหาที่เหยียบยันหรือยึดเกาะไม่ได้ฉันนั้น อันแสดงถึงว่าไม่มีหลักฐานและยังไม่แน่ใจหรือยังไม่เข้าใจอย่างมั่นคง ดังนั้นท่านจึงบอกแจ้งกล่าวต่อไปว่า จึงได้พยายามรวบรวมเรียบเรียงคำวินิจฉัยโดยอาศัยคำเทศนาและแนวทางคำสอนตามเท่าที่ยังพอมีการถ่ายทอดกันต่อมาของบูรพาจารย์ในขณะนั้นมากล่าวไว้ กล่าวคือท่านก็ทำหน้าที่ของท่านโดยบริบูรณ์เต็มกำลัง




หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:45:10

และก็ได้กล่าวแจ้งความนัยไว้แต่เบื้องต้นดังที่กล่าวแสดงไว้แล้ว และต่อมาในภายหลังท่านพระพุทธโฆสาจารย์ก็ได้เขียนคัภีร์ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง คือคัมภีร์สัมโมหวิโนทนี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คราวครั้งนี้ในตอนที่หนึ่ง มีการกล่าวอธิบายแบบข้ามภพข้ามชาติเหมือนดังในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ในตอนสองได้ยอมรับและมีการอธิบายแบบเป็นไปใน๘ณะจิตหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เน้นกล่าวอธิบายรายละเอียดแต่อย่างใดนัก แต่เนื่องจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงมีอยู่และเป็นที่นิยมแพร่หลายกันและถือเป็นบรรทัดฐานในการศึกษาพระพุทธศาสนากันมาโดยตลอด

ดังนั้นการเล่าเรียนและถ่ายทอดเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่สืบๆกันมาภายหลัง จึงล้วนได้อิทธิพลเป็นไปแบบข้ามภพข้ามชาติตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค และยังเป็นที่นิยมถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 1500 ปี ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานในการศึกษาพระอภิธรรม

และตามที่ผู้เขียนทราบ ท่านพุทธทาสได้เริ่มกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทแบบการเกิดภพชาติในขณะจิตหนึ่งในประมาณปี พศ.๒๕๐๐ ซึ่งท่านได้เทศนาสั่งสอน และมีการจัดพิมพ์เผยแผ่เป็นที่กว้างขวางจนเป็นที่กล่าวขานกันไปโดยทั่ว มีทั้งเสียงตอบรับเห็นด้วยและทั้งเสียงคัดค้านเป็นจำนวนมากจากผู้ที่ยึดถือตามคัมภีร์ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการตีความปฏิจจสมุปบาทให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามตามพระพุทะประสงค์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดจนในภายหลัง ท่านพระธรรมปิฎก ได้บันทึกแสดงความนัยไว้ทั้งสองกรณีด้วยความเป็นกลางอย่างถูกต้องดีงามให้ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าวินิจฉัยด้วยตนเองในหนังสือพุทธธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้นัยยะมาจากข้อธรรมในหนังสือของท่านผู้มีพระคุณทั้งสองรูปนี้นี่เอง

โดยเฉพาะจากหนังสือพุทธธรรมของท่านพระธรรมปิฎก จึงได้นำปฏิจจสมุปบาทมาพิจารณาแบบขณะจิตหนึ่งของการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ โดยละเอียดแยบคายโดยการโยนิโสมนสิการ จนเกิดความเข้าใจในรายละเอียดเพิ่มเติมโดยนัยของปัจจยาการหรือการเป็นเหตุปัจจัยอย่างมีเหตุมีผล และเห็นเป็นไปตามกฎของธรรมชาติของปรมัตถธรรมปฏิจจสมุปบาท กระบวนธรรมของจิตในการเกิดขึ้นแลดับไปแห่งทุกข์อย่างถูกต้องดีงามสมดั่งพระพุทธประสงค์อย่างสมควร และยังไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ในแนวทางแสดงกระบวนธรรมของจิตอย่างละเอียด อันรวมทั้งขันธ์ ๕ เช่นดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนี้


หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:46:27

โดยเฉพาะในรายละเอียดต่างๆของทุกองค์ธรรมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์จริงๆ จนเห็นการดำเนินไปตามเหตุปัจจัยอย่างบริบูรณ์ทั้งวงจรปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะในรายละเอียดขององค์ธรรมเวทนา อันเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญที่ยังให้เกิดอุปาทานทุกข์หรือไม่ทุกข์ และองค์ธรรมชราอันเป็นสภาวะที่เกิดของอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของกิเลศตัณหาอุปาทาน ตลอดจนแสดงความสัมพันธ์ของขันธ์๕ และปฏิจจสมุปบาท ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นธรรมที่เนื่องสัมพันธ์หรือกล่าวว่าเป็นธรรมเดียวกันก็ได้ เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งคือขันธ์๕ เป็นฝ่ายไม่ยังให้เกิดทุกข์อุปาทานเป็นไปเพื่อการดำรงชีวิต ส่วนฝ่ายปฏิจจสมุปบาทนั้นเมื่อเป็นไปแล้วย่อมยังให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้น

จึงเห็นสมควรบันทึกไว้เพื่อการเผยแผ่เป็นธรรมทาน เพื่ออนุรักษ์ปฏิจจสมุปบาทอันลึกซึ้งถุกต้องดีงามตามพระพุทธประสงค์ เพื่อประโยชน์แด่พระศาสนาต่อไปในภายหน้า เพื่อเป็นแนวทางไว้ให้อนุชนนักปฏิบัติรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นแนวทางนำไปปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์ หรืออย่างน้อยก็จางคลายจากทุกข์ได้ตามควรฐานะแห่งตน

เหตุที่มีการตีความและอธิบายในรูปแบบการข้ามภพข้ามชาตินั้น เท่าที่พิจารณาแล้วเข้าใจว่า เนื่องเพราะในสมัยพุทธกาลนั้นยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ได้มีการบันทึกแสดงธรรมไว้โดยตรงจากพระองค์เอง เป็นการถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยความเข้าใจและการจดจำ แล้วถ่ายทอดกันต่อๆมาโดยเหล่าพระอริยสาวกและพระสาวกทั้งหลายที่ได้ทำหน้าที่สืบทอดพระศาสนาสืบต่อๆกันมาให้อนุชนรุ่นหลัง

เริ่มมีการบันทึกเป็นครั้งแรกที่เป็นหลักฐานปรากฏในปัจจุบันอยู่ในรูปศิลาจารึกในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชสมบัติประมาณ พศ.๒๑๘ ถึง ๒๖๐) เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ให้จัดทำการสังคายนาครั้งที่ ๓ ขึ้นในรัชสมัยที่ ๑๗ ของพระองค์ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณกว่า ๒๐๐ ปีหลังจากรพระปรินิพพานของพระพุทธองค์ และดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เมื่อคราวตรัสรู้ว่า ธรรมอันลึกซึ้งมีเพียง ๒ คือ ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน


หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:48:11

ดังนั้นการอธิบายจำเป็นต้องใช้เวลาหรือการอธิบายเป็นเวลายาวนานอย่างแน่นอน จึงจะอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะความที่เป็นธรรมอันลึกซึ้งเกี่ยวเนื่องถึงการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์หรืออุปาทานทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่มวลสรรพสัตว์ โดยแสดงทั้งเหตุปัจจัยต่างๆอย่างลึกซึ้งเป็นเหตุเป็นผลกันและเป็นระบบอย่างถูกต้องและยังเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับธรรมในพระพุทธศาสนาโดยถ้วนหน้า

ดังนั้นแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็อาจมิได้เคยแสดงไว้โดยละเอียดก็คงเนื่องด้วยเหตุดั่งนี้นี่เอง จึงมิได้มีการแสดงรายละเอียดขยายความปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งในพระไตรปิฎกจากพระองค์ท่าน ตามปกติจึงแสดงเพียงในรูปการสรุป หรือย่อหรือตัดทอนนำมาสอนในรูปแบบต่างๆตามจริต สติ ปัญญาของผู้รับธรรม หรือท่านอาจแสดงโดยละเอียดแต่เนื่องจากไม่มีการบันทึกไว้เป็นอักษร ภายหลังจึงไม่มีผู้จดจำได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ คงเนื่องด้วยความลึกซึ้งของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

ตลอดจนผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ผ่านการจดจำ ผ่านการสังคายนา การบันทึก การแปลความ การถ่ายทอด การจัดเขียนจัดพิมพ์ กล่าวคือถูกปรุงแต่งรจนาขึ้นนั่นเอง ดังนั้นธรรมของพระองค์ท่านแม้เป็นจริงอย่างปรมัตถ์ที่สุดแล้ว แต่เมื่อเป็นพระคัมภีร์ทั้งหลายย่อมผ่านการปรุงแล้วคือมีการบันทึก ก็ย่อมเป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างหนึ่งตามพระไตรลักษณ์เช่นกัน จึงต้องรู้และยอมรับตามความจริง

แม้แต่พระไตรปิฎกที่ไทยยอมรับก็มีการสังคายนาถึง ๙ ครั้ง ๙ คราแล้วด้วยกัน จึงอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์ จึงย่อมมีความแปรปรวนบ้าง เปลี่ยนแปลงบ้าง เสื่อมบ้าง สูยหายไปบ้างเป็นธรรมดาภายใต้พระไตรลักษณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตามพระสาวกทั้งหลายตลอดจนพุทธศาสนิกชนได้พยายามอย่างเป็นที่สุดแล้วในการสืบสานพระศาสนา แต่ถึงกระนั้นก็ตามย่อมมีความเสื่อมไปตามธรรม(ธรรมชาติหรือพระไตรลักษณ์) บ้าง


หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:50:23

และก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสูงสุดในการสืบสานถ่ายทอดพระศาสนาให้คงอยู่ ด้วยการรักษาตำราเหล่านี้ไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎก เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา เพราะถ้าไม่มีก็ยิ่งไขว้เขวแปรปรวนไปกันใหญ่ ไม่มีบรรทัดฐานและหลักฐานใดๆไว้สืบทอดพระศาสนา แต่ถึงแม้จะมีความแปรปรวน เสื่อมหรือสูญหายไปบ้างตามธรรมชาติก็ตามที แต่แก่นธรรมอันสำคัญยิ่งทั้งหลายอันเป็นเหตุปัจจัยให้ท่านตรัสรู้ และได้เผยแผ่สั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ ก็ยังแฝงตัวดุจดั่งลายแทงขุมอริยทรัพย์อยู่ในบันทึกในรูปพระไตรปิฎกนั่นเอง

กล่าวคือ จึงต้องประกอบด้วยการตีความในภาษาเดิม และทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญา และใช้หลักกาลามสูตรของพระองค์ท่านเป็นเครื่องระลึกและป้องกัน แต่ก็ไม่มีผู้กล้าตีความออกนอกไปจากตำราหรือคัมภีร์ กล่าวคือ เพราะมีพระพุทธพจน์กล่าวยืนยันไว้ว่ายากและลึกซึ้ง เมื่อไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจึงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้งตามที่ถ่ายทอดสืบกันต่อๆมาตามตำราหรือคัมภีร์ และในภายหลังยังมีคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นแนวทางที่ยึดถือสืบต่อๆมาอย่างแพร่หลายอีกด้วย

ส่วนผู้ที่มีความเข้าใจแจ่มแจ้งก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ด้วยเหตุปัจจัยบางประการดังเช่น ความลึกซึ้งจึงยากแก่การที่จะพรรรนา และมีความยาวที่ต้องต่อเนื่องสัมพันธืกันอย่างครบถ้วนทั้งวงจร ความเจริญทางด้านอุปกรณ์บันทึกและแจกจ่ายต่างๆ ฯลฯ

จนในที่สุดท่านพุทธทาส และท่านพระธรรมปิฎก ได้จุดประกายธรรมของปรมัตถธรรมอันยิ่งใหญ่ของปฏิจจสมุปบาทขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการเผยแผ่ตีความออกมาอย่างเปิดเผยและเต็มกำลัง กล่าวถึงทั้งในรูปแบบข้ามภพข้ามชาติ และในรูปแบบที่เกิดขึ้นในขณะจิต จึงทำให้การแปลความและอธิบายปฏิจจสมุปบาทดำเนินไปในแนวที่ถูกต้องดีงามดังพระพุทธประสงค์อีกครั้งหนึ่ง

เนื่องเพราะการเล่าเรียนปฏิจจสมุปบาทที่สืบๆกันมา ล้วนเป็นการแปลความและอธิบายแบบข้ามภพข้ามชาติทั้งสิ้น

(หาอ่านรายละเอียดเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตีความปฏิจจสมุปบาทได้ในหนังสือที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาสเช่น ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ, ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร? หรือหนังสือพุทธธรรม โดยท่านพระธรรมปิฎก สำหรับผู้ที่ห่วงใยหรือกังวลใจในเรื่องการตีความปฏิจจสมุปบาท มาแสดงดังนี้


หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 พฤษภาคม 2553 18:58:49


“......เพราะการเล่าเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่สืบๆกันมา ล้วนเป็นการแปล และอธิบาย แบบข้ามภพข้ามชาติกันทั้งนั้น เมื่อมีผู้ตีความและอธิบายปฏิจจสมุปบาทแบบกระบวนธรรมในชีวิตประจำวัน ท่านผู้ที่ยึดถือหลักฐานทางคัมภีร์เป็นใหญ่อาจเห็นว่า การทำเช่นนั้นเป็นการตีความนอกแบบแผน ขาดหลักฐาน และเกิดความห่วงใย ไม่สบายใจ เพื่อความอุ่นใจและสบายใจร่วมกัน จึงได้ยกหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า การตีความปฏิจจสมุปบาทแบบชีวิตประจำวันนั้น มีหลักฐานในคัมภีร์ เป็นแต่มีข้อน่าสังเกตุว่า หลักฐานที่มีนั้นอาจเป็นร่องรอยของอดีตที่กำลังเลือนลางหรือลืมกันไปแล้วและที่เหลืออยู่ได้ก็เพราะมีแกนคือพระไตรปิฎกยืนยันบังคับอยู่............”-พุทธธรรม หน้า ๑๔๐)

ดังผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องทุกข์ว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมอันลึกซึ้งถึงปรมัตถ์อย่างสูงสุดเป็นไปตามกฏของธรรมชาติหรือสภาวะธรรมชาติของปุถุชน จึงสามารถอธิบายได้ทั้งแบบการเกิดข้ามภพข้ามชาติหรือโลกียะ และแบบการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์แล้วดำเนินต่อเนื่องเป็นวงจรที่เนื่องสัมพันธ์กันไปอันเป็นแบบโลกุตระ แต่การเกิดขึ้นแบบขณะจิตหนึ่งหรือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงถือได้ว่าถูกต้องตามพระพุทธประสงค์อย่างแท้จริง

เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเกิดปัจจัตตังรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่ศึกษาในแนวทางแบบข้ามภพข้ามชาตินั้นเมื่อเกิดภูมิรู้ขึ้น ก็จะพยายามปฏิบัติเพื่อดับภพดับชาตินั้นก็จริงอยู่ หรือปฏิบัติตนเป็นคนดีเพื่อหวังผลในภพชาติต่อไป ก็ย่อมได้รับผลดีต่อขันธ์หรือชีวิตตนแม้ตั้งแต่ในชาตินี้ แต่จะไม่สามารถเกิดภูมิรู้ภูมิญาณในเรื่องปัจจยาการหรือความเป็นเหตุเป็นปัจจัยของทุกข์และการดับทุกข์โดยตรงๆได้อย่างถูกต้อง จึงไม่เข้าใจสภาวธรรมของการดับอุปาทานทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง จึงไม่เป็นไปเพื่อการดับภพดับชาติเสียแต่ในภพชาติปัจจุบันนี้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้จางคลายจากทุกข์ได้อย่างถูกต้องดีงามตามฐานะแห่งตนในปัจจุบัน จึงยังเป็นการปฏิบัติเพื่อหวังผลในภายภาคหน้า ทำให้เป็นไปอย่างเนิ่นช้าและไม่มีผู้ใดรู้และยืนยันได้อย่างแท้จริงว่าเป็นภพชาติใด จึงยังเป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาทอยู่


(http://www.nkgen.com/b9.gif)
พุทธพจน์
เราตถาคต จึงบัญญัติความเพิกถอน
ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ในปัจจุบันนี้
(จูฬมาลุงโกยวาทสูตร  ข้อที่ ๑๕๑)

พุทธอุทานคาถาที่ ๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ

พุทธอุทานคาถาที่ ๒
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย.

พุทธอุทานคาถาที่ ๓
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น
ย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจพระอาทิตย์อุทัย ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น.
มหาขันธกะ
โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ

มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒)
... อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้.

ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด  อุปาทานขันธ์ ๕
เหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม แล.
ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕
เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย.

การกำจัดความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ
การละความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ ใน
อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล.

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล
คำสอนของพระผู้มีพระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น
ชื่นชมยินดีภาษิต ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.
จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
(http://i1229.photobucket.com/albums/ee468/numie2/d13-1.gif)

จาก"พุทธอุทาน"ที่บังเกิดขึ้น ทรงชี้ถึงธรรมหรือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงปีติในญาณ
หรือการหยั่งรู้ทั้ง ๓ ครั้งดังนี้
"รู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ" อันคือ รู้ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดแต่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกัน
"ได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย" กล่าวคือ เมื่อสิ้นเหตุปัจจัย  ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายก็ย่อมดับไป
"ย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำอากาศให้สว่าง"
อันคือย่อมกำจัดกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียได้
ดุจดั่งพระอาทิตย์ที่ย่อมขับไล่ความมืดมัว อันจักทำให้โลกสว่างไสวและอบอุ่น

หรือพอสรุปกล่าวได้ว่า
ธรรมใดเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ สิ่งหรือธรรมเหล่านั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา
นัตถิ ปัญญาสมา อาภา
แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญาไม่มี

ที่มา : http://www.nkgen.com/739.htm (http://www.nkgen.com/739.htm)
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ



หัวข้อ: Re: ว่าด้วย...คัมภีร์วิสุทธมรรค และปฏิจจสมุปบาท
เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 24 พฤษภาคม 2553 20:17:13
(http://img110.imageshack.us/img110/9410/155h.jpg)



การฟังธรรมด้วยความตั้งใจ

เป็นการเคารพพระธรรม

การฟังธรรมเสมอ ๆ

ความเข้าใจย่อมสะสมไปในภพหน้า

ความถือตัว คือ มานะ

ขณะมีมานะ ขาดความเมตตา

ความเมตตาเจริญขึ้นเท่าไร ความโกรธยิ่งน้อยลง

เราต้องกรุณาแม้ความเห็นผิดของผู้อื่น


(:88:) (:88:) (:88:)